กาฐมาณฑุมีที่ให้เที่ยวชมมากมายเนื่องจากเป็นเมืองหลวง ความจริงกาฐมาณฑุเคยเป็นราชธานีนามว่า “กัณติเปอร์” (Kantipur) เมื่อครั้งยังเป็นนครที่เป็นอิสระในสมัยการปกครองของราชวงศ์มัลละ (Malla Dynasty) ในช่วงศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นยุคที่สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรมที่เห็นในปัจจุบันได้เริ่มก่อสร้างขึ้น ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองมาก ก่อนที่จะถูกยึดครองโดยราชวงศ์ “ชา” (Shah dynasty ) ในช่วงศตวรรษที่ 14 ซึ่งได้รวมรัฐต่างๆ เข้าด้วยกันก่อตั้งเป็นประเทศเนปาลและตั้งให้กาฐมาณฑุเป็นเมืองหลวงตั้งแต่นั้นมา
ระหว่างวันเราไปเที่ยวกันแถว “ดูร์บาร์สแควร์” (Durbar Square) ซึ่งเป็นจตุรัสในย่านเมืองเก่าที่มีวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณตั้งอยู่ ในครั้งนั้นเรายังไม่ต้องเสียเงินค่าเข้าชม สามารถเตร็ดเตร่เที่ยวชมความงามของวัดและวังได้อย่างสบายใจ แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต้องเสียค่าผ่านทางคนละ 200 รูปีต่อวัน และถ้าอยากจะมาหลายหนในช่วงระหว่างที่อยู่ที่เนปาล ต้องไปทำเรื่องที่ออฟฟิสนักท่องเที่ยวซึ่งเมื่อแจ้งจำนวนวันที่จะพักอยู่ที่กาฐมาณฑุ พนักงานจะประทับตราบนตั๋วคล้ายๆ เป็นวีซ่าระยะเวลาในการผ่านเข้าออกได้ตามจำนวนวัน อ้อ...อย่าลืมพกพาสต์ปอร์ตและรูป 1 ใบไปด้วย
ในบริเวณดูร์บาร์สแควร์นั้นมีสถาปัตยกรรมแบบโบราณที่สวยงามมาก บางส่วนถูกบูรณะขึ้นใหม่เพราะถูกทำลายโดยแผ่นดินไหวในปีค.ศ 1934 และเนื่องมาจากความสวยงามที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะและวัฒนธรรมยุคโบราณที่หายาก องค์การยูเนสโกจึงอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลกในปีค.ศ 1979
วัดแต่ละวัดมีรูปแบบและชื่อที่แตกต่างกันออกไปอยู่ที่ว่าวัดนั้นบูชาเทพเจ้าองค์ไหน ซึ่งถ้ามีความเข้าใจในศาสนาฮินดูซักนิด ก็จะสังเกตและคาดเดาได้ไม่ยาก เช่น วัดที่บูชาพระศิวะก็จะมีรูปปั้นวัวอยู่ด้านหน้าวัด เพราะว่าวัวเป็นพาหนะของพระศิวะนั่นเอง หรือถ้าด้านหน้ามีรูปครุฑก็คือพาหนะของพระวิษณุ ถ้าเห็นรูปปั้นหนูก็รีบตรงเข้าไปไหว้และขอพรจากพระพิฒเนศได้เลย
ก่อนอื่นต้องขอพูดถึง Kasthamandap ซึ่งเป็นชื่อที่มาของเมือง อ่านได้เสียงว่า “กาสทามันดาบ” (กาฐมณฑป) ในภาษาท้องถิ่น แต่พวกฝรั่งเรียกกันเพี้ยนๆ กลายเป็น “กาฐมาณฑุ” ในที่สุด ซึ่งจริงๆ ก็ใกล้เคียงกับภาษาไทยคือ “มณฑป” ซึ่งแปลว่าเรือนที่มียอดรูปสี่เหลี่ยมนั่นเอง รูปร่างหน้าตาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้มีความอลังการกว่าวัดอื่นๆ แต่อย่างใด แต่เพราะว่าที่นี่เป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมแบบโบราณจึงมีความสำคัญค่อนข้างมาก เชื่อกันว่ากาฐมณฑปนั้นสร้างจากไม้ต้นเดียวเท่านั้น ในสมัยก่อนใช้เป็นที่ชุมนุมของชาวเมืองก่อนที่จะทำพิธีกรรมต่างๆ แต่ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการใช้จนกลายเป็นวัดบูชาเทพเจ้า “โกรัคนาถ” (Gorakhnath) ในที่สุด
ส่วนอีกที่ที่ต้องไปเยี่ยมชมพลาดไม่ได้ก็คือ “บ้านของกุมารี” (Kumari Bahal) ซึ่งภายในนั้นมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม หน้าต่างประตูไม้ถูกสลักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง ถ้ามาในช่วงเย็นๆ ประมาณบ่าย 4 โมง ก็อาจได้พบเจ้าของบ้าน (กุมารี) ซึ่งจะโผล่หน้าออกมาจากชั้นสองให้นักท่องเที่ยวได้ยลโฉมเป็นเวลาไม่กี่วินาที แต่ห้ามถ่ายรูปท่านนะ ดูได้แต่ตาและบันทึกไว้ในใจเท่านั้น กุมารีที่กาฐมาณฑุนี้เป็นกุมารีหลวง มีหน้าที่ทำงานและออกงานหลายอย่าง มีส่วนสำคัญต่อพิธีกรรมและเทศกาลพื้นเมืองอย่างมาก ที่เมืองอื่นๆ ก็จะมีกุมารีประจำเมืองเหมือนกัน แต่องค์ที่สำคัญที่สุดคือที่กาฐมาณฑุ
กุมารีถือเป็นเทพเจ้าที่มีชีวิตอยู่ในร่างเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ มีหลายความเชื่อเกี่ยวกับที่มาที่ไปของกุมารี บ้างเชื่อว่าเป็นการกลับชาติมาเกิดของเทพเจ้า “กัญญา กุมารี” (Kanya Kumari) แต่ความเชื่อที่ค่อนข้างแพร่หลายหน่อยเห็นจะเป็นเรื่องที่ว่า กษัตริย์ในราชวงศ์มัลละพระองค์หนึ่งมักจะชอบเล่นหมากรุกกับเทพเจ้า “ตาเลจู” (Taleju) อยู่เสมอๆ ซึ่งเป็นเทพที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองหุบเขาบริเวณนี้และมีครั้งหนึ่งที่พระองค์เล่นได้ดีจนเกือบจะชนะเทพตาเลจู เลยทำให้ท่านเกิดอาการไม่พอใจและขู่ว่าจะเลิกคุ้มครองดินแดนแถบนี้ ต้องอ้อนวอนขอร้องเป็นการใหญ่และในที่สุดท่านก็หายโกรธและให้สัญญาว่าจะกลับมาคุ้มครองบ้านเมืองอีก แต่จะมาในร่างของเด็กผู้หญิง จึงเป็นธรรมเนียมที่ต้องหาตัวแทนของเด็กหญิงมาเป็นเทพกุมารีอยู่คุ้มครองบ้านเมือง
การจะเป็นกุมารีนั้นไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นกันได้แต่ต้องได้รับการคัดเลือกจากเด็กที่มีความเหมาะสมด้วยคุณสมบัติทุกประการตามที่ตั้งไว้ และมีเพียงบางสกุลเท่านั้นที่จะได้รับคัดเลือกเป็นกุมารี คือสกุลศากยะ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระวงศ์ของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังต้องมีการทดสอบอย่างพิถีพิถันอีกด้วย คร่าวๆ ก็คือว่าเด็กหญิงที่ได้รับการคัดเลือกมานั้นจะต้องเข้าไปอยู่ภายในห้องมืดที่มีสิ่งน่าสยองขวัญต่างๆ เช่น มีเสียงประหลาดน่ากลัว คนใส่หน้ากากภูติผี หัวควายที่ถูกเชือดแล้ว ถ้าเด็กหญิงคนไหนเกิดตกใจกลัวขึ้นมาก็จะถูกคัดออก เพราะถือว่าใจเสาะเกินไปที่จะเป็นเทพเจ้าได้ แต่ถ้าใครที่อยู่ในความสงบนิ่งไม่ตื่นกลัวกับสิ่งที่ได้เจอ ก็จะผ่านการทดสอบไปเป็นกุมารี เชื่อกันว่าคนที่เป็นกุมารีนั้นก็คือกุมารีคนเดิมในอดีตกลับชาติมาเกิด ในการทดสอบขั้นสุดท้ายเด็กหญิงจึงต้องเลือกของใช้ส่วนตัวที่เคยเป็นของกุมารีในชาติก่อน ถ้าเลือกถูกก็แสดงว่าถูกตัว
เด็กหญิงที่ได้รับคัดเลือกเป็นกุมารีจะต้องย้ายตัวเองพร้อมกับครอบครัวเข้าไปอยู่ในบ้านของกุมารี และมีหน้าที่ทางศาสนาที่สำคัญหลายอย่าง ไปไหนมาไหนไม่ต้องเดินเอง มีคนแบกหามไป เพราะเท้าของกุมารีจะไม่สามารถสัมผัสพื้นได้ เวลามีงานเทศกาลก็จะมีรถแห่กุมารีไปรอบเมือง หน้าที่นี้จะหมดลงก็ต่อเมื่อเธอมีประจำเดือนหรือมีอุบัติเหตุทำให้เลือดไหลออกจากตัวนั่นถือว่าหมดอายุการเป็นกุมารีเป็นอันหมดหน้าที่ ก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติสามัญได้ ส่วนใหญ่กุมารีมักไม่ค่อยได้แต่งงานเพราะคนเชื่อว่าจะทำให้โชคร้าย คล้ายๆ ว่าดวงไม่แข็งเท่า กุมารีได้รับการเคารพจากชาวเมืองอย่างมากรวมไปถึงกษัตริย์เองก็ยังต้องให้กุมารีให้พรในงานพิธีสำคัญๆ กุมารีได้รับเงินเดือนจากทางวัดรวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ ในยุคใหม่นี้มีการจ้างครูมาสอนหนังสือให้ถึงที่บ้าน จะได้มีความรู้ติดตัวเมื่อถึงคราวหมดวาระ จะได้ออกมาใช้ชีวิตปกติเหมือนเด็กหญิงทั่วๆไปได้ง่ายขึ้น
“วัดพระศิวะและภาวาติ” (Shiva-Parvati Temple) เป็นอีกหนึ่งในวัดที่น่ารัก น่าถ่ายรูปตรงที่ หน้าต่างชั้นสองนั้น พระศิวะและชายายื่นหน้าออกมาจากหน้าต่างเพื่อดูความเป็นไปด้านล่าง ใครมาใครไปอย่าลืมผ่านไปทักทายท่านทั้งสอง
วัดบางวัดที่เนปาลนี้มีการแกะสลักภาพท่าทางการมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ไว้บนคานไม้ แต่ไม่โจ่งแจ้งเท่าที่อินเดีย (กามสูตร) เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของรูปปั้นหลัก ต้องลองไปสังเกตกันเอาเอง บางที่มักมีสีสันต่างๆ กันไป ส่วนเหตุผลในการสลักไว้ตามวัดนั้นไม่มีระบุไว้แน่ชัด
“หนุมาน โดกา” (Hanuman Dhoka) เป็นพระราชวังเก่าตั้งแต่สมัยราชวงศ์มัลละหรือย้อนกลับไปศตวรรษที่ 17 สองข้างประตูทางเข้ามีสิงโตหินซึ่งเป็นพาหนะที่พระศิวะ (Shiva) และชายา พระนางภาวาติ (Parvati) ประทับอยู่ด้านละพระองค์ ส่วนด้านบนประตูตรงกลางเป็นรูปปั้นพระกฤษณะปางดุร้าย ด้านซ้ายคือปางเมตตา ส่วนด้านขวาคือรูปปั้น กษัตริย์ “ประทับ มัลละ” (Pratap Malla) และพระชายา บริเวณด้านในเป็นส่วนของวัง ถ้าจะผ่านเข้าไปต้องเสียเงินค่าเข้า 250 รูปี ห้ามนำกล้องถ่ายรูปเข้าไป ด้านซ้ายของทางเข้าจะมีรูปปั้นหนุมานสีแดงถูกคลุมด้วยผ้าสีแดงและมีร่มกางไว้เหนือศรีษะ หน้าและลำตัวเป็นสีแดงจนไม่เหลือเค้าโครงให้เห็นเพราะได้รับการป้ายด้วยผงสีเพื่อเป็นการแสดงสักการะแด่เทพเจ้าองค์นี้ ไปที่ไหนๆ ในเนปาลมักจะสังเกตเห็นหนุมานได้ชัดเจน (แต่ไม่เคยเห็นหน้าชัดๆซักที) เพราะมักมีผ้าสีแดงนี่แหล่ะคลุมรูปปั้นไว้เสมอๆ หนุมานถือเป็นเทพอีกหนึ่งองค์ที่ได้รับการนับถือในศาสนาฮินดูด้วยเหมือนกัน ที่เนปาลนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นประเทศที่การนับถือศาสนาพุทธและฮินดูอยู่ปะปนและกลมกลืนกันอย่างไม่มีข้อขัดแย้ง บางทีไปวัดพุทธก็เห็นเทพเจ้าฮินดูประทับอยู่ พอไปวัดฮินดูก็มีพระพุทธรูปประทับอยู่เหมือนกัน
สถาปัตยกรรมที่สวยอลังการน่าประทับใจในบริเวณดูร์บาร์สแควร์สำหรับฉันเห็นจะเป็น “วัดตาเลจู” (Taleju Temple) ที่สร้างในสมัย “พระเจ้ามเหนทรา” (Mahendra Malla) ในปีค.ศ 1564 เทพตาเลจูจริงๆ แล้วเป็นเทพเจ้าจากอินเดียตอนใต้ แต่ได้รับการสักการะและถือเป็นเทพเจ้าประจำราชวงศ์มัลละ วัดตาเลจูนั้นมีขนาดใหญ่และมีความสูงค่อนข้างมากมื่อเทียบกับวัดอื่นๆ สูงถึง 35 เมตร ซึ่งในสมัยก่อนห้ามสร้างบ้านเรือนที่มีขนาดสูงเกินวัดนี้เด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะเป็นอัปมงคลแก่ชีวิต วัดจะถูกปิดไว้เสมอไม่อนุญาตให้คนเข้าไปชมในระยะใกล้ชิด ต้องชโงกดูจากภายนอกรั้ว แม้แต่คนเนปาลเองก็เถอะ มีโอกาสเข้าไปแค่ช่วงเทศกาลที่สำคัญเท่านั้น เสียดายที่บริเวณด้านหน้านั้นมีร้านค้าขายของเกลื่อนตาทำให้เสียทัศนียภาพที่สวยงามไปบ้าง
รูปปั้นที่โดดเด่นที่อยู่ใกล้ๆวัดตาเลจูก็คือ “ไพราพสีดำ” (Kala Bhairab) ที่เชื่อกันว่าถูกแกะจากหินก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว และถูกพบในท้องทุ่งด้านเหนือของเมือง จึงได้นำมาเป็นรูปเคารพที่จตุรัสแห่งนี้ตั้งแต่สมัยกษัตริย์ประทับ มัลละ ไพราพนั้นคือพระศิวะปางดุร้าย จึงมีสีดำ มี 6 แขน แขวนมาลัยที่ทำจากกะโหลกคน และยืนอยู่บนศพซึ่งเป็นตัวแทนของความเขลาเบาปัญญา (ignorance) เชื่อกันว่าถ้าใครพูดโกหกต่อหน้ารูปปั้นไพราพ จะตายในทันที บ่อยครั้งจึงมีคนถูกนำมาสาบานต่อหน้าไพราพ แหม … มาอยู่เมืองไทยหน่อยไม่ได้ จะจับนักการเมืองไทยไปสาบานกันให้รู้แล้วรู้รอด
ความจริงบริเวณจตุรัสแห่งนี้ มีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจอีกมากมาย ต้องค่อยๆ ใช้เวลาเดินดูชมกันไป แล้วแต่ว่าใครจะประทับใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แบบไหน ขืนเล่าทั้งหมดมีหวังเรื่องนี้คงยาวยืดเป็นบล็อกประวัติศาสตร์เป็นแน่ ถ้าอยากรู้รายละเอียดลึกซึ้งจริงๆ แนะนำให้ไปอ่านจากไกด์บุ๊คหรือในเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลโดยละเอียด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น