20 กรกฎาคม 2554

4. Lost in Translation

วันที่สองนี้เป็นวันสบายๆ ไม่มีภารกิจอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว ริซ่าตื่นมาทอดไข่เจียวพร้อมเฟรนช์ฟรายสไตล์เนปาล ป้ิงขนมปัง และชงชาเนปาลให้ฉันดื่มในตอนเช้า ฉันรู้สึกเกรงใจนิดหน่อย อยากจะช่วยทำเธอก็ไม่ยอม ได้แต่บอกว่าไม่มีงานอะไรจะให้ทำ
            ช่วงสายๆ ฉันไปเดินเล่นดูตลาดสดแถวๆ บ้านกับราเกชและปราวีณา ซึ่งเป็นตลาดเล็กๆ ส่วนใหญ่ขายผักสด แต่ละร้านมีเพิงแบบง่ายๆ บังแดด กองขายกับพื้นง่ายๆ คล้ายๆ ตลาดนัดบ้านเรา หลังจากนั้นก็แวะไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของอย่างอื่นๆ ฉันรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับซูเปอร์ที่นี่มากเพราะมีของขายอย่างมหาศาล ตั้งแต่ของสด ของใช้ประจำวัน ของที่อิมพอร์ตเข้ามา ขนมมากหน้าหลายตาทั้งของพื้นเมืองและของต่างประเทศ ส่วนที่ฉันสนใจนั้นเป็นพวกเครื่องเทศที่มีให้เลือกมากมายในหลายรูปแบบ เรียกว่าเดินชมกันเพลินทีเดียว การเดินเล่นในซูเปอร์นั้นเป็นหนึ่งในกิจวัตรสุดโปรดของฉันเวลาเดินทางไปต่างประเทศอยู่แล้ว
ซะด้วยเพราะมันเป็นการเดินทางเข้าไปในวิถีชีวิตแท้ๆ ของคนท้องถิ่นอย่างน่าสนใจ





 


วันนี้จูเกชจัดงานเลี้ยงที่บ้านโดยชวนเพื่อนๆ และญาติๆ มารับประทานอาหารกลางวันกัน ทำให้ฉันได้เจอทุกคนอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา 
            คิงหรือบาซุ (ลูกพี่ลูกน้องของจูเกช) เขาเพิ่งแต่งงานไปพร้อมๆ กับราเกช เรียกว่ายังเป็นคู่ข้าวใหม่ปลามันอยู่ เขาทำงานกราฟฟิกดีไซน์ในบริษัทแห่งหนึ่งมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และยังเคยเดินทางมาเมืองไทยเพื่อร่วมกับงานประกวดโฆษณา เสียดายที่ฉันไม่รู้ ไม่งั้นคงต้องนัดเจอกันซะหน่อย
            นูนู่ (ซาราล่า) (น้องสาวคนโตของจูเกช) มาอยู่ที่บ้านนี้เป็นกิจวัตรอยู่แล้ว เพราะลูกสาวเธอมาอาศัยอยู่ที่นี่เพื่อที่จะเดินทางไปโรงเรียนกับลูกๆ ของจูเกชได้สะดวก
            ซูนุ (นีราจา) (น้องสาวคนสุดท้องของจูเกช)​ มาพร้อมกับสามีซึ่งทำงานบริษัททัวร์ เขารู้จักคนไทยที่ฉันก็เผอิญรู้จักอยู่หลายคนทีเดียว โลกมันช่างกลมนัก
            ฉันได้เจอ เซาเกจ (Saugesh) (น้องชายคนรองจากจูเกช) คราวนี้เป็นครั้งแรก เพราะเมื่อครั้งมางานแต่งงานของจูเกชนั้นเขายังทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น ส่วนหนที่แล้วเขาก็แต่งงานและแยกบ้านไปอยู่ที่อื่นซะแล้ว
            เพื่อนสนิทของจูเกชมีหลายคนทีเดียว มากันพร้อมหน้าทั้งสามีภรรยา บางคนมีลูกโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ฉันนั่งอยู่ในหมู่วงล้อมของชาวท้องถ่ิน ที่แม้ว่าจะเงี่ยหูฟังยังไงก็ไม่มีวันรู้เรื่อง ใครถามอะไรก็ตอบได้อย่างเดียวว่า “ปานี” ซึ่งแปลว่าน้ำ ใจก็อยากจะใส่ตัว “ร” เรือ เข้าไปอีกซักตัว จะด้วยช่วยกรุณาปรานีพูดภาษาอังกฤษให้ฉันฟังรู้เรื่องหน่อยเพราะนั่งอยู่ตรงนั้นรู้สึกประหนึ่งว่ากำลังเล่นหนังเรื่อง “Lost in translation” อยู่ ยังไงยังงั้นเลย น้ำลายเกือบบูด โชคยังเข้าข้างที่มี นิมาลา (Nirmala) เพื่อนของริซ่านั่งอยู่ใกล้ๆ เธอเลยชวนฉันคุย ท่าทางเธอก็ดูเบื่อๆ อยู่เหมือนกันเพราะไม่ได้รู้จักมักจี่สนิทสนมกับใครมากนัก ก็เพราะเธอเพ่ิงหมั้นกับเพื่อนคนนึงของจูเกช โดยการแนะนำของเขานั่นเอง เธอบอกว่าตอนแรกก็ตั้งใจว่าจะไม่แต่งงานแล้วแต่ก็มาเปลี่ยนใจเพราะ “อโศก” ขอเธอเมื่อไม่นานมานี้ เขาและเธอทำงานร่วมกันเป็นเจ้านายและลูกน้องแต่หลังจากแต่งงานสถานภาพคงต้องเปลี่ยนไปเมื่อกลับถึงบ้าน (ฮี่ๆๆ)
มื้อกลางวันวันนี้กว่าจะได้กินข้าวกันก็ปาเข้าไปบ่ายสองกว่าๆ ฉันหิวซะท้องแทบกิ่ว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ถ้ากินช้ากว่านี้อีกนิดคงจะกินบัฟได้ทั้งตัวเป็นแน่ มื้อนี้จูเกชสั่งอาหารจากร้านนอกบ้านเพราะไม่อยากให้คนในบ้านต้องเหนื่อยยากในการทำอาหาร แต่ผู้หญิงในบ้านก็ยังต้องคอยดูแลอาหารการกินอยู่ดี มีแต่ผู้ชายที่นั่งดื่มกินกันสนุกสนาน มื้อนี้มีของอร่อยหลายอย่างทีเดียว ไฮไลท์เห็นจะเป็น ข้าวหมกไก่สไตล์อินเดีย (Chicken Biryani) ผักโขมผัด ไก่ทอด สลัดผัก และน้ำพริก สไตล์เนปาลรสเด็ดของโปรดของฉัน รสชาติอาหารจัดว่าดีมากแต่ด้วยความที่ท้องฉันยังสับสนอลหม่านกับการปรับเวลาตามระยะเส้นรุ้งเส้นแวงแล้ว ยังต้องปรับเวลาตามวัฒนธรรมการกินอาหารของคนท้องถิ่นอีกด้วย ทำให้กินได้ปริมาณไม่มากนัก เกรงว่ากระเพาะจะทรมานและกรีดร้องโวยวายในที่สุด



            หลังจากทานอาหารได้ซักพักแขกก็เร่ิมทยอยกลับกัน เหมือนเป็นธรรมเนียมว่าเมื่อมาถึงก็ตั้งวงดื่มแอลกอฮอล์กันก่อนให้พอกึ่มๆ แกล้มของกรุบกรอบ มีเรื่องขำขันแซวกันไปมา หลังจากนั้นจึงกินอาหารมื้อหลัก เมื่อหนังท้องตึงแล้วเป็นอันว่าหมดภาระกิจ เร่ิมกลับบ้านได้ ดูๆ ไปก็นิสัยคล้ายๆ คนไทยอยู่เหมือนกัน
            บ่ายนั้นฉันถือโอกาสออกไปดมฝุ่นเนปาลกับ ราเกช ปราวีนา ริซ่า และสองตัวแสบ 
ไอช่ากับอาจิ ริซ่าต้องออกไปหาซื้อของเตรียมตัวสำหรับพิธีในวันรุ่งขึ้นและวันถัดไปแถวเมืองปาทาน แก้งค์ที่เหลือเลยพาฉันไปเที่ยววัดทองซึ่งช่วงนี้กำลังบูรณะอยู่ บรรยากาศภายในวัดช่างเงียบเหงาไร้เงาผู้คน คงเป็นเพราะเย็นมากแล้ว
            “เธอเคยมาที่นี่แล้วรึยัง” ราเกชถามฉัน
“ครั้งที่แล้วฉันมาที่นี่เหมือนกัน มาตั้งแต่ตีสี่แน่ะ มาฟังสวดมนต์ มีเณรสองรูปเป็นคนช่วยทำพิธีด้วย”
            “โอ้โห คุณนี่อินกับประเพณีที่นี่มากๆ เลยนะ” ราเกชทำหน้าแปลกใจในส่ิงที่ฉันบอกเล่าให้ฟัง



            เรารอรับริซ่าเพื่อไปซื้อของอีกที่นึง ส่วนฉันไปแลกเงินตรงใกล้ๆ กับดูบาร์สแควร์ของเมืองกาฏมาณฑุเพื่อไปช้อปปิ้งต่อแถวๆ ตลาดอาซัน (Asan) ซึ่งเป็นตลาดพื้นเมือง มีของขายทุกประเภท ของฝากที่เหล่าบรรดาเพื่อนๆ ฝากซื้อกวาดได้เกือบหมดที่นี่ที่เดียว อันได้แก่ ธูปหอม ผ้าคอตตอนลายพื้นเมือง กำไล สร้อยคอ บินดี้ (สติกเกอร์ที่ติดตรงหน้าผาก) เสียดายที่มีเวลาน้อยไปหน่อย ฝนเร่ิมตก และราเกชปวดหัวตึ้บๆ ไม่งั้นฉันคงช้อปกระจุยได้ของอีกมากมายเป็นแน่ ฉันชอบตลาดแบบนี้มากๆ เพราะมีของในแบบที่บ้านเราจะไม่มีวันมีขาย 
แถมราคาถูกแสนถูกจนไม่อยากจะต่อรองให้เมื่อยปาก บางครั้งต้องอาศัยมือและหัวเป็นตัวช่วยในการบอกเล่าส่ิงที่ต้องการ


           
           เรากลับบ้านไปพักผ่อนอีกซักครู่จึงออกไปทานข้าวที่ร้านอาหารซึ่งเพื่อนราเกชเป็นเจ้าของ อยู่ใกล้ๆ กับทาเมล แต่กว่าเราจะได้กินข้าวมื้อค่ำนั้นต้องผ่านการดื่มและกินของว่าง นั่งคุยกันสัพเพเหระ ซึ่งปาเข้าไปห้าทุ่มแล้ว ฉันเกือบเป็นลมล้มพับคาร้านอาหาร ได้แต่หวังว่ากระเพาะฉันมันจะไม่ทำการประท้วงไปซะก่อน  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น