02 ตุลาคม 2554

19. ละครเวทีมวยปล้ำ

     ย่านกินซ่านอกจากจะเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่สำคัญแล้วยังมีที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจมากๆ 
ที่แรกที่แนะนำก็คือโรงละครคาบูกิ (Kabukiza Theatre) เป็นโรงละครเก่าแก่ มีมาร้อยกว่าปีแล้วตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเมจิ ตัวตึกซึ่งเป็นสไตล์ญี่ปุ่นผสมผสานกับความเป็นตะวันตก เกือบจะถูกทำลายโดยระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแล้วแต่ก็คงเหลือซากไว้ให้ซ่อมแซม
จนอยู่มาได้ถึงปัจจุบัน
     ละครโบราณของญี่ปุ่นมีสี่ประเภทคือ โน (Noh) เคียวเกน (Kyogen) คาบูกิ (Kabuki) และบันรากุ (Bunraku) เริ่มต้นด้วยละครโนซึ่งกำเนิดจากศาสนาชินโตเป็นการแสดงที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของศาสนาและพิธีกรรมต่างๆ โดยนักแสดงจะใส่หน้ากากเวลาที่แสดงและเป็นผู้ชายทั้งหมดแม้ว่าจะเป็นบทของผู้หญิงก็ตาม ถือได้ว่าละครโนนั้นเป็นละครชั้นสูงและมีความลึกซึ้งเข้าใจยาก ทำให้มีการแตกเป็นการแสดงชนิดอื่นๆ ตามมาเพื่อให้ผู้คนทั่วๆ ไปสามารถเข้าใจและมีความสนุกร่วมไปด้วย อย่างเคียวเกนนั้นเป็นการแสดงละครตลกคั่นเวลาละครโนเพื่อให้คนได้ผ่อนคลาย ซึ่งจะมีการแต่งตัวง่ายๆ และไม่ค่อยมีการสวมหน้ากากเวลาแสดง สำหรับคาบูกิก็เป็นละครเวทีที่ไม่มีการสวมหน้ากากแต่เปลี่ยนเป็นการแต่งหน้าแทนผู้แสดงทั้งหมดเป็นผู้ชาย มีการแต่งตัวและแต่งเวทีที่อลังการ นักแสดงที่มีความสำคัญนั้นจะอยู่ทางด้านซ้ายของเวทีส่วนที่มีบทไม่สำคัญก็จะอยู่ทางด้านขวามือ ส่วนบันรากุนั้นเป็นละครหุ่น มีผู้ชักหุ่นใส่ชุดดำกำหนดการเคลื่อนไหวอยู่ด้านหลังซึ่งต้องใช้ตัวละสองคน ถ้าอยากเข้าชมละครคาบูกิต้องจองตั๋วล่วงหน้า ให้เอเยนซี่ทัวร์จองไปจากเมืองไทยก็ได้ แต่ถ้าเพ่ิงตัดสินใจตอนไปถึงญี่ปุ่นก็สามารถไปซื้อที่โรงละครได้ หรือไม่งั้นก็ตามห้างสรรพสินค้า พวกบูธขายตั๋วบนถนนก็มีขาย ราคาค่อนข้างแพงและขึ้นอยู่กับชั้นที่นั่ง ชั้นที่หนึ่งแพงสุดราคาถถึง 17,000 เยน ราคาถูกสุดคือ 2,500 เยน การแสดงมีสองช่วงคือเช้าและบ่าย แต่ละช่วงก็จะมีประมาณ 3-4 องค์ แต่สามารถเลือกดูเฉพาะองค์ได ไม่ต้องดูทั้งเรื่อง เรื่องราวจะเปลี่ยนไปในทุกๆ เดือน 
และถ้าอยากเข้าใจว่าเค้าร้องอะไรก็สามารถเช่าเครื่องแปลได้ แต่เขาได้ทำการซ่อมแซมใหม่ในปี ค.ศ 2010 ใช้เวลา 3 ปี เพราะฉะนั้นใครไปคราวหน้าก็จะได้ชมในโรงละครที่ปรับปรุงแล้ว
     อีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นความใฝ่ฝันของฉันก็คือไปดูมวยปล้ำซูโม่ เห็นในทีวีมานาน สงสัยว่าทำไมเขาต้องทำตัวให้ใหญ่ขนาดนั้น การแข่งซูโม่มีจัดเพียงปีละ 6 ครั้ง โดยจัดที่สนามแข่งขันซูโม่แห่งชาติ (National Sumo Stadium) อยู่แถวๆ ย่านเรียวโกกุ (Ryogoku) ในโตเกียว 
ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.​1945 เป็นระยะเวลาสามเดือนคือ มกราคม พฤษภาคม และกันยายน 
และเวียนไปแข่งที่โอซาก้า (Osaka) ในเดือนมีนาคม นาโกย่า (Nagoya) ในเดือนกรกฏาคม และฟูกูโอกะ (Fukuoka) ในเดือนพฤศจิกายน การแข่งแต่ละครั้งจะนาน 15 วัน เร่ิมที่วันอาทิตย์และจบที่วันอาทิตย์เช่นกัน บ้านและสนามฝึกของซูโม่หรือเรียกกันว่าเบยะ (Beya) 
ก็จะอยู่ในละแวกนั้น ถ้าไปเดินเล่นแถวๆ นั้นก็อาจจะเจอตัวเป็นๆ ของเขาเหล่านั้นเดินเล่นอยู่ก็ได้แต่ต้องไปสายหน่อยเพราะช่วงเช้าตรู่เป็นช่วงฝึกทักษะ พวกเด็กๆ ที่อยากเป็นซูโม่นั้นต้องย้ายเข้าไปอยู่ที่เบยะตั้งแต่ยังเด็กๆ อายุราวๆ 15 ปีก็เริ่มฝึกได้แล้ว ต้องมีระเบียบวินัยและให้ความเคารพซูโม่รุ่นพี่มาก ต้องทำงานทั้งทำความสะอาดต่างๆ ทำอาหาร ตื่นมาฝึกก่อนตั้งแต่ตีสี่ และทำทุกอย่างเพื่อรับใช้รุ่นพี่ การเป็นซูโม่นั้นนอกจากต้องมีวินัยมาก ฝึกซ้อมทุกวันแล้วยังต้องมีวิถีชีวิตที่ถูกบังคับหลายๆ อย่าง เช่นต้องไว้ผมยาวและทำผมทรงบังคับซึ่งเป็นทรงเดียวกับซามูไรสมัยโบราณ ต้องแต่งตัวด้วยชุดประจำชาติเช่นยูคาตะ (ซูโม่แต่ละตำแหน่งจะใส่ต่างกัน) และสวมเกี้ยะเวลาที่ออกไปข้างนอก เพราะฉะนั้นเราสังเกตได้อย่างง่ายดายว่าใครเป็นซูโม่ การแพ้ชนะกันดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย (ง่ายในการพูดน่ะสิ) เพราะเพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถดันให้อีกฝ่ายออกนอกเส้นวงกลมที่ขีดไว้บนเวทีที่ทำจากดินผสมกับทรายได้หรือทำให้ร่างกายของอีกฝ่ายนอกเหนือจากเท้าสัมผัสกับพื้นก่อนอีกฝ่ายก็ครองชัยชนะไป การแข่งแต่ละครั้งใช้เวลาแค่นิดเดียว บางครั้งไม่กี่วินาที เพราะถ้าใครเพลี่ยงพล้ำไปแค่นิดเดียวก็เป็นอันจบการแข่งขัน แต่ก่อนจะทำการต่อสู้ได้ซูโม่แต่ละคนจะต้องทำพิธีปัดเป่าก่อน เพราะสมัยก่อนซูโม่เป็นหนึ่งในกิจกรรมของศาสนาชินโตมีขึ้นเพื่อให้ความสำราญแก่เทพเจ้า ก่อนที่จะแข่งซูโม่แต่ละคนก็จะโยนเกลือบนเวทีแข่งเพื่อทำให้ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังต้องทำพิธีบูชาเทพเจ้า มีการใส่ชุดแบบโบราณและย่ำเท้าบนเวทีเพื่อขับไล่พวกภูติผี ส่วนกรรมการเองก็จะเทสาเกรอบๆ เวทีเพื่อบูชาเทพเจ้าเช่นกัน นับว่าการแข่งขันซูโม่นั้นนอกจากจะเป็นเรื่องราวของความบันเทิงแล้วยังเป็นส่วนหนึ่งในการบูชาเทพเจ้าอีกด้วย
     ฉันว่าคนที่เป็นซูโม่นั้นต้องมีความอดทนสูงมาก ต้องมีระเบียบวินัย และฝึกฝนอย่างมีระบบ ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องมีกฏกติกาและแบบแผนมากมาย แต่เขาก็ได้รับเงินเดือนที่มากพอจะใช้ชีวิตได้สบายๆ หลังจากเลิกแข่งแล้วก็อาจจะเปิดสถานฝึกซูโม่เลี้ยงชีพต่อไปได้ ส่วนใหญ่ซูโม่จะทำการแข่งขันในช่วงอายุ 20-35 ปี และมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 60-65 ปีเท่านั้น คงเพราะเรื่องสุขภาพที่อาจไม่แข็งแรงนัก อันเนื่องมาจากรูปร่างที่ใหญ่โต ชนิดและปริมาณของอาหารที่ทานเข้าไปอาจก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ตัดสินใจเป็นซูโม่ก็เหมือนการตัดสินใจวิถีชีวิตของตัวเองตั้งแต่อายุ 15 ปี ซึ่งเป็นชีวิตที่ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มองย้อนดูตัวเอง ตอนอายุเท่านั้นฉันยังสนุกไปวันๆ อยากจะเรียนอะไร อยากจะเป็นอะไรยังไม่รู้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น