บ้านจูเกชอยู่ในย่านเมืองเก่าแถวละแวกตลาด เดินเข้าซอยเล็กๆ ไปนิดเดียว สังเกตได้จากทางเข้ามีเจดีย์เล็กๆ ปลูกสร้างอยู่ แต่ถ้าให้ไปเองก็คงหลงอย่างแน่นอน เพราะแถวๆ นั้นมีตรอกซอกซอยเล็กๆ เชื่อมโยงกันจนเหมือนเขาวงกต
ฉันถูกพาไปพักที่ห้องของน้องสาวจูเกช “ซาราลา” (Sarala) ซึ่งเธอแต่งชุดพื้นเมืองสีแดงสด เครื่องประดับครบเครื่องตุ้มหู สร้อย กำไล แหวน เตรียมพร้อมสำหรับงานหมั้นที่จะมีขึ้นที่บ้านจูเกชในไม่ช้า ฉันรู้สึกแปลกๆ นิดหน่อย เพราะว่าเป็นแขกต่างชาติเพียงคนเดียวที่อยู่ที่นั่น นอกเหนือจากฉันแล้วส่วนใหญ่เป็นญาติของครอบครัวและเพื่อนเจ้าสาว
ซาราลานำชาเนปาล (Chiya หรือเรียกคุ้นๆว่า Masala tea) มาต้อนรับ นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับชาเนปาล เมื่อดื่มเข้าไปอึกแรกฉันเกือบจะต้องถุยทิ้งออกมาเพราะกลิ่นมันคาวแปลกๆ อาจเป็นเพราะเครื่องปรุงที่เขาใส่เข้าไปในชา ชาเนปาลมีวิธีทำแบบพิเศษเขาจะต้มใบชากับนม (ส่วนใหญ่เป็นนมแพะหรือนมควาย) นำ้ตาลและเครื่องเทศ ทำให้มีรสชาติเข้มข้น หวาน และมีกลิ่นแรง แต่เมื่อได้ลิ้มลองไปเรื่อยแล้วฉันกลับติดใจและกลายเป็นเครื่องดื่มสุดโปรดของฉันตลอดทั้งทริปนั้น
“เอ ไม่ทราบว่าเธอเป็นแฟนกับคู่หมั้นมานานรึยัง” ฉันหาเรื่องคุยกับซาราลา
กลับได้รับคำตอบเป็นเสียงหัวเราะจากเธอและเพื่อนสาว
“ฉันเคยเจอคู่หมั้นแค่ครั้งเดียวเอง ก่อนที่จะมีพิธีวันนี้” เธอตอบคำถามฉัน
“อ๋อ ยังงั้นหรอกเหรอ” ฉันพยายามไม่แสดงความตะหนกมากเกินไปนัก เดาเอาว่าคงจะเป็นการจัดการแต่งงานโดยผู้ใหญ่เหมือนกรณีจูเกช
เธอย้อนถามฉันกลับ
“แล้วเธอล่ะ ที่เมืองไทยมีการจัดการการแต่งงานแบบที่นี่มั้ย”
“ไม่ค่อยมีหรอกนะ วัฒนธรรมของเราแตกต่างกันน่ะ ที่เมืองไทยเราสามารถลองคบและศึกษาทำความรู้จักกับคู่ของเราได้ แล้วถ้าไม่ถูกใจก็เลิกกันไปเปลี่ยนไปคบคนใหม่จนกว่าจะตกลงปลงใจแต่งงานกัน”
เธอถามฉันอีกหลายคำถามเกี่ยวกับการคบหากันระหว่างชายและหญิงไทย ซึ่งคำตอบของฉันนั้นทำให้เธอแปลกใจไม่น้อยกับอิสระเสรีภาพของผู้หญิงไทย ฉันรู้สึกว่าโชคดีที่ได้เกิดและเติบโตมาในสังคมและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างให้อิสรภาพในเรื่องการตัดสินใจและความ (เกือบ) เท่าเทียมกันของเพศหญิงและชาย
ช่วงสายๆ คู่หมั้นและญาติๆ จะมาที่บ้านของฝ่ายหญิงเพื่อเข้าร่วมพิธีหมั้น เจ้าบ่าวใส่สูทสากลและสวมหมวกเนปาล เจ้าสาวใส่ชุดพื้นเมืองสีแดง เมื่อได้เวลาก็จะเริ่มพิธีภายในห้องโถงในบ้าน ทั้งสองยืนหันหน้าเข้าหากัน เจ้าสาวคล้องพวงมาลัยดอกไม้กับใบไม้ให้ที่คอเจ้าบ่าว เช่นกันเจ้าบ่าวจะคล้องมาลัยดอกไม้ให้เจ้าสาว (ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะก้มหน้าไม่ค่อยมองหน้าว่าที่สามีตรงๆ) แล้วจึงแลกแหวน เจ้าบ่าวอาจจะให้ของหมั้นเพ่ิมเติมเช่นกำไลทองแก่เจ้าสาว หลังจากนั้นจะเป็นพิธีทางศาสนาโดยมีคนทำพิธีโดยเฉพาะ ของที่ใช้ประกอบพิธีนั้นมีดอกไม้ ผลไม้ ขนม ธูป และน้ำศักดิสทธิ์ โดยที่จะนั่งทำพิธีกันบนพื้น เจ้าบ่าวจะแต้มผงสีแดงที่หน้าผากเจ้าสาว หลังจากนั้นผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะให้พรบ่าวสาวโดยการโปรยดอกไม้ใส่รวมทั้งให้เงิน ทั้งคู่จะให้ผ้าเป็นของที่ระลึกแก่ผู้ที่มาอวยพร
เมื่อพิธีทุกอย่างสำเร็จลงเจ้าของบ้านก็จะเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมในงาน ห้องอาหารและครัวของบ้านมักจะอยู่ชั้นบนสุด อาหารจะถูกตักแยกใส่ในถาดของใครของมันไม่ทานร่วมกัน ทุกคนทานข้าวด้วยมือยกเว้นฉันได้รับช้อนส้อมเป็นกรณีพิเศษ
การเข้าร่วมพิธีหมั้นแบบเนปาลเป็นครั้งแรกทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้นและประทับใจ รู้สึกว่าคนเนปาลนั้นสามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีโบราณไว้ได้อย่างดี ทุกพิธีทุกขั้นตอนดูมีความหมายลึกซึ้งซึ่งก็คงเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำดีๆ ของคู่บ่าวสาวไปตลอดชีวิต
ส่วนใหญ่คนเนปาลจะแต่งงานเพียงหนเดียว และมักไม่ค่อยมีการหย่าร้าง ทุกครอบครัวจะมีลูกไว้สืบสกุล ลูกชายถือเป็นของขวัญจากพระเจ้า ส่วนลูกสาวคือภาระเพราะพ่อแม่ต้องเลี้ยงดูจนกว่าเธอจะออกเรือนแต่งงานไป ลูกชายมักได้รับการปฏิบัติที่เป็นพิเศษกว่าลูกสาว ได้ทานข้าวก่อน หน้าที่ทำงานบ้านคือหน้าที่ของลูกสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกชายคนโตจะเป็นคนที่ทำพิธีเผาศพเมื่อพ่อตายลง ในสังคมฮินดูจึงให้ความสำคัญกับลูกชายมาก
ฉันคงเป็นคนที่แปลกในสายตาเพื่อนๆ ชาวเนปาล นอกจากยังไม่แต่งงานจนอายุเลยวัยแล้ว ยังมีรูปลักษณ์การแต่งกาย กริยาวาจาท่าทางไม่สงบเสงี่ยมเหมือนผู้หญิงเนปาลทั่วๆ ไป แต่ความแตกต่างนั้นไม่ได้เป็นที่รังเกียจของครอบครัวและญาติพี่น้องของจูเกชแต่อย่างใด ฉันกลับได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ทุกคนให้ความเป็นกันเองและดูแลฉันอย่างดีไม่ให้รู้สึกเด๋อหรือเหงาอยู่คนเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น