27 กรกฎาคม 2554

11. ของที่ระลึกล้ำค่า

            คืนสุดท้ายที่เนปาลนั้นฉันนั่งดื่มและคุยกับจูเกชและริซ่าจนถึงดึกดื่น ริซ่าไม่ค่อยจะสบายใจนักที่ไม่มีเวลาให้กับฉันอย่างเต็มที่เพราะมัวแต่ยุ่งกับพิธีแต่งงาน แต่ฉันกลับคิดว่าส่ิงที่เธอทำให้ฉันนั้นช่างยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยน้ำใจ คิดดูสิว่าการที่เรามีเรื่องต้องคิดต้องทำมากมายแต่ยังสามารถตื่นเช้ามาทอดไข่ มันฝรั่ง ปิ้งขนมปัง และชงชาพื้นเมืองให้ใครซักคนได้ทานเป็นอาหารเช้านั้นมันช่างเป็นความใส่ใจที่แสนจะย่ิงใหญ่
            วันรุ่งขึ้นเด็กๆ ทุกคนต้องไปโรงเรียนแล้ว ฉันถูกปลุกด้วยอาจิและไอช่า เด็กทั้งสองต้องตื่นแต่เช้าเพื่อทำการบ้านที่ยังค้างอยู่เนื่องจากมัวแต่เพลินกับกิจกรรม พิธีการ และการท่องเที่ยวกับฉัน โรงเรียนที่นี่เร่ิมต้นเวลา 8 โมง 45 บางแห่งก็กระเถิบไปอีกนิด ตอนเวลา 9 โมง แต่บางแห่งก็เร่ิมสายถึง 10 โมงทีเดียว เช่นนี้ทำให้สามารถไปส่งเด็กแต่ละคนได้ตามเวลาที่โรงเรียนเร่ิม โชคดีที่จูเกชมีคนขับรถส่วนตัว หน้าที่ส่งเด็กๆ ตอนเช้าจึงมอบหมายให้กับคนขับรถไป แต่คุณแม่คุณน้าทั้งหลายก็ต้องวุ่นวายกันแต่เช้าทีเดียว ไหนจะต้องจัดการอาบน้ำแต่งตัวให้กับลูกๆ เตรียมอาหารเช้าและบังคับให้กิน เตรียมอาหารว่างและกลางวันใส่กล่อง ช่างเป็นเช้าที่วุ่นวายแต่ก็ดูสนุกดี ฉันกอดเด็กๆ แต่ละคนพร้อมกับความคิดคำนึงว่าอีกเมื่อไหร่ฉันถึงจะได้กลับมาเจอพวกแกอีก ตอนนั้นพวกแกอาจจะโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้วก็ได้ แกจะยังจำฉันได้รึเปล่า ชีวิตมันก็น่าแปลกเช่นนี้ ไม่มีอะไรที่หยุดอยู่กับที่ ทุกส่ิงย่อมมีการเคลื่อนไหวไปพร้อมกับโลกที่หมุนไป
            ริซ่าเดินเข้ามาหาฉันในห้องนอนพร้อมกับของในมือ เธอยื่นให้กับฉันเพื่อเป็นที่ระลึก เมื่อเปิดออกดูฉันถึงกับตะลึงเล็กน้อย ในกล่องใบเล็กนั้นเป็นองค์พระพิฆเนศสีแดงสดอมส้ม สวยงามอร่ามตา ฉันรู้สึกได้อีกครั้งว่าเธอเป็นคนละเอียดอ่อนและใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ  ฉันเพียงแค่บอกกับจูเกชในวันแรกที่มาถึงว่าฉันมาตามหาเช่าพระพิฆเนศปางทารกให้กับเพื่อนคนหนึ่ง หลังจากอธิบายความว่าทำไมคนไทยบางกลุ่มถึงได้ศรัทธาและบูชาพระพิฆเนศ เธอเลยไปเลือกหาเช่าพระพิฆเนศองค์นี้มาให้กับฉัน ซึ่งเป็นดีไซน์ที่ถูกใจฉันมาก องค์เล็กกระทัดรัด สีสันจัดจ้านสวยงาม รายละเอียดในการแกะนั้นไม่มากจนเกินงาม เรียกได้ว่าเหมาะกับรสนิยมส่วนตัวของฉันมาก
            ปราวีณา นูนู่ และ ซูนุ นั้นให้ของเป็นที่ระลึกกับฉันเช่นกัน คือสร้อยคอลูกปัด กำไล และผ้าคลุมไหล่ ฉันรู้สึกซึ้งใจมากๆ กับน้ำใจของคนในครอบครัวนี้ ของบางอย่างนั้นมันมีค่ามากกับความรู้สึกเกินกว่าราคาของมันมากมายนัก ส่วนซาฟาร่าก็อุตส่าห์แวะมาลาพร้อมกับให้ตุ๊กตาพื้นเมืองแก่ฉัน ความจริงแล้วแค่น้ำใจที่พวกเขามีต่อฉัน หุงหาอาหารให้ทาน ต้อนรับ
ประหนึ่งเป็นคนในครอบครัว พาไปร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้ความสนใจกับความรู้สึกนึกคิดของฉัน  แค่นี้ก็มากเพียงพอแล้วสำหรับของที่ระลึกที่มีค่าชื่อว่า “น้ำใจ”
วันนี้ทุกคนต้องออกไปทำงานกัน ริซ่าอยู่เป็นเพื่อนฉัน และเมื่อใกล้เวลาจูเกชกับ
ราเกชก็กลับบ้านมาเพื่อที่จะร่ำลาฉันเป็นครั้งสุดท้าย
            ก่อนที่จะออกจากบ้านคุณแม่ได้นำถาดที่มีผงติกาสีแดง ข้าวสาร ผลไม้ และถั่ว ขึ้นมาหาฉันที่ห้องนั่งเล่น เธอบรรจงแต้มหน้าผากฉันด้วยข้าวสารที่มีผงติกาสีแดงผสมอยู่ เพื่อให้พรให้เดินทางโดยปลอดภัย พร้อมกับให้แอปเปิ้ลและถั่วไว้กินเล่น น้ำตาฉันเอ่อขึ้นมาด้วยความซึ้งใจ ฉันไหว้เธอและกอดเพื่อเป็นการร่ำลา เธอพูดเป็นภาษาเนวาร์ที่ราเกชแปลให้ฉันฟังมีใจความว่าเธอขอให้ฉันเดินทางปลอดภัย กลับไปแล้วอย่ากลับไปเลย ให้ติดต่อมาบ้าง และให้กลับมาเยี่ยมเยียนกันอีก
            “ผมไปส่งคุณไม่ได้นะ คงต้องลากันตรงนี้ล่ะ” จูเกชบอกกับฉันก่อนขึ้นรถ
            “อ้าวเหรอ ไม่เป็นไร ขอบคุณนายมากเลยนะสำหรับทุกส่ิงทุกอย่าง อย่าลืมนะว่าต้องทำดีกับริซ่าให้มากๆ” ฉันแอบสั่งเขาในขณะที่ริซ่าแอบอมย้ิม 
            “เป็นไง คุณรู้สึกอยากร้องไห้รึยัง” จูเกชแอบแซวฉัน
            “เกือบแล้ว ก็ฉันเป็นคนอ่อนไหวนี่นา”
            แม้ว่ามันจะเป็นการกอดเพื่อร่ำลากัน แต่ฉันก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นการเจอกันครั้งสุดท้ายของเราซักที ระยะเวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมงกว่าๆ นั้น ไม่ได้นานหรือยากเกินกว่าที่เราจะได้โคจรมาเจอกันซักนิด ที่แน่ๆ นั้น พวกเขายังคงอยู่ใกล้ๆ กับฉันในใจเสมอ
            จูเกชกับริซ่าแวะลงกลางทางเพื่อไปทำงานต่อส่วนราเกชไปส่งฉันถึงสนามบิน ครั้งนี้ฉันไม่ได้รู้สึกใจหายมากเพราะไม่คิดว่ามันเป็นการจากที่จะไม่ได้เจอกันอีก แต่มันเป็นการจากเพื่อที่จะรอวันกลับมาเจอกันใหม่ ฉันเชื่อโดยสนิทใจแล้วว่าชีวิตฉันมีความผูกพันกับคนที่นี่จริงๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน ใครจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร แต่เรายังคงมีสายใยที่ผูกพันกันไว้เสมอ

            แล้วพบกันใหม่ เมื่อมีใครซักคนแต่งงาน …

26 กรกฎาคม 2554

10. มองวิถีโบราณ ย้อนมองดูตัวเรา

            เราออกเดินทางไปดุลิเกลกันตอนเกือบบ่ายสามเมื่ออาจิกลับจากโรงเรียน ดุลิเกลเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่คนท้องถ่ินและนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวกัน อาจเป็นเพราะอยู่ไม่ไกลจาก
กาฏมาณฑุนัก ขับรถไปเพียงชั่วโมงเดียว  แต่ที่สำคัญนั้นเพราะเป็นทางผ่านที่จะไปยังชายแดนทิเบต เมื่อสมัยก่อนเส้นทางนี้เป็นทางสายการค้าพ่อค้าชาวเนปาลเดินทางไปนำทองและเกลือกลับจากทิเบต ส่วนพ่อค้าทิเบตก็เดินทางมาหาพริกและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันกันที่กาฏมาณฑุ แต่ละที่ย่อมมีผลผลิตที่ต่างกันและสามารถนำมาซื้อหาหรือแลกเปลี่ยนกันได้ ทำให้คนมีการพึ่งพาอาศัยและสร้างสัมพันธภาพต่อกันได้ ในสมัยโบราณยังไม่มีการคมนาคมที่สะดวกเหมือนสมัยนี้ พวกพ่อค้าเหล่านั้นใช้วิธีเดินเท้ากัน ดุลิเกลจึงเป็นเมืองที่ไว้ใช้พักระหว่างทาง ต่อเมื่อมีถนนที่มุ่งหน้าไปสู่ทิเบตตัดผ่านเมื่อปี ค.ศ 1965 ผู้คนจึงแวะเวียนมาเที่ยวกันมากขึ้น
            เรานั่งรถไปไม่นานนักก็แวะไปกันที่ Dhulikel Mountain Resort ซึ่งเป็นหนึ่งในที่พักตากอากาศยอดนิยมแห่งหนึ่ง อยู่แวดล้อมท่ามกลางธรรมชาติ มีสวนต้นไม้ ดอกไม้ แถมมีวิวด้านหน้าเป็นเทือกเขาเขียวชะอุ่ม ตัวห้องพักนั้นถูกสร้างเป็นแบบกระท่อมสไตล์เนปาลใช้อิฐสีส้มและมุงด้วยหลักคาใบจากซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และดูกลมกลืนกับธรรมชาติดี



            เราเลือกนั่งด้านนอกของร้านอาหารเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์และชมวิวทิวทัศน์ ต่างคนต่างสั่งเครื่องดื่มโปรดของตัวเองและจิบช้าๆ พร้อมๆ กับการแบ่งปันเรื่องราวชีวิตของกันและกัน เด็กๆ วิ่งเล่นสนุกตรงบริเวณสวนโดยไร้ซึ่งความกังวลใดๆ  ที่นี่เหมาะกับการมาพักผ่อนอย่างแท้จริง ไม่มีส่ิงรบกวนความสงบ (นอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ส่งเสียงดังอยู่ตรงล้อบบี้โรงแรม) ฉันกะว่าถ้าได้กลับมาเนปาลครั้งหน้าคงต้องแวะมาพักซักคืนหนึ่ง เรานั่งคุยกันไปพลางสั่งของกินมารองท้องในขณะที่รอญาติของริซ่าที่จะตามมาสมทบเพราะต้องมาส่งลูกที่โรงเรียนประจำตรงบริเวณใกล้ๆ







            ญาติของริซ่า ภรรยา และลูกๆ กับหลานๆ ตามมาในเวลาพลบค่ำ ซึ่งฝนกำลังโปรยปรายลงมาพอดี ทำให้เราต้องย้ายเข้าไปนั่งด้านในร้านอาหาร ฉันนั่งติดกับริซ่าและน้องสะใภ้ทั้งสองคน พวกเธอต่างซักถามเกี่ยวกับตัวฉันและขอโทษขอโพยที่ไม่มีเวลาได้ต้อนรับฉันในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา คนที่นี่ให้ความสำคัญกับการต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือนมาก คงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขา
            นอกจากจะแวะพักสูดอากาศบริสุทธิ์ พักสายตาไว้กับธรรมชาติ ภูเขาเขียวชะอุ่มตามรีสอร์ทแล้วยังสามารถไปเดินชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายศตวรรษได้ที่บริเวณเมืองเก่าของดูลิเกล สัมผัสวิถีการใช้ชีวิตแบบโบราณไร้ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัยเกินจำเป็น แวะวัดไหว้เทพเจ้าตามแต่ศรัทธา จริงๆ แล้วแค่เพียงได้มาเห็นการใช้ชีวิตของคนอื่นบ้างก็อาจทำให้เราปลงๆ กับอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตได้
            ฉันมักชอบเดินทางไปในที่ที่ไม่ค่อยมีความทันสมัยนัก ชอบสัมผัสวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ เพื่อที่จะดึงตัวเองกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงบ้าง ให้ได้รู้ว่าการที่เรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสุขสบาย มีทุกอย่างที่จะสนองกิเลสได้อย่างง่ายดายเพียงแค่มีเงินนั้นทำให้เรากลายเป็นคนฉาบฉวยและมองข้ามหรือละเลยกับการให้ความสำคัญต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไป การที่ได้เห็นชาวบ้านเดินออกจากบ้านไปตักน้ำในบ่อบาดาลหรือลำธารเพื่อใช้อาบน้ำ ทำความสะอาดและดื่มนั้น เราควรจะรู้สึกว่าเราโชคดีที่ไม่ต้องลำบากขนาดนั้น เพียงแค่เราเอื้อมมือไปเปิดก๊อกน้ำเราก็มีน้ำสะอาดๆ ใช้แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ควรมีสติในการใช้น้ำและรู้จักประหยัดบ้างเพราะเราไม่มีวันรู้หรอกว่าวันไหนที่เราเปิดก๊อกแล้วน้ำจะไม่ไหลออกมาอีกเลย แล้ววันนั้นอาจเป็นน้ำตาเราที่ไหลแทน 

25 กรกฎาคม 2554

9. Finale

            วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งก็เป็นวันหยุดราชการเหมือนบ้านเรา คนที่นี่มีวันหยุดค่อนข้างเยอะไหนจะวันหยุดราชการ ไหนจะวันที่ทำพิธีทางศาสนาต่างๆ แต่ถ้าบวกลบจากที่เขาต้องทำงานกันวันอาทิตย์ (52 วัน) ด้วยแล้วก็ถือว่าไม่ได้มากเกินไป
            วันนี้มีคนอารมณ์ไม่ค่อยจอยอยู่หนึ่งคนคือ อาจิ เพราะมีเพียงเขาคนเดียวที่ต้องไปโรงเรียนเนื่องจากหยุดมาหลายวันแล้วในช่วงประท้วง ทางโรงเรียนเกรงว่าจะเรียนไม่ทัน
             เช้านี้ไอช่าต้องไปทำพิธีไหว้พระพิฆเนศที่วัดใกล้ๆ บ้าน ธรรมเนียมเดียวกันกับเวลาที่หญิงสาวแต่งงานวันแรก เธอเลือกที่จะแต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองสีแดงสด ริซ่าเตรียมเครื่องบูชาใส่ถาดให้เธออย่างเรียบร้อย ดูเหมือนเธอจะค่อนข้างคล่องมากกับการทำพิธีทางศาสนา ไปถึงก็ตรงไปที่พระพิฆเนศนำเครื่องบูชาวางด้านหน้าและแต้มผงติกก้าสีแดงสีเหลืองเจิมที่องค์พระพิฆเนศ



            หลังจากนั้นเรานั่งรถต่อไปที่วัดแห่งหนึ่งที่มีความเชื่อผสมผสานระหว่างพุทธกับฮินดู ซึ่งวัดนี้บูชาเทพเจ้า “บิเจสวอริ” (Bijeshwori) เราต้องเดินขึ้นบันไดไปเพราะวัดอยู่บนเนินเขา คุณแม่ของจูเกชออกจะเดินลำบากซักหน่อยเพราะสะโพกและขาเริ่มเสื่อมแล้ว แต่ดูเหมือนเธอไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากนัก จิตใจมุ่งตรงไปถึงวัดด้านบนตั้งนานแล้ว
            เมื่อเข้าไปในบริเวณวัด มีเจดีย์ที่มีรูปพระพุทธเจ้าเรียงรายมากมาย ส่วนด้านในตัวอาคารนั้นเป็นที่ประทับของเทพเจ้าบิเจสวอริ  ซึ่งมีกฏห้ามถ่ายรูป ไอช่าต้องนำของบูชาไปถวายแด่เทพเจ้าด้านในซึ่งจะมีพนักงานคอยรับของเหล่านั้นและทำพิธีนำไปถวายให้ จะมีของบางอย่างถูกคืนกลับมาเพื่อเป็นสิริมงคล คุณแม่ของจูเกชเป็นผู้ที่เป็นแม่งานในการทำพิธีต่างๆ ภายในวัดโดยมีริซ่าช่วยอยู่ข้างๆ เธอได้นำผงสีส้มทาที่หน้าผากของไอช่าอีกครั้งเหมือนพิธีแต่งงานเมื่อวานนี้ หลังจากนั้นจึงนำอาหารที่ได้รับการปลุกเสกแล้วมาแบ่งให้รับประทาน ซึ่งหลังจากที่ไอช่าได้ทานบางส่วน คุณแม่ก็แบ่งให้กับคนอื่นๆ ด้วย คือจูเกช ริซ่า คนขับรถ และฉัน เธอแอบถามกับริซ่าก่อนว่าฉันโอเคที่จะกินรึเปล่า ซึ่งริซ่าก็ตอบแทนฉันไปได้เลยด้วยความที่รู้จักฉันดีว่าฉันยินดีที่จะทำตามขนบประเพณีทุกอย่างด้วยความรู้สึกเคารพ เธอจึงยื่นไข่ต้มที่หยดเหล้า (คงจะมีวัตถุประสงค์เพื่อฆ่าเชื้อโรค) ให้กับฉันได้ทาน พร้อมกับกล้วยลูกเล็กๆ อีกหนึ่งลูก ริซ่ากำชับกำชากับฉันว่าควรจะทานของเหล่านั้นเพราะการทานอาหารในบริเวณวัดถือเป็นสิริมงคลกับชีวิตในวิถีฮินดู





            เมื่อจบพิธีเราเดินทางกลับบ้านโดยที่จูเกชและริซ่าพาฉันไปแวะร้าน Tara Oriental ซึ่งเป็นร้านขายผ้าแพชมีน่าตามคำขอ ส่วนไอช่ากลับบ้านไปกับคุณย่าก่อน ต้องบอกว่าร้านนี้เป็นร้านที่มีแต่ของสวยๆ มีคุณภาพทั้งนั้น เพียงแค่ปราดตามองแว่บเดียวฉันก็ตกหลุมรักทันที ผ้าแต่ละผืนนั้นล้วนแต่ทอด้วยมือจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพประกอบกับดีไซน์อันทันสมัย ทำให้ผ้าคลุมไหล่ที่นี่ไม่เหมือนที่ใดที่ฉันเคยเจอมาก่อน ส่วนใหญ่นั้นของที่นี่จะผลิตเพื่อส่งไปขายยังร้านดังๆ แบรนด์เนมทั้งหลายในยุโรป ออสเตรเลีย และสแกนดิเนเวีย ซึ่งนั่นแปลว่าราคาที่เราซื้อที่นี่อาจจะเป็นเพียง 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 ของราคาที่ขายตามร้านเหล่านั้นเมื่อแปะแบรนด์ดังเข้าไป ในตาฉันลุกวาว ปิ๊งผ้าหลายผืนจนเลือกไม่ถูก จากที่คิดว่าจะเลือกซื้อเพียง 1 ผืนให้กับเพื่อนที่ฝากมา กลับหักห้ามใจตัวเองไม่ได้ ต้องเลือกหาอีกหนึ่งผืนสำหรับตัวเอง และแม้ว่าฉันจะมีผ้าคลุมไหล่มากกว่า 20 ผืน ประเทศไทยมีอากาศร้อนอบอ้าว โอกาสในการเดินทางไปประเทศหนาวเย็นมีเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี แต่เหตุผลเหล่านั้นมันแพ้อารมณ์และกิเลส ความอยากได้ไปหมด ในที่สุดฉันจึงเลือกผ้าคลุมไหล่แคชเมียร์ 100% ที่มีการทอด้วยมือเป็นลายกระดูกปลา และลายกราฟฟิกสีฟ้าและน้ำเงินที่ดูทันสมัยเหมาะกับเสื้อผ้ายุคใหม่ หากว่าโลกจะล่มสลายในอีกไม่กี่วันตามคำบอกเล่า ฉันก็คงต้องห่มผ้าแคชเมียร์ผืนนี้ตายไปด้วย
            หลังจากได้ซื้อผ้าผืนสวยสมใจแล้วเราก็กลับไปที่บ้าน ทานอาหารกลางวัน และนั่งพักรออาจิกลับจากโรงเรียนเพื่อไปเที่ยวดุลิเกลด้วยกัน (Dhulikel)
            ริซ่าแอบบอกกับฉันว่าไอช่าและอาจิแอบมากระซิบบอกเธอว่าอยากให้ฉันอยู่ต่ออีกหน่อย เพราะเด็กทั้งสองจะได้มีโอกาสไปนอนกับพ่อและแม่ ในตอนแรกนั้นไอช่าบอกว่าจะมานอนกับฉันเมื่อคืนนี้แต่ด้วยความที่ฉันกับริซ่าและจูเกชนั่งคุยกันจนดึกดื่นเธอจึงผลอยหลับไปก่อน เธอนำเอาของที่ได้จากการแต่งงานออกมาชื่นชมและอวดกับฉัน ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสไตล์ร่วมสมัย และมีขนมนมเนยอีกกองใหญ่ เธอทำท่าเลือกของอยู่สองสามอย่างในที่สุดก็ตัดสินใจหยิบบิสกิตห่อใหญ่และยื่นให้กับฉัน เธอบอกว่าอยากให้ฉันไว้เป็นที่ระลึก เธอช่างน่ารักน่าเอ็นดูซะจริงๆ ปกติเด็กๆ มักหวงของ แต่นี่เธอกลับมีน้ำใจกับคนแปลกหน้าอย่างฉัน เธออาจจะอยากให้เป็นค่าตอบแทนสำหรับการเล่นเกมส์ในโทรศัพท์มือถือของฉันก็เป็นได้ ซึ่งนั่นเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ฉันได้ใกล้ชิดและสนิทสนมกับไอช่า ทุกวันเมื่อเธอเจอหน้าฉันเธอจะทำหน้าทะเล้นและยื่นมือมาข้างหน้า แล้วพูดว่า “telephone” แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ฉันก็รู้สึกดีใจที่ได้มาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวจูเกช ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง การเติบโตขึ้นทั้งด้านร่างกายของเด็กๆ ความคิดของผู้ใหญ่ และความเป็นไปของโลกในมุมที่องศาต่างจากเรา
            ฉันเริ่มรู้สึกหวิวๆ นิดหน่อย เพราะวันรุ่งขึ้นก็ต้องกลับบ้านแล้ว เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกเสมอยามเมื่อเรามีความสุข 

24 กรกฎาคม 2554

8. โชคชะตาหรือความตั้งใจ

           ฉันมาเจดีย์โบธนาถครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ทุกครั้งก็มากับคนที่ต่างกันไป ครั้งแรก
มาแบบนักท่องเที่ยวแท้ๆ เดินวนๆ ไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้ง ครั้งที่สองนั้นมากับซูนิมซึ่งได้มีโอกาสหมุนกงล้อมนตราครบรอบ ครั้งที่สามนั้นมีความตั้งอกตั้งใจกับการสวดมนต์ขอพร
ให้กับตัวเองและการงาน ส่วนครั้งนี้ฉันตั้งใจมาเพื่อคนอื่น
            เดี๋ยวนี้ตรงบริเวณหน้าวัดนั้นค่อนข้างพลุกพล่านเต็มไปด้วยรถราและผู้คนสัญจรขวักไขว่ ร้านรวงเปิดขายของกันอย่างคึกคัก ฉันแทบจะจำภาพเดิมๆ ที่เคยคุ้นตาไม่ได้เลย 
แต่เมื่อผ่านประตูด้านหน้าเข้าไปแล้วเหมือนได้นำตัวเองไปอยู่ในอีกมิติหนึ่งของกาลเวลา ความสงบเข้ามาครอบงำในจิตใจ เจดีย์ขนาดใหญ่นั้นค่อยๆ เด่นตระหง่านให้ฉันได้ยลโฉม
ชัดขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อเท้าก้าวเดินเข้าไปหาฉันกลับรู้สึกว่าความยิ่งใหญ่นั้นเป็นส่ิงที่สงบน่ิง 
ไม่ท้าทายหรืออวดอำนาจ ทำให้ความหย่ิงทะนงในตัวตนของฉันนั้นลดลงเหลือเพียงเท่าธุลีดิน



            ก่อนอื่นฉันต้องทำให้ท้องตัวเองสงบน่ิงลงก่อนเพื่อที่จะใช้สมาธิในการเดินสวดมนต์ให้ใจสงบได้ ฉันเดินไปรอบๆ เพื่อหาร้านอาหารทานรองท้อง และตัดสินใจเลือก Café du Temple เพราะเขามีระเบียงตรงชั้นบน อยากจะนั่งทานอาหารไปชมเจดีย์และดูผู้คนที่มาแสดงความศรัทธาในการเดินอย่างช้าๆ ไปรอบๆ สวดมนต์หรือกราบไหว้เจดีย์ อาหารที่นี่พอทานได้ไม่ถึงกับอร่อยมากราคาก็พอประมาณอาจเป็นเพราะอยู่ในบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยวและมีที่ตั้งที่ถือว่าเป็นสุดยอดของการชมทิวทัศน์ ทำให้ฉันได้ภาพเจดีย์โบธนาถในมุมสูงที่ดูแล้วย่ิงใหญ่
ทีเดียว 




             วันนี้คนมาเยี่ยมชมเจดีย์ไม่มากนักแต่เดาว่าวันรุ่งขึ้นคนคงแน่นขนัดเพราะเป็นวันวิสาขบูชา พนักงานพากันทาสีตัวเจดีย์ให้ขาวสะอาดตา รวมทั้งประดับประดาด้วยธงมนต์ 5 สี เตรียมต้อนรับพุทธศาสนิกชนที่เปี่ยมศรัทธา


            เมื่ออ่ิมท้องคราวนี้ก็ถึงเวลารวบรวมสมาธิ ฉันเดินย้อนกลับไปด้านหน้าเจดีย์ทำใจให้สงบน่ิงและเร่ิมต้นสวดมนต์แล้วจึงเดินหมุนกงล้อมนตราไปทีละอันด้วยใจมุ่งมั่น ฉันนึกถึงคนที่ฝากฉันให้มาที่นี่ เขามีความศรัทธาแรงกล้าและชอบที่นี่มาก หากไม่เป็นเพราะเขาแล้วฉันเองก็อาจจะไม่ได้มาที่นี่ในครั้งนี้ ต้องขอบคุณที่เตือนให้ฉันได้มาพบเจอกับความสงบ ตั้งใจว่าจะสวดมนต์ขอพรให้เขามีสุขภาพดี มีความสุข มีสติ ปัญญาและมีชีวิตที่ดี ส่วนเรื่องที่ีขอส่วนตัวนั้น
ขออุบไว้คนเดียว
            ฉันเดินหมุนกงล้อมนตราจบครบทุกอันไม่ขาด ไม่ตก ไม่หล่น คิดว่าความตั้งใจนั้นจะส่งผลให้พรที่ขอได้ยินไปถึงใครซักคนและดลใจให้สมดังความปรารถนาทุกประการ คีริตชวนขึ้นไปเดินรอบๆ ด้านบน ซึ่งทำให้ฉันได้เดินรอบเจดีย์เป็นรอบที่สอง เขาชวนคุยเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประเทศของเขา ดูเขาจะโตเกินวัยมาก เขาบอกว่าเพื่อนๆ มักเรียกเขาว่าคุณลุงเพราะเขามักรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีโบราณมากเกินกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน และดูเหมือนว่าเขาก็ชอบที่จะเป็นแบบนั้น เขาตกใจมากเมื่อรู้ว่าฉันอายุเท่าไหร่ คงไม่ใช่ว่าฉันหน้าเด็กอะไรแต่เขาคงงงกับการใช้ชีวิต นิสัยและความสนใจของฉันมากกว่า ฉันรู้สึกว่าเขาเป็นเด็กดีใช้ได้
ไม่เคยรู้สึกรำคาญความเป็นวัยรุ่นเลอะเทอะไร้สาระ ไม่สนใจส่ิงรอบตัวเหมือนกับที่เคยรู้สึกกับเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ เขาดูสนิทกับญาติพี่น้องมาก มีความอ่อนโยนและรับผิดชอบ สังเกตุได้จากการที่เขาสามารถดูแลหลานๆ ลูกของพี่ๆ ได้ เขาค่อนข้างสนิทกับแม่และคุยกับซาฟาร่าได้ทุกเรื่อง คงเป็นเพราะเธอเป็นคนทันสมัยและหัวเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้มาก ไม่เหมือนแม่ๆ คนอื่น



            คราวนี้ถึงภารกิจสำคัญที่ตั้งอกตั้งใจไว้เมื่อมาที่นี่ คือการตามหาพระพิฆเนศปางทารก ฉันเริ่มเดินใหม่จากด้านหน้าและตั้งใจจะแวะดูตามร้านค้าที่ขายของประเภทพระพุทธรูปทุกร้าน
            “ขอโทษค่ะ คุณมี Baby Ganesh มั้ยคะ” ฉันถามชายคนขายที่นั่งหน้าร้านแรกที่แวะ ร้านค้านี้เป็นร้านขนาดเล็ก มีรูปปั้นพระพุทธรูปไม่มากนัก
            “อืมม์​ …​ Baby Ganesh เหรอ ไม่มีหรอก” เขาตอบทันใด
            ฉันรู้สึกผิดหวังนิดหน่อย แต่ไม่มากนักเพราะจริงๆ แล้วที่นี่เป็นวัดพุทธนิกายมหายาน ไม่ใช่วัดฮินดู การที่จะหาเทพเจ้าฮินดูนั้นก็คงต้องยากซักหน่อย ได้แต่คิดว่ายังมีร้านค้าอีกมากคงต้องมีซักร้านที่มีพระพิฆเนศน่ะ ตอนที่เดินสวดมนต์ก็ได้สวดขอแล้วให้มีบุญพอที่จะเจอท่าน
ที่นี่
            ฉันเหลือบมองดูในร้านพลันสายตาก็ไปหยุดที่ตู้โชว์ด้านใน ตอนแรกคิดว่าตาคงฝาดไปจึงเพ่งมองและเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ฉันไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเองเลยว่าฉันเจออะไร
            “นี่ไงคุณ … พระพิฆเนศ ขอดูองค์นี้หน่อยได้มั้ย” ฉันหันไปบอกคนขาย
            เขาทำหน้างงๆ เดินมาที่ตู้และปลดล็อคหยิบท่านขึ้นมาให้ฉัน
            ภาพที่เห็นตรงหน้าคือ “Baby Ganesh” ปางที่ฉันตามหา เป็นองค์สีทองอร่าม สวยงามและโดดเด่นมาก เป็นเทวรูปองค์เดียวที่เป็นสีทองทำให้สะดุดตา ฉันรู้สึกขนลุกขึ้นมาในทันใด เมื่อได้สัมผัสท่านแล้วฉันรู้สึกได้เลยว่า​ “ใช่” องค์นี้แหล่ะ ที่เหมาะที่สุดที่จะเป็น
ของฝาก
            ฉันถามราคาเจ้าของร้าน เมื่อเขาบอกมาฉันก็ไม่ได้รู้สึกว่าราคาสูงมากนัก แต่คีริต
กลับบอกว่าแพงมากเกินไป  และตามภาษาผู้หญิงฉันก็อยากเดินดูรอบๆ ให้มั่นใจก่อนว่าองค์นี้เป็นองค์ที่สวยที่สุดแล้ว
            ฉันเดินไปรอบๆ บริเวณ แวะทุกร้าน แต่ไม่พบพระพิฆเนศปางที่ต้องการอีกเลยในร้านใดก็ตาม ฉันจึงวนกลับมาที่ร้านแรก คราวนี้เจอภรรยาเจ้าของร้าน เธอบอกราคาที่สูงกว่าเดิมเสียอีก เธออ้างว่าเป็นเพราะราคาทองที่พุ่งพรวดอยู่ทุกวัน ทำให้คีริตเสียความรู้สึก จึงหันไปถามร้านข้างๆ ที่มีปางเดียวกันแต่เป็นสีบรอนซ์ซึ่งอาจจะดูทึมๆ ไม่สวยนัก และแกะสลักไม่ค่อยละเอียดเท่าไหร่ สนนราคานั้นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งขององค์แรก เขาบอกว่าให้ลองปรึกษาจูเกชดูว่าราคาที่เจ้าของร้านบอกมานั้นมันโอเว่อร์เกินไปหรือเปล่า ฉันจึงโทรหาเขาในทันที ซึ่งเขาก็บอกว่าราคาค่อนข้างโอเคสำหรับเทวรูปที่เคลือบด้วยทอง คราวนี้ฉันก็ต้องใช้วิชาอ้อนกับคนขายล่ะ ฉันพูดกับเธออย่างอ่อนหวาน ขอร้องให้ลดราคาลงอีกหน่อย ซึ่งในที่สุดเธอก็เห็นใจ ฉันจึงได้พระพิฆเนศตามที่ใจต้องการ ฉันคิดว่าฉันคงพอมีบุญอยู่บ้าง และส่ิงที่ทำให้ฉันได้พบกับท่านนั้นก็คงเป็นเพราะความตั้งใจ แต่ที่สำคัญคงต้องเป็นแรงใจที่ส่งมาจากคนที่อยากจะบูชาท่าน เขาเคยที่จะเช่าครั้งหนึ่งเมื่อเดินทางมาที่เนปาลเมื่อหลายปีก่อนแต่ก็ต้องคลาดไป ของแบบนี้คงอยู่ที่จังหวะเวลาและบุญวาสนาของแต่ละคน
            ฉันกลับบ้านไปด้วยความตื้นตันใจ รู้สึกเหมือนชีวิตได้ทำอะไรที่ประสบความสำเร็จ
ซักอย่าง
            ค่ำวันนั้นจูเกช ริซ่า และเด็กๆ ต้องไปทานเลี้ยงบ้านของคุณยายริซ่าซึ่งมีอายุมากถึง 93 ปีแล้ว งานเลี้ยงนี้จัดเพื่อฉลองให้กับหลานสาว 2 คนที่ได้ผ่านพิธีแต่งงานเมื่อเช้านี้ ซึ่งแน่นอนที่สุดฉันก็ถูกหอบหิ้วตามไปด้วยทุกที่ที่ครอบครัวนี้ไป ที่บ้านนี้มีญาติของริซ่าสองครอบครัวอยู่ร่วมกัน แต่ก่อนตอนเด็กๆ เธอก็เคยมาอยู่ที่นี่เหมือนกันเวลาที่แม่กลับมาเยี่ยมบ้าน งานเลี้ยงวันนี้คนที่รับบทหนักเห็นจะเป็นสะใภ้สองคนที่ต้องทำหน้าที่จัดเตรียมอาหารให้กับแขก เห็นเธอเดินวุ่่นวายขึ้นลงด้านบนและด้านล่างคอยเติมอาหารที่พร่องไปไม่ได้หยุดหย่อน เราไปถึงค่อนข้างช้า แขกเหรื่อบางคนก็ทยอยกลับกันบ้างแล้ว แต่ฉันได้รับการต้อนรับอย่างดีและถูกแนะนำในฐานะเพื่อนสนิทจากต่างแดน ญาติๆ ของริซ่าพากันเอาอกเอาใจ
หาของกินให้กับฉันเป็นการใหญ่ คุณพ่อของริซ่าจำฉันได้ดี เพราะฉันเจอท่านสามครั้งแล้ว 
ครั้งที่แล้วก็ได้ไปทานข้าวที่บ้านท่านด้วย ท่านชวนฉันคุยสนุกสนาน เล่าเรื่องนู้นนี้ให้ฟัง 
แถมยังชวนกลับมาเที่ยวอีกบ่อยๆ



ตามธรรมเนียมของชาวเนวาร์ เขาจะทานของทานเล่นและดื่มกันก่อนจะกินมื้อหนัก สำหรับคืนนี้กว่าเราจะได้ทานอาหารมื้อค่ำนี้ก็ปาเข้าไปสี่ทุ่ม เมื่ออ่ิมหมีพีมันแล้วก็ขอตัวลา
กลับบ้านกันตอนห้าทุ่ม
            ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดี มีกัลยาณมิตรที่ดีมากมาย บางทีเราอาจไม่จำเป็นต้องมีข้าวของอะไรมากมายในชีวิต หรือร่ำรวยล้นฟ้าถึงจะมีความสุข แต่แค่การที่รู้ว่ามีใครที่จริงใจ หวังดีต่อเรา ยอมรับในส่ิงที่เราเป็น และต้อนรับด้วยน้ำใจที่ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน ฉันว่าเป็นสมบัติที่สำคัญสำหรับการดำรงอยู่ในสังคม เพราะสิ่งนี้ไม่ได้หากันได้ง่ายๆ แม้จะร่ำรวยแค่ไหนก็ตาม 

23 กรกฎาคม 2554

7. Holy Red

            วันรุ่งขึ้นฉันต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพราะต้องเตรียมตัวเพื่อไปถึงที่วัดในเวลาประมาณ 7 โมงครึ่ง
            เมื่อเตรียมตัวเสร็จในเวลา 7 โมงเช้า ไม่เห็นใครซักคน นอกจากริซ่าที่ลุกขึ้นมาเตรียมเครื่องแต่งตัวให้กับไอช่าแต่เช้าตรู่ จูเกชไม่ต้องพูดถึง ท่าทางยังนอนหลับอยู่บนเตียง ชาวเนปาลนี่เค้าชิลล์กับเรื่องเวลามากกว่าคนไทยซะอีกนะเนี่ย            
            วันนี้จะมีประท้วงอีก ทำให้คนที่บ้านทำหน้าเลิ่กลั่กกันไปหมด ฉันได้แต่นั่งงงๆ เพราะไม่เข้าใจอะไรกับใครเขา สรุปความว่าเขาไม่แน่ใจว่ารถจะผ่านไปยังวัดได้รึเปล่า ทำให้แผนการเดินทางต้องเปลี่ยนไปหมด แต่รถคันแรกนั้นได้นำเจ้าสาว แม่เจ้าสาว และคุณปู่กับคุณย่าไปที่วัดเรียบร้อยแล้ว ซักครู่ทุกอย่างเหมือนเริ่มเคลียร์เมื่อรู้ว่ารถสามารถผ่านไปไหนมาไหนได้ 
ทุกคนก็รีบเปลี่ยนชุดกันหมดทั้งบ้าน ไปวัดกันครบองค์ประชุมทีเดียว
            วันนี้เด็กๆ แต่งชุดพื้นเมืองสีแดงพร้อมเครื่องประดับแบบจัดเต็มสวยงามทีเดียว ชุดของไอช่านั้นเป็นผ้าที่แม่ของริซ่าใช้เมื่อตอนเธอแต่งงาน แต่ดูๆ ไปแล้วยังเหมือนใหม่อยู่เลย 
ผู้หญิงที่มาร่วมในงานนั้นส่วนใหญ่แต่งชุดสีแดงสด เป็นสีแดงที่มารวมตัวกันในงานมงคล 
ทำเรื่องดีๆ ร่วมพิธีศักด์ิสิทธิ์ ส่วนฉันเด๋ออีกตามเคยเพราะเพื่อนตัวแสบไม่เคยบอกข้อมูลใดๆ
            พิธีเริ่มต้นด้วยการที่เด็กๆ เจิมหน้าผากให้กับอาสาว (น้องสาวพ่อนั้นมีส่วนสำคัญกับพิธีแต่งงานนี้มาก น่าจะประมาณเหมือนทำหน้าที่เป็นแม่ทูนหัวอะไรประมาณนั้น) หลังจากนั้นเธอเหล่านั้นต้องเดินออกไปด้านนอกบริเวณที่ทำพิธีเพื่อไประบายสีแดงตรงบริเวณส่วนเท้า
ด้านบนซึ่งจะต้องเก็บไว้อย่างนั้นเป็นเวลาหลายวันถึงจะล้างออกได้ หลังจากนั้นจึงกลับเข้ามาทำพิธีด้านใน และเช่นเคยพิธียาวยืดมาก กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความอดทนอย่างมาก เพราะต้องทรมานกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว แถมมีควันธูป ควันไฟจากไม้ ในการประกอบพิธี การปลุกเสก ถวายของแก่เทพเจ้า ในที่สุดก็มาถึงขั้นตอนสำคัญคือการเจิมหน้าผากเจ้าสาวตัวน้อยด้วยผงสีแดงและสีส้ม ซึ่งคนที่เจิมนั้นคือแม่ของจูเกช แต่ละขั้นตอนนั้นต้องทำให้กับเด็กครบทั้ง 7 คน จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน





            หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนสำคัญของพิธีซึ่งคราวนี้คุณพ่อจะเป็นคนมีบทบาทล่ะ ขั้นแรกต้องบูชาเทพเจ้าก่อน (ขาดไม่ได้เลยขั้นตอนนี้ในทุกพิธีของฮินดู) จูเกชดูจะเป็นคุณพ่อที่เก้ๆ กังๆ ที่สุด เพราะคงไม่ได้รู้เรื่องขั้นตอนใดๆ กับเขาซักเท่าไหร่ ต้องมีริซ่าและนูนู่กำกับทุกขั้นตอน จะหยิบจับ เสก โยน เทอะไร เป็นขัดเขินไปซะหมด หลังจากนั้นจึงเร่ิมทำพิธีได้โดยที่หน้าที่ของคุณพ่อคือคนที่ยกลูกสาวให้กับสามีก็คือเทพเจ้านั่นแหล่ะ แต่สัญญลัษณ์ที่ใช้ในพิธีนี้ก็คือลูกพลับ โดยที่เธอจะต้องรับลูกพลับมาถือไว้ในมือและถูกผูกข้อมือทั้งสองด้านไว้ด้วยกัน ตลอดเวลาที่ทำพิธีนั้นเด็กหญิงจะนั่งอยู่บนตักของคุณพ่อแต่ละคน ซึ่งเป็นภาพที่น่ารักมากๆ คุณพ่อบรรจงกอดลูกสาวตัวเล็กไว้ คุ้มครองเธอจากอันตรายทุกสิ่งอย่าง ฉันนึกภาพไม่ออกว่าวันนึงที่ไอช่าถึงเวลาแต่งงานจริงๆ จูเกชจะทำหน้าอย่างไร ถ้ามีโอกาสฉันก็อยากมาดูด้วยตาตัวเอง


            พิธีวันนี้ค่อนข้างยาวแต่มีการเคลื่อนไหวเยอะทำให้ไม่ค่อยน่าเบื่อเท่าไหร่ หลังจากเด็กรับลูกพลับมาไว้ในมือแล้ว ริซ่าก็จูงไอช่าและเด็กๆ ทั้งหมดเดินวนรอบๆ บริเวณที่ทำพิธีทั้งหมด 5 รอบ โดยที่มุมรอบๆ ทั้ง 4 มุมนั้นคุณแม่แต่ละคนจะไปยืนถือของที่ใช้ในพิธีและเด็กๆ จะต้องมาหยุดและมีการอวยพรให้กับหนูๆ แต่ละคน รอบแรกพวกเธอยังอุ้มลูกพลับไว้ในอุ้งมือ รอบที่สองนำลูกพลับใส่ลงในจานดินเผาที่เขียนสีอย่างสวยงาม หลังจากนั้นเดินวนไปอีก 3 รอบ ก่อนที่จะหมดรอบนั้นจะต้องเดินบนใบพลู และนำเงินไปให้กับเด็กชาย ซึ่งผู้รับหน้าที่ก็คือ อาจิ กับ เกาชิค (ลูกของนูนู่) ดูเหมือนว่าส่ิงละอันพันละน้อยล้วนมีความหมายในเชิงศาสนาหรือ
สัญญลักษณ์ทั้งนั้น ขั้นตอนสุดท้ายก็คือการรับของขวัญจากบรรดาญาติๆ ที่มาในงาน ที่เน้นมากคือข้าวสารและเงินส่วนของอื่นๆ ที่นำมาเป็นของขวัญนั้นส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ รวมทั้งขนม




            การแต่งงานกับเทพเจ้า Suvarna Kumar Kandayan นั้นเพื่อเป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ แต่ที่สำคัญนั้นก็คือการป้องกันหญิงสาวจากการเป็นม่าย ในสังคมฮินดูยุคโบราณนั้นเมื่อสามีตายลง หญิงสาวต้องตายตามสามีไปด้วย แต่พิธีนี้ถือว่าหญิงสาวได้แต่งงานกับเทพเจ้าแล้ว ซึ่งเทพเจ้านั้นมีชีวิตนิรันดร์ เธอจึงไม่จำเป็นต้องตายตามสามีที่เป็นมนุษย์ และยังลบล้างความเชื่อเรื่องการที่ต้องแต่งงานหนเดียวอีกด้วย เพราะกว่าจะแต่งกับคนจริงๆ ก็เป็นหนที่สามแล้ว
            วันนี้ฉันรู้สึกค่อนข้างเพลียเพราะพลังแอ้ปเปิ้ลที่กินไปเมื่อเช้าได้หมดลงแล้ว จึงขอตัวไปเที่ยวที่เจดีย์โบธนาถ ซึ่งจูเกชได้ให้รถไปส่งพร้อมกับบอดี้การ์ดสามคน คือคนขับรถ คีริต และอาจิ 

22 กรกฎาคม 2554

6. วงโคจรของสายใย

           จูเกชคงกลัวฉันเบื่อเพราะไม่ได้ไปเที่ยวไหน ก็เลยพาขับรถออกไปหมู่บ้าน Godawari ซึ่งอยู่นอกเมืองปักตาปูร์ไม่ไกลนัก เป็นที่ที่คนพื้นเมืองนิยมไปสูดอากาศบริสุทธิ์และดูพระอาทิตย์ตกดิน จูเกชชวนไอช่า คีริตและคริสมาไปด้วย ส่วนริซ่านั้นเธอต้องไปทำธุระอีกมากมายเพื่อเตรียมตัวสำหรับพิธีในวันรุ่งขึ้น 
เราขับรถขึ้นเขาไปซักพักเขาก็หันมาถามว่า
“เธออยากแวะดูโรงผลิตเบียร์พื้นเมืองที่ชื่อว่า “กาฏมาณฑุ” มั้ย เป็นของเพื่อนผมเอง”
ฉันไม่ได้มีโปรแกรมอยากไปไหนเป็นพิเศษอยู่แล้วก็เลยเออออไปกับเขา คิดว่าเขาอาจจะอยากเจอเพื่อนด้วย
“ที่นี่เขาใช้น้ำแร่ธรรมชาติมาผลิตเบียร์ ซึ่งเป็นเพียงยี่ห้อเดียวในเนปาลนะ ผมมักจะสั่งเบียร์จากเขานี่แหล่ะ ได้ดื่มแบบสดๆ เลยเพราะส่งจากโรงงาน”
            อืมม์​ ก็ฟังดูตื่นเต้นดี
บริเวณโรงงานนั้นถูกโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ที่นี่ผลิตทั้งเบียร์และวิสกี้ ฉันเองก็ยังไม่เคยไปเห็นโรงผลิตที่ไหนก็เลยรู้สึกตื่นเต้นในตอนแรก
            เพื่อนเขาออกมาต้อนรับขับสู้อย่างดี เชิญชวนให้เข้าไปชมโรงงานด้านใน พาเดินลัดเลาะไปตามสายการผลิต จะว่าไปโรงงานที่นี่ก็ไม่ค่อยจะทันสมัยถูกสุขอนามัยซักเท่าไหร่
ถ้าเทียบกับที่เมืองไทย แต่ก็คงได้มาตรฐานระดับหนึ่ง เดินไปต่อที่โรงงานผลิตวิสกี้ ซึ่งเป็นประเภทราคาถูกแต่ดีกรีแรง แถวบ้านเรียกว่า “จ่ายน้อยแต่เมาเร็ว” โรงงานนี้บรรจุด้วยมือหญิงสาวล้วนๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการกรอกน้ำเมาเข้าขวด ปิดฝาขวด และแปะฉลาก ทุกขั้นตอนมีการผ่าน QC โดยสาวๆ ที่ทำงานอยู่ในสายการผลิต
            “พนักงานคุณเมากลับบ้านทุกวันรึเปล่าเนี่ย” ฉันแกล้งหยอกเขาเล่น
            “อ๋อ …​ไม่หรอกครับ ส่วนใหญ่พนักงานเป็นผู้หญิง พวกเธอไม่ดื่มอยู่แล้ว แต่พนักงานชายก็มีบ้าง”
            คงเป็นเหตุนี้เองที่ใช้ผู้หญิงทำงานเพราะนอกจากจะละเอียดละออ ระมัดระวังกว่าแล้ว คงไม่แอบโขมยเหล้าดื่มเป็นแน่
            เราเดินเรื่อยเปื่อยไปข้างๆ โรงงาน ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ที่เขาซื้อไว้เพื่อจะทำรีสอร์ตในอนาคต บรรยากาศรอบๆ นั้นค่อนข้างดี โอบล้อมด้วยธรรมชาติ ต้นไม้น้อยใหญ่ อากาศบริสุทธิ์และเงียบ ถ้าทำบังกะโลหลังเล็กๆ คงจะน่ารักดี และบนนี้อากาศก็ดีกว่าในเมืองมาก



            ก่อนกลับเพื่อนจูเกชชวนให้เราไปทดลองดื่มเบียร์สดกัน เป็นเบียร์ชนิดพิเศษที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนผลิตสุดท้ายทำให้ไม่มีแก้สอยู่ในนั้น ตอนแรกฉันก็ลังเลนิดหน่อย แต่ก็คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว มาทั้งทีควรทดลองในสิ่งที่ไม่เคยลองดูบ้าง อะไรที่อยู่ในกรอบแบบเดิมๆ ควรลืมไปซะกับการเดินทางครั้งนี้ ไม่งั้นก็จะไม่ถึงที่สุดของการผจญภัยเต็มรูปแบบ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ารสชาติเบียร์นั้นถือว่าใช้ได้ทีเดียว (อันนี้เป็นการประเมินโดยคนที่ไม่ใช่นักดื่มตัวฉกาจ)
            เรานั่งรถต่อไปที่ Godawari Village Resort ซึ่งเป็นรีสอร์ตขนาดใหญ่พอสมควร ที่พักนั้นถูกออกแบบในสไตล์พื้นเมือง ดูมีเอกลักษณ์ดี น่าเสียดายที่ทัศนียภาพอันสวยงามด้านหน้านั้นถูกทำลายด้วยโรงงานผลิตอิฐ จากพื้นดินที่เขียวชะอุ่มด้วยต้นไม้กลับกลายเป็นดิน
สีเทาที่ถูกขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการผลิตก้อนอิฐ ทำให้รีสอร์ตนี้เงียบเหงาลง ผู้คนต่างห่างหาย ส่วนใหญ่คนที่มาจึงเป็นพวกที่มาเป็นกลุ่มใหญ่และใช้ประโยชน์ในการจัดสัมนาของบริษัท
            เรานั่งพักและสูดอากาศบริสุทธิ์พร้อมเครื่องดื่มดับกระหายแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน เครื่องดื่มยอดฮิตของเด็กๆ นั้นคงหนีไม่พ้น มิลค์เชค ฉันพยายามมองข้ามโรงงานด้านหน้าไปและค้นหาความสวยที่แท้จริงของภูเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลังจะได้พักสายตา 
จูเกชบอกว่ารัฐบาลเคยมีโครงการที่จะปิดช่องระหว่างเนินเขาสองลูกเพื่อทำให้เป็นทะเลสาป ซึ่งน่าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากันมากขึ้นได้ บรรยากาศคงคล้ายๆ กับทะเลสาปเฟวาที่โพครา แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการเกิดขึ้น คงคล้ายๆ กับประเทศไทยที่นักการเมืองมักสร้างเรื่องเพ้อๆ หลอกประชาชนให้เชื่อตาม แต่คำพูดนั้นไม่เคยเป็นคำสัญญาที่รักษาไว้ได้



 

            จูเกชบึ่งรถกลับเข้ามาในเมืองเพื่อพาฉันไปพบกับภราวาติกาและซูนิม
            วันนี้ครอบครัวเล็กๆ นี้มีความสุขสดชื่นมากขึ้นเมื่อมีสมาชิกตัวน้อย “Syesha” ตอนนี้เธออายุ 3 ปีแล้ว เมื่อครั้งก่อนที่ฉันเจอเธอยังเป็นเด็กทารกที่เพ่ิงคลอด แต่บัดนี้เธอเติบโตขึ้นมาด้วยความรักความเอาใจใส่ของพ่อและแม่ ที่แม้ว่าจะไม่ใช่คนที่คลอดเธอออกมาเอง แต่ก็มีความรักให้กับเธออย่างเต็มเปี่ยม เธอดูน่าเอ็นดูมาก ตัวเล็ก เสียงใสๆ ท่าทางฉลาด
และที่สำคัญขี้อ้อนใช่ย่อย
            ซูนิมขับรถพาฉันไปกินข้าวที่ร้านอาหารชื่อ Mike’s restaurant ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านจูเกชนัก ฉันเคยอ่านในไกด์บุ๊คเกี่ยวกับร้านนี้ว่าเป็นร้านที่มีอาหารเช้าอร่อย แต่ยังไม่เคยได้มาลองกินซักที อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารฝรั่ง เน้นประเภทเม็กซิกันซะหลายอย่าง 
ฉันนึกไม่ออกว่าจะทานอะไรดีประกอบกับอาหารมื้อเที่ยงเมื่อตอนเกือบบ่ายสี่นั้นยัง
ตึงๆ ท้องอยู่ ก็เลยสั่งสลัดมากินให้เบาๆ หน่อย
            “เธอชอบกินสลัดใช่มั้ย ฉันเห็นเธอมักจะสั่งแต่สลัดไปซะทุกครั้ง” ภราวาติกาตั้งข้อสังเกตกับนิสัยการกินอาหารของฉัน
            “ก็ชอบนะ แต่พอดีวันนี้ไม่ค่อยหิวด้วยน่ะ ฉันชอบทานผัก เนื้อสัตว์ก็ทานบ้าง แต่ถ้าเป็นอาหารประเภทแป้งนั้นกินไม่ค่อยได้ กินแล้วปวดท้อง”
            เรานั่งคุยกันเรื่องนู้นนี้อีกพักใหญ่ ช่วงที่ภราวาติกาพาลูกสาวตัวน้อยไปเดินเล่น ซูนิมก็พูดขึ้นมาว่า
            “ภราวาติกาเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยมมาก เธอมีสัญชาตญาณความเป็นแม่เต็มเปี่ยม”
            ฉันย้ิมตอบ “ฉันก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เธอดูอ่อนโยนมากเมื่ออยู่กับลูก”
            ชีวิตคนเรามักมองหาอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าสมบูรณ์แบบ อย่างชายหนุ่มหญิงสาวที่แต่งงานกันก็ย่อมอยากที่จะมีลูกมาทำให้ครบองค์ประกอบที่เรียกว่าครอบครัว ทำให้ชีวิตมีสีสัน ความสดชื่น มีความหวัง และมีอนาคตที่จะมองไปข้างหน้า แต่ทุกอย่างนั้นควรเกิดจากความรู้สึกไม่ใช่ค่านิยม เพราะบางคนอาจไม่คิดเช่นนั้นก็ได้ ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะการให้ค่าและความสำคัญของการใช้ชีวิตนั้นไม่ได้มีแค่รูปแบบตายตัวอย่างเดียวเสมอไป
            ซูนิมเองก็ดูเป็นคุณพ่อที่อบอุ่น ใจดี และใจเย็นมากเมื่อมีคุณลูกสาวตัวน้อยอยู่ใกล้ๆ สายตาที่เขามองลูกสาวนั้นช่างดูอ่อนโยนผิดกับเวลาที่คุยกับเขาเรื่องการเมืองหรือธุรกิจ 
ภราวาติกาบอกว่าเขาหลงลูกมาก แล้วก็เหมือนว่าฟ้าเป็นใจ หนูน้อย Syesha นั้นหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงเขามาก ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ลูกแท้ๆ 
            แม้เป็นเวลาเพียงสั้นๆ แต่ฉันก็รู้สึกได้เสมอในทุกๆ ครั้งที่ฉันได้เจอเพื่อนทั้งสองว่า
พวกเขานั้นมีความจริงใจและหวังดีต่อฉัน อยากให้ฉันมีความสุข น่าแปลกที่คนเรานั้นได้เจอกันด้วยความบังเอิญในระยะเวลาสั้นๆ แต่ความรู้สึกที่มีให้ต่อกันนั้นกลับยืนยาว
ฉันเชื่อในพรหมลิขิต … เชื่อเสมอว่าเราแต่ละคนนั้นมีสายใยที่โยงออกไปถึงคนอีกหลายๆ คนที่ได้เคยทำบุญหรือทำกรรมร่วมกันมา สายใยนั้นแม้จะยาวแต่ถ้าแข็งแรงเราก็จะไม่หลุดจากวงโคจรของกันและกัน แต่หากสายใยนั้นมันเปราะบางเกินไป แม้ว่าเราจะพยายามแค่ไหนมันก็ไม่มีวันที่จะดึงคนๆ นั้นเข้ามาใกล้ตัวเราได้ 

21 กรกฎาคม 2554

5. แต่งงาน 3 ที ดีจริงหนอ ...

           วันรุ่งขึ้นเป็นงานพิธีแต่งงานวันแรกของไอช่า ทุกคนตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อมาเตรียมตัวให้กับเจ้าสาว ผู้หญิงเนปาลที่เป็นชาวเนวาร์แท้ๆ นั้นจะแต่งงานทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกแต่งกับ
ลูกพลับตอนอายุประมาณ 6-8 ขวบ ภาษาเนวารีเรียกว่า “Ihi” และภาษาเนปาลีเรียกว่า “Bel sanga bibaha” ครั้งที่สองแต่งกับพระอาทิตย์ตอนก่อนมีประจำเดือน (ในช่วงก่อนพิธีเด็กๆ จะต้องอยู่แต่ในห้องไม่สามารถออกมาเห็นแสงพระอาทิตย์ได้ รวมทั้งต้องถูกกันออกจากผู้ชายทุกคนแม้แต่ญาติของตัวเอง) ภาษาเนวารีเรียกว่า “Bara Tayegu” หรือ “Gufa Rakhne” ในภาษาเนปาลี ส่วนครั้งที่สามนั้นเป็นการแต่งงานกับมนุษย์ผู้ชาย
ชาวเนปาลแท้ๆ นั้นคือชาวเนวาร์​ซึ่งอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งนี้มาช้านานจนกระทั่ง ราชวงศ์ชาห์ (Shah) เข้ามารุกราน จึงมีชนเชื้อสายอื่นเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบกันเป็นประเทศเนปาลในปัจจุบัน ชาวเนวาร์นั้นมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นและมีประเพณีในการทำพิธีทางศาสนามากมาย นอกจากนี้ยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะคล้ายๆ กับทางอินเดีย ซึ่งจะแบ่งอาชีพของคนในแต่ละวรรณะด้วย เช่น พระ ที่ปรึกษาของกษัตริย์ ผู้ที่ทำงานในรัฐบาล ศิลปิน พ่อค้า ชาวนา และมีวรรณะที่เรียกว่า untouchable ซึ่งจะมีอาชีพเป็นคนทำความสะอาดหรือคนฆ่าสัตว์ เช่นนี้แปลว่าเกิดมาในนามสกุลอะไรมีผลต่ออาชีพในอนาคต ไม่เกี่ยวว่าคุณชอบอะไรหรือเก่งทางไหน เฮ้อ … ชีวิตมักลิขิตเองไม่ได้ซะทั้งหมด …
            พิธีแต่งงานของเด็กหญิงหรือ Ihi นั้นจะประกอบไปด้วยการทำพิธีทางศาสนาถึง 2 วัน วันแรกนั้นเป็นการชำระล้างจิตวิญญาณให้สะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งผู้ที่จะประกอบพิธีก็คือพระ สำหรับคนฮินดูนั้นเรียกว่า “Deobhaju” (พระที่ประกอบพิธีให้กับชาวเนวาร์ที่เป็นพุทธเรียกว่า “Gubhaju”) ถือเป็นการที่เด็กหญิงได้แต่งงานกับเทพเจ้าซึ่งเป็นอมตะ (เทพเจ้า Survana Kumar)



            เรานั่งรถไปที่เมืองปาทานเพื่อไปยังวัดเล็กๆ ของเขตแห่งหนึ่ง วันนี้มีเด็กหญิงมาเข้าร่วมพิธีทั้งหมด 7 คน ไอช่า และลูกพี่ลูกน้องอีก 4 คน ซึ่ง 3 คนเป็นลูกของญาติริซ่า อีกหนึ่งเป็นลูกสาวของ “เซาเกช” (น้องชายจูเกช) เด็กหญิงอีก 2 คน นั้นไม่ได้เป็นญาติกันแต่ขอเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย การจัดงานแต่งงานนั้นใช้เวลา ข้าวของ พิธีรีตรอง และเงินในการจัด
ค่อนข้างมาก ซึ่งปกติแล้วมักจะจัดร่วมกันหลายๆ คน คราวนี้ริซ่าเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดงาน ทำให้ความสำคัญนั้นตกอยู่กับไอช่า ก่อนจะจัดพิธีได้นั้นต้องนำดวงของไอช่าไปดูก่อนว่ามีฤกษ์งามยามดีวันไหน โชคดีที่น้องเขยของจูเกชเป็นนักโหราศาสตร์ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง จึงมีคนช่วยหาฤกษ์ยามให้อย่างสะดวกรวดเร็วไม่ต้องรอคิวนาน
            เด็กๆ ทะยอยกันมาถึงจนครบ 7 คน แต่ละคนแต่งตัวสีแดงสดน่ารักน่าชัง มีหนูน้อยคนหนึ่งเกิดไม่สบายเป็นไข้สูง เธอจึงดูมีหน้าตาอมทุกข์กว่าทุกคน คุณแม่คนเก่งจึงต้องมานั่งอยู่ข้างๆ คอยเอาผ้าชุบน้ำประคบบนหน้าผากให้อุณหภูมิลดลงบ้าง
พระที่ทำพิธีนั้นมองหาทิศให้เด็กนั่งให้ถูกต้อง ฉันจึงควัก iphone ออกมาหาทิศตะวันออกที่เด็กต้องหันหน้าไป (app compass มีประโยชน์จริงจังก็คราวนี้แหล่ะ) พิธีวันแรกนี้เรียกว่า “Dusala Kriya” ซึ่งถือว่าเป็นวันชำระล้างให้บริสุทธิ์  เด็กๆ ต้องอาบน้ำให้สะอาด แต่งตัวด้วยชุดใหม่เอี่ยมประดับประดาด้วยเครื่องประดับอย่างสวยงามและที่สำคัญห้ามรับประทาน
อะไรเลยก่อนที่จะเข้าพิธี เรียกว่าสะอาดทั้งนอกทั้งในเลยทีเดียว คนที่มีความสำคัญมากในพิธีนั้นคือแม่ของเจ้าสาวและน้องสาวของพ่อ




ถ้าจะให้ฉันเล่าลำดับพิธีแต่ละขั้นตอนนั้นคงจะยาวยืดและไม่ถี่ถ้วน จึงขอเล่าแบบคร่าวๆ เท่าที่ตาเห็นแล้วกัน
ก่อนที่จะทำพิธีสำคัญใดๆ ได้ ต้องบูชาเทพเจ้าก่อน คุณพ่อของจูเกชเป็นผู้ที่เข้าร่วมทำพิธีกับพระ เมื่อทำพิธีเสกดอกไม้ และข้าวปลาอาหารแล้วก็ให้ริซ่ากับน้องสะใภ้นำไปบูชาพระพิฆเนศที่วัดข้างๆ แล้วจึงกลับมาเร่ิมทำพิธีสำคัญอื่นๆ ต่อไป (เพื่อนชาวเนปาลบอกว่าพระพิฆเนศเป็นเทพเจ้าที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเร่ิมการใดต้องบูชาท่านก่อน) มีการเจิมหน้าผากของเด็กๆ โดยริซ่าและคุณแม่ของจูเกช เด็กแต่ละคนมีถาดของบูชาเทพเจ้าเป็นของตัวเอง หลังจากนั้น ได้มีการนำเส้นด้ายสีเหลือง (เดาว่าเป็นสายสิญ) มาพันกับไม้ซึ่งวางไว้บนหัวเด็กหญิงกับด้านล่างใต้เท้าทั้งหมด 22 รอบ ทีละคน แล้วจึงพันเก็บไว้เพื่อใช้ในพิธีของวันถัดไป หลังจากผ่านพิธีกรรมมาหลายขั้นตอนเด็กๆ เร่ิมเกิดอาการเบื่อ เหนื่อย และหิว ไอช่าเร่ิมอาละวาดร้องไห้งอแง ไม่ยอมเข้าพิธีในขั้นต่อไป ทุกคนพยายามทั้งปลอบทั้งดุ เธอก็ไม่หยุดแผลงฤทธิ์ เล่นเอาปวดหัวทีเดียว เพราะถ้าเธอไม่ยอมทำพิธีต่อคนอื่นก็ทำพิธีไม่ได้ เพราะเธอเป็นเด็กหญิงคนแรกที่ต้องเป็นผู้เร่ิม ในที่สุดเธอก็ยอมมาประกอบพิธีต่อ หลังจากนั้นจึงถึงช่วงเวลาที่เด็กๆ รอคอยคือช่วงทานอาหาร ช่วงนั้นฉันต้องกลืนนำ้ลายอยู่หลายรอบทีเดียวเพราะเวลาใกล้บ่ายโมงเต็มที อาหารมื้อเช้าเมื่อตอนเจ็ดโมงกว่าพากันสลายตัวไปหมดแล้ว ท้องเร่ิมร้องจ้อกๆ สนั่นหวั่นไหว หัวก็มึนตึ้บเพราะไม่ได้ดื่มกาเฟอีนเข้าไปตอนเช้า




เด็กแต่ละคนจะได้รับการจัดอาหารใส่ในถาดมาวางตรงหน้าซึ่งจัดเตรียมโดยภรรยาของพระ (เออ ..​​.​พระที่นี่มีเมียได้ด้วย) แต่กว่าจะได้กินนี่ก็ต้องมีพิธีรีตรองอีกนะ คือต้องนำอาหารบูชาเทพเจ้าก่อนโดยการวางอาหารจำนวนหนึ่งลงไปบนพื้น แต่ละขั้นตอนนั้นจะถูกกำกับโดยพระผู้ทำพิธี จากนั้นจึงเร่ิมกินได้ แต่ไม่ใช่สวาปามเข้าไปหรอกนะ ต้องเริ่มกินโดยใช้นิ้วทีละนิ้ว เร่ิมจากนิ้วโป้งกัับนิ้วก้อยหยิบข้าวขึ้นมาใส่ปาก และไล่เป็นนิ้วนางจนถึงนิ้วชี้ หลังจากนั้นก็ตัวใครตัวมัน เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ดูมีความสุขที่สุด


            ฉันว่าเกิดเป็นหญิงเนปาลนี่ต้องมีความอดทนมากๆ คิดดูว่าเด็กอายุเพียงแค่ 6 ขวบก็ต้องผ่านพิธีกรรมที่ใช้เวลามากมายหลายชั่วโมงขนาดนี้แล้ว มองไปรอบๆ ตัว ริซ่าและบรรดาแม่ๆ ของเด็กๆ ที่แต่งงานในวันนี้ดูจะยุ่งเอาซะมากๆ ตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อตทีเดียว ต้องหยิบจับทำนู่นนี่ตลอดเวลา ส่วนบรรดาพ่อๆ น่ะเหรอ ได้แต่ยืนดูและเม้าท์กันสบายใจเฉิบ บางคนก็มีหน้าที่ถ่ายรูปให้กับลูกสาวตัวน้อย สังคมเนปาลนั้นหัวโบราณกว่าไทยมากมายทีเดียว
            เมื่อใกล้เสร็จพิธีฉันออกไปด้านนอกเพื่อหาอากาศบริสุทธิ์หายใจ เลยไปนั่งพักตรงร้านขายของชำ ดื่มน้ำดับกระหายและลูบท้องให้หายหิวไปพลางๆ ซักครู่นูนู่เดินถือห่อหนังสือพิมพ์เอามายื่นให้ทุกคน ในนั้นเป็นอาหารสไตล์พื้นเมืองเนวาร์ ฉันส่ายหน้าปฏิเสธเพราะเห็นว่ามันถูกห่ออยู่ในหนังสือพิมพ์ซึ่งแปลว่าไม่ถูกสุขอนามัย หมึกพิมพ์อาจปนเปื้อนกับอาหารได้ แต่ทุกคนคะยั้นคะยอให้ฉันกิน พร่ำบอกว่ามันเป็นอาหารพื้นเมืองแท้ๆ นะจ๊ะเธอ ไม่ได้หากินได้ง่ายๆ คิดติ้กต่อกในใจอยู่ซักครู่ เอาก็เอาวะ คงไม่ถึงตาย เดี๋ยวจะไม่เข้าถึงการเป็นเนวารีของแท้ หิวจะแย่แล้วด้วย ว่าแล้วก็ใช้มือจ้วงอาหารเข้าปาก จะว่าไปรสชาติก็อร่อยดีถ้าไม่คิดถึงบรรจุภัณฑ์ อาหารว่างมื้อนี้ประกอบไปด้วย ข้าวบาร์เล่ย์ ถั่ว มัน แครอท ซุกินี ผัดเครื่องเทศขลุกขลิก 
            เรากลับไปที่บ้าน กว่าจะได้ทานข้าวกลางวันปาเข้าไปบ่ายสามครึ่ง … เวลาของร่างกายฉันต้องปรับตัวอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง