25 เมษายน 2554

4. เยี่ยมบ้านเทพเจ้า

     ตาเบิกโพลงขึ้นมาเพราะนาฬิกาส่งเสียงปลุกตอนตีสี่
     ทั้งเหนื่อยทั้งเพลียเนื่องมาจากอาการนอนไม่ค่อยหลับ (เป็นยังงี้ในคืนแรกทุกทีเวลานอนแปลกที่) แต่ก็ต้องลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวเพราะวันนี้เราจะไปดูพิธีไหว้เทพเจ้ากัน
     พี่ธันวาเกรงว่าเราจะเดินกันไม่ไหวเพราะทั้งเช้า ทั้งมืด ทางเดินก็ไม่เรียบเท่าไหร่ เดี๋ยวหกล้มหกลุกไปจะเดือดร้อนหมู่ ก็เลยเรียกแท้กซี่ให้ไปส่งตรงใกล้ๆ บริเวณที่รถแห่จอดอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าผู้คนจะมากันอย่างมากมายทั้งหญิงชายหลายวัย มากันทั้งแบบเดี่ยวแบบกลุ่ม ต่างก็มาด้วยความศรัทธา บ้างก็จุดเทียนเพื่อบูชาเทพเจ้า บ้างก็สวดมนต์ บางกลุ่มมาร้องเพลงเล่นดนตรีซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญเทพเจ้า เมื่อเวลาเดินถึงเกือบๆ ตีห้า เจ้าพนักงานที่อยู่บนรถก็เริ่มทำพิธี ไฮไลต์ของก็คือเขาจะเอากระจกส่องหน้าเทพเจ้าและหันออกมาส่องไปยังประชาชนที่มาเฝ้ารออยู่ด้านหน้าเพื่อให้เป็นสิริมงคล เพราะถือว่าเทพเจ้านั้นมองเห็นแต่สิ่งดีๆ เมื่อหันกระจกออกมาก็เหมือนว่าให้ประชาชนเห็นสิ่งดีนั้นไปด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงพีค ผู้คนจะรับพรกันอย่างตั้งใจ หลังจากนั้นพนักงานก็จะโปรยน้ำเสก ข้าวสารไปยังคนที่มาร่วมพิธี และแจกดอกไม้ที่อยู่บนรถให้ไปใส่บนผมเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นจะทำพิธีเช่นเดียวกันกับเทพเจ้าองค์น้อง



     ฟ้าเริ่มสางผู้คนทยอยกันมากราบไหว้รถแห่กันอย่างไม่ขาดสาย บริเวณแถวๆ นั้นกลายเป็นตลาดขนาดย่อม มีของขายมากมาย พวกดอกไม้และเครื่องบูชาเทพเจ้า ผัก ผลไม้ ของใช้ กำไล รวมทั้งคนที่มาเจิมหน้าผากให้กับคนที่มาร่วมพิธี ฉันเองให้คุณป้าคนหนึ่งเจิมหน้าผากให้เป็นลายสวยงาม ให้ตังค์แกนิดหน่อยเป็นสินน้ำใจ



     การตื่นแต่เช้าตรู่ขนาดนี้ถึงแม้จะง่วงมากแต่อากาศนั้นดีมากๆ เย็นกำลังดี บ้านเรือนอยู่ในความสงบ ไม่จ้อกแจ้กจอแจ แสงแดดยังไม่จ้าทำให้ถ่ายรูปได้สวย เราเดินเยี่ยมชมวัดที่อยู่ในละแวกนั้นกันก่อนที่จะแวะทานชานมกับขนมโรตีสอดไส้เผือกบดรสชาติหวานกลมกล่อมที่ร้านเล็กๆ ระหว่างทางเดินกลับที่พักซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของพี่ตุ๊กมาก พี่ธันวาบอกว่าขนมพวกนี้สำหรับคนเนปาลแล้วต้องมีฐานะดีถึงจะมาทานกัน




     เรากลับไปทานอาหารเช้าที่ซานูเฮ้าส์ซึ่งสาริตาทำข้าวต้มไว้ให้ มีแกงมันรสชาติคล้ายๆ กับแกงส้ม และแพนเค้กแบบเนปาล ช้ินเล็กๆ น่ารัก ทำจากแป้งและถั่ว อร่อยดีมีสุขภาพ คนเนปาลทานถั่วและมันฝรั่งค่อนข้างเยอะเพราะเค้าไม่ทานเนื้อสัตว์กันจึงต้องรับโปรตีนจากอาหารจำพวกถั่ว แล้วก็ต้องกินพวกมันฝรั่งเพื่อให้มีแรง
     ไม่รอช้าให้เสียเวลาเที่ยว เราออกเดินทางกันอีกครั้งเมื่อทานอาหารเช้าเรียบร้อย ที่หมายแห่งแรกคือหนึ่งในสี่เจดีย์ที่พระเจ้าอโศกได้สร้างไว้ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองปาตัน ชื่อว่า “เตตาทุระ”  (Teta Thura) เชื่อกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างเจดีย์ทั้งหมด 
4 องค์ อยู่รอบมุมเมืองในทิศต่างๆ และเป็นจุดที่บ่งบอกถึงอาณาเขตของเมืองปาตันด้วย เจดีย์นี้ถูกปกคลุมไปด้วยหญ้าสีเขียวเหมือนกับอีกสององค์ มีเพียงเจดีย์ที่อยู่ทางทิศเหนือเท่านั้นที่เป็นสีขาว เราเดินรอบเจดีย์ตามเข็มนาฬิกาเพื่อเป็นการทำความเคารพ หลังจากนั้นพี่ธันวาขอไปดูที่ซึ่งตอนนี้ปลูกข้าวโพดเพื่อใช้ทานกันในครอบครัว ที่เหลือจากทานก็นำไปขายเป็นรายได้เพิ่มเติม ส่วนใหญ่คนเนปาลที่พื้นฐานครอบครัวเป็นชาวนามักจะมีที่มากมายและปลูกพืชผักไว้ทานกันเองไม่ต้องเสียตังค์ซื้อหา พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องมีเงินรายได้มากมายในการดำรงชีวิต เพราะเพียงแค่เขาอยู่กันแบบเศรษฐกิจพอเพียง กินใช้เท่าที่จำเป็นก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ ช่วงนี้ตามที่นาเขาจะปลูกข้าวบาร์เล่ย์กัน และอีกไม่นานเมื่อหน้าฝนมาเยือนก็จะเริ่มปลูกข้าวสาลีเรียกว่าสามารถปลูกข้าวทานได้ตลอดทั้งปีทีเดียว   
       
                            
     เราเดินกลับเข้าไปในเมืองกันโดยที่เริ่มสำรวจวัดแรกคือ “อุกุบาฮาล” (Uku Baha หรือ Rudra Varna Mhavihar) เป็นวัดพุทธ มีพื้นที่ภายในวัดค่อนข้างกว้าง และมีรูปปั้นรูปสลักน่าสนใจหลายอย่างรวมไปถึงเสาไม้สลักสีสันสวยงามและเก่าแก่ที่ค้ำหลังคาก็เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวัดนี้ ในสมัยโบราณกษัตริย์จะถูกสวมมงกุฏเพื่อขึ้นครองราชบัลลังค์ที่วัดนี้
     เดินต่อไปไม่ไกลนักในละแวกของร้านขายพระพุทธรูปนั้นมีวัดที่สำคัญอีกแห่งคือวัด "มหาพุทธา" (Mahabouddha) ซึ่งซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางตึก อาจจะต้องมองหาซักหน่อยแต่คงไม่ยากเกินความตั้งใจ วัดนี้มีต้นแบบมาจากวัดมหาพุทธาที่พุทธคยาประเทศอินเดีย สร้างด้วยอิฐสีส้ม มีรูปปั้นพระพุทธเจ้าในช่องต่างๆของตัววัดนับพันรูป ทางทิศใต้นั้นเป็นวัดที่สักการะพระนางมายาเทวี ชาวพุทธคงไม่อยากพลาดวัดนี้เป็นแน่



     เมื่อเดินออกจากประตูมาพี่ธันวาพาเราเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยต่างๆ เพื่อพาไปดูวิธีการสลักรูปปั้นพระพุทธเจ้า เผอิญว่าพี่ชายของเพื่อนพี่ธันวาทำงานเป็นนักแกะสลักมืออาชีพ เราไปที่บ้านเขาโดยไม่ได้นัดหมายแต่โชคดีที่เขาทำงานที่บ้านก็เลยได้เจอเจ้าตัว
     คนเนปาลนั้นเป็นคนง่ายๆ ไม่ค่อยมีพิธีรีตรองอะไรเคร่งครัดเหมือนคนไทย แล้วก็เป็นชาติที่มีน้ำใจต่อแขกผู้มาเยือนอย่างมากจนเรารู้สึกเกรงใจ เมื่อไปถึงเขาต้อนรับขับสู้เราอย่างดี เชิญขึ้นไปนั่งยังด้านบนบ้านซึ่งเป็นห้องทำงานของเขา นำน้ำชา น้ำอัดลมมาต้อนรับอย่างใจดี เขาทักทายเราและถามว่าเรามาจากไหน พี่ธันวาบอกเขาว่าอยากพาพวกเรามาดูแหล่งผลิตรูปปั้นพระพุทธเจ้าจะได้เห็นว่าการสลักแต่ละพระองค์นั้นลำบากยากเย็นขนาดไหน ใช้เวลา ความเชี่ยวชาญ และความอดทนอย่างมากมาย แถมสายตาต้องดีมากๆ เมื่อได้เห็นขั้นตอนแล้วก็ต้องบอกว่าทึ่งมากและเข้าใจทันทีว่าทำไมราคาของแต่ละองค์ถึงสูงมากๆ ยิ่งขนาดเล็กเท่าไหร่ก็ต้องใช้ความละเอียดเพ่ิมมากขึ้นไปอีก การสลักแต่ละองค์นั้นใช้เวลประมาณ 20 วัน (ขนาดเล็ก) และได้เงินค่าจ้างประมาณ 28,000 รูปี ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงมากถ้าเทียบกับรายได้โดยเฉลี่ยของคนเนปาลทั่วไป องค์พระพุทธรูปในแถบหิมาลัยที่อยู่ตามวัดต่างๆในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนั้นส่วนใหญ่ผลิตจากเนปาลเพราะช่างเนปาลมีฝีมือค่อนข้างดี พวกฝรั่งแถวๆ ยุโรปก็นิยมมาซื้อหากันที่นี่



     เมื่อนั่งดูเขาแกะสลักซักพักใหญ่เราก็ขอตัวกลับเพื่อที่จะไม่รบกวนเขามากเกินไป และมุ่งหน้าไปวัดซึ่งเป็นที่ประทับขององค์เทพเจ้ากรุณามัยที่ตอนนี้เสด็จประทับบนรถแห่ในงานเทศกาล วัด “ราโตมาเชนดรานาถ” (Rato Machhendranath) เป็นวัด 3 ชั้น อยู่ภายในบริเวณกว้าง มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศซึ่งมีสิงโตเฝ้าอยู่ เสาไม้ที่ค้ำหลังคาถูกสลักด้วยลวดลายและสีสันสวยงาม ในปัจจุบันมีประตูรั้วเหล็กล้อมโดยรอบและหลังจากที่เทศกาลจบลง เทพเจ้ากรุณามัยจะยังไม่เสด็จกลับมาประทับที่วัดนี้แต่จะไปประทับที่วัดในเมืองบุงกามาติ (Bungamati) อีก 
6 เดือนถึงจะเสด็จกลับ เรื่องนี้เป็นเพราะว่าในสมัยโบราณนั้นเทพเจ้ากรุณามัยได้ถูกนำมาจากแคว้นอัสสัมในอินเดีย โดยการร่วมมือระหว่างกษัตริย์จากกาฏมาณฑุ ชาวนาจากปาตัน และคนทำพิธีทางศาสนาจากเมืองภักตาปูร์เพราะเกิดความแร้นแค้นฝนไม่ตกตามฤดูกาล เมื่อเดินทางมาพักกลางทางที่บ้านชาวบ้านในเมืองบุงกามาติ หญิงคนนั้นเกิดได้ยินเรื่องที่ทั้งสามพูดถึงเทพเจ้าจึงไม่ยอมให้ทั้งสามออกจากบ้านเพื่อเดินทางกลับ เกิดการต่อรองกันขึ้น ทั้งสามสัญญาว่าถ้าเธออนุญาตให้นำเทพเจ้ากลับไปยังปาตัน ในทุกๆปีเขาจะส่งเทพเจ้ากลับมาประทับที่เมืองบุงกามาติเป็นเวลา 6  เดือน นับแต่นั้นมาจึงเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อขบวนแห่ในเทศกาลเดินทางไปถึงยังจุดหมายเทพเจ้ากรุณามัยจะต้องถูกส่งไปประทับที่บุงกามาติ



     ในตอนบ่ายหลังจากทานอาหารกลางวันกันที่ร้านๆ หนึ่งซึ่งมีความเป็นพิเศษคือคนเสริฟทุกคนในร้าน “เป็นใบ้” ตอนแรกเราก็กังวลว่าจะสั่งอาหารกันไม่รู้เรื่อง แต่เอาเข้าจริงๆ อาหารมาถูกต้องทุกอย่างและรสชาติค่อนข้างโอเค เราเดินทางไปเข้าร่วมพิธีบวชหมู่ของคุณพ่อพี่ธันวาที่วัดแห่งหนึ่งในตอนบ่าย (ครอบครัวพี่ธันวานับถือศาสนาพุทธและมีความศรัทธาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคุณพ่อที่มักจะหาโอกาสไปนั่งสมาธิที่วัดอยู่เสมอๆ) หลังจากนั้นจึงไปทานเข้ากันแถวย่านทาเมล
     ทาเมลในปัจจุบันนั้นไม่ค่อยสร้างความประทับใจให้กับฉันเท่าไหร่ คงเป็นเพราะว่ามันดูพลุกพล่าน เต็มไปด้วยร้านค้า ผับ บาร์ ทำให้ถนนที่เคยสงบกลับอึกทึกไปด้วยเสียงเพลง เสียงวงดนตรีที่เล่นแข่งกันในแต่ละร้าน ฉันเดินสำรวจย่านทาเมลแต่ก็เพียงแค่ผิวๆ เท่านั้น เพราะไม่ค่อยมีอะไรที่น่าสนใจเท่าไหร่ แถมผู้คนก็ไม่ค่อยจะน่ารักนัก คิดแต่ว่าจะขายของอย่างเดียว เสน่ห์ความใจดีของคนเนปาลจึงเหือดหายไปหมดแล้ว 



     มีเพียงร้านเดียวที่ยังคงน่าสนใจอยู่นั่นก็คือ ร้านหนังสือพิลกริม (Pilgrims book house) ซึ่งอยู่ในช่วงกลางๆ ของย่านทาเมล ร้านนี้มีหนังสือมากมายหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศแถบหิมาลัย ราคาก็ไม่แพง ฉันเลยได้หนังสือเกี่ยวกับการเดินทางหนีออกจากทิเบตขององค์คามาปะที่ 17  ภายในร้านยังมีส่วนที่ขายของที่ระลึกอีกด้วย ส่วนด้านหลังเป็นร้านอาหารซึ่งเป็นที่ที่เราฝากท้องสำหรับมื้อค่ำในวันนี้ เขาขายแต่อาหารที่เป็นมังสวิรัติ ถ้าใครไม่ค่อยชอบทานผักก็อาจต้องลองเลือกจากร้านอื่นๆ ซึ่งมีอยู่อย่างคึกคักตลอดสายของถนนทาเมล และมีครบทุกชาติที่เป็นที่คุ้นเคยรวมทั้งอาหารเนปาลด้วย ร้านขนมปังและเค้กก็มีให้บริการ ซูเปอร์มาร์เก็ตก็โมเดิร์นมาก มีขนมและอาหารยี่ห้อชั้นนำให้เลือกหามากมาย
     เราจบการท่องเที่ยวในวันที่สองด้วยการทานอาหารภายใต้แสงเทียนเพราะเผอิญว่าไฟดับพอดี ที่เนปาลนั้นไฟดับค่อนข้างบ่อย เพราะเขามีไฟฟ้าใช้กันอย่างจำกัด จึงต้องแบ่งเวลากันใช้ แต่ละบ้านจะรู้กันดีว่าวันไหนเวลาไหนที่บ้านของตัวเองจะไฟดับ เพราะมีการแจ้งล่วงหน้า สำหรับเขาคงชินแล้ว ก็จะเตรียมตัวใช้ชีวิตกับความมืดได้อย่างดี แต่สำหรับเราคงต้องทำให้มันเป็นเรื่องโรแมนติกไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น