อดีตกุมารีคนนี้เป็นคนไม่ใกล้ไม่ไกลเพราะเป็นคุณแม่ของเพื่อนนักเรียนของพี่ธันวานั่นเอง เราไปที่บ้านของเธอซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดกัมเบชวอนัก ฉันไม่แน่ใจนักว่าเขาจะตื่นกันรึยังเพราะตอนนั้นยังเช้าตรู่มาก (ประมาณหกโมงกว่าๆ) แต่เราก็โชคดี
บ้านของอดีตกุมารีนั้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีความซับซ้อนมาก มีหลายหลังและหลายห้องในบริเวณบ้าน มีสวนตรงกลาง คือพ่อแม่และลูกๆ แบ่งกันอยู่คนละหลัง ดูท่าทางคงมีฐานะค่อนข้างดีลักษณะการตกแต่งบ้านนั้นค่อนไปทางทันสมัยมีอุปกรณ์เครื่องใช้ครบครัน เราได้รับการต้อนรับที่ห้องรับแขกของบ้าน ซึ่งมีขนาดค่อนข้างกว้างขวาง
คุณแม่ (อดีตกุมารี) หน้าตาสวย กริยาวาจาสุภาพและใจดีมาก ส่วนคุณพ่อนั้นเป็นคนทิเบตทำการค้าขายและเดินทางไปกลับระหว่างเนปาลและทิเบตค่อนข้างบ่อยเมื่อครั้งยังหนุ่มอยู่ ส่วนเพื่อนของพี่ธันวานั้นทำงานที่สายการบินไทย เป็นผู้หญิงที่ดูดี เรียบร้อย อัธยาศัยค่อนข้างดีมาก
เราได้รับการต้อนรับด้วยชานมร้อน ขนมปังทาเนยถั่วอย่างดี เราออกจะเกรงใจเจ้าของบ้านอยู่มากแต่ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมของคนที่นี่ที่จะต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือนอย่างดีถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้จักกับเขาก็ตาม พี่ธันวาเล่าให้ทั้งสามฟังว่าฉันเป็นนักเขียนและเดินทางมาเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ประเพณี เทศกาล และวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อนำไปเขียนหนังสือเล่มถัดไปทำให้ทุกคนตื่นเต้นและยินดีอย่างมากที่จะแบ่งปันข้อมูลตามที่ฉันอยากรู้ แถมยังพาไปดูห้องหนังสมุดที่เก็บรวบรวมหนังสือไว้มากมาย ดูเหมือนครอบครัวนี้จะค่อนข้างเคร่งศาสนาและให้ความสนใจในศาสตร์นี้ค่อนข้างมาก ลูกสาวทุกคนไม่มีใครแต่งงานแต่อยู่ดูแลพ่อแม่ที่บ้านอย่างดี เป็นครอบครัวอบอุ่น
คุณแม่เล่่าว่าท่านเป็นกุมารีไม่กี่ปีเพราะเผอิญว่าฟันหักจึงต้องลาออกทำให้เธอไม่ค่อยมีความทรงจำเกี่ยวกับการทำหน้าที่เป็นกุมารีเท่าไหร่นัก เธอยังนำรูปสมัยก่อนตอนเป็นกุมารีมาให้ดูเลย ฉันสงสัยเหมือนกันว่าคุณพ่อทำไมถึงหลงรักและกล้าแต่งงานกับคุณแม่เพราะเคยรู้มาว่าส่วนใหญ่ผู้ชายจะกลัวไม่กล้าแต่งงานกับคนที่เคยเป็นกุมารีเพราะเหมือนเป็นคนพิเศษถ้าใช้ชีวิตอยู่ด้วยก็อาจทำให้เกิดเหตุอาเพศได้ แต่เท่าที่ดูแล้วก็สังเกตได้ว่าทั้งสองดูเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขดี มีครอบครัวที่ดีและมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
พี่ธันวาใช้เวลาอีกซักพักในการพูดคุยกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมานานเป็นสิบปีแล้วเราจึงจากลาครอบครัวที่น่ารักมา
โปรแกรมต่อไปคือไปเยี่ยมกุมารีของเมืองปาตันแต่ต้องผิดหวังเพราะเมื่อไปถึงที่บ้านแล้วท่านกำลังเรียนหนังสืออยู่ เดี๋ยวนี้กุมารีสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงกับเด็กหญิงทั่วๆไปได้ และมีสวัสดิการที่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน
เราจึงไปเดินเที่ยวเล่นกันที่ดูร์บาร์สแควร์เพื่อพาพี่ตุ๊กไปดูศูนย์กลางวัฒนธรรมของเมือง
ปาตัน หลังจากนั้นก็เดินทางไปเที่ยวต่อที่วัดโบถนาถ และคราวนี้พิเศษหน่อยที่ได้ไปเยี่ยมวัดทิเบตใกล้ๆ “คานิงเชลดรับลิง กอมป้า” (Ka-Nying Sheldrup Ling Gompa) ซึ่งถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบทิเบตสีสันสดใสสวยงามมาก ขณะที่เราไปถึงนั้นเหล่าเณรกำลังหัด
อ่่านบทสวดมนต์กันอยู่ เราจึงนั่งอยู่ด้านข้างอย่างสงบและทำสมาธิฟังเสียงสวดมนต์ที่ฉันรู้สึกว่าไพเราะ ทำให้จิตใจสงบและเย็นลงจากความร้อนระอุด้านนอกได้อย่างดี การเป็นฆราวาสหน้าตาแปลกๆ มานั่งอยู่ในอุโบสถก็สร้างความแตกตื่นให้กับเหล่าเณรอยู่บ้าง แต่เราพยายามนั่งกันนิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวหรือส่งเสียงดัง ซึ่งจะเป็นการรบกวนการสวดมนต์ของเณรเหล่านั้น ซักครู่พระพี่เลี้ยงก็ให้เณรรูปหนึ่งนำกาน้ำชาเดินเสิร์ฟให้กับเณรน้อยทีละรูป และท้ายที่สุดท่านยังใจดีสั่งให้รินให้เราด้วยคนละแก้ว ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ได้กลายเป็นเวลาแห่งความประทับใจ
หลังจากนั้นเราตัดสินใจว่าจะแวะไปทานข้าวกลางวันกันที่โรงแรมดวาริกา (Dwarika) ซึ่งเป็นโรงแรมที่อนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบเนวาร์โบราณได้อย่างดีเยี่ยมโดยผู้เป็นเจ้าของมิสเตอร์ ดาส เชรสทรา (Das Shrestha) เพราะเขาเห็นความสำคัญในการเก็บรักษามรดกโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูชมกัน เขาจึงมีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ศิลปะโบราณและได้รวบรวม บานประตูหน้าต่าง เสา ต่างๆ นำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานดีไซน์ของโรงแรม เพราะฉะนั้นของเกือบทุกช้ินนั้นเป็นของเก่าจริง ไม่มีมุมไหนหรือห้องไหนเหมือนกัน แต่ละห้องล้วนมีจุดเด่น ความสวยงามและประวัติเป็นของตัวเอง สิ่งเดียวที่เหมือนกันก็คือความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ของโบราณชิ้นนั้นๆ ไว้ ถึงแม้ราคาค่าห้องจะแพงแต่เรียกว่าคุ้ม เพราะเหมือนเราได้ย้อนไปอยู่ในบรรยากาศแบบโบราณ ฉันคิดว่าครั้งหน้าที่ไปเนปาลคงต้องหาโอกาสไปพักซักคืนสองคืน
เราทานอาหารกลางวันกันที่ร้านอาหารภายในโรงแรมแต่ไม่ใช่ร้าน “กฤษณาปัน” (Krisnarpan) อันลือชื่อ เพราะที่ร้านนั้นเปิดเฉพาะเวลากลางคืน เสริฟอาหารแบบพื้นเมืองมีบรรยากาศตกแต่งสวยงามและมีการเต้นรำพื้นเมืองให้นักท่องเที่ยวได้ชม ใครมีโอกาสไปก็อย่าลืมไปแวะชิมล่ะ มื้อกลางวันนี้จึงเป็นมื้อง่ายๆ และเบาๆ ที่ค้อฟฟี่ช้อปภายในโรงแรม ฉันทานสลัด พี่ตุ๊กทานสปาเก๊ตตี้ ส่วนพี่ธันวาถือโอกาสลองชิมอาหารชุดพื้นเมืองเนปาล ซึ่งหน้าตาดูน่ารับประทานมาก
เมื่ออ่ิมท้องและหายเหนื่อยหายร้อนจากอากาศระอุแล้ว เราเดินเล่นชมบริเวณภายในโรงแรมที่ถูกจัดแต่งอย่างสวยงามและเงียบสงบ มีสระว่ายน้ำอยู่่ด้านใน บรรยากาศรายล้อมไปด้วยสวนและต้นไม้ร่มรื่นดอกไม้จัดแต่งแบบเป็นธรรมชาติ ยามค่ำคืนคงสวยโรแมนติกและดูขลังไปอีกแบบ
หลังจากนั้นเราไปเยี่ยมวัดปชุปตินาถ โดยที่ใช้เวลาไม่นานนัก วันนั้นมีการเผาศพ 2 ศพ ซึ่งดูแล้วก็น่าสลดใจ พี่ตุ๊กไม่กล้าไปเดินตรงฝั่งที่มีการเผาศพเพราะไม่อยากให้ภาพติดตาและประกอบกับว่าการเผาสดๆ นั้นจะก่อให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงปรารถนา เธอจึงไปยืนรอที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ ถึงแม้ว่าฉันจะเคยเห็นการเผาศพแบบนี้มาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะไปสำรวจอีกครั้ง แต่ครั้งนี้อาจจะด้วยจุดประสงค์ที่ต่างไปจากสองครั้งแรก ครั้งแรกนั้นดูด้วยความตื่นเต้นและหวาดกลัวเล็กน้อย เก็บภาพเพื่อจดจำและโอ้อวดต่อผู้คนที่ไม่เคยได้สัมผัส ครั้งที่สองไปเยือนเหมือนกลับไปเยี่ยมเพื่อนเก่า ไปดูสิ่งเดิมๆ ที่เคยเห็นแล้ว และไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรเท่าไหร่ ส่วนครั้งหลังนี้ไปดูเพื่อจะปลงกับชีวิต ฉันต้องยอมรับว่าเป็นคนที่กลัวความตาย และคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อมและทำใจยอมรับกับความตายไม่ได้ ครั้งนี้ฉันจึงตั้งใจไปดูเพื่อจะได้เห็นว่าวาระสุดท้ายของชีวิตนั้นจะมาเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครกำหนดได้ และไม่มีอะไรที่เราจะเอาติดตัวไปได้ ไม่ว่าเราจะทำพิธีศพด้วยการเผาหรือการฝัง แต่ในที่สุดแล้วร่างกายเราก็จะดับสูญและสูญสิ้นไปในที่สุด ครั้งนี้ฉันไม่แม้แต่หยิบกล้องขึ้นมา ฉันเพียงแต่สังเกตศพและคนรอบข้าง ญาติพี่น้องที่แสดงถึงความเสียใจต่อการจากไปต่อผู้อันเป็นที่รัก ฉันไม่รู้สึกกลัวอีกแล้วแต่กลับกลายเป็นรู้สึกได้ถึงสัจธรรมความจริงของชีวิตที่ทุกคนต้องเผชิญ ฉันรู้สึกว่าฉันคงต้องเริ่มเตรียมตัวกับความตายให้กับตัวเอง คนบางคนที่มาดูสถานที่เผาศพอาจจะรู้สึกว่ามันน่ากลัว แต่ฉันรู้สึกว่าการทำพิธีศพแบบฮินดูนั้นเป็นอะไรที่จริงดี เมื่อความตายมาเยือนผู้ใด ญาติพี่น้องก็ต้องจัดการตามพิธีทางศาสนาโดยปัจจุบันทันด่วน อาจจะไม่มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจอะไรมากมาย ไม่ต้องสิ้นเปลืองในการจัดพิธีหลายๆ วัน ตายเมื่อใดอีกไม่เกินหนึ่งวันเป็นอันว่าหมดสิ้น ไม่หลงเหลืออะไรทิ้งไว้ เหลือก็เพียงแต่ความทรงจำดีๆ ต่อคนผู้นั้น
การไปวัดปชุปตินาถในครั้งที่สามนี้ ฉันหมดความตื่นเต้นแล้วแต่รู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่เราควรไปเยี่ยมชมเพื่อให้เห็นสัจธรรมของชีวิต ไม่ใช่ไปเพื่อดูความสวยงามอีกต่อไป และขอร้องเถอะนะว่าอย่าอยากรู้อยากเห็นมากจนเกินงาม ควรมีมารยาทในการสังเกตวิถีของชาวฮินดูในการจัดการกับศพ เห็นใจญาติเขาเถอะ ถึงแม้เขาจะเผากันสดๆ แบบนั้นแต่ก็ใช่ว่าเขาจะทำใจได้ บางทีฉันเห็นญาติร้องห่มร้องไห้แทบจะเข้าไปกอดศพทั้งๆ ที่ไฟก็ลุกอยู่ เพราะฉะนั้นเขาคงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวอย่างเราเข้าไปยุ่มย่ามใกล้ชิดมากเกินไป เพราะเวลานั้นก็คือเวลาสุดท้ายของการอยู่ร่วมกันบนโลกมนุษย์ใบนี้แล้ว
เรากลับออกจากวัดด้วยความทุลักทุเล เพราะอากาศที่ร้อนระอุแถมยังต้องเดินอีกเป็นระยะทางไกลกว่าจะเรียกแท้กซี่ได้ ฉันรู้สึกเหนื่อยพอสมควรทีเดียวสำหรับการเที่ยวในวันนี้คงเป็นเพราะว่าต้องตื่นแต่เช้าตรู่ซึ่งไม่ใช่เวลาที่คุ้นเคยนักสำหรับนกตื่นสายอย่างฉัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น