มาเนปาลเที่ยวนี้ฉันตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจนเริ่มเกิดเป็นความเคยชิน ดีไปอย่างที่มีเวลาเที่ยวเยอะ ช่วงเช้าตรู่ที่พระอาทิตย์เริ่มแย้มแสงยังถ่ายรูปได้สวยอีกด้วย
เราออกเดินทางเพื่อไปเที่ยวหมู่บ้าน “บังกามาติ” (Bungamati) เป็นที่แรก หมู่บ้านอยู่ห่างจากกาฐมาณฑุไปประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น เป็นแหล่งกำเนิดของเทพเจ้า ราโต มาเชนดรานาถ (Rato Machhendranath) ซึ่งตอนนี้เสด็จประทับอยู่บนรถแห่ที่เมืองปาตันนู่น หลังจากนี้เมื่อขบวนแห่จบลงจึงจะเสด็จกลับมาประทับที่หมู่บ้านนี้เป็นเวลาอีก 6 เดือน และกลับไปประทับที่เมืองปาตันยังวัดชื่อเดียวกันอีก 6 เดือน สลับกันอยู่ระหว่างเมืองใหญ่และหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้
หมู่บ้านนี้มีความเชี่ยวชาญเรื่องการแกะสลักไม้ จึงยึดเป็นอาชีพหลัก เราแวะดูเขาสลักไม้ในบ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นบ้านสไตล์เนวาร์โบราณ เมื่อเดินเข้าไปก็ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ แปลกๆ ถามไปถามมาก็เป็นกลิ่นไม้ที่เขากำลังแกะสลักนั่นเอง ซึ่งเป็นไม้ชนิดพิเศษที่จะนำมาใช้แกะสลักของต่างๆ
หลังจากนั้นจึงเริ่มออกสำรวจหมู่บ้าน โดยการเดินผ่านถนนในหมู่บ้านซึ่งค่อนข้างแคบมาก ต้องใช้วิธีเดินอย่างเดียว แต่ได้อารมณ์ย้อนไปยุคโบราณดี เหมือนว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่ไม่ได้เปลี่ยนไปตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่
วัดราโต มาเชนดรานาถ ที่กลางลานกว้าง มีลักษณะแปลกตาเพราะเป็นสถาปัตยกรรมแบบ “ชิการะ” (Shikara) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ตัววัดจะสร้างเป็นคล้ายๆ สถูปมีสีขาวสูงขึ้นไปคล้ายๆ ภูเขา และรอบๆ ก็จะมีสถูปเล็กๆ รายล้อม ตอนที่เราไปนั้นวัดปิด ก็เพราะเทพเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ที่นั่น แต่มีวัดตรงใกล้ๆ คือวัดของเทพเจ้า “ไพรภ” (Bhairob) เทพเจ้าองค์นี้อยู่ในรูปแบบที่แปลก คือมีแต่หน้า ไม่มีหัว ไม่มีตัว และหน้าตาดุมากๆ ด้วย เป็นเทพเจ้าที่คอยดูแลปกป้องชุมชน แต่ละชุมชนก็จะมีวัดที่บูชาเทพเจ้าไพรภ
เราเดินเตร็ดเตร่ดูบ้านเรือน ถ่ายรูปบรรยากาศหมู่บ้านอีกพักหนึ่งก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังหมู่บ้าน “โคคนะ” (Kokhana) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกาฐมาณฑุเท่าไหร่แค่ 10 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เหมือนห่างไกลจากความเจริญมากๆ ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมซักเท่าไหร่อาจจะเพราะมีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม แต่เขาก็อยู่กันได้ หมู่บ้านมีชื่อเสียงสองเรื่องคือเรื่องการผลิตน้ำมันมัสตาร์ด และเรื่องการเลี้ยงเป็ด เห็นจะจริงเพราะว่าฉันเห็นเดินก้นบิดกันเต็มหมู่บ้านทีเดียว เร็วๆ นี้ทางการเริ่มที่จะรณรงค์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยการรักษาสภาพแวดล้อมให้น่าดูขึ้นเพราะจริงๆ แล้วที่นี่เป็นต้นแบบของหมู่บ้านแบบโบราณซึ่งมี
ความน่าสนใจให้ศึกษาหลายอย่าง
ความน่าสนใจให้ศึกษาหลายอย่าง
หลังจากนั้นเราเดินทางต่อไปยังหมู่บ้าน “ทิมิ” (Thimi) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับภักตาปูร์ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตหม้อที่ทำจากดินเผาและหน้ากากที่ทำจากกระดาษ นอกจากนี้ยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของกาฏมาณฑุอีกด้วยเพราะหมู่บ้านนี้ปลูกข้าวเพื่อส่งไปขายยังเมืองหลวง
มีเรื่องน่าตื่นเต้นตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้านเลยทีเดียว เราเห็นกลุ่มคนยืนอยู่สองข้างทางกลุ่มใหญ่ มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชายครบถ้วน ทำให้พลันสงสัย ตอนแรกนึกว่ามีงานเทศกาลอะไรแต่เมื่อซอกแซกกวาดสายตาจนทั่วจึงเข้าใจว่าเขายืนทำอะไรกัน เผอิญว่ามีคนตาย และตามธรรมเนียมเขาจะเอาศพมาไว้หน้าบ้าน ปิดด้วยผ้า และเมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็จะมายืนรอดูกัน คงเหมือนการส่งศพ เพระว่าปกติชาวฮินดูเมื่อตายแล้วเขาจะเผาเลย ไม่ได้เก็บไว้หลายๆ วัน
เราก็ทำตัวกลมกลืนไปยืนออกับเขาบ้าง อยากรู้อยากเห็นว่าเขาจะมีพิธีอย่างไร ยืนไปก็ถ่ายรูปบ้านเรือนและผู้คนไป มีเด็กน่ารักแต่งตัวมอมแมมยืนอยู่ข้างๆ เรากลุ่มใหญ่ เริ่มสนุกกับการเป็นนายแบบนางแบบตัวจิ๋วต่างโพสต์ท่านั้นท่านี้ให้เราเก็บภาพ และขอดูความแก่นของตัวเองปรากฏบนหน้าจอดิจิตัลของกล้องเรา คงจะสนุกเพลินจนวิ่งวุ่นและส่งเสียงดังจึงถูกผู้แก่ผู้เฒ่าแถวๆ นั้นดุเอา ขนาดเราเดินจากไปเพื่อไปหยุดดูขบวนด้านหน้ายังจะตามไปเป็นนายแบบให้ นานๆ คงมีนักท่องเที่ยวหลงมาในฤดูกาลหน้าฝนเช่นนี้ ก็เลยพลอยอดเล่นสนุกไม่ได้
เราไปยืนรอดูขบวนทางด้านหน้า ซึ่งพี่ธันวาเล่าว่าเมื่อใครในบ้านตายลง สมาชิกของบ้านก็จะบอกข่าวให้ทุกคนในหมู่บ้านทราบ เมื่อทุกอย่างตระเตรียมเรียบร้อย ศพจะถูกหามขึ้นแคร่ และมีขบวนนักดนตรีนำรวมทั้งมีตะเกียงที่จุดไฟเพื่อที่จะนำทางให้วิญญาณตามไปถูกทาง ลูกชายคนโตจะรับหน้าที่ในการทำพิธีศพให้พ่อ ที่แปลกก็คือจะมีคนที่ทำอาชีพ “นางร้องไห้” ซึ่งจะทำหน้าที่ตอนที่จะแห่ศพไปรอบหมู่บ้านเป็นผู้หญิงสองคนปิดหน้าปิดตาแต่ร้องไห้เสียงดังมาก เราหยุดดูจนศพผ่านหน้าไปแต่ไม่ได้ตามไปเผากับเขาด้วย เห็นว่าเป็นเรื่องในครอบครัวไม่อยากจะสอดรู้สอดเห็นมากเกินไป ตามหลักศพต้องเผาบริเวณวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ บางทีเห็นลูกชายโกนหัวเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้พ่อด้วย
เราเดินเล่นในหมู่บ้านนี้อีกซักพักก็จากลา เพื่อไปสำรวจเมืองภักตาปูร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น