03 สิงหาคม 2555

31. การเดินทาง คือการเรียนรู้จักใจตัวเอง

     ฉันนั่งทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดตลอดการเดินทาง มีหลายความรู้สึกที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ใหม่ๆ ความทรหด ความสวยของธรรมชาติ ความมีน้ำใจของคน ความแร้นแค้น ความทันสมัย ความเห็นแก่ตัว ความเหนื่อยล้า ความสบาย ความโกรธ ความดีใจ ความเสียใจ ความพึงพอใจ มิตรภาพ ความคิดถึง ทุกๆ การเดินทางนั้นล้วนประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมายและความรู้สึกที่หลากหลาย แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายมันถือเป็นประสบการณ์ของชีวิต เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้และก้าวเดินต่อไปข้างหน้ากับทางที่แสนไกลหรือแสนสั้น ไม่มีวันที่จะมีใครรู้หรือกำหนดได้
      ในทุกการเดินทางคงมีบางสิ่ง บางอารมณ์ หรือบางคนที่เราแอบเก็บกลับมาและฝังไว้ในความทรงจำลึกๆ แต่ละคนคงมีเรื่องประทับใจต่างกันไปถึงแม้จะเดินทางไปด้วยกันก็ตาม และวันหนึ่งเราก็อาจจะดึงเรื่องส่วนตัวเรื่องนั้นออกมาจากลิ้นชักในหัวใจเมื่อยามที่เราคิดถึง
การเดินทางครั้งนั้นๆ เพื่อได้รู้สึกแช่มชื่นใจ
     ช่วงเวลาดีๆ แม้เพียงเสี้ยวเล็กๆ อาจจะเป็นพลังให้เราใช้ชีวิตต่อไปอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความสุขในเมืองที่วุ่นวายนี้ก็ได้


     “การเดินทางคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะเราจะได้เจอเรื่องราวและผู้คนมากมาย ผมไม่ได้เรียนหนังสือแต่ผมเรียนจากการเดินทาง” คำพูดของหนุ่มแคชเมียร์คนนั้นยังก้องอยู่ในหัว 


     แม้ว่าเราจะได้เรียนหนังสือจนจบแล้วแต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องหยุดที่จะเรียนรู้ การเรียนรู้จักใจคนและรู้จักใช้ชีวิตนั่นคือการเรียนรู้ที่ยากที่สุดและไม่มีวันจบ

      ขอให้ทุกการเดินทางนำคุณไปพบกับสิ่งที่สวยงามและน่าจดจำเสมอ


02 สิงหาคม 2555

30. ตะลุย ตลาด

     ฉันได้กลับไปร้านหนังสือ Paramouth ตรงถนนจันปาทที่เคยแวะเมื่อมาเดลลีครั้งก่อน 
จำเจ้าของร้านได้ดี ชายหนุ่มวัยกลางคน พูดจาสุภาพ มีความรู้เรื่องหนังสือค่อนข้างดี
     “สวัสดีค่ะ ฉันเคยมาร้านคุณแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน แล้วฉันยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับร้านคุณเลย”
     “ขอบคุณมากนะครับ ผมดีใจจริงๆ ที่คุณกลับมาอีก” เขาตอบพร้อมรอยยิ้มอบอุ่นจริงใจ               
     นฐขอให้เขาหาหนังสือเกี่ยวกับของมงคลของทิเบต 8 ส่ิง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ
ความหมายก่อนที่จะกลับไปสักรูปของมงคลรูปหนึ่งที่เขารู้สึกผูกพันและศรัทธา ส่วนฉันขอให้เขาแนะนำหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธแบบมหายานและข้อมูลเกี่ยวกับลาดัคห์เพื่อที่จะใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการเขียนหนังสือเล่มนี้


      เราใช้เวลาอยู่ที่ร้านหนังสือครู่หนึ่งแล้วก็เดินต่อไปตรงละแวกที่ขายของประเภทผ้า ตั้งแต่ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ กระเป๋า เสื้อ กระโปรง ภาพวาด เครื่องประดับ เครื่องหนัง รองเท้า ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มาเดินซื้อของก็มักเป็นนักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ขายแถวนี้ก็เลยตั้งราคาสูงเป็นพิเศษ จิมมี่แอบกระซิบว่าถ้าจะซื้ออะไรให้ต่ออย่างน้อยครึ่งหนึ่งเลย ที่จันปาทนั้นเหมาะกับคนที่มีเวลาเหลือ มีความอดทนสูงและรู้สึกสนุกกับการต่อรองราคา นฐสนใจกระโปรงสีสดใสที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับพี่สาวคนหนึ่ง แต่เมื่อถามราคาคนขายบอกตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเขาจึงลอง
ต่อรองดูแต่คนขายไม่ยอมลดให้ เราเลยเดินจากมา
      “คุณๆ ตกลง 800 รูปีก็ได้” เขาวิ่งตามเรามาไกลทีเดียวพร้อมกระโปรงใส่ในถุงเรียบร้อย
      เมื่อนฐหยิบเงินจ่ายให้เขา เขาก็เรียกร้องเงินเพ่ิมอีก ทำให้นฐไม่พอใจมากที่มาเล่นกลโกงแบบนี้ ก็เลยไม่ซื้อแล้วเดินจากมา ความจริงเขาไม่น่าทำแบบนั้นเลย ถ้าเขาไม่พอใจในราคาที่ตกลงกันเขาไม่ต้องขายก็ได้ ความโลภไม่ได้ทำให้ใครได้อะไรเยอะขึ้นเลย


      จิมมี่พาเราเดินไปยังคอนนอต เพลส (Connaught Place) ซึ่งเป็นย่านการค้าและธุรกิจหลากหลาย ถูกสร้างในช่วงที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษทำให้รูปแบบของสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ตัวตึกเป็นสีขาวและไม่สูงนัก มีร้านค้ามากมายให้ได้เลือกซื้อ แถมมีร้านชื่อเดียวและโลโก้เดียวกันกับห้างฯ ดังที่เมืองไทยด้วย ขายของประเภทผ้าต่างๆ แต่ราคานั้นค่อนข้างจะสูง และไม่ใช่สไตล์ที่ฉันต้องการ
      จิมมี่ออกไอเดียว่าจะพาเราไปที่ Main Bazaar หรือชื่อเต็มคือ Paharganj Bazaar ซึ่งเป็นถนนที่ขายของพื้นเมืองทั่วๆ ไป ราคาไม่แพงและเป็นย่านที่พวกแบคแพค (Backpacker) นิยมมาอยู่กัน พูดคำนิยามง่ายๆ ก็คือ ถนนข้าวสาร ณ กรุงเดลลี นั่นเอง
      “คุณอยากขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินมั้ย” จิมมี่ถาม
      “อยากสิ” เราตอบด้วยความตื่นเต้นเพราะเราเดินทางด้วยพาหนะมาเกือบทุกอย่างแล้วตั้งแต่เครื่องบิน รถยนต์ อูฐ ม้า และเรือ
       เขาพาเราไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินตรงสถานีใกล้ๆ กับคอนนอตเพลส โชคดีที่ไปเพียงแค่ป้ายเดียวเพราะตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนคือ 5 โมงเย็น ผู้คนต่างหลั่งไหลใช้รถใต้ดินกันอย่างคึกคัก เราเข้าไปยืนโดยถูกโอบล้อมไปด้วยแขกล้วนๆ กลั้นหายใจไม่นานนักก็ถึงสถานีตรงย่าน Main Bazaar ถนนข้าวสารเดลลีนี้เป็นถนนเล็กๆ ทอดเป็นแนวยาวกว่า 1 กิโลเมตร 
สองข้างทางอัดแน่นไปด้วยร้านค้ามากมายและมีทุกอย่างขายจริงๆ เสื้อผ้า ร้านหนังสือ ร้านซีดี ร้านธูปหอม ร้านขนมนมเนย เกสท์เฮ้าส์ ฯลฯ อีกมากมาย ผู้คนที่เดินขวักไขว่กันตรงนั้นมีทั้งชาวท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ฉันรู้สึกชอบถนนนี้เหมือนกันเพราะมันดูตื่นเต้นดี มีสีสัน กลิ่นและเสียงครบรส



       ฉันเหลือบไปเห็นลูกบิดประตูที่ทำจากเซรามิคสไตล์อินเดียจึงชักชวนให้นฐซื้อกลับบ้านเพราะเขากำลังตกแต่งคอนโดฯ ใหม่
       แต่พอแขกบอกราคามาตกใจแทบแย่
       “อันละ 12 รูปี โหลละ 144 รูปี”
       “ฮ้า เท่าไหร่นะ” ฉันนึกว่าหูฝาด                 
       “12 รูปี ครับ คุณเข้าไปเลือกในร้านด้านในได้เลย”
       อึ้งไปกับราคาเพราะมันถูกกว่าที่ฉันเคยซื้อที่เมืองไทยเป็น 10 เท่าเลย แปลว่าฉันสามารถซื้อในราคา 1 ชิ้น แต่ได้ของ 1 โหล อีนี่ถึงแม้ว่าฉานจะยังไม่มีที่ติดแต่ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว ซื้อไปวางดูเล่นก็ยังดี ว่าแล้วก็เดินเข้าตรอกข้างๆ ร้านเขาไปยังห้องเก็บของด้านหลัง เราเลือกๆๆ และได้ลายที่ถูกใจมาคนละหลายชิ้น ค่อนข้างแฮ้ปปี้ที่ได้ซื้อของราคาถูกทำให้ถูกใจกับตลาดนี้มากขึ้นไปอีก เราเดินอีกซักพักก็ต้องยอมแพ้กับอากาศที่ค่อนข้างร้อนและฝุ่นที่ตลบ แม้ว่าเรายังเดินไปไม่สุดถนนก็ตาม



       ว่าแล้วก็หาที่นั่งพักดื่มอะไรเย็นๆ ซะหน่อย เราเลือกร้านคาเฟ่ร้านหนึ่งตรงต้นถนน สั่งเครื่องดื่มเย็นกันคนละแก้ว ณ เวลานั้นไม่กลัวท้องเสียแล้ว
       “ผมว่าเธอยังไม่มีความสุขนะ” จิมมี่แอบนินทาฉันกับนฐเสียงดัง
       “เธอคงยังนั่งนึกถึงร้าน Fab India และ Anoukhi อยู่ คงนึกในใจว่ายังไม่ได้ซื้อของที่ต้องการ ไหนจะของฝากอีก”
        ฉันหัวเราะ
        “เดี๋ยวผมพาคุณไปที่ร้านทั้งสองแล้วกัน โอเคมั้ย”
        “ที่ไหนเหรอ ก็มันปิดไม่ใช่เหรอ”
         “ก็ผมบอกคุณแล้วว่าจะพาไปอีกสาขาแต่คุณไม่เชื่อ”
         “แหม ก็ใครจะไปรู้ล่ะว่ามีหลายสาขา”
         เมื่อเราหายเหนื่อยแล้วจึงตัดสินใจไปช้อปปิ้งต่อ จิมมี่เรียกรถมารับพาเราไปยัง Khan Bazaar ที่นี่เป็นแหล่งรวมร้านค้าชั้นดี ไม่ใช่เฉพาะเสื้อผ้า แต่มีของแต่งบ้าน ร้านหนังสือ 
ร้านอาหาร ไม่จอแจเหมือนตลาดอื่นๆ แต่ของส่วนใหญ่เป็นราคาตายตัว ต่อรองไม่ได้                  
         แน่นอนที่สุดฉันพุ่งตัวตรงไปยังสองร้านที่ต้องการมาและได้ของอย่างที่ตั้งใจไว้ ของที่นี่สวยและมีคุณภาพดีแต่ราคาก็ดีตามไปด้วย ที่สำคัญเราไม่ต้องเหนื่อยกับการต่อรองหรือคิดว่าจะถูกหลอก คุณภาพดูจากสิ่งที่ตาเห็นแล้วยังสามารถใช้บัตรเครดิตในการซื้อของได้อีกด้วย รู้งี้มาตั้งแต่แรกก็ดีไม่น่าจะระแวงตาจิมมี่มากไปเลย คราวนี้ถือว่าได้แวะเวียนเยี่ยมชมตลาดหลายที่แต่ก็ยังไม่ครบทุกตลาดยอดฮิต ณ กรุงเดลลี อยู่ดี ทุกคนรู้สึกประทับใจกับการช้อปปิ้งที่เดลลีมากคิดกันว่าคงต้องกลับมาใหม่ถ้าได้มีโอกาสมาอินเดียอีก
     เมื่อได้ของตามที่ตั้งใจไว้ความเหนื่อยเริ่มมาเยือน ฉันเร่ิมระลึกได้ว่ากระเป๋าอาจมีที่ใส่ไม่พอแถมน้ำหนักก็อาจจะเกิน 20 กิโลกรัมตามที่สายการบินกำหนดไว้เลยเร่ิมเตือนสติตัวเองให้หยุดได้แล้ว ประกอบกับถึงเวลาทานข้าวเย็นแล้วจึงตัดสินไปที่ร้านอาหารที่ทางทัวร์จัดไว้ให้
     นั่งรถไปซักพักก็มาถึงร้าน มื้อสุดท้ายที่นี่เป็นอาหารจีน ฉันไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงจัดเมนูจีนให้นักท่องเที่ยวในวันสุดท้ายซะทุกครั้งไป อาจจะเป็นความหวังดีอยากให้ได้กินอาหารประเภทอื่นบ้างที่ไม่ใช่อินเดียน ไหนๆ ก็จะกลับบ้านแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าอาหารจีนปรุงโดยแขกนั้นมันรสชาติพิลึกส้ินดี มื้อนี้ฉันจึงไม่ค่อยจะเจริญอาหารนัก เรานั่งพักกันต่ออีกซักพักนึงก็ตัดสินใจไปที่สนามบินเพื่อที่จะจัดกระเป๋าใหม่อีกครั้งโดยจัดเรียงของที่ซื้อมาเพ่ิมทั้งหมดให้ได้ 
      สนามบินใหม่ที่โอ่โถงมีพื้นที่ให้เราได้เปิดและจัดกระเป๋าอย่างสบายๆ ไม่ต้องกังวลต่อสายตาใคร แต่เมื่อนฐเปิดกระเป๋าเดินทางใบเล็กออกเขาก็ต้องพบกับเรื่องที่ไม่อยากเชื่ออีกครั้ง
       “เงินไทยที่ผมใส่ไว้ในช่องนี้หายไป”
       “ฮ้า จริงเหรอ ลองหาดูตรงช่องอื่นๆ รึยัง” ฉันถาม หันไปมองหน้ากับพี่ลี
       เราช่วยกันค้นทุกซอกทุกมุมของกระเป๋า แต่ผลคือ … ไม่เจอ ไม่น่าเชื่อว่านฐจะโชคร้ายซ้ำซากขนาดนี้
       เขารู้สึกขุ่นเคืองและโกรธคนที่เอาเงินไป เมื่อนึกทบทวนดูแล้วเหตุน่าจะเกิดช่วงชุลมุนที่เขาถูกค้นกระเป๋าที่ศรีนาการ์
        “นฐ พี่ว่าทำใจให้สงบก่อน อย่าเพิ่งเดาว่าเป็นใครเลย เราไม่มีหลักฐานเพราะฉะนั้นเราจะเหมาเอาว่าคนๆ นั้นเค้าเอาไปไม่ได้ มันจะทำให้ใจเราเคียดแค้นและไม่สบายใจเปล่าๆ เป็นบาปในใจเราอีกต่างหาก” ฉันพยายามพูดให้เค้าสงบลง แต่ก็รู้ทั้งรู้ว่ามันคงทำใจได้ยากที่จะยอมรับว่าเขาเป็นคนเดียวที่ซวยในทริปนี้ หายแล้วก็หายอีก
        ฉันกับพี่ลีไม่ได้พูดอะไรมากเพราะไม่อยากกระตุ้นอารมณ์เขา ปล่อยให้เขาใช้เวลาสงบสติอารมณ์ก่อน
        “มันเป็นทริปที่ผมต้องจำไปตลอดเลย เดินทางมาที่นี่เป็นประเทศที่ 30 แล้วผมไม่เคยกระเป๋าตังค์หายเลย” เขาคงซึ้งกับทริปอินเดียไปอีกนาน
        “เอางี้สิ เพื่อความสบายใจ นฐลองแจ้งไปทางสายการบินคิงฟิชเชอร์ดู ให้เขาลองตรวจสอบ พี่ว่าที่ศรีนาการ์น่าจะมีโทรทัศน์วงจรปิดนะเพราะเขาเข้มงวดกับการตรวจผู้โดยสาร
ขนาดนั้น อาจจะมีหลักฐานอะไรหาตัวคนผิดก็ได้ แต่ก็ต้องทำใจเผื่อไว้ด้วยนะว่าอาจจะไม่ได้
เงินคืน แต่ถ้าเราคิดว่าเราได้พยายามทำถึงที่สุดแล้วมันก็น่าจะโอเคนะ ถือเป็นการร้องเรียนด้วย”
        “เดี๋ยวผมกลับไปผมจะเขียนอีเมล์อย่างละเอียดเลย เดี๋ยวต้องถ่ายรูปพวกหลักฐานต่างๆ ไว้ก่อนเพื่อแนบไปด้วย ผมไม่คิดว่าผมจะได้เงินคืนหรอกถือเป็นคราวซวยของผมเอง ผมก็สะเพร่าเองด้วยแหล่ะ ไม่น่าจะใส่เงินไว้ตรงนั้น” เขาเร่ิมลงมือถ่ายรูปพวกป้ายที่ติดกระเป๋าต่างๆ และตั๋วเครื่องบินจากศรีนาการ์มาเดลลี
       เขานั่งหน้าเซ็งอยู่พักใหญ่ ฉันกับพี่ลีก็พลอยนั่งเงียบไปด้วย รู้สึกสงสารน้อง ในใจคิดว่าคงมีใครเล่นตลกกับโชคชะตาของเขาหรือมันเป็นบทเรียนบางอย่างที่มีใครอยากบอกเขากันนะ
       เรานั่งรออยู่พักใหญ่กว่าจะได้เช็คอินเข้าไปด้านในและรอเพื่อขึ้นเครื่องกลับไปยังบ้าน
ที่แท้จริงของเรา ต่างคนต่างความรู้สึก จุดหมายในการมาก็ต่างกัน ส่ิงที่ได้พบเจอและได้สัมผัสก็ต่างกัน แต่สำหรับการกลับไปนั้นเราคงมีความรู้สึกคล้ายๆ กันก็คือกลับไปสู่โลกของความเป็นจริง โลกของความฝันคงต้องหยุดไว้แต่เพียงแค่นี้ และเมื่อโอกาสและเวลาเดินทางมาพบกันอีกครั้งความฝันครั้งใหม่คงจะได้เริ่มต้นขึ้น 

01 สิงหาคม 2555

29. ตรวจ ตำรวจ

     เราผ่านเข้าไปด้านในรั้วซึ่งดูแล้วเหมือนค่ายทหารมากกว่าสนามบิน รถถูกหยุดเพื่อตรวจ
ใต้ท้องอย่างละเอียด ระหว่างนั้นเราต้องลงจากรถเอากระเป๋าผ่านเข้าเครื่องเอ๊กสเรย์รอบแรกและนำกระเป๋าขึ้นรถอีกทีเพื่อเข้าไปยังประตูทางเข้า สนามบิน แต่ก่อนจะผ่านเข้าไปได้ต้องผ่านเครื่องเอ๊กสเรย์อีกรอบ ระหว่างทางที่จะเดินไปที่เคาน์เตอร์เช็คอินเราถูกเรียกให้กรอก
รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเดินทางยาวเหยียดพร้อมกับตรวจพาสปอร์ต นฐเหลือบไปเห็นตรงบอร์ดว่าเที่ยวบินของเราจะออกในเวลา 11:50 น. ทั้งๆ ที่เวลาจริงคือ 14:40 น. และขณะนั้นเวลา 11:30 น.แล้ว เรางงๆ คิดว่าดูผิดไฟล์ทแต่ก็รีบเดินไปเพื่อเช็คอิน พอไปถึงเคาน์เตอร์เท่านั้นแหล่ะ ทุกคนมะรุมมะตุ้มเราเร่งให้เช็คอินเพราะเราเป็นผู้โดยสาร 3 คนสุดท้ายของเครื่อง หลังจากนั้นเราต้องผ่านด่านอีกหลายด่านมาก ผ่านเอ็กสเรย์ ติดป้ายบนกระเป๋าทุกใบ เซ็นรับรองโดยเจ้าหน้าที่แต่ละด่าน ผ่านการตรวจกระเป๋าสะพายหลายครั้ง จนขั้นตอนสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องของทุกอย่างที่อยู่ในกระเป๋าสะพายถูกเทของออกมากองหมดและตรวจอย่างละเอียด เรามีลิปสติกกี่แท่งยี่ห้ออะไรสีเข้ากับบรัชออนมั้ยพนักงานรู้หมด แม้แต่อาหารกลางวันที่ดินเตรียมมาก็ถูกรื้อค้นทุกกล่อง
     พนักงานหญิงนางหนึ่งหยิบไข่ต้มขึ้นมาจากกล่องอาหารกลางวันแล้วบอกฉันว่า
     “ไข่ต้มนำขึ้นเครื่องไม่ได้”
     “โอเค ไม่เป็นไร” ไข่ต้มใบเดียวท้ิงได้ขอให้ผ่านด่านไปก่อนเถอะ เอ …​ ว่าแต่ว่าไข่ต้มถือเป็นอาวุธชนิดหนึ่งหรือนี่
     “คุณต้องกินให้หมดตรงนี้เพราะเอาไปไม่ได้” เขาย้ำ คงเสียดายไข่ต้มของเรา
     “ไม่เป็นไรหรอก ฉันไม่กิน แล้วก็ไม่เอาไปด้วย”
     จะบ้าเหรอ จะให้มายืนกินไข่ต้มต่อหน้าเจ้าหน้าที่สุดโหด คงจะกินลงหรอกนะแล้วอีกอย่างแม่แอร์โฮสเตสสาวที่ตามจี้เราทีละคนให้ขึ้นเครื่องคงได้กินหัวฉันก่อนแน่
      เมื่อผ่านด่านตรวจค้นกระเป๋าแล้วยังต้องวิ่งออกไปด้านนอกสนามบินเพื่อชี้แสดงความเป็นเจ้าของกระเป๋าเดินทางของเรา ก่อนที่จะวิ่งกันตับแทบแลบเพื่อไปให้ทันเวลาเครื่องออก ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนเรางงไปหมดว่าเกิดอะไรขึ้น สนามบินที่นี่ถือว่าเป็นที่ที่เคร่งครัดที่สุดแล้วตั้งแต่ฉันเคยเดินทางไปที่ไหนๆ มา 
      เราไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเครื่องถึงบินออกเร็วกว่ากำหนดเกือบ 3 ชั่วโมง ผู้โดยสารคนอื่นรู้ได้ยังไง แล้วถ้าเรามาไม่ทัน และตกเครื่อง เราจะทำยังไง จากความวุ่นวายทั้งหมด ก็ต้องถือว่าเราโชคดีที่เราจะไปถึงเดลลีก่อนเวลาแปลว่าเราจะมีเวลาช้อปป้ิงนานหลายชั่วโมง ฮ่าๆๆ วิญญาณนักช้อปเร่ิมเข้าสิงเมื่อจังหวะการเต้นของหัวใจเร่ิมเป็นปกติ
      ใช้เวลาบินไม่นานเพียงชั่วโมงเศษเราก็ไปถึงเดลลี ฉันเดินออกไปดูด้านหน้าว่าจิมมี่ได้มารอเรารึยัง แต่ไม่มีวี่แวว ฉันเลยโทรเข้าโทรศัพท์มือถือของเขา ซึ่งเขาเองก็งงว่าทำไมเรามาถึงเร็วนัก แต่เรารอไม่นานเพียงแค่ 40 นาทีเขาก็บึ่งมาถึง
      “พวกคุณอยากไปไหนกัน” เขาถาม
      “Greater Klailash” ฉันตอบสวนไปในทันที ทำหน้าตาเหมือนรู้จักเดลลีในฐานะเพื่อนสนิทแต่จริงๆ แล้วเพราะได้รับคำแนะนำมาจากครูสอนโยคะที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอินเดียมากว่าเป็นแหล่งช้อปปิ้งใหม่ มีความทันสมัยไม่เหมือนกับร้านแถวๆ ถนนจันปาท (Janpath) ซึ่งเป็นแหล่งช้อปปิ้งเดิมๆ ที่ทัวร์ชอบพาไป
       เขาหันไปบอกคนขับรถแล้วคุยอะไรกันไม่รู้นานสองนาน
       “วันนี้ที่นั่นน่าจะปิดนะครับ” เขาหันมาบอก
       “อ้าวเหรอ ร้านค้ามีปิดด้วยเหรอ แล้วเราจะไปซื้อของที่ไหนล่ะ ฉันอยากไป Fab India กับ Anoukhi”
       ฉันทำหน้าไม่เชื่อคิดว่าเขาหลอกเพราะไม่คุ้นกับการที่ห้างร้านจะปิดวันอังคาร
       “งั้นผมพาคุณไปดูด้วยตาเองแล้วกัน” เขาประชดประชัน
       รถพาเราไปตรง Greater Klailash ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่ปิดจริงๆ เราเลยเซ็งๆ ก็เลยตัดสินใจไปที่ถนนจันปาทเผื่อมีอะไรน่าสนใจ แล้วอีกอย่างฉันอยากแวะไปร้านหนังสือร้านเดิมที่ครั้งที่แล้วเคยไป
       ระหว่างทางที่ขับรถไปนั้น รถค่อนข้างเยอะ คนขับเลยแล่นเลนขวาสุดซึ่งไม่มีรถว่ิงเลย เขาเหยียบเต็มๆ เท้าเพื่อพาเราไปช้อปปิ้ง
       จิมมี่หันมาพูดกับเรา “ดูสิ เขาขับเข้าไปในเลนต้องห้าม”
       ยังไม่ทันที่เราจะพูดอะไร รถถูกหยุดด้วยตำรวจตรงด้านหน้า

      (ข้อความต่อไปนี้ฉันเดาจากภาษามือและภาษากายเพราะยังไม่มีความรู้ภาษาฮินดี)
      “ลดกระจกลง” ตำรวจพูดด้วยน้ำเสียงดุดัน
      “เอาใบขับขี่และใบอนุญาตมา” เขาพูดต่อ
      “โห จะมาจับอะไรคุณตำรวจ ผมไม่รู้ ไม่ได้ตั้งใจ” คนขับเถียง
      “บอกให้เอาใบอนุญาตมา ดับเครื่องด้วย” ตำรวจคำรามใส่
      “ก็ผมบอกแล้วไงว่าไม่ได้พกมา” เขาเถียงต่อ
      “ถ้าไม่มีล่ะก็โดนโทษหนักแน่ หยิบมาเดี๋ยวนี้เลย” ตำรวจขู่ต่อ
      “#$*&###@@@XXX”
      “***%^$#@#$$%^&**”
      เขาทะเลาะกันเสียงดังอีกหลายประโยค
      ตำรวจทำหน้าโกรธสุดขีดตาโตถมึงทึงเหมือนจะหลุดออกมานอกเบ้า
      เราเริ่มหน้าเสีย ทำอะไรไม่ถูก ในขณะที่จิมมี่นั่งเงียบ
      ตำรวจยื่นมือเข้ามาที่กุญแจรถ ดับเครื่องยนต์ ไม่ได้สนใจว่ามีนักท่องเที่ยวหน้าขาวนั่งอยู่ด้านหลัง
      ในที่สุดคนขับรถต้องยอมทำตามแต่โดยดีไม่งั้นคงโดนโทษหนักกว่าเดิม เขาหยิบใบทะเบียน ใบอนุญาตต่างๆ จากเก๊ะหน้ารถให้ตำรวจแล้วเดินตามไปที่ป้อมอีกฝั่งหนึ่งของถนน จิมมี่มาทำหน้าที่คนขับแทนโดยพารถไปจอดตรงข้างทางและเดินตามไปสังเกตุการณ์
      ระหว่างนั้นเราก็คุยกันให้เป็นเรื่องขำๆ ไปว่า ประสบการณ์ในอินเดียนั้นมีทุกรูปแบบจริงๆ ได้แต่หวังว่าเราคงไม่ต้องขับรถไปเที่ยวเอง ส่วนเรื่องที่คนขับรถทำผิดนั้นก็เพราะเขาไม่ยอมทำตามกฏเพราะขณะนั้นกำลังมีการแข่งขันคอมมอนเว้ลท์เกมส์ (Commonwealth Game 2010) เขาจึงเว้นช่องทางหนึ่งบนถนนไว้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะได้ใช้เดินทางได้สะดวก เพราะที่เดลลีก็รถติดไม่น้อยหน้ากรุงเทพเหมือนกัน
      หลังทั้งสองกลับมาขึ้นรถพร้อมใบสั่ง ฉันถามจิมมี่ว่าต้องเสียค่าปรับเท่าไหร่ เขาบอกว่า 2,000 รูปี และต้องขึ้นศาลด้วย นับว่าเป็นการโชว์เพา (power) ของตำรวจอินเดียให้เราเห็นเป็นครั้งแรก ดุดัน เด็ดขาด ไม่มีข้อต่อรอง มันต้องยังงี้สิ คนจะได้ไม่กล้าทำผิดแล้วใช้วิธีติดสินบนเพื่อพ้นผิดแบบบางที่