เรื่องที่อยู่ห้องหับตัดปัญหาไปได้แล้ว ก็เหลือเพียงแค่เรื่องเที่ยว
ฉันซอกแซกดูภายในโรงแรมก็พบว่ามีบริษัทจัดการเรื่องทัวร์ให้นักท่องเที่ยว จึงเข้าไปซักถามรายละเอียด ได้ความว่ามีทัวร์เป็นกลุ่มพาเที่ยวเมืองทุกวัน แต่ … ไกด์จะพูดภาษาฮินดี ซึ่งมีเพียงคนในแถบนั้นเท่านั้นที่จะเข้าใจ หรือพูดง่ายๆ จัดทัวร์ให้คนอินเดียโดยแท้ ถ้าฉันไปร่วมด้วย นอกจากจะไม่เข้าใจข้อมูลใดๆ แล้วกลับมาคงต้องส่ายหัวจนเมื่อย
ไม่ละความพยายามจึงซักถามต่อจนได้เรื่อง ทัวร์เที่ยวเดี่ยวมีจัดให้ได้ตามความประสงค์ ในสนนราคาต่อวัน 50 USD ( อัตราแลกเปลี่ยนในตอนนั้น 1 USD = 25 บาท) ซึ่งมือใหม่หัดเที่ยวอย่างฉันก็ต้องยอมเสียเพื่อแลกกับประสบการณ์
ทัวร์เที่ยวเดี่ยวนี้เป็นทัวร์ที่มีรถส่วนตัวพร้อมคนขับ อยากไปไหนขอเพียงบอก “บัล กฤษณา” (Bal Krisna) พร้อมพาไป
บัล กฤษณา เป็นชาวพื้นเมืองตัวไม่สูงนัก รูปร่างสันทัด พูดภาษาอังกฤษได้แบบงูๆ ปลาๆ แต่อัธยาศัยและความตั้งใจดี ขับรถสุภาพไม่หวาดเสียว
การเที่ยวด้วยตัวคนเดียวหนีบไกด์บุ๊คอีกเล่มนั้นไม่ได้ยากแต่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นตลอดเวลา เอาล่ะ ไหนๆ ก็ไหนๆ มาเนปาลฟรีทั้งทีจะสัมผัสฝุ่นอยู่แต่เมืองกาฐมาณฑุได้อย่างไร ขอออกไปเที่ยวเมืองอื่นกับเค้ามั่ง ว่าแล้วก็บอกกฤษณาให้พาไปเมือง ปาตัน (Patan) หรือชื่อในภาษาสันสกฤษเรียกว่า “ลลิตปูร์ (Lalitpur) ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งความสวยงาม (City of Beauty) ฉันออกจะชอบชื่อต้นฉบับมากกว่าเพราะเวลาออกเสียงแล้วฟังน่ารักดี
เมืองปาตันเองก็เคยเป็นราชธานีอิสระเหมือนกาฐมาณฑุ แต่แล้วก็พ่ายแพ้ต่อการรุกรานของกษัตริย์ “ศิวะ มัลละ” ที่ปกครองกาฐมาณฑุในปี ค.ศ 1597 ปาตันอยู่ไม่ห่างจากกาฐมาณฑุเท่าไหร่ มีเพียงแม่น้ำ “บักมาติ” (Bagmati) แม่น้ำสายหลักของเมืองกั้นเท่านั้น นั่งรถไปแค่ประมาณครึ่งชั่วโมง (ถ้ารถติด) ถ้าขับอยู่ที่กรุงเทพจากสุขุมวิทยังไม่ถึงสยามเลย
รอบเมืองปาตันมีเจดีย์ถึง 4 องค์ อยู่ 4 มุมเมือง นับเป็นจุดบอกเขตของเมือง ซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาเยือนหุบเขาแห่งนี้ (นี่คือความเชื่อ แต่ความจริงท่านเสด็จมาจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบได้ เพราะยุคสมัยของท่านนั้นเกิดขึ้นก่อนคริสตศักราชโน่น) มีเจดีย์เพียงองค์เดียวที่ไม่ได้ปกคลุมด้วยหญ้า ที่เหลืออีก 3 นั้นมีหญ้าขึ้นเขียวครึ้ม ถ้าใครสงสัยล่ะก็เจดีย์ทั้งสี่นี้ไม่ใช่เจดีย์ที่มีดวงตาแห่งธรรมด้านบนที่เราเห็นกันจนชินตาจากรูปภาพที่โปรโมทการท่องเที่ยวเนปาลหรอกนะ สำหรับเจดีย์ที่เนปาลนั้นเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งฉันจะเล่าให้ฟังในตอนถัดๆ ไป
ปาตันเองก็มีดูร์บาร์สแควร์เหมือนกัน ซึ่งมีวัดและวังเก่าอยู่อย่างหนาแน่น แสดงถึงสถาปัตยกรรมที่อ่อนช้อยสวยงาม ที่นี่ต้องเสียค่าเข้าชมเช่นเดียวกันสนนราคา 200 รูปี แต่ครั้งแรกที่ฉันไปนั้นยังไม่มีป้อมเก็บตังค์ ภายในบริเวณเมืองเก่าแห่งนี้ มีสิ่งก่อสร้างหลายแห่งที่สวยน่าประทับใจมากมาย ถ้าเข้าจากด้านประตูที่เก็บค่าผ่านทาง ก็จะผ่านบริเวณวังหลวงซึ่งอยู่ด้านขวามือ Sundari Chowk, Mul Chowk, Keshav Narayan Chowk ด้านหน้าประตูเข้าจะมี ร.ป.ภ รักษาความปลอดภัยประจำแต่ละแห่ง เร่ิมจากที่แรก Sundari Chowk มีหนุมาน พระพิฒเนศ และ Narsigha คนร่างสิงโตซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระวิษณุ ถัดมาเป็น Mul Chowk ซึ่งเป็นส่วนของวังที่เก่าแก่ที่สุด มีสิงโตหิน 2 ตัวเฝ้าดูแลอยู่ด้านหน้า ส่วน Keshav Narayan ซึ่งเป็นส่วนใหม่ที่สุดของพระราชวังทั้งหมดนั้น มักมีคนแก่ที่เกษียณอายุจากการทำงานแล้วมานั่งพัก นั่งคุยกันตรงด้านหน้าทางเข้าทั้งสอง
ใกล้กับทางเข้าเมืองเก่านั้นวัดพระกฤษณะ (Krishna Temple ) ตั้งตระหง่านเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม ก่อสร้างด้วยหิน ซึ่งเป็นสไตล์อินเดียไม่ใช่แบบของชาวพ้ืนเมืองเนวาร์ที่มักสร้างเป็นหลังคาไม้หลายชั้นและถัดมาจะเห็นระฆังใบใหญ่ (Taleju Bell) ที่สมัยก่อนชาวบ้านสามารถมาตีระฆังร้องทุกข์ได้ แต่สมัยปัจจุบันมักจะตีในช่วงงานเทศกาลสำคัญของเมือง
ที่ไม่ควรพลาดคือพิพิธภัณฑ์ปาตันซึ่งตัวตึกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวังเก่า ( Keshav Narayan Chowk) ซึ่งได้รับการสนุนสนุนโดยรัฐบาลเนปาลและรัฐบาลออสเตรีย อ้อก่อนเข้าต้องเสียตังค์สนับสนุนกันก่อนด้วยราคา 250 รูปี แต่รับรองว่าสุดคุ้ม ตัวพิพิธภัณฑ์นั้นไม่ได้ใหญ่โตอะไร รับรองเดินไม่หลงไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์แถวๆ ยุโรป ของที่แสดงอยู่ในนั้นก็ไม่ได้มีมากมายจนเวียนหัว ส่วนใหญ่เป็นรูปแกะสลักเทพเจ้าของทั้งทางศาสนาพุทธและฮินดู การจัดแสดงก็เรียบง่ายใช้เวลาเดินชมได้เพลินกันพักใหญ่ ถ้าเหนื่อยหรือหิวก็แนะนำให้ไปพักกันที่คาเฟ่ที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ มีอาหาร เครื่องดื่มไว้บริการแวดล้อมด้วยบรรยากาศสบายๆ ในสวน รับรองว่าประทับใจไม่รู้ลืม แถมยังมีร้านขายของที่ระลึกและหนังสือคุณภาพดีให้เลือกอ่าน ถ้าใครอยากช่วยสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ก็เลือกซื้อหาของเล็กๆน้อยๆ ตามแต่ใจอยาก เพื่อนฉันคนหนึ่งซึ่งเป็นคนถ่ายรูปสวยมาก และรักประเทศเนปาลเหลือเกิน ไปเที่ยวมาแล้วกว่า 10 ครั้ง ก็ได้ผลิตโปสการ์ดขึ้นมาชุดหนึ่ง มีหลายแบบให้เลือกและไปบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ เพื่อขายสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ก็ถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์งานศิลปะได้
ด้านนอกตรงจตุรัสมีเสาสูงเด่น 2 เสา ซึ่งด้านบนเป็นรูปปั้นของครุฑและกษัตริย์โยกานาเรนทรา มัลละ (Yaganarendra Malla ) ครุฑนั้นนั่งคุกเข่าและหันหน้าเข้าพนมมือไหว้วัดพระกฤษณะ Krisna Mandir เพราะครุฑเป็นพาหนะของท่าน ชั้นบนเป็นวัดแต่คนที่ไม่ได้นับถือฮินดูจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ส่วนรูปปั้นของกษัตริย์โยกานาเรนทรานั้นหันหน้าอีกทางหนึ่ง คือหันหน้าเข้าพระราชวัง ท่านนั่งคุกเข่าพนมมืออยู่บนดอกบัวโดยที่มีพระชายาอยู่ด้านข้าง โดยที่ด้านบนพระเศียรนั้นมีงูเห่าปกป้องอยู่ และบนหัวของงูเห่านั้นมีนกเกาะอยู่หนึ่งตัว
กระเถิบออกจากดูร์บาร์สแควร์ยังมีที่เที่ยวอีกมากมาย ไปทางทิศใต้ใช้เวลาเดินประมาณ 10 นาที สามารถไปชม “วัดมหาพุทธา” (Mahabouddha Temple) ซึ่งเป็นวัดที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประกอบตัวเจดีย์ถึง 1,000 พระองค์เลยทีเดียว เป็นการสร้างในลักษณะเดียวกันกับวัดที่พุทธคยา (Bodhgaya) ที่อินเดีย
เป็นอันว่าการเที่ยวคนเดียววันแรกที่เนปาลผ่านไปด้วยดี นายกฤษณาทำหน้าที่เป็นสารถีพาไปเที่ยวอย่างใจหมาย ฉันเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับเนปาลมากขึ้น เพราะนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดตาดูดใจแล้ว ผู้คนที่น่ารัก ใจดี มีอัธยาศัย คอยช่วยเหลือ ยิ่งเพ่ิมความประทับใจให้มากขึ้นไปอีก
ก่อนที่จะส่งฉันถึงโรงแรมกฤษณาถามคำถามฉันบางอย่าง
“ไม่ทราบว่ามาดามจ่ายเงินค่ารถไปเท่าไหร่เหรอครับ” นายกฤษณาเรียกฉันด้วยความสุภาพ
“เอ่อ 50 ดอลล่าห์น่ะ ทำไมเหรอ” ฉันตอบ คิดไปว่าเค้าคงอยากรู้ว่าบริษัททัวร์หากำไรได้จากการขับรถของเค้าเท่าไหร่
“โอ้โห แพงจัง พรุ่งนี้มาดามให้ผมขับรถให้อีกมั้ยล่ะครับ ผมคิดค่ารถต่อวัน 15 ดอลล่าห์ อยากไปไหนบอกได้เลย ผมพาไปเอง” นายกฤษณาตัดราคากันแบบไม่บอกผ่านเลย
มีหรือจ่ายน้อยได้ของเท่าเดิมแบบนี้ฉันจะไม่ตกลง จึงได้นัดแนะเวลาให้กฤษณามารับในวันรุ่งขึ้น
มีหรือจ่ายน้อยได้ของเท่าเดิมแบบนี้ฉันจะไม่ตกลง จึงได้นัดแนะเวลาให้กฤษณามารับในวันรุ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น