31 มีนาคม 2554

5. กาฐมาณฑุ 101

     มีเพื่อนบางคนที่ยังอยู่เที่ยวต่ออีก 1 วัน เพื่อเก็บตกที่ท่องเที่ยวเท่าที่เวลาจะอำนวย เราจึงรวมพลไปเที่ยวด้วยกัน เช้าวันแรกของการมีอิสระนั้น เราซื้อตั๋วเครื่องบินขนาดเล็กจุได้ไม่กี่สิบที่นั่งเพื่อขึ้นไปชมยอดเอเวอเรสในราคา 100 USD (ราคาในตอนนั้น ปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ 150 USD) ซึ่งเราต้องไปรอเก้อที่สนามบินตั้งแต่เช้าตรู่ เพราะอากาศขมุกขมัว เครื่องบินไม่สามารถขึ้นบินได้ นี่ขนาดเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ฟ้าเปิดนะ (การบินชมแนวภูเขา “mountain flight” นี้จะให้บริการช่วงตุลาคมถึงเมษายนเท่านั้น เพราะนอกฤดูกาลถึงขึ้นไปก็มองไม่เห็นอะไร)  เราจึงต้องเก็บตั๋วไปใช้ในวันถัดไป ส่วนคนที่ต้องบินกลับบ้านก็ไปเอาเงินคืนได้ ต้องบอกว่าเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่สุดยอดจริงๆ เพราะได้ไปเห็นยอดสุดของเทือกเขาหิมาลัยที่สูงที่สุดในโลก “เอเวอเรส” (Mt.Everest) อันลือชื่อ สูงถึง 8,848 เมตรทีเดียว ถ้าจะให้ปีนไต่ขึ้นไปเองชาตินี้คงไม่มีโอกาส แต่นี่ได้เห็นในระยะใกล้ชิดมากแถมยังได้เข้าไปชมในห้องกัปตัน (cock pit) อีกด้วย คุ้มกับเงินที่ได้จ่ายไปจริงๆ  
     กาฐมาณฑุมีที่ให้เที่ยวชมมากมายเนื่องจากเป็นเมืองหลวง ความจริงกาฐมาณฑุเคยเป็นราชธานีนามว่า “กัณติเปอร์” (Kantipur) เมื่อครั้งยังเป็นนครที่เป็นอิสระในสมัยการปกครองของราชวงศ์มัลละ (Malla Dynasty) ในช่วงศตวรรษที่ 12  ซึ่งเป็นยุคที่สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรมที่เห็นในปัจจุบันได้เริ่มก่อสร้างขึ้น ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองมาก ก่อนที่จะถูกยึดครองโดยราชวงศ์ “ชา” (Shah dynasty ) ในช่วงศตวรรษที่ 14 ซึ่งได้รวมรัฐต่างๆ เข้าด้วยกันก่อตั้งเป็นประเทศเนปาล​​และตั้งให้กาฐมาณฑุเป็นเมืองหลวงตั้งแต่นั้นมา
     ระหว่างวันเราไปเที่ยวกันแถว “ดูร์บาร์สแควร์” (Durbar Square) ซึ่งเป็นจตุรัสในย่านเมืองเก่าที่มีวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณตั้งอยู่ ในครั้งนั้นเรายังไม่ต้องเสียเงินค่าเข้าชม สามารถเตร็ดเตร่เที่ยวชมความงามของวัดและวังได้อย่างสบายใจ แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต้องเสียค่าผ่านทางคนละ 200 รูปีต่อวัน และถ้าอยากจะมาหลายหนในช่วงระหว่างที่อยู่ที่เนปาล ต้องไปทำเรื่องที่ออฟฟิสนักท่องเที่ยวซึ่งเมื่อแจ้งจำนวนวันที่จะพักอยู่ที่กาฐมาณฑุ พนักงานจะประทับตราบนตั๋วคล้ายๆ เป็นวีซ่าระยะเวลาในการผ่านเข้าออกได้ตามจำนวนวัน อ้อ...อย่าลืมพกพาสต์ปอร์ตและรูป 1 ใบไปด้วย
     ในบริเวณดูร์บาร์สแควร์นั้นมีสถาปัตยกรรมแบบโบราณที่สวยงามมาก บางส่วนถูกบูรณะขึ้นใหม่เพราะถูกทำลายโดยแผ่นดินไหวในปีค.ศ 1934 และเนื่องมาจากความสวยงามที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะและวัฒนธรรมยุคโบราณที่หายาก องค์การยูเนสโกจึงอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลกในปีค.ศ 1979 




     วัดแต่ละวัดมีรูปแบบและชื่อที่แตกต่างกันออกไปอยู่ที่ว่าวัดนั้นบูชาเทพเจ้าองค์ไหน ซึ่งถ้ามีความเข้าใจในศาสนาฮินดูซักนิด ก็จะสังเกตและคาดเดาได้ไม่ยาก เช่น วัดที่บูชาพระศิวะก็จะมีรูปปั้นวัวอยู่ด้านหน้าวัด เพราะว่าวัวเป็นพาหนะของพระศิวะนั่นเอง หรือถ้าด้านหน้ามีรูปครุฑก็คือพาหนะของพระวิษณุ ถ้าเห็นรูปปั้นหนูก็รีบตรงเข้าไปไหว้และขอพรจากพระพิฒเนศได้เลย
     ก่อนอื่นต้องขอพูดถึง Kasthamandap ซึ่งเป็นชื่อที่มาของเมือง อ่านได้เสียงว่า “กาสทามันดาบ” (กาฐมณฑป) ในภาษาท้องถิ่น แต่พวกฝรั่งเรียกกันเพี้ยนๆ กลายเป็น “กาฐมาณฑุ” ในที่สุด ซึ่งจริงๆ ก็ใกล้เคียงกับภาษาไทยคือ “มณฑป” ซึ่งแปลว่าเรือนที่มียอดรูปสี่เหลี่ยมนั่นเอง รูปร่างหน้าตาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้มีความอลังการกว่าวัดอื่นๆ แต่อย่างใด แต่เพราะว่าที่นี่เป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมแบบโบราณจึงมีความสำคัญค่อนข้างมาก เชื่อกันว่ากาฐมณฑปนั้นสร้างจากไม้ต้นเดียวเท่านั้น ในสมัยก่อนใช้เป็นที่ชุมนุมของชาวเมืองก่อนที่จะทำพิธีกรรมต่างๆ แต่ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการใช้จนกลายเป็นวัดบูชาเทพเจ้า “โกรัคนาถ” (Gorakhnath) ในที่สุด
     ส่วนอีกที่ที่ต้องไปเยี่ยมชมพลาดไม่ได้ก็คือ “บ้านของกุมารี” (Kumari Bahal) ซึ่งภายในนั้นมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม หน้าต่างประตูไม้ถูกสลักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง ถ้ามาในช่วงเย็นๆ ประมาณบ่าย 4 โมง ก็อาจได้พบเจ้าของบ้าน (​กุมารี) ซึ่งจะโผล่หน้าออกมาจากชั้นสองให้นักท่องเที่ยวได้ยลโฉมเป็นเวลาไม่กี่วินาที แต่ห้ามถ่ายรูปท่านนะ ดูได้แต่ตาและบันทึกไว้ในใจเท่านั้น กุมารีที่กาฐมาณฑุนี้เป็นกุมารีหลวง มีหน้าที่ทำงานและออกงานหลายอย่าง มีส่วนสำคัญต่อพิธีกรรมและเทศกาลพื้นเมืองอย่างมาก ที่เมืองอื่นๆ ก็จะมีกุมารีประจำเมืองเหมือนกัน แต่องค์ที่สำคัญที่สุดคือที่กาฐมาณฑุ


     กุมารีถือเป็นเทพเจ้าที่มีชีวิตอยู่ในร่างเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ มีหลายความเชื่อเกี่ยวกับที่มาที่ไปของกุมารี บ้างเชื่อว่าเป็นการกลับชาติมาเกิดของเทพเจ้า “กัญญา กุมารี” (Kanya Kumari)  แต่ความเชื่อที่ค่อนข้างแพร่หลายหน่อยเห็นจะเป็นเรื่องที่ว่า กษัตริย์ในราชวงศ์มัลละพระองค์หนึ่งมักจะชอบเล่นหมากรุกกับเทพเจ้า “ตาเลจู” (Taleju) อยู่เสมอๆ ซึ่งเป็นเทพที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองหุบเขาบริเวณนี้และมีครั้งหนึ่งที่พระองค์เล่นได้ดีจนเกือบจะชนะเทพตาเลจู เลยทำให้ท่านเกิดอาการไม่พอใจและขู่ว่าจะเลิกคุ้มครองดินแดนแถบนี้ ต้องอ้อนวอนขอร้องเป็นการใหญ่และในที่สุดท่านก็หายโกรธและให้สัญญาว่าจะกลับมาคุ้มครองบ้านเมืองอีก แต่จะมาในร่างของเด็กผู้หญิง จึงเป็นธรรมเนียมที่ต้องหาตัวแทนของเด็กหญิงมาเป็นเทพกุมารีอยู่คุ้มครองบ้านเมือง
     การจะเป็นกุมารีนั้นไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นกันได้แต่ต้องได้รับการคัดเลือกจากเด็กที่มีความเหมาะสมด้วยคุณสมบัติทุกประการตามที่ตั้งไว้ และมีเพียงบางสกุลเท่านั้นที่จะได้รับคัดเลือกเป็นกุมารี คือสกุลศากยะ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระวงศ์ของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังต้องมีการทดสอบอย่างพิถีพิถันอีกด้วย คร่าวๆ ก็คือว่าเด็กหญิงที่ได้รับการคัดเลือกมานั้นจะต้องเข้าไปอยู่ภายในห้องมืดที่มีสิ่งน่าสยองขวัญต่างๆ เช่น มีเสียงประหลาดน่ากลัว คนใส่หน้ากากภูติผี หัวควายที่ถูกเชือดแล้ว ถ้าเด็กหญิงคนไหนเกิดตกใจกลัวขึ้นมาก็จะถูกคัดออก เพราะถือว่าใจเสาะเกินไปที่จะเป็นเทพเจ้าได้ แต่ถ้าใครที่อยู่ในความสงบนิ่งไม่ตื่นกลัวกับสิ่งที่ได้เจอ ก็จะผ่านการทดสอบไปเป็นกุมารี เชื่อกันว่าคนที่เป็นกุมารีนั้นก็คือกุมารีคนเดิมในอดีตกลับชาติมาเกิด ในการทดสอบขั้นสุดท้ายเด็กหญิงจึงต้องเลือกของใช้ส่วนตัวที่เคยเป็นของกุมารีในชาติก่อน ถ้าเลือกถูกก็แสดงว่าถูกตัว
     เด็กหญิงที่ได้รับคัดเลือกเป็นกุมารีจะต้องย้ายตัวเองพร้อมกับครอบครัวเข้าไปอยู่ในบ้านของกุมารี และมีหน้าที่ทางศาสนาที่สำคัญหลายอย่าง ไปไหนมาไหนไม่ต้องเดินเอง มีคนแบกหามไป เพราะเท้าของกุมารีจะไม่สามารถสัมผัสพื้นได้ เวลามีงานเทศกาลก็จะมีรถแห่กุมารีไปรอบเมือง หน้าที่นี้จะหมดลงก็ต่อเมื่อเธอมีประจำเดือนหรือมีอุบัติเหตุทำให้เลือดไหลออกจากตัวนั่นถือว่าหมดอายุการเป็นกุมารีเป็นอันหมดหน้าที่ ก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติสามัญได้ ส่วนใหญ่กุมารีมักไม่ค่อยได้แต่งงานเพราะคนเชื่อว่าจะทำให้โชคร้าย คล้ายๆ ว่าดวงไม่แข็งเท่า กุมารีได้รับการเคารพจากชาวเมืองอย่างมากรวมไปถึงกษัตริย์เองก็ยังต้องให้กุมารีให้พรในงานพิธีสำคัญๆ กุมารีได้รับเงินเดือนจากทางวัดรวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ ในยุคใหม่นี้มีการจ้างครูมาสอนหนังสือให้ถึงที่บ้าน จะได้มีความรู้ติดตัวเมื่อถึงคราวหมดวาระ จะได้ออกมาใช้ชีวิตปกติเหมือนเด็กหญิงทั่วๆไปได้ง่ายขึ้น
     “วัดพระศิวะและภาวาติ” (Shiva-Parvati Temple) เป็นอีกหนึ่งในวัดที่น่ารัก น่าถ่ายรูปตรงที่ หน้าต่างชั้นสองนั้น พระศิวะและชายายื่นหน้าออกมาจากหน้าต่างเพื่อดูความเป็นไปด้านล่าง ใครมาใครไปอย่าลืมผ่านไปทักทายท่านทั้งสอง
     วัดบางวัดที่เนปาลนี้มีการแกะสลักภาพท่าทางการมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ไว้บนคานไม้ แต่ไม่โจ่งแจ้งเท่าที่อินเดีย (​กามสูตร) เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของรูปปั้นหลัก ต้องลองไปสังเกตกันเอาเอง บางที่มักมีสีสันต่างๆ กันไป  ส่วนเหตุผลในการสลักไว้ตามวัดนั้นไม่มีระบุไว้แน่ชัด
     “หนุมาน โดกา” (Hanuman Dhoka) เป็นพระราชวังเก่าตั้งแต่สมัยราชวงศ์มัลละหรือย้อนกลับไปศตวรรษที่ 17 สองข้างประตูทางเข้ามีสิงโตหินซึ่งเป็นพาหนะที่พระศิวะ (Shiva) และชายา พระนางภาวาติ (Parvati) ประทับอยู่ด้านละพระองค์ ส่วนด้านบนประตูตรงกลางเป็นรูปปั้นพระกฤษณะปางดุร้าย ด้านซ้ายคือปางเมตตา ส่วนด้านขวาคือรูปปั้น กษัตริย์ “ประทับ มัลละ” (Pratap Malla) และพระชายา บริเวณด้านในเป็นส่วนของวัง ถ้าจะผ่านเข้าไปต้องเสียเงินค่าเข้า 250 รูปี ห้ามนำกล้องถ่ายรูปเข้าไป ด้านซ้ายของทางเข้าจะมีรูปปั้นหนุมานสีแดงถูกคลุมด้วยผ้าสีแดงและมีร่มกางไว้เหนือศรีษะ หน้าและลำตัวเป็นสีแดงจนไม่เหลือเค้าโครงให้เห็นเพราะได้รับการป้ายด้วยผงสีเพื่อเป็นการแสดงสักการะแด่เทพเจ้าองค์นี้ ไปที่ไหนๆ ในเนปาลมักจะสังเกตเห็นหนุมานได้ชัดเจน (แต่ไม่เคยเห็นหน้าชัดๆซักที) เพราะมักมีผ้าสีแดงนี่แหล่ะคลุมรูปปั้นไว้เสมอๆ หนุมานถือเป็นเทพอีกหนึ่งองค์ที่ได้รับการนับถือในศาสนาฮินดูด้วยเหมือนกัน ที่เนปาลนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นประเทศที่การนับถือศาสนาพุทธและฮินดูอยู่ปะปนและกลมกลืนกันอย่างไม่มีข้อขัดแย้ง บางทีไปวัดพุทธก็เห็นเทพเจ้าฮินดูประทับอยู่ พอไปวัดฮินดูก็มีพระพุทธรูปประทับอยู่เหมือนกัน
     สถาปัตยกรรมที่สวยอลังการน่าประทับใจในบริเวณดูร์บาร์สแควร์สำหรับฉันเห็นจะเป็น “วัดตาเลจู” (Taleju Temple) ที่สร้างในสมัย “พระเจ้ามเหนทรา” (Mahendra Malla) ในปีค.ศ 1564 เทพตาเลจูจริงๆ แล้วเป็นเทพเจ้าจากอินเดียตอนใต้ แต่ได้รับการสักการะและถือเป็นเทพเจ้าประจำราชวงศ์มัลละ วัดตาเลจูนั้นมีขนาดใหญ่และมีความสูงค่อนข้างมากมื่อเทียบกับวัดอื่นๆ สูงถึง 35 เมตร ซึ่งในสมัยก่อนห้ามสร้างบ้านเรือนที่มีขนาดสูงเกินวัดนี้เด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะเป็นอัปมงคลแก่ชีวิต วัดจะถูกปิดไว้เสมอไม่อนุญาตให้คนเข้าไปชมในระยะใกล้ชิด ต้องชโงกดูจากภายนอกรั้ว แม้แต่คนเนปาลเองก็เถอะ มีโอกาสเข้าไปแค่ช่วงเทศกาลที่สำคัญเท่านั้น เสียดายที่บริเวณด้านหน้านั้นมีร้านค้าขายของเกลื่อนตาทำให้เสียทัศนียภาพที่สวยงามไปบ้าง
     รูปปั้นที่โดดเด่นที่อยู่ใกล้ๆวัดตาเลจูก็คือ “ไพราพสีดำ” (Kala Bhairab) ที่เชื่อกันว่าถูกแกะจากหินก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว และถูกพบในท้องทุ่งด้านเหนือของเมือง จึงได้นำมาเป็นรูปเคารพที่จตุรัสแห่งนี้ตั้งแต่สมัยกษัตริย์ประทับ มัลละ ไพราพนั้นคือพระศิวะปางดุร้าย จึงมีสีดำ มี 6 แขน แขวนมาลัยที่ทำจากกะโหลกคน และยืนอยู่บนศพซึ่งเป็นตัวแทนของความเขลาเบาปัญญา (ignorance) เชื่อกันว่าถ้าใครพูดโกหกต่อหน้ารูปปั้นไพราพ จะตายในทันที บ่อยครั้งจึงมีคนถูกนำมาสาบานต่อหน้าไพราพ แหม … มาอยู่เมืองไทยหน่อยไม่ได้ จะจับนักการเมืองไทยไปสาบานกันให้รู้แล้วรู้รอด


     ความจริงบริเวณจตุรัสแห่งนี้ มีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจอีกมากมาย ต้องค่อยๆ ใช้เวลาเดินดูชมกันไป แล้วแต่ว่าใครจะประทับใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แบบไหน ขืนเล่าทั้งหมดมีหวังเรื่องนี้คงยาวยืดเป็นบล็อกประวัติศาสตร์เป็นแน่ ถ้าอยากรู้รายละเอียดลึกซึ้งจริงๆ แนะนำให้ไปอ่านจากไกด์บุ๊คหรือในเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลโดยละเอียด

30 มีนาคม 2554

4. เหลี่ยมสาวไทย

     สำหรับหญิงสาวโสดอายุ 26 ปี ที่ไม่เคยเดินทางไกลไปไหนมาไหนคนเดียว การอยู่เที่ยวคนเดียวที่เนปาลนับเป็นเรื่องใหญ่
     เพื่อนๆ ที่มาด้วยกันต่างชักชวนให้กลับกรุงเทพในวันรุ่งขึ้นด้วยความเป็นห่วง
     แต่ในใจฉันบอกว่ามันไม่ใช่คำตอบที่ฉันต้องการ อุตส่าห์โชคดีได้มาฟรีขนาดนี้ถ้าจะให้กลับโดยไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย คงต้องเรียกว่าเสียสติเป็นแน่  เพราะฉะนั้นฉันจะอยู่ต่ออย่างแน่นอน 
     ปราการด่านแรกที่ฉันจะต้องพิชิตให้ได้ก็คือ … หาที่อยู่ใหม่ที่ถูกกว่านี้ เพราะไม่อยากกระเป๋าฉีกเป็นหนี้บัตรเครดิตมากจนเกินไป…
     ทำไงดี ทำไงดี … 
     เดินไปหาเกสต์เฮ้าส์ราคาถูกแถวๆ ทาเมลเหมือนที่ตั้งใจและวางแผนกับเพื่อนไว้
แต่แรกดีมั้ย
     “แล้วเราจะอยู่คนเดียวได้มั้ย มันจะอันตรายมั้ยนะ” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจ
     ไม่ยากเกินสมองเล็กๆ ของฉันที่จะหาทางออกให้กับตัวเอง ฉันตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อที่โรงแรมเดิมนั่นแหล่ะ แต่ค้นคิดเล่ห์เหลี่ยมแผนการที่จะจ่ายค่าที่พักราคาถูกลงมาหน่อย พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสซะเลย    
     “สวัสดีค่ะ ขอพบผู้จัดการฝ่ายดูแลห้องพักหน่อยค่ะ” ฉันบอกพนักงานที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์
     ซักครู่ก็มีชายชาวเนปาลรูปร่างผอมบาง ผิวคล้ำ ตาโต เดินเข้ามาหาฉัน
     “สวัสดีครับ ผมเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของโรงแรม ให้ผมช่วยอะไรได้บ้างครับ” มิสเตอร์    จูเกช เชรสทรา (Jugesh Shresha ) แนะนำตัวเอง หน้าตาท่าทางใจดี
     “เอ่อ ..​.. คือ ​…​ ฉันมาร่วมเวิร์คช้อปกับที่บริษัท อยู่ที่นี่มา 4 วันแล้ว และคิดว่าจะอยู่เที่ยวต่ออีกซัก 4-5 วัน  แต่พอดีเพื่อนที่เมืองไทยตามมาอยู่ด้วยกันไม่ได้ ไอ้ครั้นจะให้ไปอยู่เกสต์เฮ้าส์คนเดียว ก็กลัว แล้วอีกอย่างก็เร่ิมรู้สึกคุ้นเคยกับที่นี่ พนักงานก็น่ารัก ใจดี รู้สึกอบอุ่น แต่ราคาค่าห้องมันแพงมาก ไม่ทราบคุณจะกรุณาช่วยลดราคาห้องพักลงหน่อยได้มั้ย เพราะฉันไม่มีปัญญาจ่ายราคาเต็มหรอก” ฉันพูดพร้อมแสดงอาการน่าเห็นใจที่สุดเท่าที่จะทำได้
     “อืมม์​ ... โอเค ผมให้เรทเดียวกับที่ให้บริษัทคุณเลยแล้วกัน 90 USD รวมอาหาร 1 มื้อ” เขาตอบไม่ลังเลซักนิด
     “ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ตกลงฉันจะอยู่ต่ออีก 4 คืน” ฉันออกอาการดีใจจนออกนอกหน้า
     ใครจะนึกว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ลึกซึ้งอีกยาวนานที่ฉันไม่ได้คาดหวังไว้

     เพื่อนๆ คนไทย ต่างเป็นห่วงฉันที่จะอยู่ที่นั่นคนเดียว แต่ฉันรู้สึกมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรไม่ดีเกิดขึ้น จึงดึงดันอยู่จนได้
     เมื่อเราพรีเซ้นต์งานสุดท้ายจบ เหมือนยกภูเขาออกจากอก ถึงแม้กลุ่มฉันจะไม่ชนะก็ตาม แต่เราก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากการทำงานร่วมกับคนที่ต่างจากเรา แบ่งปันความคิดที่แตกต่าง แบ่งแยกหน้าที่และเรียนรู้ว่าเพื่อนชาวต่างชาติเค้ามีความมั่นใจและกล้าแสดงออก กล้าเสนอความคิดตัวเองกันแค่ไหน บางทีผิดถูกไม่ใช่สาระสำคัญที่สุด แต่การได้แสดงความคิดเห็นนี่สิเป็นสิ่งที่เขาต้องการ
     คราวนี้ก็เหลือแต่เรื่องสนุกๆ แล้ว คืนสุดท้ายคนไทยทั้งหมดรวมกลุ่มกันออกไปทานอาหารด้านนอกโรงแรมแถวๆ ย่านทาเมล เพราะตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นเราต่างต้องแยกย้ายกันไปรับภาระกิจที่ต่างๆ กันไป ไม่ค่อยจะได้ร่วมวงเสวนากันซักเท่าไหร่ ไม่ได้เม้าท์น้ำลายแตกฟองเป็นภาษาไทยซะนาน
     ย่านทาเมลนั้นถ้าให้วาดภาพก็คล้ายๆ ถนนข้าวสารบ้านเราแต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก มีถนนเล็กๆ ลัดเลี้ยวไปมา สองข้างทางมีโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ราคาย่อมเยา เอเยนซี่ทัวร์ ร้านขายของประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หนังสือ ของที่ระลึก ของพื้นเมือง ส่วนใหญ่ขายนักท่องเที่ยวทั้งนั้น คนเนปาลจริงๆ เค้าไม่มาซื้อของที่นี่กันหรอก ถ้าเดินแล้วเหนื่อยหรือหิวก็มีร้านเบเกอรี่และร้านอาหารนานาชาติที่ไว้บริการนักท่องเที่ยว รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรี เรียกว่าถ้ามาอยู่แถวนี้ชีวิตก็จะครบทุกรสชาติ ได้พบเพื่อนต่างชาติมากมาย เห็นพฤติกรรมอะไรแปลกๆ แต่ก็อาจจะเหนื่อยและเบื่อกับความวุ่นวายจ้อกแจ้กจอแจได้ในระยะเวลาไม่กี่วัน
      เราเลือกทานอาหารร้านหนึ่งที่มีอาหารหลายชาติให้เลือก ถูกปากทุกๆคนตามแต่รสนิยม หลังจากนั้นจึงเดินเล่นซื้อหาของฝากกันอีกนิดหน่อยก่อนที่จะกลับไปพักผ่อน ชีวิตยามค่ำคืนที่กาฏมาณฑุในช่วงเวลานั้นไม่ได้ยาวนานและอึกทึกมากนัก หลังสามทุ่มร้านรวงก็ปิดหมดแล้ว เรียกว่ายังพอมีความสงบหลงเหลืออยู่บ้าง 

29 มีนาคม 2554

3. นักเรียนในค่ายกักกัน

     คืนแรกมีปาร์ตี้ต้อนรับนักเรียนทั้งหลายที่เดินทางมาจากหลายๆ ประเทศในแถบเอเชียที่บริษัทมีสาขาอยู่มีทั้งหมด 14 ประเทศ อันได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ฮ่องกง จีน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย แต่ละคนได้รับมอบหมายให้ตระเตรียมชุดประจำชาติมาแต่งในคืนแรก ซึ่งเพื่อนๆ ฉันนั้นไม่มีใครเตรียมตัวมา ฉันจึงต้องเป็นตัวแทนแต่งชุดไทยแบบกระท่อนกระแท่น ซื้อมาด้วยราคาย่อมเยาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพื่อนๆ ชาติอื่นมีแต่งกันบ้างประปรายชาติที่แต่งชุดประจำชาติกันเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันดูเหมือนว่าจะไม่ต้องกังวลในการหาอุปกรณ์มาแต่งตัวซักเท่าไหร่ เช่นชาวอินเดีย น่าอัศจรรย์จริงๆ ที่บางประเทศยังคงธรรมเนียมการแต่งชุดประจำชาติในชีวิตประจำวัน ถ้าจะอ้างว่าชุดไทยแต่งยาก ก็ต้องลองดูส่าหรีบ้าง ไม่ใช่ใส่กันง่ายๆ เลย แถมยังรุ่มร่ามอีก แต่เค้าก็ใส่กันเป็นเรื่องธรรมดา ดูไม่ค่อยมีความลำบากหรือก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำรงชีวิตกันซักเท่าไหร่  
     ทางคนจัดงานยังให้ทุกคนเตรียมของขวัญมาแลกกันคนละหนึ่งชิ้นโดยที่ให้จับคู่พูดคุยซักถามทำความรู้จักอีกฝ่ายแล้วให้มาเล่าให้ทุกคนฟังถึงเรื่องส่วนตัวที่ได้สืบมา เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้รู้จักเพื่อนใหม่อย่างรวดเร็วและผ่อนคลายจากความตื่นเต้นลงได้บ้าง ค่ำคืนในปลายเดือนตุลาคมที่กาฐมาณฑุนั้นอากาศเย็นกำลังดีเพราะเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูหนาว มีแจ็คเก็ตหนึ่งตัวก็ปกป้องจากลมเย็นที่โชยเบาๆ ได้สบาย     
     เพื่อนๆ ฉันบางคนเริ่มรู้สึกกังวลกับการอยู่ที่เนปาลในวันถัดๆไป เมื่อได้ลองล้ิมรสอาหารมื้อแรก เพราะส่วนใหญ่เป็นอาหารพื้นเมืองเนปาลและอาหารอินเดีย เลยเกิดอาการไม่ถูกปากทำหน้าปูเลี่ยนๆ ร้องหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นำมาจากเมืองไทยตั้งแต่มื้อแรกซะแล้ว ถือเป็นอาวุธลับของชาวไทยเวลาเดินทางไปไหนๆ สำหรับฉันไม่มีปัญหา อาหารถูกปากถูกใจจนต้องเติมซ้ำ
     อาหารเนปาลส่วนใหญ่เป็นผัก เพราะคนส่วนมากมักทานมังสวิรัติ อาหารง่ายๆ ที่เค้าทานกันในชีวิตประจำวัน (คงคล้ายข้าวกระเพราะไก่ไข่ดาวที่เป็นเมนูสิ้นคิดของใครๆ รวมทั้งฉันด้วย เวลาที่นึกอะไรไม่ออกก็ต้องทานผัดกระเพรานี่แหล่ะ มั่นใจได้ว่าไม่ผิดหวัง) มักจะเป็นข้าว (ข้าวจ้าวและข้าวบาร์เล่ย์) กับผัดผัก และแกงถั่วซึ่งมักราดไปบนข้าว คนเนปาลทานข้าวด้วยมือ และถ้าคิดจะลอกเลียนแบบล่ะก็ต้องทานให้ถูกธรรมเนียม ก่อนทานต้องล้างมือล้างปากซะก่อน ใช้มือขวาทานเท่านั้น แล้วอย่าส่งจานอาหารบนโต๊ะด้วยมือซ้ายเด็ดขาด คนเนปาลเค้าต่างคนต่างทานไม่แบ่งกัน อาหารถือเป็นของศักดิสิทธิ์ เพราะฉะนั้นอย่าเผลอไปขอลองจ้ิมอาหารจากคนอื่น เพราะจะถือว่าทำให้อาหารนั้นสกปรก

     ความจริงใครที่ทานอาหารยาก ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเตรียมอาหารมาให้หนักกระเป๋าหรอกร้านอาหารที่กาฐมาณฑุนั้นมีให้เลือกหลากหลายมากมายเกือบทุกชาติ น่าจะหารสชาติที่ถูกปากได้บ้าง
     วันรุ่งขึ้นเราต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเข้าห้องเรียน ซึ่งถูกจัดไว้ในห้องประชุมห้องหนึ่งภายในบริเวณโรงแรม ครูที่มาสอนเรานั้นเป็นตัวแทนจากแผนกต่างๆ ภายในเอเยนซี่โฆษณาที่จะสอนวิธีคิด ขั้นตอนในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งกลเม็ดเคล็ดลับทีเด็ดต่างๆ ในการทำงาน นักเรียนแต่ละคนต้องพรีเซ้นต์ประสบการณ์การทำงานในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งบอกเล่าถึงเหตุผลของความสำเร็จที่เกิดขึ้น เพื่อที่ว่าคนอื่นๆ จะได้นำไปใช้ในประเทศตัวเองบ้างถ้าเห็นว่ามันดีจริง รวมทั้งลูกค้าตัวจริงที่แจกโจทย์ให้เราช่วยวางแผนงานรวมไปถึงคิดงานครีเอทีฟนำเสนอให้กับสินค้าของเค้า ถ้ากลุ่มไหนคิดไอเดียได้โดนใจก็จะได้รับรางวัลในวันสุดท้าย
     เราถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยซึ่งแต่ละกลุ่มถูกปะปนไปด้วยนักเรียนชาติต่างๆ โดยไม่ซ้ำกัน จะได้ไม่จับกลุ่มคุยกันเอง และได้มีโอกาสทำความรู้จักเพื่อนร่วมกลุ่มจากชาติอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น วัฒนธรรมที่แตกต่าง สำหรับกลุ่มฉันนั้นประกอบไปด้วย ฉันซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทย อินเดีย จีน บังกลาเทศ และปากีสถาน
     การที่อยู่รวมกับคนที่ต่างจากเรา ทั้งเพศ สัญชาติ ภาษา และความคิดนั้น เป็นเรื่องท้าทายไม่ใช่น้อย สนุกก็สนุกดีอยู่หรอก เพราะเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะแยะ ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิดต่างๆ แต่เรื่องปวดหัวก็มีไม่น้อย ก็ไอ้เพราะความต่างนี่แหล่ะ ที่ทำให้เราต้องใช้เวลามากกว่าเดิมในการทำความเข้าใจในแต่ละเรื่อง ฉันโชคดีเล็กน้อยที่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยมีครูต่างชาติมาสอนอยู่หลายชาติ ทำให้คุ้นเคยกับสำเนียงภาษาอังกฤษหลายรูปแบบ บางครั้งเลยต้องทำตัวเป็นล่ามจำเป็นในการแปลภาษาอังกฤษเป็นอังกฤษระหว่างคนอินเดียกับคนจีน เป็นเรื่องขำขันและสนุกไม่ใช่น้อย ต่างคนต่างถามว่าฉันสามารถเข้าใจได้ไงว่าฝั่งตรงข้ามพูดว่าอะไร ไหนยังภาษากายที่แต่ละชาติก็มีวิธีแสดงออกที่แตกต่างกันอีก คนอินเดียนั้นเมื่อเค้าเห็นด้วยในส่ิงที่เราพูดเค้าจะส่ายหน้าไปด้วยตลอดเวลาที่ฟังเรา ตอนแรกๆ ฉันก็งง เราพูดอะไรไป เค้าส่ายหน้าหมดเลย นี่จะหาเรื่องกันหรือไง ทำไมไม่เห็นด้วยกับฉันแม้แต่เรื่องเดียว แต่เมื่อทำความคุ้นเคย ซักพักก็เข้าใจ หลังๆ ฉันก็เลยส่ายหน้าเข้าจังหวะตามเค้าไปด้วยโดยอัตโนมัติ
     ระหว่างที่เราขะมักเขม้นกับการเรียนและการทำงานนั้น เราไม่ได้ออกไปเที่ยวด้านนอกโรงแรมเลย เพราะต้องทำงานจนถึงดึกดื่นแถมยังต้องตื่นแต่เช้าตรู่มาเข้าห้องเรียนอีก ทานอาหารสามมื้อรวดในโรงแรม จนเพื่อนๆ ฉันเบื่ออาหารที่เค้าเตรียมไว้จนต้องฝากท้องไว้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกือบทุกมื้อเลยทีเดียว ฉันอยากให้ถึงวันสุดท้ายของการเรียนเร็วๆ เพราะจะได้มีอิสระเสียที นกในกรงทองจะได้โบยบินไปชมโลกแห่งความจริงด้านนอกกับเค้าบ้าง                  
     วันสุดท้ายของการเรียน ฉันได้โน้ตลับภายในห้องนอน เป็นแฟ้กซ์มาจากเมืองไทย ความว่า ….
     “ฉันไปเที่ยวกับเธอไม่ได้แล้ว เพราะไม่สามารถจองตั๋วเครื่องบินได้ ช่วงนี้ตั๋วเต็มมาก ขอโทษที…..”
     โอย ความรู้สึกเหมือนกน้อยในกรงทองที่กำลังจะกางปีกโบยบิน แต่แล้วเจ้าของกลับเปลี่ยนใจ ปิดกรงซะต่อหน้าต่อตา แล้วทีนี้นกน้อยในกรงทองจะทำยังไงดี ระหว่าง
เปลี่ยนตั๋วเครื่องบิน บินกลับพร้อมเพื่อนที่มาด้วยกัน
หรือ … อยู่ต่อคนเดียวก็ได้ ไม่เห็นจะง้อเลย ฝุ่นเนปาลยังไม่ได้สัมผัสซักนิด 

28 มีนาคม 2554

2. นมัสเตเนปาล

     ภาพประทับใจแรกของการไปเยือนเนปาลนั้นคือขณะที่เครื่องบินกำลังลดระดับเพื่อลงจอดที่สนามบินแห่งชาติ “ไตรภูวัณ” ฉันรู้สึกเหมือนอยู่ในอ้อมกอดของของชายหนุ่มแปลกหน้าที่เคยฝันถึงอยู่บ่อยๆ เค้าดูยิ่งใหญ่ มีพลัง เต็มไปด้วยความมั่นคง แต่ลึกลับอยู่ในที ที่สำคัญมีแรงดึงดูดให้ต้องตกหลุมรักเมื่อได้แรกเจอตัวจริง จึงรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากกว่าใคร ชะเง้อชะแง้มองผ่านช่องหน้าต่างเล็กๆ ของเครื่องบิน ออกไปให้เห็นหน้าและรูปลักษณ์เต็มๆ ตา ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ รู้สึกตระหนก เพราะก่อนหน้าที่เราจะเดินทางไปนั้น มีข่าวว่าเครื่องบินลำหนึ่งมีปัญหาในการลงจอดเพราะมีนกบินเข้าไปติดตรงใบพัดทำให้เสียการทรงตัว (แต่ในที่สุดก็ลงจอดได้จนสำเร็จ) จึงนั่งกันไม่ค่อยติดเท่าไหร่ สนามบินที่นี่เป็นหนึ่งในสนามบินปราบเซียนอยู่แล้วเพราะว่าอยู่ในหุบเขาจึงไม่สามารถค่อยๆ ลดระดับลงจอดแบบปกติธรรมดาเหมือนที่อื่นๆ ได้ นักบินต้องมีความสามารถระดับพระกาฬในการบังคับเครื่องให้ลดระดับลงในระหว่างหุบเขาแสนแคบ เพื่อนๆ ฉันต่างหวาดเสียวหลับตาสวดมนต์กันเป็นการใหญ่
     ใช้เวลาผ่านด่านศุลกากรไม่นานเพราะเรามีวีซ่าที่ทำมาจากประเทศไทยเรียบร้อยแล้วไม่ต้องไปต่อแถว “visa on arrival” ให้เสียเวลา
     ภาพไม่ประทับใจเท่าไหร่เกิดตามมาเมื่อเราเดินออกมาจากแอร์พอร์ตอันเนื่องมาจากเราไปในช่วงพีคของฤดูกาลท่องเที่ยวของที่นั่นคือเดือนตุลาคม ทำให้มีผู้คนเดินทางเข้ามากันเยอะ เป็นที่มาของการแก่งแย่งลูกค้าของเอเยนซี่ทัวร์ คนขับแท็กซี่ คนลากกระเป๋า ถ้ามองให้เป็นเรื่องธรรมชาติของการอยู่รอดได้ ก็จะช่วยให้ไม่รู้สึกรำคาญใจ โชคดีสำหรับเราที่มีคนจัดแจงเรื่องที่พัก รถรับส่งไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปต่อสู้อะไรให้เหนื่อยใจ
     ระหว่างทางที่ไปโรงแรมรถแล่นผ่านบ้านเรือน ร้านค้า ที่แทรกตัวอยู่ตามทางอย่างบางตาฝุ่นคละคลุ้งไปตลอดเส้นทาง เสียงแตรรถที่ดังไม่ขาดสายเริ่มบีบประสาทเราที่ไม่คุ้นเคยกับเสียงดัง ผู้คนที่บ้างนั่งเล่นนอกชาน เล่นเกมส์พื้นบ้าน บ้างนั่งตัดผมอยู่ริมถนน เด็กๆ เล่นเกร่ อยู่แถวๆ บ้าน แลดูเป็นวิถีชีวิตที่กันดารขัดสนและมอมแมม หากแต่เป็นชีวิตที่ดูจริง ไม่แต่งแต้ม
     เราใช้เวลาเดินทางไปยังโรงแรม “ฮอลิเดย์อินน์ โซลตี” (Soaltee Holiday Inn hotel) ประมาณครึ่งชั่วโมง เพราะอยู่ห่างตัวเมืองกาฏมาณฑุไปทางทิศตะวันตก โรงแรมนี้หรูระดับ 5 ดาว เป็นหนึ่งในเครือโรงแรมฮอลิเดย์อินน์ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีพื้นที่โดยรอบเป็นสนามกว้าง ร้านอาหาร สระว่ายน้ำ และคาสิโน ช่างต่างจากสภาพที่เห็นตามรายทางที่ผ่านมา เราเหมือนเข้ามาอยู่ในอีกโลกหนึ่งเป็นโลกแห่งความเงียบสงบและหรูหราฟุ่มเฟือยเหมาะกับการมาพักผ่อน ราคาค่าห้องนั้นก็สูงสมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่เค้ามีให้ ราคาในตอนนั้นคือ 160 USD ต่อคืน (​ค่าเงินบาทในตอนนั้นเท่ากับ 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าห์ )​  

     เราได้รับการต้อนรับโดยการเจิมที่หน้าผากด้วยผงติกกาสีแดง (tika) ซึ่งเป็นธรรมเนียมการต้อนรับของฮินดู ซึ่งหมายถึงการอวยพรจากเทพเจ้า ที่ต้องเจิมตรงกลางหน้าผากก็เพราะว่าเป็นจุดรวมของพลังจักรวาล (chakra) และยังเป็นตัวแทนของดวงตาที่สาม ซึ่งเป็นดวงตาแห่งการเห็นและการรู้ เราจะเห็นดวงตานี้ตรงหน้าผากของพระศิวะ คนที่ได้รับการเจิมก็เสมือนได้รับการปกป้องจากเทพเจ้า ทั้งชายและหญิงจะได้รับการเจิมในแบบเดียวกัน ถ้าเดินไปไหนมาไหนตามท้องถนนจะเห็นชาวเนปาลแทบทุกคนมีผงสีแดงเจิมอยู่ตรงหน้าผาก พวกเขามักจะไปวัดและเจิมหน้าผากกันตั้งแต่เช้าให้เป็นสิริมงคลกับการดำเนินชีวิตตลอดทั้งวันและท้ิงไว้แบบนั้นจนหลุดไปเอง
     หลังจากที่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นแล้ว เราก็เช็คอินเข้าห้องพัก ห้องใครห้องมัน นอนสบายคนละห้องไม่ต้องแบ่งใคร ห้องพักจัดแบบตะวันตกมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน และมีขนาดใหญ่กำลังดี เรามีเวลาเตรียมตัวอีกพักใหญ่ก่อนที่จะลงไปทานอาหารค่ำ ฉันและเพื่อนเดินสำรวจรอบๆ โรงแรมด้านหน้าทางเข้าพบว่ามีร้านขายของที่ระลึกอยู่ ซึ่งฉันได้เสียเงินซื้อของตั้งแต่วันแรกเลย ประเดิมด้วยการซื้อกระเป๋าผ้าใบเล็กมีลายปักน่ารัก 

27 มีนาคม 2554

"เนปาล 3 องศา" องศา 1 : 1. ประเทศในฝัน

องศาที่ 1 : กำเนิด
The Begin

   ความสัมพันธ์กว่า 11 ปี ของสาวไทยและหนุ่มเนปาล เริ่มต้นจากเรื่องราวความประทับใจเล็กๆ ก่อเกิดเป็นความผูกพันและยั่งยืนจนเวลาผ่านไปนับทศวรรษ ไม่มีอะไรมาขวางกั้นและทำลายความรู้สึกดีๆ นั้นลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ระยะทาง หรือกาลเวลาที่ผันผ่าน

1. ประเทศในฝัน
   เดือนตุลาคมในปี ค.ศ 1996 พนักงานสาวของบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ข้ามชาติแห่งหนึ่งได้รับโอกาสไปเยือนดินแดนในฝันแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
   
   ไม่น่าเชื่อว่าคนโชคดีคราวนั้นจะเป็นฉัน ซื้อล๊อตเตอรี่ทีไรไม่ยักถูก แต่ถ้าเรื่องเที่ยวเรื่องเดินทางนี่พอมีโอกาสได้ลุ้นกับเค้าอยู่บ้างเหมือนกันใครจะไปคิดว่าวันนึงจะได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศในฝัน “ฟรี”
   จะไม่ให้เรียกว่าโชคเข้าข้างได้ยังไง ก็ทุกปีที่มีการจัดเวิร์คช้อปแบบนี้ มักจะเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย แต่ปีนั้น ปีที่ฉันได้ไปเป็นหนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทย ( แหมอย่างกับประกวดนางงาม ) กลับถูกจัดที่ประเทศในอ้อมกอดหิมาลัย “เนปาล” ดินแดนในฝันของฉัน และเป็นเพียงปีเดียวที่เค้าย้ายที่จัด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าฉันถูกพรหมลิขิตขีดให้ได้เดินทางไปที่นั่น
   แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อแม้เสมอ ใครจะให้เราเดินทางฟรีๆ ก็อย่างที่ใครๆ ก็รู้กันของฟรีไม่มีในโลกหรอก ขนาดส่งใบชิงโชคตามห้างฯ คุณยังต้องซื้อของให้ครบตามจำนวนที่เค้ากำหนดก่อนเลย
   วันที่ฉันได้ทำงานรับใช้บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเป็นเวลา 3 ปี ฉันได้รับคัดเลือกให้ไปร่วม “เวิร์คช้อป” เป็นเวลา 6 วันเต็ม ตามภาษาที่เค้านิยมเรียกกัน ซึ่งแท้จริงแล้วเหมือนส่งเราไปเรียนหนังสือ เคาะสนิมออกจากสมอง ให้มีอะไรใหม่ๆ ในหัว จะได้กลับมาทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ความยากลำบากทั้งหลายทั้งปวงที่ต้องเผชิญในช่วง 6 วันนั้นไม่ได้อยู่ในความกังวลของฉันเลย เพราะภาพเทือกเขาหิมาลัยเข้ามาลอยเป็นฝันหวานของฉันไปซะแล้ว
   เพื่อนๆ ที่ถูกส่งไปด้วยกันต่างวาดภาพความสยองขวัญต่างๆ นาๆ ในการเดินทางครั้งนั้นแต่สำหรับฉันมันเหมือนการเดินทางไปสวรรค์ดีๆ นี่เอง จึงได้จัดแจงลางานต่อเพื่ออยู่เที่ยวอีก 5 วันกับเพื่อนสนิทสาวที่จะตามไปสมทบในภายหลัง 

26 มีนาคม 2554

My Life is a Journey, the begin.

  การทำบล็อกนี้เริ่มต้นจากความรู้สึกเสียใจและเสียดายงานเขียนชิ้นหนึ่งถึงประเทศที่รัก คงไม่ง่ายนักที่เรื่องราวการเดินทางของชีวิตเรานั้นจะได้รับการคัดเลือกและจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเพราะเราไม่ใช่นักเขียนที่มีชื่อเสียง และยังมีคนอีกมากมายที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าแบ่งปันกับผู้อ่านมากกว่า น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีพื้นที่ส่วนตัวที่บอกเล่าอะไรได้อย่างใจ ไม่ถูกตัดหรือถูกดัดให้สละสลวยขึ้น 


  ชีวิตของฉันให้ความสำคัญกับการเดินทางค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปไกลบ้านไกลเมืองหรือแม้แต่การเดินทางในจิตใจตัวเอง เราเติบโตทุกวันไปกับการเดินทาง เราได้เรียนรู้อะไรมากมาย ได้เห็นส่ิงมหัศจรรย์ที่บางครั้งอาจเรียบง่ายแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยสาระให้กับชีวิต จึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ที่ได้ไปพบเจอจากต่างบ้านต่างเมือง หวังว่าข้อมูลเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้ใครๆ ได้ออกเดินทางไปพบเจอกับส่ิงดีๆ กัน เพราะ Life is a journey ... 


   ฉันขอเร่ิมต้นด้วยการเล่าเรื่องราวการเดินทางไปประเทศเนปาล 3 ครั้ง ในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่ละครั้งมีเรื่องความประทับใจเล็กๆ น้อยๆ วัฒนธรรม เทศกาล อาหารการกิน มิตรภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่นั่น ผู้อ่านบางคนอาจได้มีโอกาสผ่านตากับเรื่องราวมาบ้างแล้วแต่ต้นฉบับนี้มีการปรับปรุงและจัดเรื่องใหม่ ฉันจะลงเรื่องแต่ละตอนในแต่ละวันจะได้ไม่เบื่อที่ต้องอ่านอะไรยาวยืด ถ้ามีความคิดเห็นอะไรอยากแนะนำก็เขียนมาบอกกันได้เลยค่ะ


ขอให้มีความสุขกับการเดินทางไปด้วยกันค่ะ
ชลิสา (แครอล)