19 พฤษภาคม 2554

22. โบกมือลาหิมาลัย

     เช้าวันนี้เราถือโอกาสตื่นสายหน่อยเพราะเมื่อคืนนอนค่อนข้างดึก เราเกไม่ไปดูขบวนแห่รถลากกับพี่ธันวาที่ตื่นไปตั้งแต่ตีห้า วันนี้เป็นพิธีที่ผู้หญิงจะเป็นคนลากรถ และบริเวณที่ลากก็อยู่ในเขตที่บ้านพี่ธันวาอยู่ รู้สึกเสียดายนิดหน่อยแต่รู้สึกเพลียมากกว่า
     เช้านี้เราทานอาหารเบาๆ คือข้าวต้มกับน้ำพริกผักและมีขนมโรตีห่อแป้งทอดกรอบของโปรดพี่ตุ๊กภายในบริเวณครัวพี่สาวพี่ธันวาตระเตรียมเทียนบูชาพระแบบทำเอง ก่อนที่เราจะออกจากบ้านสาริตาเตรียมถาดที่มีเหรียญและจุดไฟเพื่อให้เราทำพิธีลาจากบ้าน เมื่อมาถึงเขาก็เตรียมติกกาที่เจิมที่หน้าผากเป็นการต้อนรับ เมื่อเวลาต้องจากไปก็ให้ใส่เหรียญลงไปในเหยือกขนาดย่อมที่มีน้ำ ฉันถ่ายรูปครอบครัวอาวาเล่ไว้เป็นที่ระลึก ทุกคนมาส่งเราอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา (จริงๆ แล้วเขามาส่งพี่ธันวาต่างหาก)



     เวลาประมาณ 10 โมงเช้าจูเกชก็มาถึงที่บ้านเพื่อจะมาร่ำลาเป็นครั้งสุดท้าย เขานำเอา
แพชมิน่าสองผืนมาให้ฉันและพี่ตุ๊กเพื่อเป็นที่ระลึก ของฉันสีชมพูและของพี่ตุ๊กสีฟ้า ดูๆไปเขาก็เป็นคนช่างสังเกตไม่น้อยรู้ว่าใครเหมาะกับสีอะไร แพชมีน่าเป็นของฝากที่ดีอีกหนึ่งอย่างจากเนปาล คุณภาพมีให้เลือกหลากหลายและราคาไม่แพงด้วย
     ฉันรู้สึกใจหายนิดหน่อยเมื่อเวลาเดินทางมาถึง ฉันร่ำลาจูเกชแค่ตรงหน้าบ้านเท่านั้น เพราะถึงแม้จะเป็นวันอาทิตย์แต่ก็เป็นวันทำงานของคนเนปาล สำหรับครอบครัวอาวาเล่ดูเศร้านิดหน่อยโดยเฉพาะคุณแม่เพราะต้องจากลูกชายอีกครั้ง จะมีโอกาสพบหน้าพบตากันอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ท่านคงอยากให้ลูกชายคนโตกลับมาอยู่ที่บ้านด้วยกัน มาครั้งนี้ก็มัวแต่พาเราเที่ยวไม่ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่จะเห็นล้อมวงคุยกันตอนช่วงดึกๆ หลังจากที่เราไปเที่ยวกันจนกลับมาบ้าน ด้วยหน้าที่การงานที่รัดตัวพี่ธันวาจึงไม่สามารถที่จะเดินทางกลับบ้านได้บ่อยๆ อย่างที่ตั้งใจ



     ถนนที่เดินทางไปสนามบินนั้นติดขัดนิดหน่อยเพราะยังมีกลุ่มประท้วงอยู่บ้างประปราย และเมื่อเราไปถึงด้านในแถวที่ต่อเพื่อเช็คอินนั้นก็ยาวยืดเพราะว่าระบบคอมพิวเตอร์เสียทำให้พนักงานต้องใช้ระบบเช็คอินแบบ manual คือเขียนด้วยมือ กว่าจะผ่านไปได้แต่ละรายต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และต้องไปรอเวลาขึ้นเครื่องอีกพักหนึ่ง
     เมื่อได้ขึ้นเครื่องก็ใจหาย เตรียมตัวโบกมือลาเทือกเขาหิมาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ทุกครั้งที่มาที่นี่ฉันไม่เคยรู้สึกว่ามันจะเป็นครั้งสุดท้ายซักครั้ง ยังคงมีความรู้สึกว่าจะต้องได้กลับมาอีกไม่ช้าก็เร็ว ยังมีอีกหลายที่ที่ฉันยังไม่เคยไป ครั้งหน้าอยากจะไปเทรกกิ้งเล็กๆ ที่หมู่บ้านที่ห่างไกลออกไป อยากลองไปอยู่นอกเมืองให้นานหน่อย สูดอากาศบริสุทธิ์ เสพธรรมชาติป่าเขาให้สบายอารมณ์
     การที่ฉันได้มาเนปาลถึงสามครั้งแล้วนั้นคงไม่ใช่เรื่องธรรมดา ทุกครั้งก็รู้สึกคุ้นเคยและมีความสุขเมื่ออยู่ที่ประเทศนี้ มากไปกว่านั้นรู้สึกผูกพันกับคนที่นี่ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เราจะสามารถพบและรู้จักคนแปลกหน้า สร้างความสัมพันธ์จนกลายมาเป็นเพื่อนกัน ที่ยากไปกว่านั้นก็คือการที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีนั้นไว้ได้ มีโอกาสเห็นการเจริญก้าวหน้า ความเปลี่ยนแปลง แบ่งปันความสุข ความทุกข์ พูดคุยใช้เวลาด้วยกันแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในแต่ละครั้ง
     ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นด้วยความบังเอิญ กลับกลายเป็นความผูกพันยาวนาน คงไม่ใช่ทุกคนที่จะได้พบกับประสบการณ์แบบนี้ เพราะฉะนั้นฉันต้องรักษามันไว้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ คงมีเรื่องราวไม่คาดฝัน อุปสรรค ความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้นมากมายในอนาคตของเราทั้งสอง แต่อย่างน้อยเราจะจำไว้เสมอว่ามีเรื่องราวเล็กๆ ที่ดีที่เกิดขึ้นระหว่างเรา และขยายวงกว้างแผ่ออกไปสู่ครอบครัวและเพื่อนรอบข้างเรา
     แล้วคุณล่ะ เคยคิดอยากให้การเดินทางนำมาซึ่งเรื่องดีๆ บ้างมั้ย ถ้าอยากก็อย่ารอช้า รีบจัดกระเป๋าออกเดินทาง เปิดใจให้กว้าง และพร้อมที่เป็นผู้เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ดีๆ แล้วคุณจะรู้ว่าการเดินทางให้อะไรมากกว่าความสนุก การผจญภัย และการเห็นสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ เพราะถ้าคุณกล้าที่จะสัมผัสให้ลึกไปกว่านั้น ... คุณจะได้มุมมองที่แตกต่างและลึกซึ้งกว่าที่เคย

18 พฤษภาคม 2554

21. ความฝันของเพื่อน

     และแล้วนางเอกของเราก็ปรากฏตัว ริซ่ามาพร้อมกับอาหารหน้าตาดูดี มีดาล ( แกงถั่ว ) แกงไก่ และดอกกะหล่ำผัด มีน้ำพริกเป็นเครื่องเคียงอีกหนึ่งถ้วย เรียกว่าเป็นอาหารพื้นเมืองแท้ อร่อยถูกปากจริงๆ

     ริซ่าอ้วนขึ้นมาหน่อย หลังจากมีลูกสองคนแต่สวยคมเหมือนเดิม เธอดูมีชีวิตชีวาและเป็นแม่บ้านที่สมบูรณ์แบบ เธอพูดเก่งขึ้นจากครั้งที่แล้วที่ฉันมีโอกาสได้พบเธอ
     เรานั่งคุยกันอีกพักใหญ่ก่อนที่จูเกชจะพาเราออกไปเพื่อชมที่ที่เขาตั้งใจจะปลูกบ้าน คราวนี้ไปกันทั้งครอบครัว พ่อแม่ลูกและเราอีกสอง เพราะหลังจากนั้นริซ่าต้องแวะไปทานอาหารค่ำที่บ้านเนื่องจากบริเวณเขตบ้านของเธอนั้นมีการแห่รถ ครอบครัวในบริเวณนั้นจึงต้องเชิญสมาชิกครอบครัวกลับมาทานข้าวที่บ้านตามธรรมเนียมโบราณ
     ขับรถไปไม่นานนักก็มาถึงปากทางเข้าหมู่บ้านโคคนะ จูเกชจอดรถไว้ด้านนอกเพราะตรงบริเวณที่ของเขาไม่มีที่จอด อีกทั้งทางเข้ายังเป็นทางแคบๆ เราจึงใช้วิธีเดินเท้าเข้าไป ฉันจูง ไอช่า ส่วนพี่ตุ๊กจูงอาจิต ให้พ่อแม่หายเหนื่อยบ้าง เดินไปไม่ลึกนักก็ถึงที่โล่งๆ อยู่ในบริเวณหุบเขาด้านล่าง จูเกชชี้พลางอธิบายให้เราฟังว่าเขาซื้อที่ไว้กับเพื่อนอีก 5 คน ตั้งใจว่าจะมาปลูกบ้านติดๆ กัน จะได้ไม่ต้องเสียเงินไปเที่ยวนั่งเล่นนอบ้าน ผลัดกันเป็นเจ้าภาพบ้านละวันน่าจะมีความสุขกว่า ที่ด้านหน้าที่เห็นนั้นเป็นที่กว้างที่มีธรรมชาติอยู่แวดล้อม ด้านหน้าเป็นภูเขาสูงตระหง่าน อากาศค่อนข้างบริสุทธิ์ ฉันว่าถ้าเขาได้ย้ายมาอยู่แล้วคงมีความสุขมาก เพราะปัจจุบันนั้นบ้านของเขาอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ เพราะฉะนั้นก็อาจจะมีความไม่สะดวกหลายๆ ประการ และอาจเลยไปถึงเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้าง บางครอบครัวเมื่อสมาชิกแต่งงานก็นำเอาสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ภายในบ้านเพราะถือว่าเป็นสมบัติร่วมกัน ครอบครัวก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ บางทีเราจะเห็นบ้านที่ด้านหน้าหน้าตาเหมือนกันสองบ้านอยู่ติดๆ กัน นั่นเป็นเพราะว่าแต่เดิมก็เป็นบ้านเดียวกันนั่นแหล่ะ แต่ต่อมาเมื่อครอบครัวขยายขึ้นจึงต้องแบ่งบ้านกัน บางคนก็ทำง่ายๆ โดยการสร้างกำแพงขึ้นมากั้นตรงกึ่งกลางเป็นอันว่าแก้ปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกันได้แต่พื้นที่ก็จะมีขนาดคับแคบลง
     เขาฝันว่าจะสร้างบ้านแบบที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เขาค่อนข้างเป็นคนโผงผางและพูดจาตรงไปตรงมา แต่ก็ดีไปอย่างเราไม่ต้องเดาว่าคนแบบนี้เขาคิดและรู้สึกยังไงเพราะเขาจะพูดให้เรารู้จนหมดเอง จะว่าไปเขาก็มีความคิดอะไรหลายๆ อย่างคล้ายๆ ฉัน
     “นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันมาที่นี่นะเนี่ย” ริซ่าเอ่ยปากพร้อมพูดเสียงเล็กเสียงน้อย
     “ฮ้า จริงเหรอ ไม่น่าเชื่อเลย จูเกชทำไมไม่พาริซ่ามาดูที่ล่ะ” ฉันหันไปค่อนขอดเขา
     “ก็กะว่าให้ทุกอย่างเรียบร้อยก่อนค่อยพามา” เขาอธิบาย                                    
     ฉันเลยรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มาดูที่กับเขาด้วย
     “ผมตั้งใจว่าจะสร้างบ้านให้เสร็จในอีกสองปี แล้วตอนนั้นถ้าคุณมาเนปาลอีก ต้องสัญญาว่าจะมาอยู่ที่บ้านเรานะ เราจะดูแลคุณอย่างดีเลย ไม่ต้องเสียเงินซักรูปีเดียว” เขาเชื้อเชิญ
     “ได้สิ ถ้ากลับมาอีก ต้องมาอยู่ด้วยแน่นอน”
     เรากลับมาที่รถเพื่อที่จะเดินทางไปยังบ้านของริซ่าที่เมืองปาตัน ทั้งสองทดสอบความจำของฉันว่าจะจำบ้านริซ่าได้รึเปล่า โดยปล่อยให้ฉันเป็นคนเดินนำไป คลับคล้ายคลับคลาว่าอยู่ใกล้ๆ วัดแห่งหนึ่งที่พี่ชายของริซ่าแบกเธอขึ้นหลังและเดินรอบวัดก่อนที่จะถูกส่งตัวไปยังบ้านสามี แต่บ้านแถวๆ นั้นหน้าตาเหมือนๆ กันหมดแถมยังสลับซับซ้อนอีกด้วยฉันจึงไม่สามารถนำไปได้ถูก
     เราผ่านเข้าไปยังด้านในและขึ้นไปยังชั้นสองซึ่งเป็นห้องที่ไว้ต้อนรับแขก เด็กๆ เริ่มเล่นสนุกกับของเล่นที่มีอยู่ในห้องนั้น ซักครู่น้องสาวของริซ่าก็มาพร้อมกับลูกสาวของเธอ ฉันจำหน้าเธอได้เพราะเคยพบเมื่อตอนนำของหมั้นมาให้ริซ่าในค่ำคืนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน เธอสวยเหมือนเดิมเพียงแต่ท้วมขึ้นหน่อยหลังจากนั้นคุณพ่อก็ตามมารวมทั้งพี่ชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง เรานั่งคุยกันจนราวสามทุ่มอาหารก็นำมาเสริฟตอนนั้นฉันยังอ่ิมอยู่มากเพราะเพ่ิงทานอาหารเที่ยงตอนบ่ายสาม แต่ด้วยมารยาทก็ต้องทานซะหน่อยเดี๋ยวจะเสียน้ำใจ 



     จูเกชบอกว่าธรรมเนียมของคนที่นี่เน้นเรื่องทาน เจ้าบ้านจะเติมข้าวปลาอาหารให้เราอย่างไม่หยุดหย่อน ถ้าเราไม่ปฏิเสธเสียงแข็งล่ะก้อ รับรองกินจนพุงแตกเป็นชูชกแน่ 
     เรานั่งคุยอีกซักพักจึงขอตัวกลับเพราะจูเกชอยากพาเราไปแวะดื่มคอกเทลกันก่อนกลับไปส่งที่บ้านเพราะว่าวันพรุ่งนี้เราจะเดินทางกลับบ้านแล้ว
    จูเกชพาเราไปที่ร้านร้านเดิมที่ไปกันเมื่อวันก่อน คนไม่ค่อยเยอะนัก เรานั่งกันบริเวณที่เป็นโซฟาเพราะวันนี้เรามากันหลายคนแถมยังมีเด็กๆ อีกสองคน เราสั่งเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์มาให้รู้สึกครึกครื้นส่วนเด็กๆ ก็ดื่มน้ำส้มกัน
     ฉันเริ่มซักถามพูดคุยกับริซ่าให้เธอได้รู้สึกผ่อนคลายลงหน่อยจากการทำหน้าที่เป็นคุณแม่และภรรยาที่ดีซึ่งเป็นส่ิงที่จูเกชมุ่งหวังไว้ เขาอยากให้ฉันลองเลียบๆ เคียงๆ ถามดูว่าริซ่ามีอะไรที่หนักใจบ้างรึเปล่าอาจเป็นเพราะเธอเป็นคนที่มีความรับผิดชอบในฐานะภรรยา แม่ของลูก ลูกสะใภ้ พี่สะใภ้ ฯลฯ​ ทำให้ต้องมีภาระมากมาย มีงานต้องทำมากเลยทำให้ไม่ได้มีเวลาให้ตัวเองเท่าไหร่ ต้องใช้ความอดทนมากมายในการเป็นสะใภ้ แล้วอีกอย่างริซ่าเป็นคนไม่ค่อยพูด จูเกชก็เลยไม่ค่อยรู้ว่าเธอมีความสุขดีรึเปล่าหรือมีปัญหาอะไรที่อยากให้ช่วยบ้าง ดูเขาเห็นอกเห็นใจและเข้าใจริซ่าอยู่มาก แต่ด้วยความเป็นผู้ชายและเคยชินกับวิถีแบบชายเนปาลที่เป็นใหญ่ในบ้านทำให้บางทีก็เพลินกับใช้ชีวิตสบายๆ ที่มีคนคอยปรนนิบัติ 
     ผู้หญิงเนปาลมีหน้าที่ภายในบ้านมากมาย ต้องทำงานบ้าน ดูแลคนในครอบครัว ดูแลพ่อแม่สามี ส่วนใหญ่สะใภ้จะเป็นคนที่ทานข้าวคนสุดท้ายหลังจากที่ทุกคนทานหมดแล้ว แถมริซ่ายังต้องทำงานนอกบ้านอีก แต่จูเกชบอกว่าเธอเป็นคนที่มีความอดทนสูง ไม่ค่อยบ่นอะไร จูเกชเดาว่าเธอต้องมีเรื่องไม่สบายใจอยู่บ้าง เพียงแต่ไม่อยากทำให้คนรอบข้างไม่สบายใจก็เลยเก็บเงียบไว้กับตัว การที่จะแยกออกไปอยู่บ้านของตัวเองก็น่าจะช่วยผ่อนภาระของริซ่าลงบ้าง เขาบอกว่ามีแผนที่จะพาพ่อแม่และราเกชไปอยู่ด้วย คราวนี้ริซ่าก็ได้เป็นใหญ่คนเดียวในบ้าน ฉันว่าก็ดีเหมือนกัน เธอจะได้มีอิสระมากขึ้นด้วย สามารถจัดการบ้านในแบบที่เธออยากให้เป็นได้
     หลังจากการคุยกับริซ่า พอจะเข้าใจว่าเรื่องที่เธอน้อยอกน้อยใจเรื่องหลักเห็นจะเป็นเรื่องที่สามีชอบเที่ยวนอกบ้านจนถึงดึกดื่น ปล่อยให้เธออยู่บ้านคนเดียว เหมือนว่าภาระภายในบ้านทุกอย่างตกอยู่ที่เธอแต่เพียงผู้เดียว ไหนจะลูกที่อยู่ในวัยกำลังซน ไหนจะพ่อแม่สามี แล้วยังมีญาติๆ ที่อยู่บ้านเดียวกันอีก จับความคร่าวๆ ได้ว่านอกจากเธอจะเป็นสะใภ้บ้านนี้แล้วยังมีสะใภ้คนอื่นอีกซึ่งคงมีปัญหาขัดแย้งกันบ้างตามประสาคนอยู่บ้านเดียวกัน คนเรานิสัยใจคอ ความชอบ การเป็นอยู่ ความคิดย่อมไม่เหมือนกันเป็ธรรมดา แล้วต้องมาอยู่ด้วยกันก็คงต้องมีเรื่องระหองระแหงกันบ้าง ถึงแม้ว่า
จูเกชจะอยากให้เธอระบายมันออกมา แต่ริซ่าก็ไม่ได้เป็นคนประเภทต้องฟ้องสามีทุกอย่างว่าเกิดอะไรขึ้นภายในบ้าน เธอคงไม่อยากให้สามีต้องเหนื่อยเพ่ิมเติมจากงานนอกบ้าน ในขณะที่เจ้าสามีเองปากก็บอกว่าอยากให้ภรรยาบอกมาว่าไม่สบายใจเรื่องอะไรบ้าง แต่เอาเข้าจริงๆ เขาก็คงไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก เพราะหนึ่งในเรื่องความไม่สบายอกสบายใจก็คือเรื่องที่เขาชอบกลับบ้านดึกนั่นเอง 
     ฉันว่าการที่จูเกชจะย้ายออกไปสร้างบ้านของตัวเองน่าจะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นบ้าง
     “ผมว่าทุกคนต้องรู้จักโต รู้จักดูแลตัวเอง พ่อแม่จะอยู่กับเราไปได้นานแค่ไหนกัน ตอนนี้บ้านที่ผมอยู่ทุกคนก็ใช้กงสี ข้าวปลาอาหารก็เป็นเงินส่วนกลาง เป็นเงินของพ่อแม่ มันเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ตลอดหรอก” เขาบอกเล่าความคิด
     ฉันออกจะเข้าใจและเห็นด้วยกับเขาอย่างมากเพราะฉันเองก็มีความคิดและความรู้สึกคล้ายๆ กัน คงเพราะเราอยู่ในวัยเดียวกัน แม้ว่าจะต่างชาติต่างศาสนาแต่ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการความมีอิสระและมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเมื่อถึงวัยที่เราสามารถที่จะดูแลคนอื่นๆ ได้
     เรานั่งคุยเล่นกันอีกพักใหญ่จนเกือบเที่ยงคืน เด็กๆ เริ่มง่วงนอน เราเองก็คิดว่าถึงเวลาต้องกลับบ้านแล้ว จูเกชจึงขับรถไปส่งเราที่ซานูเฮ้าส์ ฉันร่ำลากับริซ่า เธอชักชวนฉันอีกครั้งว่าให้กลับไปเที่ยวที่เนปาลอีกเมื่อบ้านสร้างเสร็จ 

11 พฤษภาคม 2554

20. รำลึกความหลัง

     หลังจากออกจากวัดโคปังแล้ว เราก็นั่งรถกลับเข้าเมือง พี่ธันวาแยกตัวไปพบกุมารีก็เลยลงระหว่างทางเพื่อนั่งแท้กซี่ต่อและให้รถไปส่งเราที่บ้านโดยที่จูเกชจะมารับเพื่อไปทานข้าวกลางวันด้วยกัน ระหว่างทางนั้นรถติดมากแทบจะจอดสนิทเพราะมีขบวนประท้วงบนถนน คนขับรถสมองไวเลี้ยวลัดเข้าซอยทางลัด แต่ก็ไปติดอีกทาง ค่อยๆ กระดืบไปเรื่อยๆ กว่าจะไปถึงบ้านก็เลยเวลานัดไปมาก​ ฉันส่งแมสเซจไปบอกให้จูเกชมารับในเวลาบ่ายโมงเกรงใจเพื่อนที่ทำให้เสียเวลา
     จูเกชขับรถมารับเรากลับไปยังบ้านของเขาเพื่อที่จะพบกับสมาชิกครอบครัว ฉันรู้สึกตื่นเต้นถามไถ่เขาเป็นการใหญ่ว่าจะมีใครอยู่ที่บ้านบ้าง (วันนั้นเป็นวันเสาร์) เขาบอกว่าอยู่ครบทุกคนเพราะเขาบอกว่าฉันจะมาที่บ้าน ทุกคนก็เลยอยู่รอพบ เว้นแต่ กีรัน (Kiran) ซึ่งเป็นพี่เขยของเขาซึ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน ฉันยังจำเขาได้ดีเพราะเขาเป็นคนพาฉันไปเที่ยวดูวัดต่างๆ ตั้งหลายวัด สงสารก็แต่ลูกๆ กีรีต (Kireet) อายุยังน้อยมากเมื่อตอนที่พ่อจากไป ทำให้เขาเติบโตมาด้วยความเศร้าสร้อย ส่วน เชราชา (Sherasha) พี่สาวอยู่ในวัยที่เริ่มโตพอดีก็เลยทำใจได้มากกว่า ฉันรู้สึกเศร้ามากขึ้นไปอีกเมื่อจูเกชเล่าต่อว่า ตอนที่เขาบอกว่าฉันจะมาที่บ้าน กีรีตทำหน้าคิดคำนึงและดูเศร้าลง อาจเป็นเพราะว่ามันทำให้เขาระลึกถึงความหลัง
ครั้งเก่าที่พ่อของเขาพาฉันไปเที่ยว และเขาเองก็ไปด้วย ทำให้มีความทรงจำดีๆ กับการเดินทางครั้งนั้น แม้ว่ากีรีตอายุไม่ถึง 10 ขวบในตอนนั้นแต่เขาก็ยังจำฉันได้ดีรวมทั้งทุกๆ คนในครอบครัวของจูเกชด้วย
     ไม่นานนักเขาก็ขับรถไปจอดแถวๆ ปากทางเข้าตลาด ปกติบ้านคนเนปาลที่อยู่ในเมืองนั้นอยู่ติดๆ กันถนนก็แคบ ไม่มีที่ให้จอดรถ ก็เลยต้องจอดในที่สาธารณะเสียเงินค่าฝากจอด เขาเดินนำเข้าไปยังตลาดเมื่อใกล้ถึงบ้านเขาก็หยุด
     “เริ่มคุ้นเคยรึยัง” เขาถาม
     “ก็คุ้นๆ นะ แต่ไม่ใน่ใจว่าไปทางไหน รู้แต่ว่าบ้านคุณอยู่ละแวกนี้แหล่ะ” ฉันตอบ
     เขาพาเดินต่อไป เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังตรอกเล็กๆ ที่มีเจดีย์เล็กๆ อยู่ตรงทางเข้า ฉันเริ่มคลับคล้ายคลับคลาและตื่นเต้นมากขึ้น และแล้วก็ไปถึงบ้านเขาจนได้
     จูเกชพาเราเดินผ่านทางเข้าที่ค่อนข้างมืด มีมอเตร์ไซค์จอดอยู่สองคัน ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าเป็นของน้องชายเขา มอเตอร์ไซค์ดูทันสมัยขึ้นไม่เหมือนคันเก่าเมื่อครั้งที่ฉันนั่งซ้อนท้ายฝ่าความหนาวเหน็บกลับโรงแรมเมื่อหลายปีก่อน เราเดินขึ้นไปยังชั้นสองและเข้าไปในห้องที่เตรียมไว้ต้อนรับเรา เป็นห้องนอนของบาซุหรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า คิง (Bazu หรือ King) คนที่นี่เขาไม่ได้รู้สึกว่าห้องนอนเป็นห้องส่วนตัวเหมือนเรา ก็เลยใช้รับแขกได้
     ราเกช ( Rakesh ) เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ตัวใหญ่ขึ้นและดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเยอะ เขาทำงานธนาคารส่วนคิงเองก็ท้วมขึ้นตามวัย ทำงานในบริษัทโฆษณา หลังจากนั้นคนอื่นๆ ก็ทยอยเข้ามาทักทายฉัน พี่สาวลูกพี่ลูกน้องของจูเกช ซาฟาร่า (Safara) ดูผอมลงและตัดผมตามสมัยนิยมทำให้ดูกระฉับกระเฉงมากขึ้นจากเมื่อครั้งที่ฉันเจอครั้งที่แล้ว เธอไม่ดูว่ามีร่องรอยของความเศร้าหลงเหลืออยู่จากการเสียสามี อาจเป็นเพราะเธอต้องเข้มแข็งเพื่อที่จะเป็นผู้นำครอบครัว ความจริงเธอไม่ได้อยู่ที่บ้านนี้แต่ก็มักไปมาหาสู่กันเสมอๆ อย่างเช่นวันนี้ก็ถือว่าเป็นวันพิเศษ นีจารา (Nirjala) น้องสาวคนเล็กของจูเกชไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ ส่วน นูนู่หรือซาราล่า ( Sarala ) ที่แต่งงานพร้อมกับจูเกชนั้นตอนนี้มีลูก 2 คนแล้ว เธอเข้ามาทักทายแล้วก็ขอตัวไปช่วย ริซ่า ทำอาหารต่อ คราวนี้มาถึงคนสำคัญ กีรีตเดินเข้ามาพร้อมกับบางอย่างในมือ เขาตัวสูงขึ้นมากและกลายเป็นหนุ่มน้อยไปเสียแล้ว ฉันยิ้มทักทายเขา แล้วเขาก็เดินเข้ามาใกล้ๆ พร้อมกับยื่นของในมือให้ฉันดู ตอนนั้นฉันรู้สึกตื้นตันใจมาก เพราะส่ิงที่ฉันเห็นก็คือรูปถ่ายของฉันกับเขาบริเวณดูบาร์สแควร์ ตอนนั้นเขายังตัวเล็กมากสูงแค่หน้าอกฉันเท่านั้น เขายืนด้านหน้าโดยที่ฉันวางมือไว้ที่่ไหล่ของเขา หลายๆ ครั้งที่ฉันมองภาพนั้น ก็ยังนึกถึงเด็กตัวเล็กหน้าตาน่ารักคนนั้นเสมอๆ วันนี้ที่ฉันกลับมาเจอเขา เด็กน้อยคนนั้นได้เติบโตขึ้นมาก แต่สิ่งที่ฉันรู้สึกเศร้าในใจก็คือ เมื่อมองผ่านไปยังดวงตาของเขานั้น มันเต็มไปด้วยความรู้สึกบางอย่าง มีแววเศร้าสร้อย ทำให้ฉันเริ่มกังวลหน่อยๆ กลัวว่าเขาจะโตขึ้นมาด้วยปมในใจ เพราะช่วงเวลาของการเป็นวัยรุ่นนั้น ไม่ว่าจะชาติไหนก็คงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเหมือนกัน แล้วถ้าไม่มีพ่อที่คอยดูแลใกล้ชิดเขาอาจจะไม่รู้จะไปปรึกษาปัญหาต่างๆ กับใคร สำหรับซาฟาร่าเองก็ทำงานหนักและต้องเดินทางไปต่างจังหวัดค่อนข้างบ่อย เพราะเธอเป็นครูและต้องเดินทางไปฝึกสอนให้กับครูในชนบทอยู่บ่อยครั้ง




     ฉันนั่งทบทวนความหลังและถามไถ่ความเป็นไปของแต่ละคนให้สมกับความคิดถึง ทุกคนให้การต้อนรับฉันอย่างดีมากเหมือนเมื่อครั้งที่แล้ว แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกือบแปดปีแต่ความใจดีและมีน้ำใจของครอบครัวนี้ไม่มีจืดจาง ซักครู่คุณพ่อและคุณแม่ของจูเกชก็เดินเข้ามาทักทายฉัน ฉันไหว้แสดงความเคารพแบบไทยๆ พร้อมกล่าวทักทาย “นมัสเต” พ่อและแม่ยิ้มดีใจเหมือนเจอลูกหลาน แม้ว่าท่านจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ก็พยายามพูดกับฉัน แถมยังบอกอีกด้วยว่าให้กลับมาอีก อย่าหายไปนานๆ ถ้ามาไม่ได้ก็ให้โทรมาก็ยังดี
     ฉันรู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก ประหนึ่งว่าเป็นสมาชิกในครอบครัวยังไงยังงั้น รู้สึกเสียใจและโกรธตัวเองที่ไม่ได้ซื้อของมาฝากให้ครบทุกคน เราได้รับการต้อนรับด้วยของขบเคี้ยวทานเล่นเป็นมันฝรั่งทอดและแบบแผ่นยี่ห้อคุ้นเคย และผักสด อาจิต (Ajit) และ ไอช่า (Isha) ลูกชายและลูกสาวของจูเกชซึ่งอยู่ในวัยกำลังซนและน่ารักเพราะหน้าคมเข้มตาโตสนุกกับการแกะของขวัญที่ฉันนำมาฝาก



     เราพักครึ่งด้วยการออกไปช้อปปิ้งโดยมีตัวช่วยหลายอย่าง
     อย่างแรกราเกชออกไปแลกเงินเรทพิเศษสุดๆ มาให้เราถลุง
     อย่างที่สองมีผู้ช่วยพาไปช้อปปิ้ง นีจาราและซาฟาร่า พาเราไปเดินซื้อของตรงตลาดใกล้ๆ บ้าน ฉันมีของที่อยากซื้ออีกไม่กี่อย่าง อย่างแรกย่อมต้องเป็นส่าหรีมาทั้งทีไม่ซื้อกลับบ้านเสียดายแย่ เราไปนั่งเลือกผ้าอยู่ในร้านขายส่าหรีอยู่พักใหญ่ รสนิยมของฉันกับคนที่นั่นไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่ เขานิยมใส่ผ้าลายดอกเยอะๆ กัน ส่วนฉันชอบแบบเรียบๆ และมีความมันนิดนึงคล้ายๆ เนื้อไหม มีลายนิดหน่อยตรงปลายๆ พอสวยงาม เพราะงั้นไม่ว่าคนขายหยิบผ้าช้ินไหนที่เขาว่าสวยจับใจขึ้นมาอวดก็ไม่ผ่านความเห็นชอบของฉันซักผืน 
     นีจาราความจำดีมากเพราะเธอเอ่ยขึ้นมาว่า
     “ฉันจำได้ว่าครั้งที่แล้วเธอก็ซื้อคล้ายๆ แบบนี้แหล่ะ”
     “ใช่แล้ว เธอนี่ความจำดีจริงๆ เลย ฉันชอบแบบเรียบๆ น่ะ”
     ครั้งที่แล้วเธอก็เป็นคนพาฉันไปซื้อผ้าส่าหรีและกำไล
     สองสาวเมื่อเห็นผ้าก็เกิดความอยากได้ขึ้นมาบ้างเหมือนกัน เพราะผ้าร้านนี้ก็สวยๆ เยอะ เหมาะกับคนที่นั่นมาก บางผืนนั้นมีลายทองสวยงามมาก ในที่สุดฉันตกลงใจซื้อผ้า 3 ชิ้น 2 ชิ้นให้ตัวเองและอีกหนึ่งผืนเป็นของฝากแม่



     เราเดินต่อไปเพื่อซื้อเหยือกใส่น้ำ หลายวันที่อยู่ที่เนปาลเวลาไปตามบ้าน เห็นเขาดื่มน้ำกันจากเหยือกทองเหลืองก็เลยอยากมีไว้เป็นเจ้าของบ้าง สองสาวพาซอกแซกไปร้านประจำเพราะคุณภาพดีกว่าร้านตามข้างทาง ที่นี่เขาขายโดยการชั่งน้ำหนัก หนักมากก็แพงมาก นีจาราช่วยฉันเลือกเหยือกที่เนื้อดูดีไม่มีรอย เมื่อชั่งแล้วราคาประมาณ 650 รูปี ก็ประมาณ 300 กว่าบาท เลยตกลงปลงใจซื้อ เรายังซื้อถาดที่ใส่ธูปไว้จุดบูชาเทพเจ้ามาอีก เพื่อเป็นของฝาก หลังจากนั้นก็เก็บตกเครื่องประดับตามทางเพราะยังมีเงินเหลือ ได้กำไลและต้มหูแบบที่แปลกตาอีกหลายคู่
     เมื่อกลับถึงบ้านฉันแกล้งราเกชด้วยการบอกเขาว่า
     “แย่แล้วล่ะ…นายคงต้องแลกเงินให้เราเพิ่มเพราะเราใช้หมดแล้ว”
     เขาพลันลุกขึ้นอย่างฉับไว เตรียมออกไปจริงๆ เกือบยั้งตัวไว้ไม่ทัน ตามประสาคนมีน้ำใจ มาเที่ยวเนปาลนี่ ซื้อของได้สะใจดี

10 พฤษภาคม 2554

19. สักการะพระนารายณ์

     วันนี้เราตื่นแต่เช้าเช่นเคยเพื่อไปทานอาหารเช้าที่บ้านคุณสุจิณซึ่งอยู่นอกเมือง บรรยากาศค่อนข้างดีเพราะแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ปัจจุบันคนนิยมออกไปอยู่กันชานเมืองเยอะเพราะภายในใจกลางเมืองพื้นที่จำกัดและมีราคาแพง ก็เหมือนเมืองใหญ่ทั่วๆ ไป          
        บ้านคุณสุจิณสร้างแบบค่อนไปทางสมัยใหม่ ไม่ค่อยหลงเหลือความเป็นเนปาลเท่าไหร่ แต่มีความสะดวกสบายดี สมาชิกของบ้านนี้มีกัน 4 คน คือเขา ภรรยาและลูกสองคน ชายและหญิง อยู่ในวัยกำลังน่ารัก เห็นแกบอกว่าหัดให้พูดภาษาไทยด้วย อยากจะส่งให้มาเรียนที่เมืองไทยถ้ามีโอกาส แกพาเดินดูบ้านช่องอย่างใจดี บ้านมีหลายชั้นและมีห้องเผื่อไว้สำหรับแขกมาพักด้วย ภรรยาคุณสุจิณดูคล่องแคล่วและอัธยาศัยดี จัดแจงทำอาหารเช้าให้เราอย่างตั้งใจ เลยได้ทานอาหารเช้ามื้อใหญ่แถมอร่อยด้วย มีไข่ดาวผัดถั่ว (รสชาติดีมากๆ) และขนมปัง เราเลยอ่ิมตื้อเลยทีเดียว
     หลังจากนั้นเราไปวัด พุทธานิลกันฑา (Budhanilkantha) หรือวัดนารายณ์บรรทมศิลป์ เป็นวัดที่บูชาพระนารายณ์​ (ปางหนึ่งของพระวิษณุ)
     รูปปั้นของพระนารายณ์พระองค์นี้ถูกแกะสลักจากหินเพียงหนึ่งก้อน มีความยาว 5 เมตร เชื่อว่ามีอายุกว่า 1,300 ปี ตั้งแต่ราชวงศ์ ลิคชาวิ (Licchavi) ประทับอยู่บนตัวนาคซึ่งมีถึง 
11 หัว และลอยอยู่กลางน้ำซึ่งเป็นการจำลองมหาสมุทรแห่งจักรวาล  พระเศียรนั้นถูกคลุมไว้ด้วยผ้าตลอดเวลาโดยที่ไม่เคยเปิดให้สาธารณะชนได้เห็น พระพักตร์นั้นสวยงาม พระจักษุ
ครึ่งหลับครึ่งตื่น พระนาสิกโด่งได้รูป พระโอษฐ์ยิ้มน้อยๆ พระกรทั้ง 4 ถือสัญลักษณ์ที่อยู่คู่ตัวของพระวิษณุ นั่นก็คือ จักรา, หอยสังข์, คฑา และดอกบัว ขานั้นไขว้กันคล้ายๆ ท่าขัดสมาธิแบบหลวมๆ ทุกๆ เช้าจะมีคนทำพิธีวาดสีที่หน้าและถวายนมโดยการเทตรงพระโอษฐ์ เมื่อทำการบวงสรวงเสร็จสิ้นก็จะเปิดให้คนได้เข้าไปสักการะ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำดอกไม้มาถวายและกราบหรือใช้หน้าผากสัมผัสที่บริเวณเท้า เริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้าเป็นต้นไป แต่คนต่างชาติไม่สามารถเข้าไปบริเวณด้านในได้                                     
     รูปปั้นพระนารยณ์ที่ประทับในลักษณะนี้มีอีก 2 องค์ แต่องค์นี้เป็นองค์เดียวที่กษัตริย์ของเนปาลจะไม่สามารถมาสักการะได้ เพราะเชื่อว่าถ้ามองรูปปั้นเมื่อไหร่ก็จะถึงแก่ความตายทันที พระนารายณ์บรรทมศิลป์จะอยู่ในสภาวะหลับในช่วงหน้าฝนประมาณ 4 เดือน และหลังจากนั้นก็จะตื่นซึ่งเป็นช่วงที่มีการเฉลิมฉลอง
     นอกจากไฮไลต์ของวัดนี้จะเป็นพระนารายณ์บรรทมศิลป์ ซึ่งฉันคิดว่าเป็นรูปปั้นที่สวยมากๆ รอบๆ วัดก็ยังมีกิจกรรมต่างๆ สำหรับคนที่มาสักการะ เช่นการเจิมหน้าผาก การสวดมนต์
เสดาะห์เคราะห์



     เมื่อชื่นชมวัดฮินดูเสร็จแล้วคราวนี้ไปวัดพุทธกันบ้าง เรามุ่งหน้าขึ้นเนินเขาไปยัง วัดโคปัง (Kopan Monastery) ซึ่งตั้งอยู่บนเขา เห็นได้แต่ไกล วัดนี้เป็นวัดพุทธสไตล์ทิเบตก่อตั้งโดย ลามะ ทับเทน เยเช ( Lama Thubten Yeshe ) หลังจากที่ท่านเสียชีวิตเชื่อว่ากลับชาติมาเกิดเป็นเด็กชายชาวสเปน โอเซล โทเรส (Osel Torres) ซึ่งเป็นบุตรชายของสองสามีชาวสเปนที่เป็นลูกศิษย์ของท่านที่มีความศรัทธาแรงกล้า เป็นผู้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรม “โอเซล ลิง”  ( Osel Ling ) ที่เมือง บูบิอง ( Bubion ) อยู่ใกล้ๆ กับเมือง กรานาดา (Granada) ประเทศสเปน ตั้งชื่อโดยท่านทะไลลามะ แปลว่า ที่ๆ มีแสงอันบริสุทธิ์ ( place of clear light ) เรื่องราวนี้เองเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังเรื่อง “พระพุทธเจ้าน้อย” (The Little Buddha) ตอนที่เราไปนั้น ลามะ โอเซล รินโปเช (หรือหนูน้อยโอเซล) ไม่ได้ประทับอยู่ที่วัดแล้ว
     ภายในบริเวณวัดมีขนาดกว้างขวางมาก ร่มรื่น เย็นสบาย และเงียบสงบ เหมาะกับการนั่งสมาธิสวดมนต์ มีพระที่มาบวชเรียนตั้งแต่เด็กอายุประมาณ 7 ขวบ จนถึงพระอาวุโสหลายร้อยรูป ส่วนใหญ่เป็นชาวทิเบตและเนปาล มีเด็กที่ถูกส่งมาบวชเรียนจากต่างประเทศด้วยเช่น อินเดีย สิกขิม ภูฏาน บางส่วนก็บวชต่อไปจนตลอดชีวิต เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาของศาสนาพุทธสายเกลุกปะ รวมถึงศาสนพิธี การอ่านคัมภีร์ การสวดมนต์ การทำ มันดารา (Mandara) จากทราย มีไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยที่อินเดียบ้าง รับใช้วัดในกิจกรรมต่างๆ แต่บางส่วนก็กลับไปเป็นฆราวาสเหมือนเดิม  
     ที่นี่มีคอร์สสำหรับผู้ที่อยากมาปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิด้วย สามารถมากินอยู่ที่วัดได้เลย มีคอร์สตั้งแต่ 7 วันจนเป็นเดือน ๆ ราคารวมค่าที่อยู่นั้นย่อมเยามาก ใครสนใจลองเช็คเข้าไปดูได้ที่ http://www.kopan-monastery.com มีแค่กฏการอยู่ที่ง่ายๆ ซึ่งชาวพุทธอย่างเราคงคุ้นเคยดีอยู่แล้วคือ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามโขมย ห้ามโกหก ห้ามมีเพศสัมพันธ์ ห้ามใช้เครื่องช่วย
กระตุ้นทางอารมณ์ เช่น แอลกอล์ฮอล ยาเสพติด บุหรี่ การจะไปอยู่นั้นก็ต้องทำตัวง่ายๆ สบายๆ เขาเตรียมห้องไว้แบบห้องรวมก็มี หรือห้องเดี่ยวก็มี มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำให้พร้อมและไม่มีเตียงให้ ต้องเตรียมถุงนอนและผ้าห่มมาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูหนาวเพราะอากาศที่นี่ค่อนข้างหนาวมาก ถ้ามากับคู่รักต้องแยกห้องกันนอน อาหารมีเตรียมให้ครบ 3 มื้อ แต่เป็นอาหารง่ายๆ และเป็นมังสวิรัติ



     เราเดินดูรอบๆ บริเวณ รู้สึกได้ถึงความสงบในจิตใจ ด้านหลังวัดนั้นมีเจดีย์ที่สวยมาก อยู่ภายในบริเวณที่เป็นสนามที่ได้รับการดูแลอย่างดี ด้านหลังเป็นเทือกเขาสูงใหญ่ เป็นวิวที่เหมาะกับการทำจิตใจให้สงบนิ่งมองภูเขาแล้วมองตัวเอง จะได้รู้ว่าเราต่ำต้อยและตัวเล็กน้อยแค่ไหน
     ก่อนกลับเราแวะสนับสนุนกิจการของทางวัดกันที่ร้านขายของที่ระลึก ฉันได้หนังสือและซีดีเพลงมาสองสามแผ่น ส่วนพี่ตุ๊กก็ได้ซีดีและเสื้อยืดหลายตัว พี่ธันวาซื้อของฝากเพื่อนๆที่ทำงานได้ที่นี่ เป็นกระเป๋าใบเล็กสไตล์ทิเบต พระที่ดูแลวัดออกจะดีใจที่เราสนับสนุนของภายในร้านไปหลายอย่าง เงินเพียงเล็กน้อยนี้ก็คงช่วยเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่ทางวัดต้องจ่ายไปในแต่ละเดือนได้บ้าง

09 พฤษภาคม 2554

18. บุกไร่มัน

     ฉันตั้งนาฬิกาปลุกตั้งแต่ตีห้า เพราะอยากลุกขึ้นมาดูพระอาทิตย์ขึ้น แต่แล้วท่านกลับยังอารมณ์ไม่ดี เห็นแต่เมฆลอยฟอดอยู่บนท้องฟ้าเลยได้โอกาสนอนต่ออีกพักใหญ่ นับว่าเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพเพราะหลับยาวและลึก ประกอบกับอากาศที่ค่อนข้างดี เย็นสบายๆ
     อาหารที่โรงแรมนิวานั้นรสชาติค่อนข้างดี อาหารค่ำเมื่อคืนนี้ก็ถูกปากเรามาก สำหรับอาหารเช้าเป็นแบบลูกครึ่ง มีออมเลตและผัดผัก เรานำแอ้ปเปิ้ลและมะม่วงมาทานล้างปากซึ่งรสชาติหวานใช้ได้ พี่ธันวาเล่าว่าเมื่อคืนนี้นอนดึกทีเดียวเพราะอยู่คุยสัพเพเหระกับเจ้าของโรงแรมที่เคยรู้จักกันเมื่อนานมาแล้วแกเป็นชายวัยกลางคนชาวภักตาปูร์ เปิดโรงแรมนี้มานานหลายปี ดูท่าทางใจดี และมีอัธยาศัยดีมากๆ ต้อนรับแขกที่มาพักด้วยตัวเองอย่างเป็นกันเองมาก มีมอเตอร์ไซต์คู่ใจใช้ขี่ขึ้นลงนาการ์ก็อตอย่างคล่องแคล่ว
     เราเดินเล่นรอบๆ โรงแรมอีกซักครู่จึงออกเดินทางลงจากเขาตอนเวลาประมาณ 9 โมงเช้า



     วันนี้เราจะไปแวะชมหมู่บ้านเนวาร์เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่รอบนอกหุบเขากาฐมาณฑุ ชื่อว่า “ปาเนาติ” (Panuati) เป็นหมู่บ้านที่อนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณไว้ได้อย่างดีอีกแห่งหนึ่ง และแน่นอนสิ่งหลักๆ ที่ต้องไปดูย่อมต้องเป็นวัด ที่นี่มีวัดเก่าแก่ที่บูชาพระศิวะชื่อว่า “อินเดรชวา มหาเทพ” ( Indreshwar Mahadev Temple ) ลักษณะสถาปัตยกรรมนั้นเป็นแบบเนวาร์โบราณแท้ๆ เชื่อกันว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดมีหลังคา 3 ชั้น และคานของแต่ละชั้นก็แกะสลักลวดลวยปางต่างๆ ของพระศิวะอย่างละเอียด ข้างๆ กันมีวัด อุนามันตา ไภราพ ( Unamanta Bhairab Temple ) ถ้าสังเกตบนหน้าต่างชั้นสองจะเห็นเทพไภราพสีขาวโผล่จากหน้าต่างทั้งสามบานเหมือนกับที่เราเห็นพระศิวะกับพระนางภราวาติโผล่จากหน้าต่างที่กาฐมาณฑุ เราเดินเล่นรอบๆ ข้ามสะพานไปดูวิถีชีวิตชาวบ้านยามเช้า บ้างก็ออกมาซักผ้าที่แม่น้ำ อาบน้ำ สระผม บางคนก็ออกไปทำงานในไร่




     ขากลับจากหมู่บ้าน คนขับรถของเราขอแวะซื้อมั่นฝรั่งระหว่างทางเพราะแถบนี้เขาขายกันเป็นถุงใหญ่ๆ ราคาถูกกว่าในเมืองมาก มันฝรั่งสามารถเก็บไว้ได้นานและเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารเนปาล ทานง่ายให้กำลังเยอะ เราแวะจอดรถระหว่างทางและลงเดินไปในไร่มันฝรั่งที่เห็นอยู่ลิบๆ เห็นเป็นเรื่องสนุกไป ระหว่างทางมีคนงานเดินขนถุงมันโดยใช้เชือกรัดไว้กับหัวและใช้หลังแบกรับน้ำหนัก เดินกันตัวปลิว แต่เมื่อถามก็ได้ความว่าแต่ละถุงนั้นมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 70-100 กิโลกรัมเลยทีเดียว เราถึงกับอ้าปากค้าง แต่เขาตอบเราว่า “ทำไงได้ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีเงินไปเลี้ยงชีวิต” เฮ้อ ชีวิตคนทำไมมันลำบากยังงี้ ไอ้เราบางทีก็เพียรบ่นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลำบากนิดลำบากหน่อยก็หน้าบูด ไม่ต้องแบกมันก็ดีถมไปแล้ว
     เราเดินตะลุยเข้าไปช่วยกันเลือกมัน ขุดเอาใหม่ๆ สดๆ จากดินเลย แต่ต้องมีเทคนิคและอุปกรณ์พิเศษไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าฟันลงไปแรงๆ ในดิน เดี๋ยวไปโดนมันแหว่งก็จะขายไม่ได้ราคา เจ้าของไร่ดูท่าทางใจดี พูดคุยอธิบายเกี่ยวกับมันให้เราฟัง เขามีไร่มันขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตาเลยทีเดียว แต่ขายราคาไม่แพงตกกระสอบละ 350-400 รูปี เท่านั้น ก็ประมาณ​ 175-200 บาท โห ปลูกแทบแย่ ได้เงินนิดเดียวเอง เกษตรกรบ้านเขาคงถูกเอาเปรียบคล้ายๆ กับบ้านเรา สรุปว่าคนขับรถของเรามีมันราคาถูกกินไปอีกหลายเดือนทีเดียว



     เราตัดสินใจว่าจะไปทานมื้อเที่ยงแถวๆ “ดุลิเกล” (Dhulikhel) จะได้ดูวิวเทือกเขาหิมาลัยจากอีกทิศหนึ่งด้วย ปรากฏว่าไม่เห็นเทือกอะไรทั้งนั้นเห็นแต่เมฆลอยเต็มฟ้า แต่ก็ได้ทานอาหารแก้หิว ตอนแรกพี่ตุ๊กอยากจะสั่งไก่ทอด แต่พอเห็นคนงานเดินหิ้วไก่เข้าไปในครัวหลังจากที่รับออร์เดอร์นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ไม่นานนักได้ยินเสียงสับโป้ก เท่านั้นแหล่ะถึงกับเปลี่ยนใจทานอย่างอื่น
     บ่ายวันนี้เราไม่มีแผนการอะไรแน่นอน เลยจะไปชายแดนที่ต่อกับพรมแดนทิเบต นั่งรถไปกว่า 3 ชั่วโมง ทางทุลักทุเล ถนนดีบ้าง ขรุขระบ้าง แถมฝนก็ตก ไม่ค่อยมีรถผ่านไปมาซักเท่าไหร่ ดูแล้วค่อนข้างเปลี่ยว ถ้ารถเกิดเสียขึ้นมากลางทางยังนึกไม่ออกว่าจะทำยังไง (จุดหมายปลายทางนี้ไม่แนะนำอย่างแรง) เมื่อไปถึงตรงชายแดน มีรถจอดรอเพื่อเข้าคิวข้ามไปยังทิเบต เราจึงลงเดินไปดูตรงตะเข็บชายแดนซะหน่อยไหนๆ ก็มาแล้ว ขณะนั้นฝนยังตกปรอยๆ เมื่อเดินไปจนถึงด่าน เรากลับถูกห้ามไม่ให้เดินต่อ เจ้าหน้าที่บอกว่าเราต้องมีวีซ่าประเทศจีนเท่านั้นจึงจะผ่านไปได้ สำหรับพี่ธันวาไม่มีปัญหา คนเนปาลสามารถเดินไปถึงตรงรอยต่อของพรมแดนซึ่งเป็นสะพานได้ แต่ข้ามไปอีกทางไม่ได้ ฉันกับพี่ตุ๊กจึงนั่งรออยู่ตรงด่าน
     “คุณมาจากไหนกันเหรอ” เจ้าหน้าที่ถามเรา
     “อ๋อประเทศไทยน่ะค่ะ” ฉันตอบพร้อมรอยยิ้ม
     “มาเที่ยวกันเหรอ อยู่กี่วัน มาครั้งแรกรึเปล่า” เขาถามต่อ
     “มาทั้งหมด 10 วันค่ะ อีกไม่กี่วันก็กลับแล้ว ฉันมาหนที่สามแล้ว ส่วนเพื่อนเพิ่งมาครั้งแรก” ฉันตอบต่อ
     “แล้วคุณชอบที่นี่มั้ยล่ะ”
     “ก็ชอบสิคะ”
     เวลาผ่านไปซักครู่เมื่อรู้สึกว่าตีซี้ได้ก็เลยลองลูกอ้อนลุ้นดูเผื่อว่าเจ้าหน้าที่จะใจอ่อน
     “ฉันเป็นเพื่อนที่ดีมากๆ เลยกับคนเนปาล ขอเดินไปตรงด่านหน่อยได้มั้ยคะ”
     เขาหัวเราะฟันขาว หนวดกระดิก
     “ไม่ได้หรอก คุณต้องมีวีซ่าจีน”
     “แหม มีวีซ่าเนปาล ไม่ได้เหรอคะ”
     เขาได้แต่อมยิ้มไม่ตอบ
     ฉันรู้แล้วว่าหมดหวังก็เลยไม่ตื้อต่อ แต่จริงๆ แล้ว ก็ดีที่ไม่ได้ไป เพราะเมื่อพี่ธันวาเดินกลับมามีสีหน้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่
     “เกือบแย่แน่ะ พี่ถ่ายรูปอยู่ดีๆ ทหารจีนก็เดินมาห้าม แล้วก็จะยึดกล้องไป” 
     “อ้าวเหรอ แล้วพี่ทำไงล่ะ” ฉันถามต่อด้วยความตื่นเต้น
     “พี่ก็แกล้งทำเป็นลบๆ รูปไป แล้วก็เอาให้เค้าดูว่าไม่มีรูปเหลือแล้ว”
     เราเดินกลับไปยังรถ เพราะอยู่ต่อก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ได้เห็นอะไร ชายดงชายแดนทิเบตอะไรเนี่ย แหมทีแรกไอ้เรานึกว่าเหมือนชายแดนไทย-ลาว หรือ ไทย-พม่า มีของขายสนุกสนาน
     ออกเดินทางกลับ แวะดูสถานที่อาบน้ำพุร้อน ที่คนมักนิยมมาอาบกันเพราะเชื่อว่าดีต่อสุขภาพ แล้วจึงมุ่งหน้ากลับไปยังปาตัน 



     ระหว่างทางอยู่ดีๆ รถก็เบรคอย่างกระทันหันแล้วก็จอดที่ข้างทาง ฉันใจหายนึกว่ารถเป็นอะไร ปรากฏว่าคนขับรถบอกว่ามีกระรอกตัวจิ๋ววิ่งตัดผ่านหน้ารถ คนพื้นเมืองถึงว่าเป็นลางบอกเหตุไม่ดี ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เขาจึงต้องแวะหยุดพักซักครู่ เราจึงได้โอกาสลงเดินลืดเส้นยืดสาย หลังจากนั่งขดในรถมานาน เมื่อพร้อมแล้วจึงออกเดินทางต่อด้วยความระมัดระวังและสปีดที่ลดลง
     เวลาผ่านไปอีกนาน ฟ้ายังครึ้มอยู่และแสงอาทิตย์เริ่มอ่อนแรงลงเรื่อยๆ เมื่อกลับเข้าไปใกล้ๆ เมืองถนนสองข้างทางมืดมิดเพราะไฟดับ คนขับรถพยายามจะหาปั้มเติมน้ำมันเพราะใกล้หมดเต็มที แต่ไม่มีปั้มไหนเปิดขายเพราะน้ำมันไม่มาส่ง ไอ้ที่มีวี่แววว่าจะเปิดก็มีรถมาต่อแถวรอยาวมาก สถานการณ์น้ำมันบ้านเขาแย่กว่าเราเยอะ ทั้งราคาต่อลิตรก็แพงกว่า แถมยังต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านอย่างอินเดียในการขนน้ำมันมาส่ง ถ้ามีเรื่องระหองระแหงกันเกิดประท้วง หรือมีปัญหาทางด้านการเมือง ไม่ส่งน้ำมัน คนเนปาลก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้า เราจึงต้องนั่งคอยลุ้นว่าน้ำมันที่เหลือในถังจะสามารถพาเราไปส่งถึงบ้านได้รึเปล่า
     ตอนแรกฉันตั้งใจว่าจะกลับมาทานข้าวเย็นกับจูเกช แต่เวลาล่วงเลยไปจนค่ำมากจึงตัดสินใจว่ากลับไปพักผ่อนก่อนแล้วค่อยไปพบเพื่อนในวันรุ่งขึ้นดีกว่าจะได้ใช้เวลาด้วยกันได้เต็มที่  

08 พฤษภาคม 2554

17. วัดต้นแบบเนวาร์

     รถพาเราไปยังวัดโบราณสไตล์เนวาร์แท้ๆ คือวัด “ชางกุนารายัน” (Changu Narayan Temple) ตั้งอยู่บนเนินเขาห่างจากกาฐมาณฑุเพียงแค่ 6 กิโลเมตร และภักตาปูร์ 22 กิโลเมตร วัดนี้สักการะพระวิษณุหรืออีกชื่อหนึ่งคือ “นารายัน” เป็นโบราณสถานที่สำคัญและสวยมากๆ ตัววัดมีหลังคา 2 ชั้น ชั้นบนเป็นหลังคาทำจากทองแดง ส่วนชั้นล่างทำจากอิฐ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบเนวาร์แท้ๆ ตามประวัติแล้วยังไม่สามารถสรุปได้แน่นอนว่าวัดนี้สร้างตั้งแต่สมัยไหนและใครเป็นผู้สร้างแต่หลักฐานอื่นๆที่พอมีเกี่ยวกับวัดนี้ก็คือประวัติเกี่ยวกับการบูรณะในยุคสมัยต่างๆ เพราะเกิดแผ่นดินไหวและไฟไหม้หลายครั้ง ทำให้พอรู้ว่าวัดคงจะมีอายุ
มาก่อนยุคที่กล่าวถึง มีจารึกที่สำคัญสลักอยู่ที่เสาต้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวการรบและชัยชนะในแต่ละครั้งของกษัตริย์ มานา เทวะ (Mana Deva) รวมไปถึงการบริจาคเงินให้วัดแห่งนี้ ซึ่งจารึกไว้ว่าเกิดขึ้นในปี ค.ศ 464 เพราะงั้นก็แปลว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นก่อนหน้านั้น วัดนี้ก็เหมือนวัดฮินดูอื่นๆ ที่มีประตูทางเข้าถึง 4 ด้าน ซึ่งตอนที่เราไปนั้นปิดอยู่ (ปกติคนที่ไม่ได้นับถือฮินดูไม่สามารถเข้าไปด้านในตัววัดได้)​ ด้านหน้าพิเศษหน่อยทำด้วยทองเหลืองฉลุลวดลาย
สวยงามอลังการ ด้านอื่นๆ เป็นไม้แกะสลัก แต่ที่ต้องมีเหมือนกันก็คือสิงโตเฝ้าหน้าประตู ดูแล้วหน้าตาเหมือนสิงโตใจดี ทำจากหินแต่งองค์ทรงเครื่องเพียบพร้อมแต่มีสีสันแต่งแต้มตรงบริเวณดวงตาแถมยังอยู่ในท่ายิ้มยิงฟัน ในยุคสมัยของพระเจ้า มานะ เทวะ นั้น วัดนี้ได้รับการเคารพอย่างมากเรียกได้ว่ามีความสำคัญเทียบเท่ากับวัด ปชุปตินาถเลยทีเดียว ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือรูปปั้นครุฑเชื่อกันว่าเป็นรูปปั้นที่มีอายุอานามเก่าแก่มากๆ แถมยังเป็นต้นแบบของรูปครุฑธนบัตรเนปาลอีกด้วย (ใครมีแบ้งค์เนปาลลองพลิกดูด้านหลังจะได้เห็นภาพ) เนื่องจากวัดตั้งอยู่บนเนินเขาสูงประมาณ 1,541 เมตร ทำให้เราสามารถมองลงมาดูวิวของหุบเขากาฐมาณฑุที่สวยงามได้อย่างเพลิดเพลิน
     วัดนี้มีสีสันมากกว่าวัดอื่นๆ ที่เราไปดูมา สีโดยรวมออกส้มและแดง มีการสลักลวดลายของไม้ได้อย่างละเอียดและมีความวิจิตรบรรจงมาก ไม่ว่าจะเป็นคานค้ำหลังคา หน้าต่าง ประตู ล้วนมีสีสันลวดลายสวยงามและมีความหมายในเชิงศาสนา ออกจะถูกใจฉันอยู่มากเพราะเป็นคนชอบสีสันสดใส ด้วยประวัติอันยาวนานและคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมรวมทั้งวัฒนธรรมทำให้วัดชางกุนารายันได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลก อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรยูเนสโกตั้งแต่ปี ค.ศ.​1979
     วัดชางกุนารายันนอกจากจะได้รับการกราบไหว้บูชาโดยชาวฮินดูแล้ว ชาวพุทธเองก็ให้ความนับถือและเชื่อว่าเป็นวัดของพระอวโลกิเตศวร เป็นการอยู่ร่วมกันของคนที่นับถือศาสนาต่างกันได้อย่างน่าเอาแบบอย่าง ความจริงวัดก็เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นตัวเแทนและเป็นที่แสดงความศรัทธาต่อพระเจ้า เทพเจ้าพระพุทธรูป แต่ความเชื่อความศรัทธานั้นจริงๆ แล้วอยู่ที่ใจเรานั่นเอง



     การเดินทางของวันนี้ยังไม่จบแต่เพียงแค่นี้ นึกๆ ไปก็เหมือนซื้อตั๋ววันเข้าดิสนีย์แลนด์ ต้องเล่นเครื่องเล่น ดูการแสดงให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะหมดวัน ไม่งั้นเดี๋ยวตั๋วหมดอายุ
     เราเดินทางต่อขึ้นไปยัง “นาการ์ก็อต” หลังจากที่การเดินทางมาเนปาลในครั้งแรกฉันมีโอกาสเพียงแค่ขึ้นไปจิบชา คราวนี้ขอดูพระอาทิตย์ตกดินและนอนพักสักคืนเพื่อตื่นมาดูพระอาทติย์แย้มแสงแรกซักครั้ง คุณสุจิณได้จัดเตรียมจองโรงแรมเล็กๆไว้ให้เราชื่อว่า​ โรงแรม 
“นิวา” (Niwar) แปลว่าแสงอาทิตย์ วิวจากโรงแรมนี้ก็สวยพอใช้ได้ ถ้าเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวคงจะสวยกว่านี้มาก แต่ตอนนี้มองไม่เห็นอะไรเพราะฟ้าไม่เปิดเอาซะเลย เมฆเลยลอยเต็มครอบครองพื้นที่น่านฟ้าไปซะหมด นักท่องเที่ยวมีเพียงไม่มากนักแค่ครอบครัวชาวอินเดียและชาวยุโรปอีกไม่กี่คนหลังจากล้างหน้าล้างตาให้สดชื่นจากความเหนื่อยมาทั้งวัน อากาศเริ่มเย็นลงหน่อยแต่ไม่ถึงกับหนาว ฉันชวนพี่ตุ๊กออกไปเดินเล่นด้านล่าง เมื่อเราลงมาพี่ธันวาก็ได้เดินเตร็ดเตร่อยู่แถวนั้นก่อนแล้วจึงชักชวนกันเดินไปตามทางเพื่อหาที่นั่งเหมาะ ๆ เพื่อดูพระอาทิตย์ตกดินกัน




     ภาพที่เห็นไม่ได้สวยจับใจเหมือนที่ตั้งใจไว้ พระอาทิตย์ดูขมุกขมัวเหมือนคนอารมณ์ไม่ดี ก็มาผิดฤดูกาลเองนี่นาโทษใครก็ไม่ได้ แต่ก็เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี เป็นช่วงที่รู้สึกว่าเราอยู่ภายใต้บรรยากาศอันเงียบสงบมีแต่เสียงและกลิ่นของธรรมชาติ  รู้สึกว่าเป็นการหยุดใช้ชีวิตผาดโผนแล้วก็หันกลับมามองความสวยงามของธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน วนเวียนตามเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ว่าชีวิตเราจะผันแปรไปแค่ไหน ไม่ว่าเราจะรวยขึ้นหรือจนลง ทำงานหนักหรือขี้เกียจ โกรธเกลียดหรือรักใคร โมโหหรือมีจิตใจสงบ พระอาทิตย์ก็ยังขึ้นและตกทุกวันอยู่ดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครั้งที่แล้วที่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากเทือกหิมาลัยฉันรู้สึกถึงพลังแห่งความย่ิงใหญ่ พลังของชีวิต  แต่วันนี้ที่ได้เห็นพระอาทิตย์ตกลงด้วยแสงที่อ่อนแรงลงเรื่อยๆ ก็สร้างความรู้สึกที่แปลกไป ชีวิตมีเริ่มต้นก็ต้องมีจุดจบ เรื่องราวทุกเรื่องในโลกนี้มีเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีวันจบลงเช่นกัน เพราะงั้นอย่าไปยึดติดกับอะไรที่ทำให้ไม่สบายใจ เพราะทุกอย่างมันก็ต้องผ่านไป แล้วเราก็ยังมีพลังแห่งแสงอาทิตย์ในวันรุ่งขึ้นให้รอคอย

07 พฤษภาคม 2554

16. มรดกจากพบรรพบุรุษ

     เราเข้าเมืองภักตาปูร์จากทางด้านหลัง เมื่อจ่ายตังค์ค่าตั๋วแล้วก็เดินเลาะตามซอยเล็กๆ 
เจอกลุ่มชาวเมืองที่ยิ้มแย้มต้อนรับนักท่องเที่ยวหน้าเหนื่อยอย่างเรา แถมแอบกระแนะกระแหนเล็กๆ ว่า 
     “ประเทศภักตาปูร์ยินดีต้อนรับ ที่นี่คือนครภักตาปูร์ไม่ใช่ประเทศเนปาล” ไม่น่าเชื่อว่าการรวบรวมประเทศเล็กๆ จนกลายเป็นประเทศหนึ่งเดียวคือเนปาลเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นนี้ทำให้ยังมีความคับแค้นใจอยู่บ้าง



     เราไปถึงภักตาปูร์ตอนใกล้เที่ยงแล้ว แดดกำลังสาดแสงแรงกล้าทำให้ร้อนมาก จุดหมายแรกคือจตุรัสที่เค้าปั้นหม้อกันเป็นอาชีพอันนี้พลาดไม่ได้เพราะถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของเมืองนี้ เมื่อปั้นเสร็จเขาก็จะนำมาตากแดดเรียงรายใช้แสงธรรมชาติในการอบแห้งดูมีเอกลักษณ์ดี มีร้านแถวๆ นั้นที่ขายหม้อรวมไปถึงของใช้ในบ้าน ของประดับ อย่างเช่นพวกกระดิ่งที่ไว้แขวนหน้าบ้าน รูปปั้นสัตว์ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีบางคนที่กำลังฝัดข้าวเพื่อที่จะนำไปตากแดดต่อไป ทั้งสองอย่างเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่



     ผ่านยังตรอกที่มีโรงเรียนสอนวาดภาพทังก้า (Thangka) รวมทั้งร้านศิลปะที่ขายรูปวาดแบบต่างๆ  รูปพวกนี้ต้องใช้ความอดทน ความระมัดระวังและมีวิธีการวาดแบบพิเศษเพราะแต่ละรูปนั้นค่อนข้างละเอียดและมีขนาดเล็กเหลือเกิน ต้องมีการเรียนเป็นเรื่องเป็นราวเพราะแต่ละรูปล้วนมีความหมายในเชิงศาสนา ศิลปะการวาดรูปแบบทังก้านี้เป็นศิลปะของแถบหิมาลัย สำหรับฉันคงไม่มีความอดทนวาดได้แน่ๆ เพราะเป็นคนไม่ค่อยละเอียด ทำอะไรก็ตึงตังไม่ค่อยระมัดระวัง
     เราเดินดูวัดต่างๆ ภายในบริเวณเมืองภักตาปูร์แล้วจึงไปพักเหนื่อยให้หายเพลียแดดที่ร้าน “นยาตาโปลา” ( Café Nyatapola ) โดยที่ฝากท้องสำหรับอาหารมื้อเที่ยงที่นี่เลย นอกจากได้พักได้อิ่มท้องหลบแดดแล้วยังได้วิวสวยของจตุรัสด้านล่างอีกด้วย เมื่อหายเหนื่อยแล้วเราจึงออกลุยต่อ ฉันขอเก็บภาพคู่กับวัดนยาตาโปลาไว้เป็นที่ระลึก ในขณะที่คณะนักท่องเที่ยวชาวอินเดียก็มาเที่ยวชมวัดเหมือนกัน พวกเขาคงเห็นฉันหน้าตาประหลาดดีก็เลยขอถ่ายรูปคู่ด้วยเป็นที่ขบขันของเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าเป็นไงคนอินเดียมักชอบถ่ายรูปกับชาวต่างชาติ ไปอินเดียสองครั้งก็เจอเด็กๆ มาขอถ่ายรูปด้วยทั้งสองครั้ง สงสัยเห็นหน้าตาจืดๆ ดูแปลกดี
     ขณะที่เราเดินดูร้านขายของชำริมข้างทางแล้วเหลือบไปเห็นจักรยานขายผลไม้จอดอยู่ มีชายร่างผอมหนวดงามยืนประกบก็เกิดความอยากทานขึ้นมา เพราะตั้งแต่มาเที่ยวที่นี่ไม่ค่อยได้ทานผลไม้ซักเท่าไหร่ ดูแล้วแอ้ปเปิ้ลกับมะม่วงน่าทานดีก็เลยเลือกผลไม้ทั้งสองชนิดอย่างละ 3-4 ลูก ไม่กล้าซื้อเยอะเดี๋ยวเน่าไม่ทันได้ทาน คนขายซึ่งเป็นชาวอินเดียเอาผลไม้ขึ้นชั่งตาชั่ง บอกราคาเราประมาณ 200 รูปี ซึ่งเราทำหน้าตกใจย้อนถามเขาว่าราคาปกติรึเปล่า เอาราคาพื้นเมืองนะไม่เอาราคานักท่องเที่ยว เขาอมยิ้มเหมือนว่าถูกจับได้ก็เลยลดราคาให้ ซึ่งฉันว่าก็ยังซื้อแพงกว่าชาวบ้านเขาอยู่ดี แต่แค่นั้นก็รู้สึกว่าถูกมากแล้วเลยไม่อยากต่อเงินเล็กๆ น้อยๆ แบ่งกันใช้ไม่เห็นเป็นไร ยังไงเขาก็ทำอาชีพสุจริต



     หลังจากนั้นพี่ธันวาบอกว่าจะพาไปดูบ้านเก่าแบบโบราณที่เพื่อนชาวพื้นเมืองแนะนำมาว่าต้องไปดูให้ได้เพราะเจ้าของอนุรักษณ์ไว้อย่างดี สมควรให้ลูกหลานได้เห็นเป็นแบบอย่าง เราเดินเข้าไปยังซอยเล็กๆ ที่ค่อนข้างเงียบสงบเหมือนว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยไม่มีร้านค้ารกรุงรัง 
ดูด้านนอกบ้านนี้ก็เหมือนบ้านคนปกติ (ที่มีฐานะ) มีรั้วรอบขอบชิดแต่พี่ธันวาบอกว่าเขาเปิดเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ให้คนที่สนใจศิลปะและสถาปัตยกรรมโบราณได้เข้าชม เราจึงเข้าไปยังด้านใน มีหญิงสาวหน้าตาดีคนหนึ่งซึ่งเป็นญาติกับเจ้าของบ้านบอกเราว่าเขาจะเรียกน้องชายให้มาต้อนรับเราพร้อมกับอธิบายส่ิงต่างๆ เกี่ยวกันตัวบ้านให้ได้ฟัง



     เราจึงนั่งรอซักครู่ หนุ่มน้อยร่างผอมสูงเดินมาแนะนำตัวกับเราพร้อมกับเชื้อเชิญเข้าบ้าน เขาเล่าให้ฟังว่าเจ้าของบ้านนี้คือคุณลุงของเขา รพินทรา ภูริ* ( Rabindra Puri ) จบปริญญาสาขา ศิลปะ ธุรกิจ กฏหมาย และวิจิตรศิลป์ ซึ่งมีความสนใจที่จะอนุรักษ์ศิลปะพื้นเมืองแบบดั้งเดิมให้คงอยู่ จึงเริ่มโครงการที่จะเก็บสะสมของใช้โบราณต่างๆ ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กเพราะเขาเห็นคุณค่าของส่ิงที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ให้บางครั้งที่เขาเห็นวัดบางแห่งถูกรื้อถอนและเปลี่ยนแปลงไปเป็นการสร้างแบบสมัยใหม่ทำให้เขารู้สึกเสียใจและเสียดายมาก จึงตั้งใจว่าเมื่อโตขึ้นเขาจะต้องพยายามที่จะอนุรักษ์ของโบราณให้คงไว้ สำหรับบ้านหลังที่เราเขาไปชมเป็นหนึ่งในโครงการการอนุรักษ์บ้านโบราณ ซึ่งมีอายุอานามกว่า 150 ปีทีเดียว บ้านนี้ถูกทิ้งให้รกร้างเป็นเวลานาน ตอนที่รพินทราไปซื้อนั้นบ้านมีสภาพเป็นเล้าเลี้ยงไก่ เขาจึงปรับปรุงตัวบ้านโดยการยึดโครงสร้างเดิมไว้ทั้งหมด ส่วนไหนที่ยังคงของเดิมได้เช่น กรอบประตู หน้าต่าง ก็จะเพียงแต่ซ่อมแซม แต่ส่วนไหนที่ต้องรื้อและทำใหม่ก็ยังคงยึดการสร้างโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบโบราณ ภายในบ้านได้ปรับแต่งให้ใช้มีการใช้งานที่เหมาะกับชีวิตยุคใหม่ เช่นห้องอาบน้ำก็เป็นอ่างฝักบัวและห้องส้วมเป็นแบบชักโครก เพราะบ้านนี้ใช้อาศัยอยู่จริงด้วยไม่ใช่มีไว้โชว์อย่างเดียว เขาพาเดินชมทีละห้องซึ่งก็แบ่งตามประโยชน์ใช้สอย ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ห้องอ่านหนังสือ ห้องนอน รวมทั้งโชว์ของโบราณให้ดูหลายอย่าง เช่นรองเท้าแบบโบราณที่ทำจากไม้ท่าทางหนักน่าดู กุญแจห้องซึ่งมีขนาดใหญ่โตมาก จานชามเครื่องใช้ภายในบ้านแบบโบราณแท้ๆ ดูแล้วก็ทึ่งมากว่าเขามีความตั้งใจจริงในการเก็บรักษาสมบัติโบราณไว้ได้อย่างดีเยี่ยมจนได้รับการคัดเลือกจากทางการให้เป็นบ้านต้นแบบตัวอย่างและเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้คนพื้นเมืองได้มาศึกษาหาความรู้ รวมไปถึงคนต่างชาติอย่างเรา เห็นหนุ่มน้อยบอกอีกว่าลุงเขามีบ้านแบบนี้อีกหลายหลัง โชคดีที่มีคนตั้งใจจริงที่จะรักษามรดกโบราณที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้คนรุ่นหลัง แต่ถ้าเรามัวแต่เห่ออะไรที่ตามสมัยนิยมมากเกินไป นับวันวัฒนธรรมที่ดีงามก็จะถูกกลืนหายไป
     เราจบการท่องเที่ยวเมืองภักตาปูร์ด้วยการเก็บตกวัดต่างๆ ที่เหลือ ก่อนที่จะเดิมดุ่มๆ กลับไปที่รถเพื่อที่จะแวะไปแหล่งท่องเที่ยวโบราณสำคัญอีกหนึ่งที่

*http://rabindra.com.np