03 สิงหาคม 2555

31. การเดินทาง คือการเรียนรู้จักใจตัวเอง

     ฉันนั่งทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดตลอดการเดินทาง มีหลายความรู้สึกที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ใหม่ๆ ความทรหด ความสวยของธรรมชาติ ความมีน้ำใจของคน ความแร้นแค้น ความทันสมัย ความเห็นแก่ตัว ความเหนื่อยล้า ความสบาย ความโกรธ ความดีใจ ความเสียใจ ความพึงพอใจ มิตรภาพ ความคิดถึง ทุกๆ การเดินทางนั้นล้วนประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมายและความรู้สึกที่หลากหลาย แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายมันถือเป็นประสบการณ์ของชีวิต เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้และก้าวเดินต่อไปข้างหน้ากับทางที่แสนไกลหรือแสนสั้น ไม่มีวันที่จะมีใครรู้หรือกำหนดได้
      ในทุกการเดินทางคงมีบางสิ่ง บางอารมณ์ หรือบางคนที่เราแอบเก็บกลับมาและฝังไว้ในความทรงจำลึกๆ แต่ละคนคงมีเรื่องประทับใจต่างกันไปถึงแม้จะเดินทางไปด้วยกันก็ตาม และวันหนึ่งเราก็อาจจะดึงเรื่องส่วนตัวเรื่องนั้นออกมาจากลิ้นชักในหัวใจเมื่อยามที่เราคิดถึง
การเดินทางครั้งนั้นๆ เพื่อได้รู้สึกแช่มชื่นใจ
     ช่วงเวลาดีๆ แม้เพียงเสี้ยวเล็กๆ อาจจะเป็นพลังให้เราใช้ชีวิตต่อไปอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความสุขในเมืองที่วุ่นวายนี้ก็ได้


     “การเดินทางคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะเราจะได้เจอเรื่องราวและผู้คนมากมาย ผมไม่ได้เรียนหนังสือแต่ผมเรียนจากการเดินทาง” คำพูดของหนุ่มแคชเมียร์คนนั้นยังก้องอยู่ในหัว 


     แม้ว่าเราจะได้เรียนหนังสือจนจบแล้วแต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องหยุดที่จะเรียนรู้ การเรียนรู้จักใจคนและรู้จักใช้ชีวิตนั่นคือการเรียนรู้ที่ยากที่สุดและไม่มีวันจบ

      ขอให้ทุกการเดินทางนำคุณไปพบกับสิ่งที่สวยงามและน่าจดจำเสมอ


02 สิงหาคม 2555

30. ตะลุย ตลาด

     ฉันได้กลับไปร้านหนังสือ Paramouth ตรงถนนจันปาทที่เคยแวะเมื่อมาเดลลีครั้งก่อน 
จำเจ้าของร้านได้ดี ชายหนุ่มวัยกลางคน พูดจาสุภาพ มีความรู้เรื่องหนังสือค่อนข้างดี
     “สวัสดีค่ะ ฉันเคยมาร้านคุณแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน แล้วฉันยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับร้านคุณเลย”
     “ขอบคุณมากนะครับ ผมดีใจจริงๆ ที่คุณกลับมาอีก” เขาตอบพร้อมรอยยิ้มอบอุ่นจริงใจ               
     นฐขอให้เขาหาหนังสือเกี่ยวกับของมงคลของทิเบต 8 ส่ิง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ
ความหมายก่อนที่จะกลับไปสักรูปของมงคลรูปหนึ่งที่เขารู้สึกผูกพันและศรัทธา ส่วนฉันขอให้เขาแนะนำหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธแบบมหายานและข้อมูลเกี่ยวกับลาดัคห์เพื่อที่จะใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการเขียนหนังสือเล่มนี้


      เราใช้เวลาอยู่ที่ร้านหนังสือครู่หนึ่งแล้วก็เดินต่อไปตรงละแวกที่ขายของประเภทผ้า ตั้งแต่ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ กระเป๋า เสื้อ กระโปรง ภาพวาด เครื่องประดับ เครื่องหนัง รองเท้า ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มาเดินซื้อของก็มักเป็นนักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ขายแถวนี้ก็เลยตั้งราคาสูงเป็นพิเศษ จิมมี่แอบกระซิบว่าถ้าจะซื้ออะไรให้ต่ออย่างน้อยครึ่งหนึ่งเลย ที่จันปาทนั้นเหมาะกับคนที่มีเวลาเหลือ มีความอดทนสูงและรู้สึกสนุกกับการต่อรองราคา นฐสนใจกระโปรงสีสดใสที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับพี่สาวคนหนึ่ง แต่เมื่อถามราคาคนขายบอกตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเขาจึงลอง
ต่อรองดูแต่คนขายไม่ยอมลดให้ เราเลยเดินจากมา
      “คุณๆ ตกลง 800 รูปีก็ได้” เขาวิ่งตามเรามาไกลทีเดียวพร้อมกระโปรงใส่ในถุงเรียบร้อย
      เมื่อนฐหยิบเงินจ่ายให้เขา เขาก็เรียกร้องเงินเพ่ิมอีก ทำให้นฐไม่พอใจมากที่มาเล่นกลโกงแบบนี้ ก็เลยไม่ซื้อแล้วเดินจากมา ความจริงเขาไม่น่าทำแบบนั้นเลย ถ้าเขาไม่พอใจในราคาที่ตกลงกันเขาไม่ต้องขายก็ได้ ความโลภไม่ได้ทำให้ใครได้อะไรเยอะขึ้นเลย


      จิมมี่พาเราเดินไปยังคอนนอต เพลส (Connaught Place) ซึ่งเป็นย่านการค้าและธุรกิจหลากหลาย ถูกสร้างในช่วงที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษทำให้รูปแบบของสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ตัวตึกเป็นสีขาวและไม่สูงนัก มีร้านค้ามากมายให้ได้เลือกซื้อ แถมมีร้านชื่อเดียวและโลโก้เดียวกันกับห้างฯ ดังที่เมืองไทยด้วย ขายของประเภทผ้าต่างๆ แต่ราคานั้นค่อนข้างจะสูง และไม่ใช่สไตล์ที่ฉันต้องการ
      จิมมี่ออกไอเดียว่าจะพาเราไปที่ Main Bazaar หรือชื่อเต็มคือ Paharganj Bazaar ซึ่งเป็นถนนที่ขายของพื้นเมืองทั่วๆ ไป ราคาไม่แพงและเป็นย่านที่พวกแบคแพค (Backpacker) นิยมมาอยู่กัน พูดคำนิยามง่ายๆ ก็คือ ถนนข้าวสาร ณ กรุงเดลลี นั่นเอง
      “คุณอยากขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินมั้ย” จิมมี่ถาม
      “อยากสิ” เราตอบด้วยความตื่นเต้นเพราะเราเดินทางด้วยพาหนะมาเกือบทุกอย่างแล้วตั้งแต่เครื่องบิน รถยนต์ อูฐ ม้า และเรือ
       เขาพาเราไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินตรงสถานีใกล้ๆ กับคอนนอตเพลส โชคดีที่ไปเพียงแค่ป้ายเดียวเพราะตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนคือ 5 โมงเย็น ผู้คนต่างหลั่งไหลใช้รถใต้ดินกันอย่างคึกคัก เราเข้าไปยืนโดยถูกโอบล้อมไปด้วยแขกล้วนๆ กลั้นหายใจไม่นานนักก็ถึงสถานีตรงย่าน Main Bazaar ถนนข้าวสารเดลลีนี้เป็นถนนเล็กๆ ทอดเป็นแนวยาวกว่า 1 กิโลเมตร 
สองข้างทางอัดแน่นไปด้วยร้านค้ามากมายและมีทุกอย่างขายจริงๆ เสื้อผ้า ร้านหนังสือ ร้านซีดี ร้านธูปหอม ร้านขนมนมเนย เกสท์เฮ้าส์ ฯลฯ อีกมากมาย ผู้คนที่เดินขวักไขว่กันตรงนั้นมีทั้งชาวท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ฉันรู้สึกชอบถนนนี้เหมือนกันเพราะมันดูตื่นเต้นดี มีสีสัน กลิ่นและเสียงครบรส



       ฉันเหลือบไปเห็นลูกบิดประตูที่ทำจากเซรามิคสไตล์อินเดียจึงชักชวนให้นฐซื้อกลับบ้านเพราะเขากำลังตกแต่งคอนโดฯ ใหม่
       แต่พอแขกบอกราคามาตกใจแทบแย่
       “อันละ 12 รูปี โหลละ 144 รูปี”
       “ฮ้า เท่าไหร่นะ” ฉันนึกว่าหูฝาด                 
       “12 รูปี ครับ คุณเข้าไปเลือกในร้านด้านในได้เลย”
       อึ้งไปกับราคาเพราะมันถูกกว่าที่ฉันเคยซื้อที่เมืองไทยเป็น 10 เท่าเลย แปลว่าฉันสามารถซื้อในราคา 1 ชิ้น แต่ได้ของ 1 โหล อีนี่ถึงแม้ว่าฉานจะยังไม่มีที่ติดแต่ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว ซื้อไปวางดูเล่นก็ยังดี ว่าแล้วก็เดินเข้าตรอกข้างๆ ร้านเขาไปยังห้องเก็บของด้านหลัง เราเลือกๆๆ และได้ลายที่ถูกใจมาคนละหลายชิ้น ค่อนข้างแฮ้ปปี้ที่ได้ซื้อของราคาถูกทำให้ถูกใจกับตลาดนี้มากขึ้นไปอีก เราเดินอีกซักพักก็ต้องยอมแพ้กับอากาศที่ค่อนข้างร้อนและฝุ่นที่ตลบ แม้ว่าเรายังเดินไปไม่สุดถนนก็ตาม



       ว่าแล้วก็หาที่นั่งพักดื่มอะไรเย็นๆ ซะหน่อย เราเลือกร้านคาเฟ่ร้านหนึ่งตรงต้นถนน สั่งเครื่องดื่มเย็นกันคนละแก้ว ณ เวลานั้นไม่กลัวท้องเสียแล้ว
       “ผมว่าเธอยังไม่มีความสุขนะ” จิมมี่แอบนินทาฉันกับนฐเสียงดัง
       “เธอคงยังนั่งนึกถึงร้าน Fab India และ Anoukhi อยู่ คงนึกในใจว่ายังไม่ได้ซื้อของที่ต้องการ ไหนจะของฝากอีก”
        ฉันหัวเราะ
        “เดี๋ยวผมพาคุณไปที่ร้านทั้งสองแล้วกัน โอเคมั้ย”
        “ที่ไหนเหรอ ก็มันปิดไม่ใช่เหรอ”
         “ก็ผมบอกคุณแล้วว่าจะพาไปอีกสาขาแต่คุณไม่เชื่อ”
         “แหม ก็ใครจะไปรู้ล่ะว่ามีหลายสาขา”
         เมื่อเราหายเหนื่อยแล้วจึงตัดสินใจไปช้อปปิ้งต่อ จิมมี่เรียกรถมารับพาเราไปยัง Khan Bazaar ที่นี่เป็นแหล่งรวมร้านค้าชั้นดี ไม่ใช่เฉพาะเสื้อผ้า แต่มีของแต่งบ้าน ร้านหนังสือ 
ร้านอาหาร ไม่จอแจเหมือนตลาดอื่นๆ แต่ของส่วนใหญ่เป็นราคาตายตัว ต่อรองไม่ได้                  
         แน่นอนที่สุดฉันพุ่งตัวตรงไปยังสองร้านที่ต้องการมาและได้ของอย่างที่ตั้งใจไว้ ของที่นี่สวยและมีคุณภาพดีแต่ราคาก็ดีตามไปด้วย ที่สำคัญเราไม่ต้องเหนื่อยกับการต่อรองหรือคิดว่าจะถูกหลอก คุณภาพดูจากสิ่งที่ตาเห็นแล้วยังสามารถใช้บัตรเครดิตในการซื้อของได้อีกด้วย รู้งี้มาตั้งแต่แรกก็ดีไม่น่าจะระแวงตาจิมมี่มากไปเลย คราวนี้ถือว่าได้แวะเวียนเยี่ยมชมตลาดหลายที่แต่ก็ยังไม่ครบทุกตลาดยอดฮิต ณ กรุงเดลลี อยู่ดี ทุกคนรู้สึกประทับใจกับการช้อปปิ้งที่เดลลีมากคิดกันว่าคงต้องกลับมาใหม่ถ้าได้มีโอกาสมาอินเดียอีก
     เมื่อได้ของตามที่ตั้งใจไว้ความเหนื่อยเริ่มมาเยือน ฉันเร่ิมระลึกได้ว่ากระเป๋าอาจมีที่ใส่ไม่พอแถมน้ำหนักก็อาจจะเกิน 20 กิโลกรัมตามที่สายการบินกำหนดไว้เลยเร่ิมเตือนสติตัวเองให้หยุดได้แล้ว ประกอบกับถึงเวลาทานข้าวเย็นแล้วจึงตัดสินไปที่ร้านอาหารที่ทางทัวร์จัดไว้ให้
     นั่งรถไปซักพักก็มาถึงร้าน มื้อสุดท้ายที่นี่เป็นอาหารจีน ฉันไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงจัดเมนูจีนให้นักท่องเที่ยวในวันสุดท้ายซะทุกครั้งไป อาจจะเป็นความหวังดีอยากให้ได้กินอาหารประเภทอื่นบ้างที่ไม่ใช่อินเดียน ไหนๆ ก็จะกลับบ้านแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าอาหารจีนปรุงโดยแขกนั้นมันรสชาติพิลึกส้ินดี มื้อนี้ฉันจึงไม่ค่อยจะเจริญอาหารนัก เรานั่งพักกันต่ออีกซักพักนึงก็ตัดสินใจไปที่สนามบินเพื่อที่จะจัดกระเป๋าใหม่อีกครั้งโดยจัดเรียงของที่ซื้อมาเพ่ิมทั้งหมดให้ได้ 
      สนามบินใหม่ที่โอ่โถงมีพื้นที่ให้เราได้เปิดและจัดกระเป๋าอย่างสบายๆ ไม่ต้องกังวลต่อสายตาใคร แต่เมื่อนฐเปิดกระเป๋าเดินทางใบเล็กออกเขาก็ต้องพบกับเรื่องที่ไม่อยากเชื่ออีกครั้ง
       “เงินไทยที่ผมใส่ไว้ในช่องนี้หายไป”
       “ฮ้า จริงเหรอ ลองหาดูตรงช่องอื่นๆ รึยัง” ฉันถาม หันไปมองหน้ากับพี่ลี
       เราช่วยกันค้นทุกซอกทุกมุมของกระเป๋า แต่ผลคือ … ไม่เจอ ไม่น่าเชื่อว่านฐจะโชคร้ายซ้ำซากขนาดนี้
       เขารู้สึกขุ่นเคืองและโกรธคนที่เอาเงินไป เมื่อนึกทบทวนดูแล้วเหตุน่าจะเกิดช่วงชุลมุนที่เขาถูกค้นกระเป๋าที่ศรีนาการ์
        “นฐ พี่ว่าทำใจให้สงบก่อน อย่าเพิ่งเดาว่าเป็นใครเลย เราไม่มีหลักฐานเพราะฉะนั้นเราจะเหมาเอาว่าคนๆ นั้นเค้าเอาไปไม่ได้ มันจะทำให้ใจเราเคียดแค้นและไม่สบายใจเปล่าๆ เป็นบาปในใจเราอีกต่างหาก” ฉันพยายามพูดให้เค้าสงบลง แต่ก็รู้ทั้งรู้ว่ามันคงทำใจได้ยากที่จะยอมรับว่าเขาเป็นคนเดียวที่ซวยในทริปนี้ หายแล้วก็หายอีก
        ฉันกับพี่ลีไม่ได้พูดอะไรมากเพราะไม่อยากกระตุ้นอารมณ์เขา ปล่อยให้เขาใช้เวลาสงบสติอารมณ์ก่อน
        “มันเป็นทริปที่ผมต้องจำไปตลอดเลย เดินทางมาที่นี่เป็นประเทศที่ 30 แล้วผมไม่เคยกระเป๋าตังค์หายเลย” เขาคงซึ้งกับทริปอินเดียไปอีกนาน
        “เอางี้สิ เพื่อความสบายใจ นฐลองแจ้งไปทางสายการบินคิงฟิชเชอร์ดู ให้เขาลองตรวจสอบ พี่ว่าที่ศรีนาการ์น่าจะมีโทรทัศน์วงจรปิดนะเพราะเขาเข้มงวดกับการตรวจผู้โดยสาร
ขนาดนั้น อาจจะมีหลักฐานอะไรหาตัวคนผิดก็ได้ แต่ก็ต้องทำใจเผื่อไว้ด้วยนะว่าอาจจะไม่ได้
เงินคืน แต่ถ้าเราคิดว่าเราได้พยายามทำถึงที่สุดแล้วมันก็น่าจะโอเคนะ ถือเป็นการร้องเรียนด้วย”
        “เดี๋ยวผมกลับไปผมจะเขียนอีเมล์อย่างละเอียดเลย เดี๋ยวต้องถ่ายรูปพวกหลักฐานต่างๆ ไว้ก่อนเพื่อแนบไปด้วย ผมไม่คิดว่าผมจะได้เงินคืนหรอกถือเป็นคราวซวยของผมเอง ผมก็สะเพร่าเองด้วยแหล่ะ ไม่น่าจะใส่เงินไว้ตรงนั้น” เขาเร่ิมลงมือถ่ายรูปพวกป้ายที่ติดกระเป๋าต่างๆ และตั๋วเครื่องบินจากศรีนาการ์มาเดลลี
       เขานั่งหน้าเซ็งอยู่พักใหญ่ ฉันกับพี่ลีก็พลอยนั่งเงียบไปด้วย รู้สึกสงสารน้อง ในใจคิดว่าคงมีใครเล่นตลกกับโชคชะตาของเขาหรือมันเป็นบทเรียนบางอย่างที่มีใครอยากบอกเขากันนะ
       เรานั่งรออยู่พักใหญ่กว่าจะได้เช็คอินเข้าไปด้านในและรอเพื่อขึ้นเครื่องกลับไปยังบ้าน
ที่แท้จริงของเรา ต่างคนต่างความรู้สึก จุดหมายในการมาก็ต่างกัน ส่ิงที่ได้พบเจอและได้สัมผัสก็ต่างกัน แต่สำหรับการกลับไปนั้นเราคงมีความรู้สึกคล้ายๆ กันก็คือกลับไปสู่โลกของความเป็นจริง โลกของความฝันคงต้องหยุดไว้แต่เพียงแค่นี้ และเมื่อโอกาสและเวลาเดินทางมาพบกันอีกครั้งความฝันครั้งใหม่คงจะได้เริ่มต้นขึ้น 

01 สิงหาคม 2555

29. ตรวจ ตำรวจ

     เราผ่านเข้าไปด้านในรั้วซึ่งดูแล้วเหมือนค่ายทหารมากกว่าสนามบิน รถถูกหยุดเพื่อตรวจ
ใต้ท้องอย่างละเอียด ระหว่างนั้นเราต้องลงจากรถเอากระเป๋าผ่านเข้าเครื่องเอ๊กสเรย์รอบแรกและนำกระเป๋าขึ้นรถอีกทีเพื่อเข้าไปยังประตูทางเข้า สนามบิน แต่ก่อนจะผ่านเข้าไปได้ต้องผ่านเครื่องเอ๊กสเรย์อีกรอบ ระหว่างทางที่จะเดินไปที่เคาน์เตอร์เช็คอินเราถูกเรียกให้กรอก
รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเดินทางยาวเหยียดพร้อมกับตรวจพาสปอร์ต นฐเหลือบไปเห็นตรงบอร์ดว่าเที่ยวบินของเราจะออกในเวลา 11:50 น. ทั้งๆ ที่เวลาจริงคือ 14:40 น. และขณะนั้นเวลา 11:30 น.แล้ว เรางงๆ คิดว่าดูผิดไฟล์ทแต่ก็รีบเดินไปเพื่อเช็คอิน พอไปถึงเคาน์เตอร์เท่านั้นแหล่ะ ทุกคนมะรุมมะตุ้มเราเร่งให้เช็คอินเพราะเราเป็นผู้โดยสาร 3 คนสุดท้ายของเครื่อง หลังจากนั้นเราต้องผ่านด่านอีกหลายด่านมาก ผ่านเอ็กสเรย์ ติดป้ายบนกระเป๋าทุกใบ เซ็นรับรองโดยเจ้าหน้าที่แต่ละด่าน ผ่านการตรวจกระเป๋าสะพายหลายครั้ง จนขั้นตอนสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องของทุกอย่างที่อยู่ในกระเป๋าสะพายถูกเทของออกมากองหมดและตรวจอย่างละเอียด เรามีลิปสติกกี่แท่งยี่ห้ออะไรสีเข้ากับบรัชออนมั้ยพนักงานรู้หมด แม้แต่อาหารกลางวันที่ดินเตรียมมาก็ถูกรื้อค้นทุกกล่อง
     พนักงานหญิงนางหนึ่งหยิบไข่ต้มขึ้นมาจากกล่องอาหารกลางวันแล้วบอกฉันว่า
     “ไข่ต้มนำขึ้นเครื่องไม่ได้”
     “โอเค ไม่เป็นไร” ไข่ต้มใบเดียวท้ิงได้ขอให้ผ่านด่านไปก่อนเถอะ เอ …​ ว่าแต่ว่าไข่ต้มถือเป็นอาวุธชนิดหนึ่งหรือนี่
     “คุณต้องกินให้หมดตรงนี้เพราะเอาไปไม่ได้” เขาย้ำ คงเสียดายไข่ต้มของเรา
     “ไม่เป็นไรหรอก ฉันไม่กิน แล้วก็ไม่เอาไปด้วย”
     จะบ้าเหรอ จะให้มายืนกินไข่ต้มต่อหน้าเจ้าหน้าที่สุดโหด คงจะกินลงหรอกนะแล้วอีกอย่างแม่แอร์โฮสเตสสาวที่ตามจี้เราทีละคนให้ขึ้นเครื่องคงได้กินหัวฉันก่อนแน่
      เมื่อผ่านด่านตรวจค้นกระเป๋าแล้วยังต้องวิ่งออกไปด้านนอกสนามบินเพื่อชี้แสดงความเป็นเจ้าของกระเป๋าเดินทางของเรา ก่อนที่จะวิ่งกันตับแทบแลบเพื่อไปให้ทันเวลาเครื่องออก ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนเรางงไปหมดว่าเกิดอะไรขึ้น สนามบินที่นี่ถือว่าเป็นที่ที่เคร่งครัดที่สุดแล้วตั้งแต่ฉันเคยเดินทางไปที่ไหนๆ มา 
      เราไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเครื่องถึงบินออกเร็วกว่ากำหนดเกือบ 3 ชั่วโมง ผู้โดยสารคนอื่นรู้ได้ยังไง แล้วถ้าเรามาไม่ทัน และตกเครื่อง เราจะทำยังไง จากความวุ่นวายทั้งหมด ก็ต้องถือว่าเราโชคดีที่เราจะไปถึงเดลลีก่อนเวลาแปลว่าเราจะมีเวลาช้อปป้ิงนานหลายชั่วโมง ฮ่าๆๆ วิญญาณนักช้อปเร่ิมเข้าสิงเมื่อจังหวะการเต้นของหัวใจเร่ิมเป็นปกติ
      ใช้เวลาบินไม่นานเพียงชั่วโมงเศษเราก็ไปถึงเดลลี ฉันเดินออกไปดูด้านหน้าว่าจิมมี่ได้มารอเรารึยัง แต่ไม่มีวี่แวว ฉันเลยโทรเข้าโทรศัพท์มือถือของเขา ซึ่งเขาเองก็งงว่าทำไมเรามาถึงเร็วนัก แต่เรารอไม่นานเพียงแค่ 40 นาทีเขาก็บึ่งมาถึง
      “พวกคุณอยากไปไหนกัน” เขาถาม
      “Greater Klailash” ฉันตอบสวนไปในทันที ทำหน้าตาเหมือนรู้จักเดลลีในฐานะเพื่อนสนิทแต่จริงๆ แล้วเพราะได้รับคำแนะนำมาจากครูสอนโยคะที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอินเดียมากว่าเป็นแหล่งช้อปปิ้งใหม่ มีความทันสมัยไม่เหมือนกับร้านแถวๆ ถนนจันปาท (Janpath) ซึ่งเป็นแหล่งช้อปปิ้งเดิมๆ ที่ทัวร์ชอบพาไป
       เขาหันไปบอกคนขับรถแล้วคุยอะไรกันไม่รู้นานสองนาน
       “วันนี้ที่นั่นน่าจะปิดนะครับ” เขาหันมาบอก
       “อ้าวเหรอ ร้านค้ามีปิดด้วยเหรอ แล้วเราจะไปซื้อของที่ไหนล่ะ ฉันอยากไป Fab India กับ Anoukhi”
       ฉันทำหน้าไม่เชื่อคิดว่าเขาหลอกเพราะไม่คุ้นกับการที่ห้างร้านจะปิดวันอังคาร
       “งั้นผมพาคุณไปดูด้วยตาเองแล้วกัน” เขาประชดประชัน
       รถพาเราไปตรง Greater Klailash ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่ปิดจริงๆ เราเลยเซ็งๆ ก็เลยตัดสินใจไปที่ถนนจันปาทเผื่อมีอะไรน่าสนใจ แล้วอีกอย่างฉันอยากแวะไปร้านหนังสือร้านเดิมที่ครั้งที่แล้วเคยไป
       ระหว่างทางที่ขับรถไปนั้น รถค่อนข้างเยอะ คนขับเลยแล่นเลนขวาสุดซึ่งไม่มีรถว่ิงเลย เขาเหยียบเต็มๆ เท้าเพื่อพาเราไปช้อปปิ้ง
       จิมมี่หันมาพูดกับเรา “ดูสิ เขาขับเข้าไปในเลนต้องห้าม”
       ยังไม่ทันที่เราจะพูดอะไร รถถูกหยุดด้วยตำรวจตรงด้านหน้า

      (ข้อความต่อไปนี้ฉันเดาจากภาษามือและภาษากายเพราะยังไม่มีความรู้ภาษาฮินดี)
      “ลดกระจกลง” ตำรวจพูดด้วยน้ำเสียงดุดัน
      “เอาใบขับขี่และใบอนุญาตมา” เขาพูดต่อ
      “โห จะมาจับอะไรคุณตำรวจ ผมไม่รู้ ไม่ได้ตั้งใจ” คนขับเถียง
      “บอกให้เอาใบอนุญาตมา ดับเครื่องด้วย” ตำรวจคำรามใส่
      “ก็ผมบอกแล้วไงว่าไม่ได้พกมา” เขาเถียงต่อ
      “ถ้าไม่มีล่ะก็โดนโทษหนักแน่ หยิบมาเดี๋ยวนี้เลย” ตำรวจขู่ต่อ
      “#$*&###@@@XXX”
      “***%^$#@#$$%^&**”
      เขาทะเลาะกันเสียงดังอีกหลายประโยค
      ตำรวจทำหน้าโกรธสุดขีดตาโตถมึงทึงเหมือนจะหลุดออกมานอกเบ้า
      เราเริ่มหน้าเสีย ทำอะไรไม่ถูก ในขณะที่จิมมี่นั่งเงียบ
      ตำรวจยื่นมือเข้ามาที่กุญแจรถ ดับเครื่องยนต์ ไม่ได้สนใจว่ามีนักท่องเที่ยวหน้าขาวนั่งอยู่ด้านหลัง
      ในที่สุดคนขับรถต้องยอมทำตามแต่โดยดีไม่งั้นคงโดนโทษหนักกว่าเดิม เขาหยิบใบทะเบียน ใบอนุญาตต่างๆ จากเก๊ะหน้ารถให้ตำรวจแล้วเดินตามไปที่ป้อมอีกฝั่งหนึ่งของถนน จิมมี่มาทำหน้าที่คนขับแทนโดยพารถไปจอดตรงข้างทางและเดินตามไปสังเกตุการณ์
      ระหว่างนั้นเราก็คุยกันให้เป็นเรื่องขำๆ ไปว่า ประสบการณ์ในอินเดียนั้นมีทุกรูปแบบจริงๆ ได้แต่หวังว่าเราคงไม่ต้องขับรถไปเที่ยวเอง ส่วนเรื่องที่คนขับรถทำผิดนั้นก็เพราะเขาไม่ยอมทำตามกฏเพราะขณะนั้นกำลังมีการแข่งขันคอมมอนเว้ลท์เกมส์ (Commonwealth Game 2010) เขาจึงเว้นช่องทางหนึ่งบนถนนไว้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะได้ใช้เดินทางได้สะดวก เพราะที่เดลลีก็รถติดไม่น้อยหน้ากรุงเทพเหมือนกัน
      หลังทั้งสองกลับมาขึ้นรถพร้อมใบสั่ง ฉันถามจิมมี่ว่าต้องเสียค่าปรับเท่าไหร่ เขาบอกว่า 2,000 รูปี และต้องขึ้นศาลด้วย นับว่าเป็นการโชว์เพา (power) ของตำรวจอินเดียให้เราเห็นเป็นครั้งแรก ดุดัน เด็ดขาด ไม่มีข้อต่อรอง มันต้องยังงี้สิ คนจะได้ไม่กล้าทำผิดแล้วใช้วิธีติดสินบนเพื่อพ้นผิดแบบบางที่ 

31 กรกฎาคม 2555

28. ลาก่อน บ้านเรือ ชิคาร่า ทะเลสาป

     โทรศัพท์มือถือกรีดเสียงร้องตอนตีห้าครึ่ง จริงๆ ฉันตื่นด้วยเสียงสวดมนต์รอบเช้าตั้งแต่
ตีห้าแล้วแต่ยังอยากซุกตัวนอนใต้ผ้าห่มอันแสนอบอุ่นต่ออีกหน่อย ฉันลุกขึ้นล้างหน้าล้างตาคว้าอุปกรณ์กันหนาวเพียบเตรียมตัวออกไปขึ้นเรือตอน 6 โมงเช้า เพื่อไปดูตลาดน้ำ นฐกับพี่ลีเดินหน้าตางัวเงียสโลสเลเลยเวลานัดไปเล็กน้อย อากาศหนาวเย็นมาก หมอกลงปกคลุมคุ้งน้ำไปทั่ว ไม่มีเรือพายพลุกพล่านเหมือนเช่นเวลาอื่น เป็นภาพบรรยากาศอันเงียบสงบ ถ้าท้องใครร้องหรือเผลอเรอขึ้นมาคงจะได้ยินกันไปทั่ว
     อามินพายเรือชิคาร่ามุ่งหน้าไปยังตลาดน้ำซึ่งอยู่ตรงบริเวณเวิ้งน้ำไม่ไกลจากบ้านเรือของเรานักใช้เวลาพายประมาณไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เขาจอดเรือตรงรอบนอกของบริเวณค้าขายเพื่อให้เราสังเกตุการณ์ ตลาดที่นี่เริ่มตั้งแต่เวลาตีห้ากว่าๆ และวายประมาณ 7 โมงครึ่ง พ่อค้า (เน้นว่าพ่อค้าเท่านั้นไม่มีแม่ค้าให้เห็น) ภายเรือมาจากคนละที่ ต่างขนผักต่างชนิดมาขายให้กัน ส่วนใหญ่ลูกค้าก็เป็นพ่อค้าด้วยกัน มีชาวบ้านบ้างหรือไม่ก็พนักงานโรงแรมที่ซื้อไปทำอาหารให้ลูกค้า เรือลำหนึ่งแล่นเข้าไปประชิดเรืออีกลำเพื่อเลือกซื้อผักที่ต้องการ เมื่อได้ของแล้วเขาก็ 
จากไปเพื่อเลือกซื้อผักชนิดอื่นที่มีอยู่หลากหลายชนิด หัวไชเท้า หัวหอม ผักใบเขียวชนิดต่างๆ มะเขือเทศ มันฝรั่ง ขายแบบขายส่ง มัดไว้กองใหญ่ ดูแล้วก็คล้ายๆ สภากาแฟตอนเช้าเพราะนอกจากเค้าจะแลกเปลี่ยนผักกับเงินแล้วเขายังแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ คุยกันเสียงดังเซ็งแซ่ ใครบอกว่าผู้หญิงช่่างเม้าท์ช่างนินทาฉันว่าผู้ชายก็พอๆ กันนั่นแหล่ะ เผลอๆ อาจจะ
นำ้ลายแตกฟองกว่าด้วยซ้ำ บ้างก็ใส่อารมณ์จนนึกว่าทะเลาะกัน บ้างก็หัวเราะร่าเหมือนว่าได้ฟังเรื่องราวแสนขำ บ้างก็หน้าเคร่งเครียดคงเพราะได้รับรู้เรื่องราวแสนเศร้า
     มนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคมนี่นะ ต้องอยู่ร่วมกัน พบปะแลกเปลี่ยนเรื่องราวอะไรต่างๆ ในชีวิตเพื่อให้มีรสชาติ แบ่งปัน ให้กำลังใจ ช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ ถ้าจะเก็บปัญหาหนักอกเอาไว้คนเดียวคงอกแตกตาย







     เรานั่งดูกิจกรรมยามเช้าของชาวถิ่นอยู่พักหนึ่งก็กลับไปที่บ้านเรือ ที่ซึ่งมีพร้อมทุกอย่าง
ไม่ต้องหยิบจับทำอะไรมีคนคอยบริการพร้อม ไม่ต้องหุงหาอาหารเพราะได้รับการจัดเตรียม
ไว้เรียบร้อย มีมากเกินความจำเป็นซะอีก เมื่อนั่งคิดดูว่ายังมีคนอดอยากอีกมากมายก็นึกเสียดายอาหารที่กินเหลือ แต่ถ้าเราไม่มา คนขายก็ไม่มีรายได้ พ่อครัวก็ไม่มีงานทำ เกษตรกรก็ไม่รู้จะปลูกผักให้ใครกิน เป็นวงจรการใช้ชีวิตแบบพึ่งพากัน
     เมื่อทานอาหารเช้าเรียบร้อยฉันนั่งเขียนบันทึกที่หน้าบ้าน ฟังเพลงเบาๆ และสัมผัสบรรยากาศรอบข้างเพื่อจดจำภาพสุดท้ายของแคชเมียร์ไว้ อีกเพียง 24 ชั่วโมง เราก็จะกลับไปสู่ชีวิตปกติแล้ว ที่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างทันสมัย ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบและเร่งรัด ทุกเรื่องถูกตกลงกันด้วยคำผูกมัดไม่ใช่คำสัญญาจากใจ ต่างคนต่างอยู่ต่างใช้ชีวิตแม้แต่เพื่อนข้างบ้าน
ยังไม่รู้จักชื่อกัน
     เมื่อเราอาบน้ำแต่งตัวเสร็จพร้อมออกเดินทาง ฉันเรียกอามินเข้าไปที่ห้องและยื่นของให้กับเขา เป็นของใช้ส่วนตัวที่ยังไม่หมดดี คิดว่าคงช่วยเขาประหยัดได้นิดหน่อย และมีอุปกรณ์
กันหนาว หมวกไหมพรม ถุงมือ ถุงเท้า ฝากไปให้น้องสาวเขา คิดว่านานทีปีหนเฉพาะเวลาที่เดินทางไปประเทศหนาวๆ ฉันถึงจะได้ใช้ของพวกนี้ แต่มันเป็นส่ิงจำเป็นที่เขาสามารถใช้ได้
ทุกวันในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ฉันยังสามารถไปหาซื้อใหม่ได้ แต่เงินของเขาต้องเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น เผื่อไว้เวลาที่ไม่มีรายได้เข้ามา นฐยกกางเกงตัวหนึ่งให้เขา ส่วนพี่ลีก็ยกเสื้อของเธอ 3 ตัว ฝากให้น้องสาวเขาเช่นกัน ดูเขาดีใจมากและพูดว่า
     “ผมขอบคุณพระเจ้าที่ประทานสิ่งดีๆ ให้ผม”
     เขาเป็นคนค่อนข้างศรัทธาในศาสนามาก
     เราออกเดินทางจากบ้านเรือตอน 10 โมงครึ่ง และไปถึงสนามบินโดยใช้เวลาไม่นานนัก เมื่อถึงด้านหน้าทางเข้ามีรั้วปิดอย่างหนาแน่น มีทหารมากมาย ดีนต้องลงจากรถเพราะเขาอนุญาตให้เฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปด้านใน เราจึงร่ำลาเขา ณ ตรงนั้น ดูเขาเศร้าๆ นิดหน่อย อาจเป็นเพราะหลายวันที่ผ่านมานั้นเขาได้พูดคุยเรื่องราวมากมายกับพี่ลี ทั้งสองดูจะถูกอัธยาศัยกันดีเลยรู้สึกสนิทสนมพอถึงเวลาจากก็ใจหายเป็นธรรมดา ขนาดฉันไม่ได้พูดคุยอะไรกับเขามากมายก็ยังอดใจหายไม่ได้
     มีคนเคยบอกว่าเวลาเดินทางนั้นนักท่องเที่ยวมักมีอารมณ์อ่อนไหวและหวั่นไหวมากกว่าปกติ ฉันว่าน่าจะจริงทีเดียวเพราะทุกคน ทุกเรื่อง ทุกที่ที่ไปนั้นเป็นเรื่องใหม่ในชีวิตและถูกประดิษฐ์ประดอยมาแล้วให้สวยงามน่าค้นหาและอยากเข้าไปสัมผัส ทุกเรื่องราวจึงมักทำให้เราประทับใจเสมอคล้ายภาพในความฝัน บางทีอาจทำให้เราเผลอใจเลือกมองแต่ด้านดีๆ และคาดหวังไปเองว่าส่ิงนั้นหรือคนนั้นเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น ไม่มีเวลาที่จะมองเข้าไปลึกๆ ถึง
ฐาตุแท้หรือเผื่อใจไว้สำหรับด้านไม่ดี  แต่มันก็ไม่ได้ผิดอะไรหากเราเลือกที่จะเผลอใจไปกับภาพฝันตรงหน้านั้นเพราะช่วงเวลาแห่งความฝันมักมีจำกัด เมื่อตื่นมาชีวิตก็ต้องกลับไปสู่สภาพของความเป็นจริง ส่ิงที่สำคัญคืออย่าไปยึดติดและอยากให้ภาพนั้นกลายเป็นภาพจริง เพราะถ้ามันไม่เป็นแบบที่เราคาดหวังไว้มันก็จะกลายเป็นภาพหลอนวนเวียนอยู่ในใจเราจนถอนตัวไม่ขึ้น
     เราต้องถือคติที่ว่ามีพบก็ต้องมีจากแต่ต้องจากกันด้วยดี เพื่อที่ว่าเมื่อเวลาที่เรานึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ณ​ เวลานั้นๆ เราจะได้มีรอยยิ้มให้กับมันได้เสมอ

30 กรกฎาคม 2555

27. เรียนรู้ หรือรู้ที่จะเรียน

     เรานั่งพักกันอยู่ในห้องนั่งเล่นซักครู่ก็มีแขกมาเยี่ยม พ่อหนุ่มคนเมื่อเช้านั่นเอง ฉันนึกว่าเขาคงจะมาเมื่อตอนบ่ายแล้วไม่เจอเราคงถอดใจไปเอง แต่เปล่าเลยเขาบอกว่าเขานัดเราไว้แล้ว
ก็ต้องมาตามสัญญา จริงๆ แล้วฉันไม่คิดจะซื้ออะไรแล้วเพราะทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือเงินอยู่แค่ 900 รูปีเท่านั้น แต่ไม่อยากให้เสียน้ำใจเผื่อมีของราคาไม่แพงจะได้ช่วยอุดหนุน
     หนุ่มคนนี้เป็นพ่อค้าที่แปลกกว่าทุกคน แม้ว่าเขาจะอายุเพียงแค่ 24 ปี แต่เขาเป็นคนมีความคิดและพูดจาดี แม้ว่าเขาจะไม่ได้เรียนหนังสือก็ตาม เขาเป็นลูกชายคนโตของบ้านจึงต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ลักษณะดูไม่เหมือนคนขายของเลย เขามีวิธีการนำเสนอขายสินค้าที่ไม่เหมือนใคร ค่อยๆ อธิบายสรรพคุณของกระเป๋าหนังแกะทีละใบ พอเราแสดงท่าทีไม่สนใจเขาก็รีบพูดว่า
     “คุณไม่ซื้อไม่เป็นไรนะ แต่มันเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องนำเสนอสินค้าให้กับคุณ”
     “แต่ผมไม่มีเงินเหลือแล้ว กระเป๋าตังค์หาย” นฐบอกเขา
     “ไม่เป็นไร คุณเอาของไปก่อนแล้วค่อยส่งเงินมาให้ก็ได้” น้ำเสียงเขาดูจริงจัง
     คนขายของหลายคนพูดประโยคนี้กับเรา อาจเป็นเพราะเขารู้จักกับเจ้าของเรือหรือว่าเพราะเขาเชื่อใจเรา น่าแปลกที่ทุกอย่างที่นี่ขึ้นอยู่กับการค้าขายแต่เงินกลับไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด การขายของให้ได้ต่างหากที่สำคัญ
     เราเลือกดูของเขาอย่างสนุกสนานเพราะได้พูดคุยกับคนประเภทเจ้าความคิด ฉันเลือกกระเป๋าใส่เหรียญมา 4 ใบ แต่มีเงินไม่พอ เพราะตกราคาใบละ 250 รูปี ฉันบอกเขาไปตรงๆ ว่าเหลือเงินแค่นี้จริงๆ เขาก็เลยตัดใจขายให้กับฉัน แล้วแถมเขายังให้กระเป๋าแบบเดียวกันกับนฐ 1 ใบ ซึ่งทำเอานฐงงมากๆ เพราะจากการที่ถูกต่อรองให้ซื้อของตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่จนต้องใช้มุกต่างๆ หลีกเลี่ยงการซื้อเช่น “ผมไม่มีตังค์ กระเป๋าตังค์หาย” “ผมแพ้ขนสัตว์ (พร้อมทำท่าไอรุนแรง)” “ผมแพ้เกสรดอกไม้ ได้กล่ินแล้วไม่สบาย” กลับกลายเป็นว่าคราวนี้เขาได้ของมาฟรีๆ โดยไม่ต้องเหนื่อยอารม์ณ์หรือเปลืองนำ้ลายเลย
     หนุ่มน้อยบอกกับเขาว่า “ถือว่าเป็นน้ำใจจากผมแล้วกัน” นฐก็เลยแลกเปลี่ยนด้วยการให้ขนมและลูกอมหลากหลายกับเขา ซึ่งดูเขาพึงพอใจใช่น้อย 
     “ผมถามหน่อยสิว่าคุณไปเรียนที่ไหนมาเหรอ” นฐถามด้วยความสงสัยเพราะวิธีการพูดจาและเทคนิคการขายของเขานั้นไม่เหมือนคนขายคนไหนที่เราเคยเจอมาก่อน
     “ผมไม่ได้เรียนหรอกครับ ผมเป็นลูกชายคนโตต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน” เขาตอบอย่างฉะฉาน ไม่มีท่าทีหรือแววตาที่เศร้าแม้แต่น้อย
     “แต่คุณดูเหมือนคนเรียนมาเยอะๆ เลยนะ หลอกเรารึเปล่า”
     เอ …​ ที่แคชเมียร์คงไม่มีรายการประเภทแคนดิดคาเมร่า (Candid Camera) แอบถ่ายหรอกน่า
     “การเดินทางคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะเราจะได้เจอเรื่องราวและผู้คนมากมาย ผมไม่ได้เรียนหนังสือแต่ผมเรียนจากการเดินทาง”


     นั่นสินะ เราควรที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในทุกๆ วันของการเดินทางของชีวิตแม้ว่ามันจะเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กน้อยหรือฟังดูไร้สาระ ขนาดหนูยังช่วยชีวิตราชสีห์ได้เลย แม้เราจะตัวเล็กไม่มีบทบาทสำคัญอะไรในสังคมแต่ถ้าเรารู้จักหน้าที่ของเราและทำมันให้ดีที่สุด เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสังคมที่ดีได้
     ความรู้นั้นไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียนเพียงที่เดียวหากแต่อยู่ในทุกๆ ที่ที่เราไป อยู่ในคนหรือส่ิงที่เราเจอในทุกๆ วัน เราจะเรียนรู้ได้มากน้อยขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่ที่ตัวเราล้วนๆ ว่าจะมีใจเปิดกว้างแค่ไหน เพราะถ้าใจไม่เปิดสมองก็จะปิดตายไปโดยอัตโนมัติ คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่นเพราะเรียนมามากนั่นคือคนที่โง่ที่สุด ไม่มีใครที่จะรู้ได้ทุกเรื่อง ทุกๆ วันมีส่ิงเกิดขึ้นใหม่มากมายที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์
     แต่ฉันว่าความรู้อะไรก็สู้รู้จักตัวเองไม่ได้ รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร มีสติกับการกระทำนั้นๆ รู้เท่าทันความคิดและความรู้สึกของตัวเอง เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ปล่อยให้จิตใจล่องลอยและถูกกระทบได้โดยง่ายจากสิ่งรอบตัว 

27 กรกฎาคม 2555

26. นักท่องเที่ยว = ความเป็นอยู่ที่ดี

     ในที่สุดเวลาที่เรารอคอยก็มาถึงคือการพายเรือในทะเลสาป แม้ว่าจะค่อนข้างเย็นมากแล้วแต่เราอยากจะไปฉลองวันสุดท้ายของการอยู่ที่แคชเมียร์ในบรรยากาศสบายๆ รอบๆ คุ้งน้ำ
อันน่ารักนี้ ผู้คนที่พายเรือผ่านไปมาและไม่ได้เจอเราเมื่อวานต่างก็ออกอาการตื่นเต้นเหมือนเช่นเคยกับฝีมือการพายเรืออันเหนือชั้นของพี่ลี
      หนุ่มคนหนึ่งพายเรือขนานคู่ไปกับเราและชวนคุย
      “คุณมาจากไหนกันเนี่ย พายเรือเก่งจริง”
      “เมืองไทยน่ะ”
      “อยากได้งานพายเรือที่นี่มั้ยล่ะ”
      “แล้วคุณจะให้ค่าจ้างเท่าไหร่ล่ะ” พี่ลีชักสนใจอาชีพใหม่
      “เดือนละ 50 ดอลล่าห์” เขาบอก
      พวกเราต่างพากันหัวเราะชอบใจ
      “ค่าจ้างน้อยจัง” ฉันแกล้งต่อรองเขา
      “ถ้างั้นให้ที่พักด้วยพร้อมอาหาร” เขาเพ่ิมข้อเสนอ
      “ห้องนอนแยกเดี่ยวใช่มั้ย คงไม่ต้องนอนห้องเดียวกับคุณนะ” ฉันแกล้งล้อเขาเล่น
      เขาหัวเราะยกใหญ่
      เราเพลิดเพลินกับการใช้เวลาในทะเลสาปจนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้วจึงกลับไปยัง
บ้านเรือ สังเกตว่าเมื่อเราไม่ได้นั่งเรือชิคาร่าแต่พายเรือเล็กเล่นกันไม่มีใครสนใจที่จะขายของให้กับเรา ทำให้เรารู้สึกสบาย ปลอดโปร่ง ไม่ต้องพูดคุยต่อรองหรือหามุกเด็ดๆ ใหม่ๆ มาคอยไล่พวกชอบตื้อ นั่นแปลว่า
      ชิคาร่า = นักท่องเที่ยว = การขายของได้ = รายได้
      และ
      เรือพาย  = ชาวบ้าน = ไม่มีตังค์ซื้อของ = เสียเวลา เปลืองนำ้ลายตื้อ
      สถานภาพของเราเปลี่ยนกันได้ด้วยพาหนะนี่เอง





      เมื่อพายเรือใกล้ถึงบ้าน มีหนุ่ม 2 คนยืนอยู่บนชานหน้าบ้านบอกให้เราพายเรือไปให้เขา เราตอบพร้อมกันว่า
      “ไม่”
      เขาเป็นใครก็ไม่รู้ อยู่ดีๆ จะมาขอเรือจากเรา เรือของเราก็ไม่ใช่ จะทำยังไงดี ปฏิเสธไว้ก่อนดีกว่า แบบนี้ไม่น่าไว้ใจ คนกรุงเทพอย่างเราถูกสอนมาว่าไม่ให้ไว้ใจคนแปลกหน้า เรามักจะปฏิเสธไว้ก่อนโดยไม่เชื่อใจใครง่ายๆ ถ้าไม่รู้จัก
      “พายมาเถอะครับผมต้องเอาของไปที่ฝั่ง นี่ดูสิของกล่องใหญ่มากเลย”
      “ไม่ได้หรอกคุณเป็นใครก็ไม่รู้ แล้วนั่นกล่องอะไรน่ะระเบิดรึเปล่า” จินตนาการโลดแล่นในหัวฉัน
      เขาเดินตามเรือเรามาจนถึงทางขึ้นบ้านเพื่อจะเอาเรือไปขนของ
      “แล้วคุณรู้จักดีนเจ้าของเรือรึเปล่า ขออนุญาตเขารึยัง”
      “ผมเป็นเพื่อนเขาน่ะ จะยืมเรือไปส่งของหน่อย”
      เขาคงไม่โกหกหรอกน่า แล้วคนแถวนี้คงรู้จักกันหมดไม่น่าจะเป็นอะไร แต่เราก็เล่าให้ดีนฟังซึ่งทำให้เขาขำกับการทำตัวเป็นพวกขี้ระแวงของเรา
     อาหารมื้อค่ำวันนี้เป็นมื้อสุดท้ายที่จะได้กินของอร่อยและอ่ิมแบบสุดๆ ซึ่งไม่ผิดหวังเลย รสชาติฝีมือพ่อครัว “ไฟยาซ” (Fiyaz) นั้นไม่ทำให้เราผิดหวังแม้แต่มื้อเดียว มื้อส่งท้ายนี้มีเมนูเด็ดคือ แกงไก่ ผัดมันฝรั่งแครอทกับถั่วลันเตา และผักขมผัด ซึ่งเป็นผักขมที่สดและใบใหญ่ที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นผักขมมา แบบนี้ป้อปอายต้องชอบแน่ๆ เรากินกันเพลินชนิดลืมอ้วนกันเลย
ทีเดียว ไม่ได้การต้องออกไปเดินหน้าบ้านเพื่อออกกำลังซะนิด ไม่งั้นคืนนี้คงนอนหลับแบบจุกๆ


     ขณะเดินกลับไปกลับมาบนชานบ้าน ฉันเจออามินยืนชมดาวอยู่เลยแวะคุยสัพเพเหระกับเขาครู่หนึ่ง
     “คุณทำงานที่นี่มานานรึยัง”
     “ทำมา 4 ปีแล้วครับ”
     “แล้วชอบมั้ย”
     “ชอบครับ ผมค่อนข้างมีความสุขดี คุณมุสตาฟาดีกับเรามาก เขาจะไม่มาคอยจ้ำจี้จ้ำไชจับผิดเรา ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีไม่มีปัญหา ลูกค้าไม่มีการร้องเรียนเรื่องอะไรเขาก็ปล่อยให้เราจัดการบริหารกันเอง”
     “แล้วคุณมาจากไหนล่ะ”
     “ผมมาจากหมู่บ้านแถวๆ หุบเขาทางไปกุลมาร์คน่ะครับ”
     “คุณอายุเท่าไหร่แล้ว”
     ตัวเลขที่เขาตอบมานั้นทำเอาฉันอึ้งไปเพราะหน้าเขายังไม่น่าจะถึงวัยนั้น
     “36 ปี จริงๆ เหรอ”
     “จริงสิครับ”
     “แล้วมีพี่น้องมั้ย”
     “มีครับ มีน้องสาว 2 คน ยังเรียนอยู่”
     “คนไทยมาเที่ยวที่นี่เยอะมั้ย”
     “เยอะครับ น่าแปลกนะครับส่วนใหญ่คนไทยชอบมากันตอนหน้าหนาว”
     “แล้วมันหนาวมากมั้ยล่ะ”
     “ก็หนาวครับ หิมะตก น้ำในทะเลสาปเป็นน้ำแข็งเลยครับแต่ยังพายเรือได้ ผมว่าช่วง
หน้าหนาวที่นี่สวยที่สุดในความคิดของผม”
     “แล้วรถสามารถวิ่งบนถนนได้เหรอ หิมะน่าจะปกคลุมจนขาวโพลนไปหมด”
     “ได้สิครับ เพราะเขาจะกวาดหิมะออกจากทางทุกวันแต่บนภูเขาจะถูกปกคลุมไปด้วยหิมะสวยมาก”
     “คุณว่าคนไทยเป็นไง ใจดีมั้ย”
     “ใจดีมากครับ บางทีเขาก็ช่วยเหลือผมเหมือนกัน เขาให้ของที่เขาไม่เอากลับบ้านกับผม 
ผมขอบคุณพระเจ้าที่ให้พร ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานั้นเราอยู่กันอย่างยากลำบากมากครับ 
บางคนไม่มีข้าวทานเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมาก็ไม่มีเงินไหลเวียน”
      ฉันรู้สึกเร่ิมสงสารเขามาก เห็นใจที่ชีวิตไม่สามารถลิขิตได้ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งพาธุรกิจ
ท่องเทีี่ยวซึ่งก็มักมีผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย เลยคิดว่าคืนนี้จะเลือกของบางอย่างที่ไม่ได้จำเป็นกับชีวิตฉันมากนักแต่อาจมีประโยชน์ต่อคนอื่นอีกมาก เผื่อว่าน้องสาวเขาจะได้เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างอุปกรณ์กันหนาว หมวก ถุงมือ ถุงเท้า ผ้าพันคอ ถ้าอยู่กรุงเทพก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ จะได้ใช้ก็ตอนไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วปีนึงเราจะไปที่หนาวๆ กันซักกี่หน พอใช้ไปไม่นานก็เบื่อเพราะมันไม่ทันสมัยไปหาซื้อของใหม่ ของเก่าก็เก็บเข้าตู้ไป แต่คน
ที่นี่เลือกไม่ได้มีอะไรก็ต้องนำมาใช้ทำความอบอุ่นให้ร่างกายในทุกๆ วันเป็นเวลาหลายเดือน คำณวนดูแล้วยกให้เขาจะมีคุณค่ามากกว่า

26 กรกฎาคม 2555

25. มัสยิด เปเปอร์มาเช่ บาบา

     ขากลับเราแวะมัสยิดอีก 2 ที่ ที่แรกคือ “จามา มัสยิด” (Jama Masjid) ซึ่งตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่า มีขนาดค่อนข้างใหญ่โตโอ่โถง มีประตูทางเข้า 4 ทิศ สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 
ถ้ามองจากมุมด้านบนก็จะมีลักษณะเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมที่เว้นที่ตรงกลางให้กับสวนและน้ำพุ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมด้านในได้ สถาปัตยกรรมค่อนข้างสวยงามละเอียดอ่อน 
มีเสาไม้ถึง 370 ต้นโดยรอบ และภายในปูด้วยพรมเล็กๆ ต่อกันเพื่อให้ผู้คนได้มาสวดมนต์ โดยหันหน้าไปทางทิศที่เมกกะอยู่ ในวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่ชาวมุสลิมมาสวดมนต์นั้นก็จะแน่นไปด้วยผู้คนท้องถ่ิน แต่วันที่เราไปมีเพียงไม่กี่คนที่มาทำพิธี หลังจากนั้นดีนพาเราไปเดินตลาดที่อยู่รอบๆ มัสยิด ซึ่งมีของขายมากมายและแทบจะทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนตัว ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้า อาหารการกิน ฯลฯ ตลาดนี้เป็นตลาดของคนท้องถิ่นเพราะฉะนั้นราคาของก็จะ
ไม่แพง และเราสามารถเดินกระทบไหล่กับชาวบ้านที่นี่ได้อย่างใกล้ชิด








     มัสยิดสีเขียว (Green Masjid หรือ Shah Hamdan) นั้นถูกสร้างด้วยไม้ทั้งหลังโดยไม่ใช้ตะปูเลย สถาปัตยกรรมนั้นสวยงามมากๆ สีสันสดใส มีกระเบื้องเพ้นท์ลายดอกไม้ตกแต่งโดยรอบบริเวณ เราได้รับอนุญาตให้เดินดูแต่เพียงภายนอกเท่านั้น เพราะคนที่ไม่ใช่มุสลิมไม่มีสิทธิ์เข้าไปด้านในรวมไปถึงผู้หญิง ว่ากันว่าบริเวณเพดานและกำแพงนั้นทำจาก Papier Mache หรือกระดาษที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ จนแข็งและเพ้นท์ลายสวยงาม เคยเห็นรูปจากเว็บไซต์ และอยากสัมผัสความงามที่ละเอียดอ่อนแต่ไม่นึกว่าจะถูกกีดกัน ฉันรู้สึกชื่นชมในความงามบางอย่างแต่ก็ไม่ชื่นชอบการแบ่งแยกเพศของที่นี่ ระหว่างที่ยืนชื่นชมลายผนังและกำแพงนั้น
ฉันเห็นหญิงชาวมุสลิมเดินไปด้านหน้าประตูทางเข้าและลูบๆ ขอบประตูเอามาลูบหัวและกราบไหว้ ชะเง้อมองเข้าไปด้านในแต่ไม่มีโอกาสเข้าในขณะที่ผู้ชายสามารถเดินผ่านเข้าไปได้อย่างฉลุย ฉันไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมเขาถึงต้องแบ่งแยกขนาดนั้น ฉันเชื่อว่าผู้หญิงก็มีศรัทธาในศาสนาพอๆ กับผู้ชาย เผลอๆ อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำเพราะเพศหญิงเป็นเพศที่ต้องยอมทนกับความไม่เสมอภาคหลายๆ อย่าง ถ้าเขาไม่ทำไปด้วยความเชื่อและใจศรัทธาแล้วเขาจะทำไปเพื่ออะไร ฉันเก็บความข้องใจนั้นไว้กับตัวและกะว่าจะหาโอกาสเหมาะๆ ถามจากดีน






     จุดหมายปลายทางสุดท้ายของวันนี้คือบ้านเรือซึ่งเมื่อเรากลับเข้าไปแล้วก็แปลว่าเราจะไม่ไปไหนอีก นอกซะจากพายเรือเล่นอยู่ในทะเลสาปดาล รู้สึกเหมือนเป็นเด็กโรงเรียนประจำ
ไปไหนต้องขออนุญาตครูใหญ่ก่อน แต่เพื่อเป็นการใช้เวลาให้คุ้มค่า ฉันกับนฐขอแวะร้านอินเตอร์เน็ตเหมือนเช่นเคยส่วนพี่ลีกับดีนไปเดินเล่นแถวๆ ถนนบูลเลอร์วาร์ดแก้เบื่อ โดยเรานัดแนะเวลาไปเจอกันที่เรือชิคาร่าเมื่อทุกคนเสร็จธุระของตัวเอง ดูเหมือนพี่ลีจะพูดคุยถูกคอกับดีนมากกว่าใคร คนบางคนก็สื่อถึงกันได้ง่ายกว่าคนอื่นคล้ายว่าจูนคลื่นตรงกัน ฉันว่าการจะเข้าถึงใจใครได้นั้นคงต้องลองเปิดตัวเองเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นความรู้สึกของคนนั้นๆ ก่อน ถ้าเรื่องที่พูดคุยนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนคนนั้นหรือมีความคิดอ่านความชอบคล้ายๆ กันก็ทำให้ต่อกันติดได้ง่าย ไม่น่าเชื่อว่าดีนจะอายุไม่ถึง 40 ปี เพราะดูจากรูปลักษณ์ภายนอกที่หนวดเคราเฟิ้มประกอบกับริ้วรอยของความตรากตรำบนใบหน้าเราจึงเผลอเรียกเขาว่าลุงตั้งแต่แรกพบ
     ระหว่างทางก่อนจะกลับไปบ้านเรือดีนถามเราว่าอยากไปดูร้าน Papier Mache รึเปล่า คงไม่กล้าผลีผลามพาเราไปโดยไม่บอกเพราะคงกลัวฤทธิ์เดชของเรา ฉันคิดว่าจะไปหาซื้อของฝากที่นั่นเพราะยังไม่มีอะไรติดมือกลับบ้านเลย ร้านนี้ตั้งอยู่อีกคุ้งน้ำนึงแต่ไม่ไกลจากคริสตัล
พาเลสนัก เป็นโชว์รูมขนาดไม่ใหญ่โต เจ้าของออกมาต้อนรับเราถึงท่าเรือด้วยตัวเองและพาขึ้นไปยังชั้นสองที่ตั้งโชว์ผลิตภัณฑ์จากกระดาษหลากหลายรูปแบบระรานตา 
     ก่อนอื่นเขาขอสาธิตวิธีการทำก่อนเพื่อสร้างความประทับใจ
     ขั้นแรกนำเศษกระดาษมาแช่น้ำและนำไปปะบนแม่พิมพ์ ซึ่งจะเป็นรูปอะไรก็แล้วแต่ เช่นกล่อง แจกัน ช้าง ที่ใส่จดหมาย ฯลฯ ทำซ้ำๆ หลายชั้นมากเพื่อให้แข็งไม่แตกหักได้ง่าย
     ขั้นตอนต่อไปคือการนำไปตากแดดให้แห้งสนิทและใช้ค้อนทุบๆๆ ให้เนื้อแน่นจะได้แข็งแรงไม่บอบบาง
     แล้วก็ถึงขั้นตอนการลงสี โดยเร่ิมจากวาดลวดลายที่ต้องการโดยวิธี free hand แล้วจึงลงสี วิธีการวาดแบบนี้ทำให้ของแต่ละชิ้นมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่มีช้ินไหนเหมือนกับชิ้นไหนแม้จะเป็นลายและสีเดียวกัน
     ต่อไปก็ปิดด้วยทองคำเปลวชนิดเดียวกับที่เราใช้ปิดทองที่พระพุทธรูป
     ขั้นตอนสุดท้ายคือลงแลคเกอร์ชนิดมันเคลือบให้สีไม่ลอก
     โหกว่าจะได้แต่ละช้ินใช้เวลาประมาณ 3 วัน เห็นแบบนี้แล้วเราเลยเห็นคุณค่าของแต่ละชิ้นมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว


     ขั้นตอนเสริมสุดท้ายท้ายสุดก็คือการเดินเลือกซื้อช้ินที่ถูกใจ คุณลุงเจ้าของร้านปล่อยให้เราเลือกลงตะกร้าใครตะกร้ามัน พร้อมข้อเสนอน่าสนใจคือลด 15% ระหว่างนั้นมีคุณลุงที่เป็นพนักงานห่อของพยายามที่จะหยิบชิ้นโน้นชิ้นนี้มาให้ฉัน เห็นฉันเลือกของช้ินไหนแกก็ไปเลือกของชนิดอื่นที่เป็นลายเดียวกันมาให้ ฉันรู้สึกว่าแกน่ารักดีเหมือนอยากมีส่วนร่วม แต่ฉันก็แอบเอาของกลับไปวางไว้ที่เดิมโดยไม่ให้แกเห็นกลัวจะเสียใจ หารู้ไม่ว่าเมื่อกลับมาถึงเมืองไทยแล้วแกะของออกดูกลับมีช้างเป็นของกำนัลเพ่ิมมาอีกหนึ่งตัว สงสัยแกคงถูกชะตากับฉันล่ะมังเลยแอบให้ของขวัญ ยังนึกถึงหน้าอมยิ้มของแกได้ชัดเจนเหมือนพยายามจะบอกอะไรกับฉันแต่ก็ต้องระวังไม่ให้เจ้าของร้านเห็น
     เราได้ของกันคนละเกือบสิบชิ้นเพราะราคาไม่แพงและมีคุณภาพดีลวดลายสวยงามเหมาะกับการเป็นของฝากสร้างความประทับใจให้ผู้รับ ผลิตภัณฑ์ของที่นี่มีให้เลือกค่อนข้างจะเยอะ และมีหลายรูปแบบ หลายลาย หลายสีให้เลือกหา คงต้องมีชิ้นไหนที่ถูกใจคุณกันบ้างล่ะน่ะ



     ระหว่างทางกลับบ้านเรือมีเรือของพ่อค้ามาเทียบเรือเราแบบประชิดตัวพร้อมกับขนเครื่องประดับต่างๆ เช่น สร้อยคอ สร้อยคือมือ จี้ แหวน อ้างว่าทำจากเงินและหินมีค่า เขาหยิบขึ้นมาแล้วก็มาพาดไว้กับตักฉันบ้าง สวมใส่ในมือฉันบ้าง
     ฉันพยายามปฏิเสธแบบสุภาพ “ไม่ล่ะค่ะ ขอบคุณ”
     “ถ้าคุณไม่ชอบแบบนี้ ผมมีแบบอื่นอีก นี่ไง” พูดไปก็หยิบของชิ้นใหม่ๆ ออกมาพาดขาฉันเต็มไปหมด
     “ไม่เป็นไร ฉันไม่ชอบใส่เครื่องประดับ เห็นมั้ยว่าในตัวฉันไม่มีเครื่องประดับอะไรเลย ฉันเป็นคนจนไม่มีเงินซื้อของพวกนี้หรอก”
     “ผมขายให้ถูกๆ เลยนะ เส้นนี้ 10 ดอลล่าห์ อันนี้ 5 ดอลล่าห์”
     ฉันหยิบสร้อยทั้งหมดและยื่นคืนไปให้เขา
      “ไม่เป็นไรค่ะ ขอบคุณ”
      “ไม่เป็นไรได้ไง ผมขายอะไรไม่ได้เลย” เขาเริ่มทำเสียงขุ่นเคือง ทำหน้ารันทด
      “ก็ฉันไม่ต้องการของพวกนี้นี่นา”
      “คุณอยากได้อะไรบอกมาเลยเดี๋ยวผมขายให้ถูกๆ”
      “ฉันต้องการอะไรน่ะเหรอ ฉันต้องการความสงบและสันติภาพค่ะ” ฉันตอบ หวังใจว่าเขาจะเข้าใจและยอมแพ้
      แต่ไม่ ... เขายังดึงดันต่อไป หยิบนู่่นหยิบนี่ขึ้นมาโชว์จะให้ฉันซื้อให้ได้
      ฉันเลยงัดมุกเด็ดของวันนี้ที่เพิ่งคิดได้สดๆ
      “ฉันปวดหัวมากเลยเนี่ย สงสัยว่าฉันจะต้องแวะไปหาบาบาซะแล้ว”
      เมื่อฉันเอ่ยชื่อบาบาเหมือนเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เขายอมหยุดและจากไป
      บาบาเป็นผู้ที่คนที่นั่นให้ความเคารพนับถือ ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่พ่อมด ไม่ใช่หมอดู แต่เป็นผู้ซึ่งมีความสามารถพิเศษในการรักษาอาการป่วยของคนไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร ลักษณะของบาบา
ที่ทะเลสาปดาลนั้นไว้ผมสั้นเกรียนทรงสกินเฮด แต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองสีขาว ดูเคร่งขรึม และดูเหมือนว่าคนทั้งทะเลสาปให้ความเคารพนับถือบาบาอย่างมาก อามิน (Amin) พนักงานพายเรือชิคาร่าของบ้านเรือเล่าให้ฟังว่าบางทีมีผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคปวดท้องแต่ไม่ทราบสาเหตุ 
พอไปปรึกษาท่านบาบาท่านก็เขียนอะไรบางอย่างในกระดาษและขยำใส่ลงไปในเหยือกน้ำ 
เมื่อผู้หญิงคนนั้นดื่มเข้าไปก็หายจากอาการ เขาบอกว่าอาการจะหายหรือไม่นั้นอยู่ที่ความเชื่อของบุคคลนั้นๆ ด้วย
     เสียดายเราไม่มีเวลาไม่งั้นฉันเองก็อยากแวะไปพบบาบาเหมือนกันเพราะเขาอาศัยอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรือของเราเท่าไหร่ ไม่แน่นะฉันอาจจะหายจากอาการบ้าๆ บอๆ ก็ได้