ฉันมักบอกใครๆ เสมอว่า ถ้าจะไปเนปาลแล้วมีเวลาไม่มากยังไงซะก็ต้องไปกาฐมาณฑุ
ปาตัน และภักตาปูร์ให้ครบ ไม่งั้นก็เหมือนไปไม่ถึง
ปาตัน และภักตาปูร์ให้ครบ ไม่งั้นก็เหมือนไปไม่ถึง
ภักตาปูร์อยู่ห่างกาฐมาณฑุไปไม่ไกล นั่งรถซักครึ่งชั่วโมงก็ถึง เมืองในหุบเขาแห่งนี้มีขนาดเล็ก ไปไหนมาไหนสะดวก ใช้เวลาไม่มาก (แต่ถ้านั่งรถประจำทางนั่นก็อีกเรื่องนึง) กฤษณาพาฉันไปส่งตรงด้านหน้าทางเข้า ซึ่งต้องตีตั๋วจ่ายเงินสนับสนุนก่อน ที่นี่ค่าเข้าค่อนข้างแพง 750 รูปี อาจเพราะเขาอนุรักษ์ไว้อย่างดีเลยต้องมีค่าใช้จ่ายมาก เมืองภักตาปูร์นั้นยังคงสภาพไว้ได้ใกล้เคียงกับสมัยโบราณ เดินไปแล้วเหมือนได้ย้อนเข้าไปอยู่ในยุคก่อน ที่นี่แหล่ะที่เค้าเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง “The Little Buddha” ที่พระเอกหนุ่มหล่อ คีนู รีฟ (Keanu Reeves) เล่น ในช่วงที่พระพุทธเจ้าออกจากวังมาพบเจอสัจจธรรมแห่งชีวิต เห็นชีวิตชาวบ้านที่มีตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ฉันเดินหน้าตาเด๋อด๋าจากทางเข้า ดูแผนที่ในไกด์บุ๊คว่าต้องเริ่มต้นสำรวจเมืองจากตรงไหนดี ก็มีหนุ่มน้อยชาวพื้นเมืองเดินเข้ามาหา
“สวัสดีครับ คุณมาคนเดียวเหรอครับ ผมเป็นนักเรียนและเติบโตที่นี่ ผมสามารถพาคุณเดินรอบเมือง ชมวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ เดินไปตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ที่นักท่องเที่ยวไม่มีโอกาสไปกัน ผมหาเงินเรียนหนังสือน่ะครับ ถ้าผมพาคุณเดินจนรอบแล้วคุณพอใจก็ค่อยจ่ายเงินให้ผม เท่าไหร่ก็ได้” หนุ่มน้อยอายุอานามประมาณ 17 ปี แนะนำตัวเองและบริการที่เขาอยากนำเสนอให้ฉัน
ฉันไม่ได้หือได้อืออะไร คิดในใจว่าดีเหมือนกันจะได้มีเพื่อนเดิน เขาก็เลยออกเดินไปพร้อมๆ กับฉันและเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้ฟังตลอดทางที่เราเดินผ่านไป
ตั้งแต่เดินผ่านประตูทางเข้ามา คุณจะได้ความรู้สึกย้อนยุคกลายๆ อาจเป็นเพราะว่าสิ่งก่อสร้างวัดวาอารามที่อยู่รอบตัวเรานั้นดูเก่าสะท้อนศิลปะยุคโบราณ ขนาดเมืองก็ดูยิ่งใหญ่อลังการ แต่วัดวาไม่ได้แทรกตัวซ้อนกันซะเบียดจนหายใจไม่ออก แต่วางระยะพอดีให้ได้พินิจพิเคราะห์และเล็งช่องถ่ายรูปได้สวยเรายังสามารถสอดส่องดูวิถีชีวิตของชาวบ้าน การทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการปั้นหม้อดิน สลักไม้ ตามทางจะมีข้าวที่นำมาตากให้แห้งก่อนที่จะนำไปขาย
ด้านซ้ายมือเป็นพระราชวังซึ่งมีขนาดใหญ่แบ่งเป็นสถานที่สำคัญ 3 แห่งก็คือ พิพิธภัณฑ์งานศิลปะ (National Art Gallery) ประตูทอง (Golden Gate) พระราชวังห้าสิบห้าหน้าต่าง (55 Window Palace ประตูทองนั้นถือว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเยี่ยมทีเดียว เพราะมีรูปปั้นรูปสลักต่างๆ ซึ่งมีความละเอียดสวยงามและมีความหมายลึกซึ้ง เราสามารถเดินเข้าไปชมบริเวณด้านในพระราชฐานในส่วนที่เป็นด้านนอกแต่ส่วนภายในอนุญาตให้เข้าเฉพาะคนพื้นเมืองเท่านั้น บริเวณใกล้ๆ กันมีบ่อสรงน้ำของเทพเจ้าตาเลจูเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาดค่อนข้างใหญ่และลึก ใช้น้ำจากธรรมชาติซึ่งไหลจากรูปปั้น แต่ในปัจจุบันไม่มีน้ำออกมาแล้วเหลือทิ้งไว้แต่ร่องรอยแห่งอดีต
เดินมาอีกหน่อยจะเจอ “วัดฟาสิเดกา” (Fasidega Temple) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสักการะพระศิวะ ตัววัดมีลักษณะคล้ายเจดีย์สีขาวอยู่บนฐานอิฐสีส้มหกชั้น มียามรักษาความปลอดภัยเป็นช้าง สิงโต และวัว ตามลำดับ วัดนี้ไม่ค่อยโดดเด่นในแง่สถาปัตยกรรมหากแต่ว่าเตะตาคนเพราะขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ สามารนั่งพักหรือนัดพบเมื่อยามหลงทางกันได้สบาย
เดินกระเถิบออกมาอีกนิดจะเจอจตุรัส “โทมาดิ” (Taumadhi Tole) ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่า วัดที่เด่นที่สุดในบริเวณนี้เห็นจะเป็น “วัดนยาตาโปลา” (Nyatapola Temple) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสักการะ “เทพเจ้าสิทธิลักษมี” (Siddhi Lakshmi) แต่มีเพียงพระชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้เห็นรูปปั้นเทพเจ้า ซึ่งอยู่ภายในบริเวณวัดชั้นบน มีหลังคาห้าชั้นซึ่งเป็นลักษณะของศิลปะแบบเนวาร์โดยแท้แต่ละชั้นที่เป็นฐานนั้นจะมีผู้คุ้มครอง ชั้นแรกเป็นนักมวยปล้ำชื่อดังในสมัยก่อน “จายาเมล” (Jayamel) และ “พัตตู” (Phattu) ซึ่งมีพลังมากกว่าคนธรรมดาถึง 10 เท่า ชั้นสองเป็นรูปปั้นช้างซึ่งก็มีพลังเป็นสิบเท่าของนักมวยปล้ำ ผู้คุ้ครองวัดในแต่ละชั้นที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีพลังสิบเท่ามากกว่าในชั้นต่ำกว่า ชั้นสามเป็นสิงโต ถัดไปเป็น “สิงหปักษา” (ปีกเป็นนกอินทรีย์ ตัวเป็นสิงโต) และชั้นสุดท้ายคือเทพเจ้า “บักกินี” (Baghini) รูปเสือ และ “สิงกินี”
(Singhini) รูปสิงโต มีพลังมากที่สุด เหมาะที่จะปกป้องไม่ให้ภัยพาลเข้ามาใกล้เทพเจ้าสิทธิลักษมีได้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถเข้าไปดูรูปปั้นเทพเจ้าด้านในได้แต่สามารถสังเกตหน้าตาเทพเจ้าสิทธิลักษมีในรูปแบบต่างๆจากประตูและคานไม้ที่สลักลวดลายรอบตัววัดได้
(Singhini) รูปสิงโต มีพลังมากที่สุด เหมาะที่จะปกป้องไม่ให้ภัยพาลเข้ามาใกล้เทพเจ้าสิทธิลักษมีได้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถเข้าไปดูรูปปั้นเทพเจ้าด้านในได้แต่สามารถสังเกตหน้าตาเทพเจ้าสิทธิลักษมีในรูปแบบต่างๆจากประตูและคานไม้ที่สลักลวดลายรอบตัววัดได้
ใครเริ่มเหนื่อยไปนั่งพักทานอาหารดื่มชาได้ที่ “นยาตาโปลา คาเฟ่” ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับวัด
นยาตาโปลา ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมรูปทรงถึงได้เหมือนวัดที่เราเห็นๆ กันในรอบบริเวณที่เดินผ่านมา ก็เพราะที่นี่เคยเป็นวัดเหมือนกัน แต่ในปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นคาเฟ่ที่นั่งพักของนักท่องเที่ยว นอกจากจะพักเหนื่อยและเติมพลังให้ท้องได้ดีแล้วยังเป็นจุดชมวิวที่สวยมากๆ อีกด้วย มองลงมาสามารถเห็นวัดวาที่อยู่รอบๆ สังเกตวิถีชีวิตผู้คนที่เดินผ่านไปมา (ซึ่งส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยว) และยังสามารถสำรวจศิลปะการสลักไม้ที่สวยงามแบบโบราณได้อย่างใกล้ชิด
นยาตาโปลา ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมรูปทรงถึงได้เหมือนวัดที่เราเห็นๆ กันในรอบบริเวณที่เดินผ่านมา ก็เพราะที่นี่เคยเป็นวัดเหมือนกัน แต่ในปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นคาเฟ่ที่นั่งพักของนักท่องเที่ยว นอกจากจะพักเหนื่อยและเติมพลังให้ท้องได้ดีแล้วยังเป็นจุดชมวิวที่สวยมากๆ อีกด้วย มองลงมาสามารถเห็นวัดวาที่อยู่รอบๆ สังเกตวิถีชีวิตผู้คนที่เดินผ่านไปมา (ซึ่งส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยว) และยังสามารถสำรวจศิลปะการสลักไม้ที่สวยงามแบบโบราณได้อย่างใกล้ชิด
หนุ่มน้อยพาเดินชมวัดวาจนรอบจตุรัส คราวนี้ถึงคิวของสัญญาที่ว่าไว้ตั้งแต่แรก เขาเริ่มพาฉันเดินซอกแซกไปย่านคนปั้นหม้อ ที่อยู่ใกล้ๆ กับจตุรัสโทมาดิ การปั้นหม้อดินนั้นเป็นอาชีพหลักอาชีพหนึ่งของคนที่นี่ มักจะทำกันมากในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็ราวๆ เดือนตุลาคมนั่นแหล่ะ เวลายอดฮิตของการมาเที่ยวเนปาลพอดี เพราะฉะนั้นใครที่ไปเที่ยวในช่วงนั้นก็อย่าลืมแวะไปดูวิธีการปั้นหม้อแบบโบราณ เขาจะนั่งปั้นหม้อกันบนลานกว้างและเอาไปวางตากแดดให้แห้ง เรียงเป็นแนวสวยงาม มีทั้งสีน้ำตาลเข้มและสีส้ม และมีของใช้น่ารักอย่างอื่นไม่ใช่มีเพียงแต่หม้อ (เข้าใจว่าทำเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว เพราะดูแล้วชาวพื้นเมืองคงไม่มีใครใช้ของเหล่านั้นกันซักเท่าไหร่) ใครมีพื้นที่ในกระเป๋าเยอะจะซื้อกลับมาเป็นของที่ระลึกก็ได้ แถวๆ นั้นมีร้านขายอยู่หลายร้าน แต่คนพื้นเมืองนั้นมักจะเอาหม้อที่ผลิตได้ไปแลกกับข้าวจากชาวนา เป็นการอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง ใครทำอาชีพอะไรก็เอาสิ่งที่ผลิตได้ไปแลกกับสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่ต้องมีเงินมากมายก็อยู่ได้สบายๆ ส่วนใหญ่เค้าปลูกผักกินกันเอง ทั้งสุขภาพดีเพราะไม่ต้องกลัวสารพิษ หรือยาฆ่าแมลง ไม่ต้องทำบาปเพราะทานเนื้อสัตว์น้อย แถมไม่ต้องกลุ้มหาเงินเยอะๆ มาซื้ออาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เดี๋ยวนี้ข้าวแพงจะตายไป
หนุ่มน้อยยังพาฉันเดินลัดเลี้ยวไปตามตรอกเล็กซอยน้อยให้ได้เห็นบรรยากาศแบบบ้านๆ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้พอได้อารมณ์ แวะตามวัดของชุมชนนอกเขตเมือง เมื่อสมควรแก่เวลาฉันจึงเดินย้อนกลับมายังประตูทางเข้าที่กฤษณารออยู่
“ขอบคุณมากเลยนะ เมืองของคุณสวยมาก”
“ใช่ครับ เอ … แล้วยังงี้ คุณจะช่วยเรื่องค่าเล่าเรียนผมได้มั้ยครับ” เขาถามหน้าซื่อ
“อ๋อได้สิ คุณอยากได้เท่าไหร่ล่ะ” ฉันถามไปด้วยความซื่อเช่นกัน
“ก็ซัก 10 ดอลล่าห์แล้วกันครับ” เขาตอบน้ำเสียงหนักแน่น
ฉันควักธนบัตรออกมาให้เขาด้วยอาการงงๆ พร้อมกับได้รับคำขอบคุณตอบแทน หลังจากนั้นเขาจึงเดินจากไป
ณ ตอนนั้นฉันไม่ได้ฉุกคิดหรือลังเลอะไรมากมาย แต่พอมาคิดอีกทีเขาก็ไม่ได้ทำอะไรมากมาย แค่ปลอมตัวเป็นไกด์ เดินไปกับฉันเรื่อยๆ อธิบายนู่นนิดนี่หน่อย ก็มาเรียกร้องเงินมากมายซะแล้ว (คุณผู้อ่านต้องคิดคำณวนค่าครองชีพเมื่อครั้ง 14 ปีที่แล้ว เดี๋ยวจะหาว่าฉันงกไม่เข้าเรื่อง) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกฤษณาแล้วเขาขับรถให้ฉันทั้งวัน ค่าน้ำมันก็ต้องเสียเอง ได้ค่าตัวแค่ 15 ดอลล่าห์ ถ้าเทียบกันฉันไม่ควรให้เงินเขามากเท่ากับที่เขาขอ เพราะเขาก็พูดเองว่าแล้วแต่เราว่าจะให้เท่าไหร่ แต่พอคิดไปอีกทีเงินจำนวนนั้นก็ไม่ได้มากมายอะไร หลายครั้งที่ฉันใช้เงินหมดไปกับเรื่องไร้สาระได้ง่ายๆ ถ้าจะแบ่งปันให้มนุษย์เพื่อนร่วมโลกของเราได้มีชีวิตที่ดีขึ้นอีกหน่อย หรือเพียงแค่ประทังชีวิตในวันนั้น ก็ไม่น่าเก็บมาคิดเสียดาย ... มนุษย์อยู่ได้ด้วยการพึ่งพากันไม่ใช่เหรอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น