22 กรกฎาคม 2554

6. วงโคจรของสายใย

           จูเกชคงกลัวฉันเบื่อเพราะไม่ได้ไปเที่ยวไหน ก็เลยพาขับรถออกไปหมู่บ้าน Godawari ซึ่งอยู่นอกเมืองปักตาปูร์ไม่ไกลนัก เป็นที่ที่คนพื้นเมืองนิยมไปสูดอากาศบริสุทธิ์และดูพระอาทิตย์ตกดิน จูเกชชวนไอช่า คีริตและคริสมาไปด้วย ส่วนริซ่านั้นเธอต้องไปทำธุระอีกมากมายเพื่อเตรียมตัวสำหรับพิธีในวันรุ่งขึ้น 
เราขับรถขึ้นเขาไปซักพักเขาก็หันมาถามว่า
“เธออยากแวะดูโรงผลิตเบียร์พื้นเมืองที่ชื่อว่า “กาฏมาณฑุ” มั้ย เป็นของเพื่อนผมเอง”
ฉันไม่ได้มีโปรแกรมอยากไปไหนเป็นพิเศษอยู่แล้วก็เลยเออออไปกับเขา คิดว่าเขาอาจจะอยากเจอเพื่อนด้วย
“ที่นี่เขาใช้น้ำแร่ธรรมชาติมาผลิตเบียร์ ซึ่งเป็นเพียงยี่ห้อเดียวในเนปาลนะ ผมมักจะสั่งเบียร์จากเขานี่แหล่ะ ได้ดื่มแบบสดๆ เลยเพราะส่งจากโรงงาน”
            อืมม์​ ก็ฟังดูตื่นเต้นดี
บริเวณโรงงานนั้นถูกโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ที่นี่ผลิตทั้งเบียร์และวิสกี้ ฉันเองก็ยังไม่เคยไปเห็นโรงผลิตที่ไหนก็เลยรู้สึกตื่นเต้นในตอนแรก
            เพื่อนเขาออกมาต้อนรับขับสู้อย่างดี เชิญชวนให้เข้าไปชมโรงงานด้านใน พาเดินลัดเลาะไปตามสายการผลิต จะว่าไปโรงงานที่นี่ก็ไม่ค่อยจะทันสมัยถูกสุขอนามัยซักเท่าไหร่
ถ้าเทียบกับที่เมืองไทย แต่ก็คงได้มาตรฐานระดับหนึ่ง เดินไปต่อที่โรงงานผลิตวิสกี้ ซึ่งเป็นประเภทราคาถูกแต่ดีกรีแรง แถวบ้านเรียกว่า “จ่ายน้อยแต่เมาเร็ว” โรงงานนี้บรรจุด้วยมือหญิงสาวล้วนๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการกรอกน้ำเมาเข้าขวด ปิดฝาขวด และแปะฉลาก ทุกขั้นตอนมีการผ่าน QC โดยสาวๆ ที่ทำงานอยู่ในสายการผลิต
            “พนักงานคุณเมากลับบ้านทุกวันรึเปล่าเนี่ย” ฉันแกล้งหยอกเขาเล่น
            “อ๋อ …​ไม่หรอกครับ ส่วนใหญ่พนักงานเป็นผู้หญิง พวกเธอไม่ดื่มอยู่แล้ว แต่พนักงานชายก็มีบ้าง”
            คงเป็นเหตุนี้เองที่ใช้ผู้หญิงทำงานเพราะนอกจากจะละเอียดละออ ระมัดระวังกว่าแล้ว คงไม่แอบโขมยเหล้าดื่มเป็นแน่
            เราเดินเรื่อยเปื่อยไปข้างๆ โรงงาน ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ที่เขาซื้อไว้เพื่อจะทำรีสอร์ตในอนาคต บรรยากาศรอบๆ นั้นค่อนข้างดี โอบล้อมด้วยธรรมชาติ ต้นไม้น้อยใหญ่ อากาศบริสุทธิ์และเงียบ ถ้าทำบังกะโลหลังเล็กๆ คงจะน่ารักดี และบนนี้อากาศก็ดีกว่าในเมืองมาก



            ก่อนกลับเพื่อนจูเกชชวนให้เราไปทดลองดื่มเบียร์สดกัน เป็นเบียร์ชนิดพิเศษที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนผลิตสุดท้ายทำให้ไม่มีแก้สอยู่ในนั้น ตอนแรกฉันก็ลังเลนิดหน่อย แต่ก็คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว มาทั้งทีควรทดลองในสิ่งที่ไม่เคยลองดูบ้าง อะไรที่อยู่ในกรอบแบบเดิมๆ ควรลืมไปซะกับการเดินทางครั้งนี้ ไม่งั้นก็จะไม่ถึงที่สุดของการผจญภัยเต็มรูปแบบ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ารสชาติเบียร์นั้นถือว่าใช้ได้ทีเดียว (อันนี้เป็นการประเมินโดยคนที่ไม่ใช่นักดื่มตัวฉกาจ)
            เรานั่งรถต่อไปที่ Godawari Village Resort ซึ่งเป็นรีสอร์ตขนาดใหญ่พอสมควร ที่พักนั้นถูกออกแบบในสไตล์พื้นเมือง ดูมีเอกลักษณ์ดี น่าเสียดายที่ทัศนียภาพอันสวยงามด้านหน้านั้นถูกทำลายด้วยโรงงานผลิตอิฐ จากพื้นดินที่เขียวชะอุ่มด้วยต้นไม้กลับกลายเป็นดิน
สีเทาที่ถูกขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการผลิตก้อนอิฐ ทำให้รีสอร์ตนี้เงียบเหงาลง ผู้คนต่างห่างหาย ส่วนใหญ่คนที่มาจึงเป็นพวกที่มาเป็นกลุ่มใหญ่และใช้ประโยชน์ในการจัดสัมนาของบริษัท
            เรานั่งพักและสูดอากาศบริสุทธิ์พร้อมเครื่องดื่มดับกระหายแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน เครื่องดื่มยอดฮิตของเด็กๆ นั้นคงหนีไม่พ้น มิลค์เชค ฉันพยายามมองข้ามโรงงานด้านหน้าไปและค้นหาความสวยที่แท้จริงของภูเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลังจะได้พักสายตา 
จูเกชบอกว่ารัฐบาลเคยมีโครงการที่จะปิดช่องระหว่างเนินเขาสองลูกเพื่อทำให้เป็นทะเลสาป ซึ่งน่าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากันมากขึ้นได้ บรรยากาศคงคล้ายๆ กับทะเลสาปเฟวาที่โพครา แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการเกิดขึ้น คงคล้ายๆ กับประเทศไทยที่นักการเมืองมักสร้างเรื่องเพ้อๆ หลอกประชาชนให้เชื่อตาม แต่คำพูดนั้นไม่เคยเป็นคำสัญญาที่รักษาไว้ได้



 

            จูเกชบึ่งรถกลับเข้ามาในเมืองเพื่อพาฉันไปพบกับภราวาติกาและซูนิม
            วันนี้ครอบครัวเล็กๆ นี้มีความสุขสดชื่นมากขึ้นเมื่อมีสมาชิกตัวน้อย “Syesha” ตอนนี้เธออายุ 3 ปีแล้ว เมื่อครั้งก่อนที่ฉันเจอเธอยังเป็นเด็กทารกที่เพ่ิงคลอด แต่บัดนี้เธอเติบโตขึ้นมาด้วยความรักความเอาใจใส่ของพ่อและแม่ ที่แม้ว่าจะไม่ใช่คนที่คลอดเธอออกมาเอง แต่ก็มีความรักให้กับเธออย่างเต็มเปี่ยม เธอดูน่าเอ็นดูมาก ตัวเล็ก เสียงใสๆ ท่าทางฉลาด
และที่สำคัญขี้อ้อนใช่ย่อย
            ซูนิมขับรถพาฉันไปกินข้าวที่ร้านอาหารชื่อ Mike’s restaurant ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านจูเกชนัก ฉันเคยอ่านในไกด์บุ๊คเกี่ยวกับร้านนี้ว่าเป็นร้านที่มีอาหารเช้าอร่อย แต่ยังไม่เคยได้มาลองกินซักที อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารฝรั่ง เน้นประเภทเม็กซิกันซะหลายอย่าง 
ฉันนึกไม่ออกว่าจะทานอะไรดีประกอบกับอาหารมื้อเที่ยงเมื่อตอนเกือบบ่ายสี่นั้นยัง
ตึงๆ ท้องอยู่ ก็เลยสั่งสลัดมากินให้เบาๆ หน่อย
            “เธอชอบกินสลัดใช่มั้ย ฉันเห็นเธอมักจะสั่งแต่สลัดไปซะทุกครั้ง” ภราวาติกาตั้งข้อสังเกตกับนิสัยการกินอาหารของฉัน
            “ก็ชอบนะ แต่พอดีวันนี้ไม่ค่อยหิวด้วยน่ะ ฉันชอบทานผัก เนื้อสัตว์ก็ทานบ้าง แต่ถ้าเป็นอาหารประเภทแป้งนั้นกินไม่ค่อยได้ กินแล้วปวดท้อง”
            เรานั่งคุยกันเรื่องนู้นนี้อีกพักใหญ่ ช่วงที่ภราวาติกาพาลูกสาวตัวน้อยไปเดินเล่น ซูนิมก็พูดขึ้นมาว่า
            “ภราวาติกาเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยมมาก เธอมีสัญชาตญาณความเป็นแม่เต็มเปี่ยม”
            ฉันย้ิมตอบ “ฉันก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เธอดูอ่อนโยนมากเมื่ออยู่กับลูก”
            ชีวิตคนเรามักมองหาอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าสมบูรณ์แบบ อย่างชายหนุ่มหญิงสาวที่แต่งงานกันก็ย่อมอยากที่จะมีลูกมาทำให้ครบองค์ประกอบที่เรียกว่าครอบครัว ทำให้ชีวิตมีสีสัน ความสดชื่น มีความหวัง และมีอนาคตที่จะมองไปข้างหน้า แต่ทุกอย่างนั้นควรเกิดจากความรู้สึกไม่ใช่ค่านิยม เพราะบางคนอาจไม่คิดเช่นนั้นก็ได้ ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะการให้ค่าและความสำคัญของการใช้ชีวิตนั้นไม่ได้มีแค่รูปแบบตายตัวอย่างเดียวเสมอไป
            ซูนิมเองก็ดูเป็นคุณพ่อที่อบอุ่น ใจดี และใจเย็นมากเมื่อมีคุณลูกสาวตัวน้อยอยู่ใกล้ๆ สายตาที่เขามองลูกสาวนั้นช่างดูอ่อนโยนผิดกับเวลาที่คุยกับเขาเรื่องการเมืองหรือธุรกิจ 
ภราวาติกาบอกว่าเขาหลงลูกมาก แล้วก็เหมือนว่าฟ้าเป็นใจ หนูน้อย Syesha นั้นหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงเขามาก ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ลูกแท้ๆ 
            แม้เป็นเวลาเพียงสั้นๆ แต่ฉันก็รู้สึกได้เสมอในทุกๆ ครั้งที่ฉันได้เจอเพื่อนทั้งสองว่า
พวกเขานั้นมีความจริงใจและหวังดีต่อฉัน อยากให้ฉันมีความสุข น่าแปลกที่คนเรานั้นได้เจอกันด้วยความบังเอิญในระยะเวลาสั้นๆ แต่ความรู้สึกที่มีให้ต่อกันนั้นกลับยืนยาว
ฉันเชื่อในพรหมลิขิต … เชื่อเสมอว่าเราแต่ละคนนั้นมีสายใยที่โยงออกไปถึงคนอีกหลายๆ คนที่ได้เคยทำบุญหรือทำกรรมร่วมกันมา สายใยนั้นแม้จะยาวแต่ถ้าแข็งแรงเราก็จะไม่หลุดจากวงโคจรของกันและกัน แต่หากสายใยนั้นมันเปราะบางเกินไป แม้ว่าเราจะพยายามแค่ไหนมันก็ไม่มีวันที่จะดึงคนๆ นั้นเข้ามาใกล้ตัวเราได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น