ฉันได้กลับไปร้านหนังสือ
Paramouth ตรงถนนจันปาทที่เคยแวะเมื่อมาเดลลีครั้งก่อน
จำเจ้าของร้านได้ดี ชายหนุ่มวัยกลางคน
พูดจาสุภาพ มีความรู้เรื่องหนังสือค่อนข้างดี
“สวัสดีค่ะ
ฉันเคยมาร้านคุณแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน แล้วฉันยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับร้านคุณเลย”
“ขอบคุณมากนะครับ
ผมดีใจจริงๆ ที่คุณกลับมาอีก” เขาตอบพร้อมรอยยิ้มอบอุ่นจริงใจ
นฐขอให้เขาหาหนังสือเกี่ยวกับของมงคลของทิเบต
8 ส่ิง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ
ความหมายก่อนที่จะกลับไปสักรูปของมงคลรูปหนึ่งที่เขารู้สึกผูกพันและศรัทธา
ส่วนฉันขอให้เขาแนะนำหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธแบบมหายานและข้อมูลเกี่ยวกับลาดัคห์เพื่อที่จะใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการเขียนหนังสือเล่มนี้
เราใช้เวลาอยู่ที่ร้านหนังสือครู่หนึ่งแล้วก็เดินต่อไปตรงละแวกที่ขายของประเภทผ้า
ตั้งแต่ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ กระเป๋า เสื้อ กระโปรง ภาพวาด เครื่องประดับ เครื่องหนัง
รองเท้า ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มาเดินซื้อของก็มักเป็นนักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ขายแถวนี้ก็เลยตั้งราคาสูงเป็นพิเศษ
จิมมี่แอบกระซิบว่าถ้าจะซื้ออะไรให้ต่ออย่างน้อยครึ่งหนึ่งเลย ที่จันปาทนั้นเหมาะกับคนที่มีเวลาเหลือ มีความอดทนสูงและรู้สึกสนุกกับการต่อรองราคา
นฐสนใจกระโปรงสีสดใสที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับพี่สาวคนหนึ่ง แต่เมื่อถามราคาคนขายบอกตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเขาจึงลอง
ต่อรองดูแต่คนขายไม่ยอมลดให้ เราเลยเดินจากมา
“คุณๆ
ตกลง 800 รูปีก็ได้” เขาวิ่งตามเรามาไกลทีเดียวพร้อมกระโปรงใส่ในถุงเรียบร้อย
เมื่อนฐหยิบเงินจ่ายให้เขา
เขาก็เรียกร้องเงินเพ่ิมอีก ทำให้นฐไม่พอใจมากที่มาเล่นกลโกงแบบนี้ ก็เลยไม่ซื้อแล้วเดินจากมา ความจริงเขาไม่น่าทำแบบนั้นเลย
ถ้าเขาไม่พอใจในราคาที่ตกลงกันเขาไม่ต้องขายก็ได้ ความโลภไม่ได้ทำให้ใครได้อะไรเยอะขึ้นเลย
จิมมี่พาเราเดินไปยังคอนนอต
เพลส (Connaught Place) ซึ่งเป็นย่านการค้าและธุรกิจหลากหลาย ถูกสร้างในช่วงที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษทำให้รูปแบบของสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
ตัวตึกเป็นสีขาวและไม่สูงนัก มีร้านค้ามากมายให้ได้เลือกซื้อ แถมมีร้านชื่อเดียวและโลโก้เดียวกันกับห้างฯ
ดังที่เมืองไทยด้วย ขายของประเภทผ้าต่างๆ แต่ราคานั้นค่อนข้างจะสูง และไม่ใช่สไตล์ที่ฉันต้องการ
จิมมี่ออกไอเดียว่าจะพาเราไปที่
Main Bazaar หรือชื่อเต็มคือ Paharganj Bazaar ซึ่งเป็นถนนที่ขายของพื้นเมืองทั่วๆ
ไป ราคาไม่แพงและเป็นย่านที่พวกแบคแพค (Backpacker) นิยมมาอยู่กัน พูดคำนิยามง่ายๆ
ก็คือ ถนนข้าวสาร ณ กรุงเดลลี นั่นเอง
“คุณอยากขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินมั้ย”
จิมมี่ถาม
“อยากสิ”
เราตอบด้วยความตื่นเต้นเพราะเราเดินทางด้วยพาหนะมาเกือบทุกอย่างแล้วตั้งแต่เครื่องบิน
รถยนต์ อูฐ ม้า และเรือ
เขาพาเราไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินตรงสถานีใกล้ๆ
กับคอนนอตเพลส โชคดีที่ไปเพียงแค่ป้ายเดียวเพราะตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนคือ
5 โมงเย็น ผู้คนต่างหลั่งไหลใช้รถใต้ดินกันอย่างคึกคัก เราเข้าไปยืนโดยถูกโอบล้อมไปด้วยแขกล้วนๆ
กลั้นหายใจไม่นานนักก็ถึงสถานีตรงย่าน Main Bazaar ถนนข้าวสารเดลลีนี้เป็นถนนเล็กๆ
ทอดเป็นแนวยาวกว่า 1 กิโลเมตร
สองข้างทางอัดแน่นไปด้วยร้านค้ามากมายและมีทุกอย่างขายจริงๆ
เสื้อผ้า ร้านหนังสือ ร้านซีดี ร้านธูปหอม ร้านขนมนมเนย เกสท์เฮ้าส์ ฯลฯ อีกมากมาย
ผู้คนที่เดินขวักไขว่กันตรงนั้นมีทั้งชาวท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ฉันรู้สึกชอบถนนนี้เหมือนกันเพราะมันดูตื่นเต้นดี
มีสีสัน กลิ่นและเสียงครบรส
ฉันเหลือบไปเห็นลูกบิดประตูที่ทำจากเซรามิคสไตล์อินเดียจึงชักชวนให้นฐซื้อกลับบ้านเพราะเขากำลังตกแต่งคอนโดฯ
ใหม่
แต่พอแขกบอกราคามาตกใจแทบแย่
“อันละ
12 รูปี โหลละ 144 รูปี”
“ฮ้า
เท่าไหร่นะ” ฉันนึกว่าหูฝาด
“12
รูปี ครับ คุณเข้าไปเลือกในร้านด้านในได้เลย”
อึ้งไปกับราคาเพราะมันถูกกว่าที่ฉันเคยซื้อที่เมืองไทยเป็น
10 เท่าเลย แปลว่าฉันสามารถซื้อในราคา 1 ชิ้น แต่ได้ของ 1 โหล อีนี่ถึงแม้ว่าฉานจะยังไม่มีที่ติดแต่ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว
ซื้อไปวางดูเล่นก็ยังดี ว่าแล้วก็เดินเข้าตรอกข้างๆ ร้านเขาไปยังห้องเก็บของด้านหลัง เราเลือกๆๆ
และได้ลายที่ถูกใจมาคนละหลายชิ้น ค่อนข้างแฮ้ปปี้ที่ได้ซื้อของราคาถูกทำให้ถูกใจกับตลาดนี้มากขึ้นไปอีก
เราเดินอีกซักพักก็ต้องยอมแพ้กับอากาศที่ค่อนข้างร้อนและฝุ่นที่ตลบ แม้ว่าเรายังเดินไปไม่สุดถนนก็ตาม
ว่าแล้วก็หาที่นั่งพักดื่มอะไรเย็นๆ
ซะหน่อย เราเลือกร้านคาเฟ่ร้านหนึ่งตรงต้นถนน สั่งเครื่องดื่มเย็นกันคนละแก้ว ณ เวลานั้นไม่กลัวท้องเสียแล้ว
“ผมว่าเธอยังไม่มีความสุขนะ”
จิมมี่แอบนินทาฉันกับนฐเสียงดัง
“เธอคงยังนั่งนึกถึงร้าน
Fab India และ Anoukhi อยู่ คงนึกในใจว่ายังไม่ได้ซื้อของที่ต้องการ ไหนจะของฝากอีก”
ฉันหัวเราะ
“เดี๋ยวผมพาคุณไปที่ร้านทั้งสองแล้วกัน
โอเคมั้ย”
“ที่ไหนเหรอ
ก็มันปิดไม่ใช่เหรอ”
“ก็ผมบอกคุณแล้วว่าจะพาไปอีกสาขาแต่คุณไม่เชื่อ”
“แหม
ก็ใครจะไปรู้ล่ะว่ามีหลายสาขา”
เมื่อเราหายเหนื่อยแล้วจึงตัดสินใจไปช้อปปิ้งต่อ
จิมมี่เรียกรถมารับพาเราไปยัง Khan Bazaar ที่นี่เป็นแหล่งรวมร้านค้าชั้นดี ไม่ใช่เฉพาะเสื้อผ้า
แต่มีของแต่งบ้าน ร้านหนังสือ
ร้านอาหาร ไม่จอแจเหมือนตลาดอื่นๆ แต่ของส่วนใหญ่เป็นราคาตายตัว ต่อรองไม่ได้
แน่นอนที่สุดฉันพุ่งตัวตรงไปยังสองร้านที่ต้องการมาและได้ของอย่างที่ตั้งใจไว้
ของที่นี่สวยและมีคุณภาพดีแต่ราคาก็ดีตามไปด้วย ที่สำคัญเราไม่ต้องเหนื่อยกับการต่อรองหรือคิดว่าจะถูกหลอก
คุณภาพดูจากสิ่งที่ตาเห็นแล้วยังสามารถใช้บัตรเครดิตในการซื้อของได้อีกด้วย
รู้งี้มาตั้งแต่แรกก็ดีไม่น่าจะระแวงตาจิมมี่มากไปเลย คราวนี้ถือว่าได้แวะเวียนเยี่ยมชมตลาดหลายที่แต่ก็ยังไม่ครบทุกตลาดยอดฮิต
ณ กรุงเดลลี อยู่ดี ทุกคนรู้สึกประทับใจกับการช้อปปิ้งที่เดลลีมากคิดกันว่าคงต้องกลับมาใหม่ถ้าได้มีโอกาสมาอินเดียอีก
เมื่อได้ของตามที่ตั้งใจไว้ความเหนื่อยเริ่มมาเยือน
ฉันเร่ิมระลึกได้ว่ากระเป๋าอาจมีที่ใส่ไม่พอแถมน้ำหนักก็อาจจะเกิน 20 กิโลกรัมตามที่สายการบินกำหนดไว้เลยเร่ิมเตือนสติตัวเองให้หยุดได้แล้ว
ประกอบกับถึงเวลาทานข้าวเย็นแล้วจึงตัดสินไปที่ร้านอาหารที่ทางทัวร์จัดไว้ให้
นั่งรถไปซักพักก็มาถึงร้าน
มื้อสุดท้ายที่นี่เป็นอาหารจีน ฉันไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงจัดเมนูจีนให้นักท่องเที่ยวในวันสุดท้ายซะทุกครั้งไป
อาจจะเป็นความหวังดีอยากให้ได้กินอาหารประเภทอื่นบ้างที่ไม่ใช่อินเดียน ไหนๆ ก็จะกลับบ้านแล้ว
แต่กลับกลายเป็นว่าอาหารจีนปรุงโดยแขกนั้นมันรสชาติพิลึกส้ินดี มื้อนี้ฉันจึงไม่ค่อยจะเจริญอาหารนัก
เรานั่งพักกันต่ออีกซักพักนึงก็ตัดสินใจไปที่สนามบินเพื่อที่จะจัดกระเป๋าใหม่อีกครั้งโดยจัดเรียงของที่ซื้อมาเพ่ิมทั้งหมดให้ได้
สนามบินใหม่ที่โอ่โถงมีพื้นที่ให้เราได้เปิดและจัดกระเป๋าอย่างสบายๆ
ไม่ต้องกังวลต่อสายตาใคร แต่เมื่อนฐเปิดกระเป๋าเดินทางใบเล็กออกเขาก็ต้องพบกับเรื่องที่ไม่อยากเชื่ออีกครั้ง
“เงินไทยที่ผมใส่ไว้ในช่องนี้หายไป”
“ฮ้า
จริงเหรอ ลองหาดูตรงช่องอื่นๆ รึยัง” ฉันถาม หันไปมองหน้ากับพี่ลี
เราช่วยกันค้นทุกซอกทุกมุมของกระเป๋า
แต่ผลคือ … ไม่เจอ ไม่น่าเชื่อว่านฐจะโชคร้ายซ้ำซากขนาดนี้
เขารู้สึกขุ่นเคืองและโกรธคนที่เอาเงินไป
เมื่อนึกทบทวนดูแล้วเหตุน่าจะเกิดช่วงชุลมุนที่เขาถูกค้นกระเป๋าที่ศรีนาการ์
“นฐ
พี่ว่าทำใจให้สงบก่อน อย่าเพิ่งเดาว่าเป็นใครเลย เราไม่มีหลักฐานเพราะฉะนั้นเราจะเหมาเอาว่าคนๆ
นั้นเค้าเอาไปไม่ได้ มันจะทำให้ใจเราเคียดแค้นและไม่สบายใจเปล่าๆ
เป็นบาปในใจเราอีกต่างหาก” ฉันพยายามพูดให้เค้าสงบลง แต่ก็รู้ทั้งรู้ว่ามันคงทำใจได้ยากที่จะยอมรับว่าเขาเป็นคนเดียวที่ซวยในทริปนี้
หายแล้วก็หายอีก
ฉันกับพี่ลีไม่ได้พูดอะไรมากเพราะไม่อยากกระตุ้นอารมณ์เขา
ปล่อยให้เขาใช้เวลาสงบสติอารมณ์ก่อน
“มันเป็นทริปที่ผมต้องจำไปตลอดเลย
เดินทางมาที่นี่เป็นประเทศที่ 30 แล้วผมไม่เคยกระเป๋าตังค์หายเลย” เขาคงซึ้งกับทริปอินเดียไปอีกนาน
“เอางี้สิ
เพื่อความสบายใจ นฐลองแจ้งไปทางสายการบินคิงฟิชเชอร์ดู ให้เขาลองตรวจสอบ พี่ว่าที่ศรีนาการ์น่าจะมีโทรทัศน์วงจรปิดนะเพราะเขาเข้มงวดกับการตรวจผู้โดยสาร
ขนาดนั้น อาจจะมีหลักฐานอะไรหาตัวคนผิดก็ได้
แต่ก็ต้องทำใจเผื่อไว้ด้วยนะว่าอาจจะไม่ได้
เงินคืน แต่ถ้าเราคิดว่าเราได้พยายามทำถึงที่สุดแล้วมันก็น่าจะโอเคนะ
ถือเป็นการร้องเรียนด้วย”
“เดี๋ยวผมกลับไปผมจะเขียนอีเมล์อย่างละเอียดเลย
เดี๋ยวต้องถ่ายรูปพวกหลักฐานต่างๆ ไว้ก่อนเพื่อแนบไปด้วย ผมไม่คิดว่าผมจะได้เงินคืนหรอกถือเป็นคราวซวยของผมเอง
ผมก็สะเพร่าเองด้วยแหล่ะ ไม่น่าจะใส่เงินไว้ตรงนั้น” เขาเร่ิมลงมือถ่ายรูปพวกป้ายที่ติดกระเป๋าต่างๆ และตั๋วเครื่องบินจากศรีนาการ์มาเดลลี
เขานั่งหน้าเซ็งอยู่พักใหญ่
ฉันกับพี่ลีก็พลอยนั่งเงียบไปด้วย รู้สึกสงสารน้อง ในใจคิดว่าคงมีใครเล่นตลกกับโชคชะตาของเขาหรือมันเป็นบทเรียนบางอย่างที่มีใครอยากบอกเขากันนะ
เรานั่งรออยู่พักใหญ่กว่าจะได้เช็คอินเข้าไปด้านในและรอเพื่อขึ้นเครื่องกลับไปยังบ้าน
ที่แท้จริงของเรา
ต่างคนต่างความรู้สึก จุดหมายในการมาก็ต่างกัน ส่ิงที่ได้พบเจอและได้สัมผัสก็ต่างกัน
แต่สำหรับการกลับไปนั้นเราคงมีความรู้สึกคล้ายๆ กันก็คือกลับไปสู่โลกของความเป็นจริง
โลกของความฝันคงต้องหยุดไว้แต่เพียงแค่นี้ และเมื่อโอกาสและเวลาเดินทางมาพบกันอีกครั้งความฝันครั้งใหม่คงจะได้เริ่มต้นขึ้น