เมื่อพิธีกรรมทุกอย่างเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน ช่วงบ่ายเป็นช่วงว่าง จูเกชมอบหมายให้ บาซุ (Basu) น้องชายเขา คิรัน (Kiran) พี่เขย และ คิริต (Kireet) หลานชายพาฉันไปท่องเที่ยว
เราใช้วิธีเดินเที่ยวไล่ไปตั้งแต่วัดในละแวกบ้านของเขาไปยังดูร์บาร์สแควร์ จนเรื่อยไปถึง วัดสเวยมนาถ (Swayambhunath) ซึ่งเป็นการเดินระยะทางไกลพอควรแต่ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังที่ดีทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นจากอากาศอันหนาวเหน็บ
วัดสเวยมนาถนั้นตั้งอยู่บนเนินเขาเป็นหนึ่งในสองสถูปที่เราสามารถเห็นได้แต่ไกล อีกที่หนึ่งคือ “วัดโบถนาถ” (Bodnath) เชื่อกันว่าในสมัยโบราณหุบเขากาฐมาณฑุนั้นเป็นทะเลสาปมาก่อน บริเวณตรงที่วัดสเวยมนาถตั้งอยู่เคยมีดอกบัวผุดขึ้นมาจากน้ำและวันหนึ่งเกิดแสงสว่างจากดอกบัวซึ่งในขณะนั้น พระมันจูศรี (Manjushri) (ปางหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสติปัญญา ถ้าสังเกตจากรูปปั้นนั้นมือขวาของท่านจะถือดาบแห่งปัญญาและแสงสว่าง ส่วนมือซ้ายถือกล่องแห่งปัญญา) นั่งทำสมาธิอยู่บนภูเขา เห็นดังนั้นจึงบินข้ามฟ้าผ่านประเทศจีนและทิเบตบนสิงโตสีฟ้าเพื่อมาสักการะดอกบัวศักดิสิทธิ์และเมื่อเห็นถึงความอัศจรรย์นี้พระมันจูศรีจึงต้องการให้คนที่มีความศรัทธาในศาสนาสามารถเดินทางมาสักการะสิ่งศักดิสิทธิ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สะดวกจึงได้ใช้ดาบฟันเนินเขาที่อยู่รอบๆ ทะเลสาปให้น้ำไหลออกไป เมื่อน้ำลดลงดอกบัวก็กลายเป็นเนินสูง ส่วนแสงจ้านั้นกลายเป็นวัดสเวยมนาถซึ่งมีความหมายว่า “การเกิดขึ้นด้วยตัวเอง” (self created) วัดนี้บางทีก็เรียกกันว่าวัดลิงเพราะมีลิงอาศัยอยู่แยะมากประหนึ่งเป็นเจ้าของวัด เราสามารถขึ้นไปยังตัวเจดีย์ได้สองทาง ทางด้านหน้านั้นมีบันไดที่สูงและชันจำนวนถึง 365 ขั้น ซึ่งผู้คนพื้นเมืองมักจะใช้ทางขึ้นด้านหน้าเดินขึ้นมาสวดมนต์ไหว้พระกันทุกๆ เช้า ส่วนด้านหลังมีทางเดินขึ้นที่ง่ายกว่า
วัดสเวยมนาถมีเอกลักษณ์ของสถูปพุทธสไตล์เนปาลที่โดดเด่นคือมีโดมสีขาวรูปครึ่งวงกลมคว่ำ รอบๆ มีกงล้อมนตราที่มีบทสวดมนต์ “โอม มณี ปัทเม หุม” (om mani padme hum) อยู่ด้านในให้คนที่มาเยี่ยมชมได้หมุนสวดมนต์ทำสมาธิ การหมุนต้องวนตามเข็มนาฬิกา ถัดขึ้นไปจะมีฐานสีเหลี่ยมสีทองที่มีดวงตาพระพุทธเจ้าอยู่ทั้งสี่ด้านที่จะมองออกไปครบสี่ทิศ ตรงกลางด้านบนมีดวงตาที่สามคือดวงตาแห่งปัญญาที่สามารถมองทะลุผ่านไปยังภายในจิตใจของคน ตรงกลางที่ดูคล้ายจมูกนั้นจริงๆ แล้วเป็นสัญลักษณ์ภาษาเนปาลแปลว่า “หนึ่ง” หรือมีความหมายถึงหนทางแห่งการตรัสรู้ที่มีเพียงวิธีเดียวคือการเรียนรู้สัจธรรมแบบเดียวกับพระพุทธเจ้า ด้านบนเป็นวงแหวน 13 ชั้น คือความสมบูรณ์แบบทั้ง 13 เพื่อไปสู่สวรรค์ และมักมีธงมนต์ 5 สีผูกให้ลมพัดพาบทสวดมนต์ไปยังผู้คนที่อยู่ไกลออกไป และด้านบนสุดเป็นร่มที่ปกป้องสถูป
ถ้าเดินขึ้นจากทางด้านหน้าพ้นบันไดมาจะเจอกับ “วัชระ” (Vajra) หรือสายฟ้าขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในของที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำลายความเขลาเบาปัญญาได้และเป็นตัวแทนของเพศชาย ที่ใช้คู่กันในการทำพิธีทางศาสนาก็คือ กระดิ่งซึ่งเป็นตัวแทนของเพศหญิงหมายถึง “ปัญญา” ปกติเวลาทำพิธีทางศาสนาจะต้องใช้คู่กันโดยถือวัชระด้วยมือขวา และกระดิ่งด้วยมือซ้าย เมื่ออยู่รวมกันแล้วก็จะนำไปสู่การตรัสรู้ได้ในที่สุด เพราะถ้าความเขลาเบาปัญญาถูกทำลายลงก็จะเกิดเป็นปัญญาความฉลาดปราดเปรื่องทำให้คนนั้นๆ คิดเป็นทำเป็น ทำให้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องให้กับชีวิต ภาษาทิเบตจะเรียกวัชระว่า “ดอร์จิ” (Dorji) ซึ่งเป็นอาวุธของคุรุรินโปเช (พระปัทมะสัมภาวะ) ที่ไว้ปราบเหล่ามาร ฉันเคยซื้อดอร์จิเป็นที่ระลึกโดยที่ไม่รู้ว่าต้องอยู่คู่กับกระดิ่ง จนได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมการบรรยายเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาของทิเบต เลยต้องไปตามหาซื้อกระดิ่งเพื่ออยู่ร่วมกัน แต่แม้ว่ามีอุปกรณ์ครบแล้วก็ยังไม่มีปัญญากับเขาเสียที
ถ้าใครอยากทำสมาธิก่อนที่จะเดินเที่ยวก็ขอเชิญเดินหมุนกงล้อกันก่อนซึ่งมีจำนวนไม่มากนักใช้เวลาไม่นานก็ครบรอบ ภายในบริเวณวัดมีทั้งวัดฮินดูและวัดทิเบตอยู่รวมกันอย่างไม่แตกแยก วัดที่สำคัญนั้นคือ “วัดฮาราติ” (Harati Temple) ซึ่งเป็นวัดฮินดูที่สักการะเทพเจ้า “ฮาราติ” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งไข้ทรพิษและโรคติดต่ออื่นๆ ในสมัยก่อนคนที่เป็นโรคนี้ก็จะมาถวายเครื่องเซ่นไหว้ให้แก่เทพเจ้าเพื่อช่วยคุ้มครองและรักษาโรคให้หาย ซึ่งคนที่นับถือนั้นมีทั้งพุทธทั้งฮินดู อาจเป็นเพราะว่าศาสนาพุทธไม่มีเทพเจ้า คนพุทธก็เลยนับถือเทพเจ้าของฮินดูไปด้วยเพื่อที่จะเป็นที่พึ่งทางใจให้ดูแลปกป้องคุ้มครอง ทุกครั้งที่ฉันไปเยี่ยมวัดสเวยมนาถจะเห็นคนมาทำพิธีด้านหน้าวัด ไม่แน่ใจว่าจะขอพรอะไร อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย วัดนี้ห้ามถ่ายรูปด้านในซึ่งมีเทพเจ้าประทับอยู่ เดินถัดไปอีกนิดทางทิศตะวันออกของสถูปเป็นวัดทิเบตที่มีรูปปั้นพระศากยะมุนีสูงถึง 6 เมตร ด้านหลังตัวสถูปมีเจดีย์ขนาดเล็กมากมาย รายล้อมไปด้วยร้านค้าขายของที่ระลึก ก่อนที่จะกลับลองไปยืนตรงจุดชมวิวจะเห็นเมืองกาฐมาณฑุได้อย่างเต็มๆ ตา ถ้าเป็นคนตื่นเช้าอยากแนะนำให้มาตอนเช้าตรู่เพราะจะเห็นบรรยากาศแบบพื้นเมืองที่มีชาวบ้านมาไหว้พระกันคึกคักซึ่งจะแตกต่างจากเวลากลางวันที่วัดจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย
ถ้าใครขึ้นมาทางด้านหน้าลองเปลี่ยนบรรยากาศไปลงทางด้านหลังดูบ้างจะได้ไปชมวัดทิเบต Whochen Thokjay Choyaling Monastery ซึ่งอยู่ด้านล่างทางด้านหลังของวัดสเวยมนาถ ค่อนข้างเป็นบริเวณที่เงียบไม่มีคนพลุกพล่านและร่มรื่นมีต้นไม้ปกคลุม และไม่มีนักท่องเที่ยวมากมายเหมือนด้านบน
เราเดินกลับไปตั้งหลักกันที่บ้าน เพื่อที่จะรอไปร่วมพิธีสำคัญที่จูเกชอยากให้ฉันไป (แต่เขาไม่ไปหรอกนะ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น