01 พฤษภาคม 2554

10. เมืองที่ศักดิ์ศรีถูกทำลาย

     หลังจากสำรวจ วัดมานากามานะ จนทั่วแล้ว ก็นั่งรถเคเบิ้ลกลับลงมาด้านล่างและแวะทานอาหารกลางวันที่ร้านที่อยู่ภายในบริเวณของสถานีรถเคเบิ้ล ซึ่งมีทั้งอาหารท้องถิ่นและต่างชาติไว้ให้บริการ รสชาติโอเค ราคาไม่แพงมากนัก หลังจากมื้อเที่ยงเราเดินทางกลับไปยังหุบเขากาฐมาณฑุกัน แต่มีเมืองที่น่าสนใจมากๆ ที่เราไปแวะเยี่ยมกันระหว่างทางนั่นก็คือ กิติปูร์ (Kirtipur)
     กิติปูร์เคยเป็นราชอาณาจักรที่มีเอกราชเป็นของตัวเองก่อนที่จะถูกรุกรานและกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเนปาลในที่สุด กิติปูร์อยู่ห่างกาฐมาณฑุไปทางตะวันตกเฉียงใต้เพียงแค่ 
5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่บรรยากาศนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะเขายังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น เพียงแค่เดินเข้าไปในเขตเมืองคุณก็จะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง ให้ความรู้สึกคล้ายว่าเดินกลับเข้าไปสู่อดีตโดยไม่ต้องอาศัยกระจกของแม่มณีจันทร์ หรือไทม์แมชชีนของโดเรมอน


     จริงๆแล้วกิติปูร์ตั้งอยู่บนเนินเขาทำให้ยากต่อการรุกรานอีกทั้งยังมีกำแพงเมืองที่เข้มแข็ง ทหารเก่งกล้า ชาวเมืองกล้าหาญ  ราชวงศ์มัลละต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะตีเมืองได้สำเร็จ และเมื่อตีได้แล้วจึงให้ชาวเมืองชดใช้ด้วยความเจ็บปวดคือพวกเขาเหล่านั้นถูกมีดตัดจมูกและปากเพื่อเป็นการเยาะเย้ย​ (ทำเกินไปมั้ยเนี่ย)​
     เราเริ่มต้นสำรวจเมืองเก่าเมืองนี้โดยการเข้าไปชมวัด “ภัค ไพราพ” ( Bagh Bhairab Temple) ซึ่งอยู่ตรงแอ่งของเนินเขาสองเนินของเมืองกิติปูร์ เป็นวัดที่สำคัญประจำเมืองซึ่งสักการะเทพเจ้าไพราพในปางดุร้ายที่เป็นเสือ ท่านเป็นเทพเจ้าที่ปกป้องเมือง เมื่อไปถึงควรสังเกตบริเวณชั้นบนของหลังคาวัด จะเห็นว่าถูกตกแต่งด้วยอาวุธ เช่นดาบ โล่ ซึ่งเป็นอาวุธที่ทหารใช้ป้องกันเมืองเมื่อตอนที่ต่อสู้กับทหารของราชวงศ์มัลละ บริเวณด้านหน้าวัดนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชวังของกษัตริย์ที่ปกครองเมืองกิติปูร์ในสมัยโบราณ

     
     ตอนที่เราเข้าไปนั้นบรรยากาศดูเงียบเหงาไม่มีผู้คน หากแต่ว่าเสียงเพลงพื้นเมืองลอยมาเข้าหูเราเป็นเสียงเล็กๆ น่ารักของเด็ก ทำให้กระตุกต่อมความสนใจของเราอย่างมากจึงเริ่มหาที่มาของเสียงและพบว่าด้านหลังวัดนั้นเป็นโรงเรียน เราจึงขออนุญาตครูที่นั่นเข้าไปเดินชมห้องเรียนซึ่งด้านบนสุดนั้นเป็นห้องเรียนดนตรี มีลักษณะเปิดโล่ง ตอนที่เราไปถึงมีเด็กๆ น่าจะอยู่ประมาณประถมสี่ กำลังเรียนเล่น เมโลเดียน (Melodian) อยู่เป็นกลุ่มเด็กหญิงดูท่าทางตั้งอกตั้งใจดี ครูที่สอนเป็นชายวัยกลางคนรูปร่างสันทัดดูท่าทางใจดีและอดทนกับเด็กๆ มาก 
พี่ธันวาขอร้องให้เด็กๆ ร้องเพลงให้เราฟังซักหนึ่งเพลงคุณครูใจดีจึงให้เธอเหล่านั้นร้องเพลงชาติเพลงใหม่ของเนปาลให้เราฟัง เด็กๆ ดูตั้งอกตั้งใจร้องมากจึงได้เสียงปรบมือกองใหญ่จากเราไป
     ซักครู่หนึ่งมีเด็กชายมาเข้าเรียนในห้องเพิ่มเติม พวกเขามาเรียนตีกลอง ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กลองยาวบ้านเรา เด็กๆ ดูเล่นอย่างสนุกสนานมาก ไม่มีสีหน้าเบื่อเหมือนเวลาที่ฉันถูกบังคับให้เรียนดนตรีไทยเมื่อสมัยเด็กซักนิด เขาคงถูกปลูกฟังมาอย่างดี และให้ความสำคัญกับเครื่องดนตรีพื้นเมืองพวกนี้มาก นั่นก็เป็นเพราะว่าดนตรีเหล่านี้ยังมีส่วนผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา เพราะเขามีเทศกาล พิธีฉลอง พิธีทางศาสนาต่างๆ อย่างถี่ยิบ เราจึงนั่งฟังพวกเด็กๆ เล่นอย่างน่าทึ่งอยู่พักใหญ่ แล้วก็มีเด็กกลุ่มใหม่มาเข้าห้องเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง ดูเหมือนว่าห้องเรียนดนตรีนี้จะมีนักเรียนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาเรียนอย่างต่อเนื่อง และก็ตามประสาเด็กที่ย่อมต้องซุกซน มีแกล้งกันบ้าง หวงของบ้าง อย่างเด็กหญิงคนหนึ่งเธอมีความตั้งใจจะเล่นเครื่องเป่าให้ได้ดี แต่เครื่องดนตรีนั้นคงมีจำกัดเธอเลยต้องใช้ต่อจากเพื่อนซึ่งได้รับมรดกต่อมาด้วยน้ำลายเต็มๆ เลยต้องเช็ดกันยกใหญ่ ดูแล้วผู้ใหญ่อย่างเราก็อดขำไม่ได้ 
หนุ่มน้อยหน้าตาดีอีกคนหนึ่งนั้นเล่นกลองได้อย่างดีเลิศ เดาว่าโตอีกหน่อยคงต้องเล่นกลองโครมๆ ให้พ่อแม่ได้หนวกหูเป็นแน่ พวกหนุ่มๆ ทั้งหลายดูจะตื่นเต้นกับนักท่องเที่ยวอย่างเรารวมทั้งกล้องถ่ายรูปของเราเป็นพิเศษ จึงไม่ขวยเขินที่จะเป็นนายแบบสมัครใจให้เราได้เก็บภาพน่ารัก ประทับใจของเด็กๆ ในชุดนักเรียนได้อย่างสวยงามเป็นธรรมชาติ บางทีเวลาอยู่ท่ามกลางเด็กๆ ก็สามารถทำให้ฉันมีความสุข ความสบายใจ เพราะรู้สึกว่าเราสามารถสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องแกะรหัสว่าพวกเขาทำแบบนั้นแบบนี้เพื่ออะไร ไม่เหมือนเวลาที่อยู่ท่ามกลางผู้ใหญ่ที่มีความละเอียดอ่อนและอารมณ์ที่ผันแปรได้ง่ายๆ


     
     เราปล่อยให้เด็กๆ ได้มีสมาธิกับการเรียนดนตรีกันต่อ แล้วเริ่มออกสำรวจตัวหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่เก่ามากๆ เพราะฉะนั้นตึกรามบ้านช่องก็จะมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เป็นการออกแบบสไตล์เนวาร์โบราณ ตัวเมืองมีกำแพงกั้นโดยรอบและมีประตูเมืองถึง 12 แห่ง คนที่อยู่ในชนชั้นต่ำจะอยู่นอกกำแพงเมือง  ชาวเมืองส่วนใหญ่ยังแต่งตัวในชุดพื้นเมืองดั้งเดิมสวยงามมีเอกลักษณ์และน่าดูมากๆ และมีความเป็นมิตรกับผู้มาเยือน ยิ้มแย้มทักทาย ให้่ถ่ายรูปอย่างมีอัธยาศัย ระหว่างตรอกซอกซอยที่เราเดินผ่านไปชาวบ้านก็ฝัดข้าวโดยการใช้ไม้ทุบแบบโบราณและฟางที่เหลือก็มัดรวมเป็นกองๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ส่วนใหญ่คนที่นี่มีอาชีพทอผ้าหรือไม่ก็เป็นชาวนา


     เราเดินไปเรื่อยเปื่อยเพื่อไปชมวัด “อุมา เมเหสวอร์” (Uma Maheshwar Temple) ซึ่งเป็นวัดที่สักการะพระศิวะและพระนางภราวาติ ซึ่งจะมีรูปสักการะอยู่ด้านบนวัด ตอนที่เราไปนั้นวัดกำลังได้รับการบูรณะอยู่ จึงเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างทำให้วัดหมดความสวยไปเยอะ ด้านหน้ามีรูปปั้นช้างที่มีเหล็กแหลมอยู่บนหลัง คงมีไว้เพื่อกันไม่ให้เด็กๆ หรือคนที่ชอบทำอะไรแผลงๆ ขึ้นไปขี่เล่นซึ่งจะทำให้ของโบราณเหล่านี้เสียหายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อครั้งแผ่นดินไหวใหญ่ก็ถูกทำลายไปมากแล้ว และเนื่องจากตัววัดอยู่บนบริเวณเนินสูงทำให้เรามองเห็นวิวด้านล่างของหุบเขาได้อย่างสวยงามทีเดียว หน้าทางเข้าวัดมีกล่องรับบริจาคเงินเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมบำรุง ฉันอดไม่ได้ที่จะช่วยสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ จนพี่ธันวาถึงกับแซวว่า 
     “ระวังนะทำบุญทุกวัดแบบนี้เดี๋ยวจะได้กลับมาอีก” 
     แหมถ้าเป็นแบบนั้นจริงก็ดีสิ ก็เนปาลเป็นประเทศที่ฉันทั้งรักทั้งผูกพันขนาดนี้ มาบ่อยแค่ไหนก็ไม่เบื่อ
     ระหว่างทางที่เดินต่อเพื่อที่จะไปสำรวจสถานที่สำคัญอื่นๆนั้น เราได้ยินเสียงเพลงแว่วๆ และเห็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ยืนหันหลังเรียงกันแล้วมองลงไปที่ด้านล่าง เราจึงเดินเข้าไปเพื่อดูว่ามีอะไรน่าสนใจให้เราได้ดูชมรึเปล่าปรากฏว่าด้านล่างนั้นเป็นลานกว้างที่มีการซ้อมการเต้นรำแบบพื้นเมืองผสมผสานกับการเต้นรำสมัยใหม่ของกลุ่มนักเรียนหญิงวัยกำลังจะย่างเข้าวัยรุ่นประมาณ 6 คน มีคุณครูสาวสอนท่าเต้นให้ เราจึงยืนดูกันอยู่พักหนึ่ง ดูๆ ไปแล้วพวกเธอเหล่านั้นก็สนุกสนานกับกิจกรรมการเต้นรำนี้ดี ไม่รู้ว่าจะต้องไปขึ้นแสดงที่ไหนรึเปล่า เมื่อเหลือบขึ้นมาเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวหน้าตาแปลกๆ มายืนดู พวกเธอก็ทำหน้าเขินเล็กน้อยแต่ก็ตั้งหน้าตั้งตาเต้นกันต่อไป คิดว่ากิจกรรมนี้คงจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กเล็กๆ รุ่นต่อไป
     เราเดินต่อไปเพื่อไปชมวัด “ชินลานจู วิฮารา” (Chinlanju Vihara Temple) ซึ่งเป็นสถูปแบบพุทธ มีสถูปใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีสถูปเล็กๆ อีก 4 องค์อยู่รอบๆ ที่แปลกตาก็คือหน้าของดวงตาแห่งธรรมที่วาดไว้บนสถูปใหญ่นั้นเป็นสีดำซึ่งปกติแล้วจะเป็นสีขาว


     เราเดินลงจากเนินเขาอีกด้านหนึ่งของตัวเมืองเพื่อที่จะไปชมวัดไทย “ศรีกิติ วิหาร ( Srikiti Vihara Temple)  ซึ่งตั้งจากชื่อของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ วัดนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมีสง่าราศี เนื่องจากเป็นวัดไทยวัดเดียวที่อยู่ในบริเวณนั้น เป็นวัดที่ทางประเทศไทยสร้างให้กับเนปาล
     และแล้วเราก็โบกมือลาจากเมืองกิติปูร์

2 ความคิดเห็น:

  1. เธอมี draft copies ของเรื่องราวอยู่แล้วหรือ เขียนสดจากความทรงจำอะ เยี่ยมมากจ้าาา

    ตอบลบ
  2. ตอนไปก็จดๆ ว่าไปไหน เจอใครบ้าง แล้วค่อยมาเขียนเรื่องอีกที และหาข้อมูล hard fact เพ่ิมเติมจ้า

    ตอบลบ