01 เมษายน 2554

6. พิชิตเอเวอเรส

     ตกเย็นเรารวมตัวกันในหมู่คนที่อยู่เที่ยวเนปาลต่ออีกหนึ่งวัน รวมแล้วได้ 9 คน เช่ารถขึ้นไป “นาการ์ก็อต” (Nagarkot) เพื่อชมพระอาทิตย์ตกเหนือหุบเขาหิมาลัย นาการ์ก็อตอยู่ห่างจากกาฐมาณฑุออกไปไม่ไกล ประมาณ 32 กิโลเมตร นั่งรถไปแค่ประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึง มีรถประจำทางขึ้นไปเหมือนกันแต่วิ่งไม่ถี่นัก บางคนก็ถือโอกาส trekking ระยะสั้น ได้บรรยากาศไปอีกแบบ ระหว่างเดินขึ้นหรือลงอาจจะเจอเพื่อนร่วมทางเป็นชาวบ้านหรือเด็กนักเรียนที่เดินไปหรือกลับจากโรงเรียน ถ้าให้ดีก็ควรค้างบนนั้นซักคืน มีโรงแรมและเกสเฮ้าต์ให้เลือกมากมาย จะได้ดูพระอาทิตย์ทั้งตอนที่ท่านขึ้นมาให้แสงสว่างกับชาวโลกและตอนที่จากลาเราไป เป็นความงามที่แตกต่าง
     นาการ์ก็อตสูงประมาณ 2,000 กว่าเมตร ถนนทางขึ้นค่อนข้างวกวนทำให้ฉันรู้สึกคลื่นไส้อย่างมากหรืออาจเป็นเพราะท้องกิ่วจากอาการหิวข้าวก็ไม่รู้ นั่งพะอืดพะอมไม่ยอมบอกใคร แต่พอขึ้นไปถึงยอดแล้วอาการก็หายไปโดยปลิดทิ้ง ด้วยวิวที่สวยจับใจ อากาศที่เย็นและบริสุทธิ์สูดเข้าปอดไปเติมออกซิเจนที่ขาดไปได้อย่างดีเยี่ยม เราไปนั่งจิบชาเนปาลอุ่นๆ และอาหารดับความหิวกันที่ร้านอาหารชื่อ “Tea House”




     ปกติฉันเป็น beach girl คือว่างเป็นไม่ได้ต้องไปทะเล พอไปแล้วก็อยู่บนหาดทรายสลับกับในน้ำทะเลแทบจะทั้งวัน ภูเขาสำหรับฉันนั้นเหมือนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อแสดงความรู้สึกยิ่งใหญ่ แต่กลับห่างเหิน ไกลตัว แต่นาการ์ก็อตทำให้ความรู้สึกของฉันเปลี่ยนไป ทิวเขาที่อยู่ตรงหน้าและไกลออกไปนั้นดูมีพลังและดึงดูดให้ฉันต้องหลงใหลอย่างประหลาด เราใช้เวลาอยู่บนนาการ์ก็อตกันพักใหญ่จนพระอาทิตย์ตกดินเก็บภาพสวยแล้วจึงกลับลงไป
     วันรุ่งขึ้นเราต้องตื่นแต่เช้าอีกหนเพื่อไปซ่อมทริปนั่งเครื่องบินไปดูยอดเอเวอเรส ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับทุกคนอย่างมาก ทำให้พอจะเข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงต่างใฝ่ฝันที่จะไปให้ถึงยอดเอเวอเรสให้ได้ แม้ว่ามันจะยากลำบากเพียงใด ต้องอดทน ฟันฝ่ากับความโหดร้ายของธรรมชาติ ความหนาวเย็น อากาศที่เบาบางมีออกซิเจนเพียงน้อยนิด นักปีนเขาต้องแลกกับหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อที่จะไปให้ถึงแม้แต่ …ชีวิต คนแถบหิมาลัยนี้เชื่อว่าภูเขาเป็นที่สถิตของเทพเจ้า ภูเขาจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วย เอเวอเรสนั้นสามารถไต่ได้ทั้งจากฝั่งทิเบตและเนปาล และเป็นหนึ่งกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเนปาลอย่างมาก





     มีความพยายามหลายครั้งหลายหนของผู้คน ทีมงานจากประเทศต่างๆที่จะไปให้ถึงเพื่อที่จะประกาศกับชาวโลกว่าได้ไปถึงยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก มนุษย์มักชอบเรื่องท้าทายธรรมชาติเสมอ และในที่สุด Edmund Hillary จากประเทศนิวซีแลนด์กับไกด์ชาว Sherpa นาย Norgay Tenzing ก็ได้ทำฝันให้เป็นจริง เขาไปถึงยอดสูงสุดของเอเวอเรสในปี 1953 นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และทำให้ชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก แต่คงมีเพียงเค้าทั้งสองเท่านั้นที่รู้ว่าใครไปสัมผัสยอดก่อนกัน เมื่อ Edmund Hillary ตายลงในปี 2008 รัฐบาลเนปาลได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อสนามบินแห่งหนึ่งในเมือง “ลุคลา” (Lukla) ตามชื่อฮิลลารีและเทนซิง (Tenzing-Hillary Airport) ซึ่งเป็นสนามบินที่คนที่จะไปพิชิตเอเวอเรสต้องบินไปลง รวมทั้งชื่อของเส้นทางที่เขาทั้งสองได้ไต่ไปเพื่อพิชิตเอเวอเรสด้วย เพื่อเป็นการให้เกียรติเพราะฮิลลารีได้มีส่วนทำให้เนปาลเป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยกลายเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักผจญภัยทั้งหลาย ที่สำคัญฮิลลารีเองยังได้ก่อตั้งกองทุนสนับสนุนชาวเชอร์ปามาเป็นเวลานาน ทำให้วิถีชีวิตของคนที่นั่นดีขึ้น โรงเรียนและโรงพยาบาลหลายแห่งได้ถูกสร้างขึ้นด้วยทุนนี้
     ในปัจจุบันมีคนมากมายที่พยายามพิชิตเอเวอเรสให้ได้ บางคนก็อยากที่จะทำลายสถิติที่มีคนเคยสร้างไว้ เช่น ขึ้นเอเวอเรสเร็วที่สุด อายุน้อยและมากที่สุด ด้วยดวงตาที่มืดมิด ด้วยการไม่ใช้ออกซิเจน ด้วยการเดินโดยไม่ใช้เครื่องมือปีนเขาช่วย น่าเสียดายที่หลายคนต้องจบชีวิตลงที่นั่น
     ธรรมชาติมีทั้งความสวยงาม อ่อนโยน และโหดร้าย และก็เป็นเหมือนทุกสิ่งในโลกนี้ที่จะไม่คงอยู่ตลอดกาล ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่อาจมีอายุยืนยาวกว่าอายุขัยอันสั้นของมนุษย์ ถ้ายอดเอเวอเรสพูดได้ ก็คงมีเรื่องเล่าจากมุมมองของยอดสูงกว่า 8,000 เมตรที่มองลงมายังโลก มองมายังมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่พยายามพิชิตธรรมชาติ คงมีเรื่องราวอีกมากมายที่มนุษย์อย่างเราไม่อาจรู้ได้ และจะยังคงเป็นความลับของธรรมชาติตราบนานเท่านาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น