07 ตุลาคม 2554

24. ช้อป กิน ฟัง ที่ชิบูย่า

     ย่านช้อปปิ้งที่ฉันชอบมากที่สุดในโตเกียวเห็นจะเป็นชิบูย่า (Shibuya) ซึ่งเป็นย่านแฟชั่น ดนตรี และอาหาร นั่งรถไฟใต้ดินมาลงที่สถานีชิบูย่าแล้วคุณจะตื่นตะลึง ทั้งตึกสูงใหญ่ที่
รายล้อมและผู้คนเบียดเสียดที่ต่างก็พากันมาเดินเล่นที่นี่
     ตรงลานด้านหน้าสถานีนั้นเป็นจุดนัดพบที่ดี มีรูปปั้นที่มีชื่อเสียงเป็นที่เล่าขานสืบต่อกันมา เป็นเรื่องราวของสุนัขผู้จงรักภักดีตัวหนึ่งชื่อว่า ฮาชิโกะ (Hachiko) พันธุ์อากิตะ (Akita) ซึ่งมีความรักและผูกพันต่อเจ้าของที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวชื่อว่า ฮิเดซาบุโระ อุเอโนะ (Hidesaburo Ueno) กิจวัตรประจำวันของทั้งสองนั้นก็คือทุกเช้าเขาจะออกไปสอนหนังสือ
และพอตกเย็นเจ้าฮาชิโกะก็จะไปรอรับเขาที่สถานีชิบูย่า เป็นอย่างนั้นอยู่นาน จนวันหนึ่ง
ฮิเดซาบุโระเกิดหัวใจวายและเสียชีวิตที่มหาวิทยาลัยจึงไม่มีโอกาสได้ร่ำลาและกลับมาเจอเจ้าฮาชิโกะอีก มันก็ยังมีความหวังเฝ้าแต่รอที่สถานีนี้เวลาเดิมทุกวัน แม้ว่าจะมีคนนำไปเลี้ยงที่อื่นแล้วก็ตาม แต่มันก็ต้องออกมารอพบฮิเดซาบุโระทุกๆ วัน เวลาผ่านไปเป็นสิบปีมันก็ไม่เคยหมดความหวัง ยังคงทำกิจวัตรแบบเดิมๆ ผู้คนที่ผ่านไปมาแถวนั้นเป็นประจำล้วนแต่รู้จักมันดีและมักจะทักทายและเอาขนมมาให้มันอยู่เสมอๆ รวมทั้งลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ฮิเดซาบุโระด้วย ในตอนนั้นเขากำลังศึกษาและเขียนเรื่องเกี่ยวกับสุนัขพันธุ์อากิตะอยู่ จึงได้เขียนเรื่องราวความประทับใจที่มีต่อฮาชิโกะจนได้ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของโตเกียว ทำให้ผู้คนทั่วประเทศได้รู้จักฮาชิโกะและต่างก็ประทับใจกับความจงรักภักดีและความรักที่มีต่อนายของมัน ถึงขั้นยกให้เป็นแบบอย่าง ผู้ใหญ่ต่างยกตัวอย่างเจ้าฮาชิโกะสอนเด็กๆ เรื่องความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อคนในครอบครัว รูปปั้นเจ้าฮาชิโกะถูกหล่อขึ้นและได้ตั้งไว้หน้าสถานีชิบูย่าซึ่งมันก็ได้ไปร่วมในงานเปิดตัวด้วย จนในที่สุดเวลาที่เจ้าฮาชิโกะจะได้พบเจ้าของอีกครั้งก็มาถึง มันตายด้วยโรคหนอนหัวใจ แต่ร่างกายมันได้ถูกสตัฟไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สามารถไปเยี่ยมมันได้ นอกจากนี้ประตูด้านหนึ่งของสถานีรถชิบูย่านั้นได้ตั้งชื่อว่า Hachiko Guchi เพื่อเป็นที่ระลึกให้กับเจ้าหมาแสนกตัญญู และทุกๆ วันที่ 8 เมษายนของทุกปี ยังเป็นวันที่จะมีพิธีรำลึกถึงเจ้าฮาชิโกะอีกด้วย ซึ่งคนรักหมาทั้งหลายก็มักจะมารวมตัวกันที่สถานีชิบูย่า แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ผู้คนก็ไม่มีวันลืมเจ้าหมาแสนจงรักภักดีตัวนี้ได้


     อย่างที่บอกตอนต้นว่าชิบูย่าเป็นแหล่ง ช้อป กิน ฟัง ฉันจะเร่ิมต้นที่การช้อปก่อน
     ตึกที่เหมือนจะเป็นอนุสาวรีย์ของย่านชิบูย่าก็คือ Shibuya 109 เป็นตึกกลมๆ ที่ค่อนข้างสูง ร้านรวงแหล่งช้อปนั้นมีมากถึง 7 ชั้น (ชั้น 8 เป็นร้านอาหาร) ซึ่งเป็นของวัยรุ่นล้วนๆ พวกเสื้อผ้า หน้าผม เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอางค์ ของตกแต่งต่างๆ ฉันไม่ได้คิดว่าจะซื้ออะไรได้จากที่นี่หรอกแต่อยากเข้าไปเดินดูบรรยากาศการช้อปของเด็กวัยรุ่นโตเกียวมากกว่า ซึ่งต้องบอกว่าตื่นตาตื่นใจพอสมควรทีเดียว เด็กๆ ที่มาล้วนแต่ประโคมแต่งตัว
แต่งหน้ามาประชันกัน ดูแล้วก็เพลินตาดี เด็กญี่ปุ่นน่าตาน่ารักแล้วก็มีความมั่นใจสูงถึงสูงมาก เขาไม่ค่อยสนใจสายตารอบข้างที่มองหรอก ถ้าไม่มองนี่สิอาจหมดความมั่นใจได้ กว่าจะเบียดคนออกมาจากตึกได้แทบแย่เหมือนกัน เวลาปกติที่ไม่ใช่ช่วงปีใหม่คงเดินได้สบายกว่านี้


     ต่อไปเปลี่ยนโหมด (Mode) ไปกันที่โตเกียวแฮนด์ (Tokyo Hands) แรกเริ่มนั้นเปิดเป็นร้านประเภท “ทำเองเถอะ” (DIY : Do-it-yourself) สังเกตุง่ายๆ จากโลโก้ที่เป็นมือสองมือ 
เน้นขายของเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ งานอดิเรก และพวกของตกแต่งบ้าน แต่ตอนนี้นั้นไม่ว่าคุณจะนึกคิดอยากได้อะไรก็ตามเขามีขายหมด ไม่ว่าจะเป็น เกมส์ ของเล่น เครื่องไม้เครื่องมือ กระเป๋าเดินทาง อุปกรณ์เดินป่า เสื้อยืด ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ของฝาก ของที่ระลึก โอ้ยสารพัดเลือกดูเลือกชมกันไม่หมด ฉันเลยเลือกซื้อของฝากเป็นนาฬิกาฝากหลานๆ ซะเลย เดินได้เพียงไม่กี่ชั้นไอ้ท้องเจ้ากรรมก็ร้องครางเพราะความหิว เลยต้องชักชวนพี่ตุ๊กไปหาซูชิกินกัน ร้านนี้เป็นร้านซูชิสายพานเช่นเคย ราคาซูเปอร์ถูก คือทุกจานราคา 120 เยน แต่มีข้อแม้นะจ๊ะ คุณต้องทานอย่างน้อยคนละ 7 จาน ตอนแรกฉันก็ลังเลแต่คราวที่แล้วยังทานได้เลยคราวนี้ก็น่าจะไหว ว่าแล้วก็เข้าไปนั่งจับจองที่นั่งกัน ร้านนี้มีเมนูให้เลือกหลากหลายมาก และขนาดใหญ่กว่าร้านที่แล้ว คนนั่งกันเต็ม ไม่รู้ว่าเพราะอร่อยหรือถูก เราเริ่มลงมือปฏิบัติการกันอย่างเอร็ดอร่อย หลังจากบรรเลงเพลงซูชิเสร็จก็นับได้ทั้งหมด 17 จาน อืมม์ ไม่เลว เฉลี่ยแล้วคนละ 8 จานครึ่ง นับว่าไม่ทำให้เจ้าของร้านผิดหวังแถมทำลายสถิติของตัวเองอีก ค่าเสียหาย 2,040 เยน ถือว่าคุ้มมากๆ


     เมื่อหนังท้องตึงก็ไม่ปล่อยให้หนังตาหย่อนเป็นอันขาด ว่าแล้วก็ไปเดินดูของกันที่ลอฟท์ (Loft) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นห้างฯ ประเภทไลฟ์สไตล์ แต่เรื่องคอนเซ็ปต์และของที่ขายไม่แข็งแรง ที่นี่ก็เลยกลายเป็นห้างฯ​ ที่ขายของสะเปะสะปะไปหน่อย มีหลายชั้นอยู่เหมือนกัน แต่ละชั้นก็แบ่งประเภทของสินค้าเช่น ชั้นล่างขายเครื่องเขียน ถัดมาเป็นพวกเครื่องประดับ นาฬิกา แว่นตา ชั้นต่อๆ ไปเป็นของใช้ส่วนตัว เช่นแชมพู ครีมอาบน้ำ น้ำยาทำความสะอาดบ้าน กระเป๋า และเครื่องนอน ก็เลยงงๆ พี่ตุ๊กได้ซื้อนาฬิกายี่ห้อนิคสัน (Nixon) ที่ตอนนี้กำลังฮิต
ที่ญี่ปุ่นอยู่


     เดินไปอีกหน่อยก็จะเจอกับห้างฯ ปาร์โก้ Part 1, 2 และ 3 (Parco) (ตอนที่ฉันไปนั้น Parco 2 ปิดปรับปรุงชั่วคราว) ปาร์โก้ 1 นั้นเน้นขายแฟชั่นเสื้อผ้ามีทั้งชายและหญิง ดีไซน์ในและนอก มีร้านหนังสือ เครื่องเขียน และคาเฟ่ชั้นล่างสุด ส่วนชั้น 7, 8 เป็นร้านอาหาร ส่วนชั้น 9 เป็นโรงหนัง สำหรับปาร์โก้ 3 เน้นพวกเสื้อผ้าลำลองใส่เล่นๆ (แต่ราคาเล่นด้วยไม่ลง) ที่เพิ่มมาคือของตกแต่งบ้าน


     ชักจะเบื่อช้อปปิ้งแล้วล่ะสิ งั้นเรามาพักดื่มกาแฟกันดีกว่า ถ้ามาที่ชิบูย่าต้องพยายามหาที่แทรกตัวนั่งที่สตาร์บัคสาขาซึทาย่า (Tsutaya) ด้านที่ติดกับหน้าต่างให้ได้ เพราะเป็นร้านกาแฟที่เห็นวิวใจกลางชิบูย่าแจ่มชัดมากๆ เราจะเห็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจตรงด้านล่าง นั่นก็คือคลื่นคนที่รอข้ามถนนตรงไฟแดงที่นี่ ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มใหญ่เสมอ ถ้ามาเที่ยวโตเกียวใหม่ๆ อาจจะตื่นตระหนกถ้าคุณต้องไปเป็นคนยืนรออยู่ตรงนั้น อาจกลัวว่าจะโดนเหยียบ แต่จริงๆ แล้วคนที่นี่มีระเบียบดีมาก เมื่อไฟเปลี่ยนเป็นสีเขียวทุกคนก็จะก้าวเท้าออกเดินไปข้างหน้า
ไม่อืดอาดแต่ก็ไม่เร่งรัดจนกดดันคนที่อยู่ด้านหน้า ทุกคนเดินไปอย่างอัตโนมัติสวนกับคน
อีกด้านที่เดินผ่านมาด้วยอาการแบบเดียวกันแล้วก็ข้ามไปถึงถนนอีกฝั่งหนึ่งได้โดยปลอดภัย ทางข้ามที่นี่เค้าทำดีคือมีการข้ามทะแยงมุมด้วย ทำให้คนไม่ต้องข้ามถนนถึงสองครั้ง




     ฉันทิ้งพี่ตุ๊กไว้ที่สตาร์บัคเพื่อที่จะไปเดินดูของที่มารูอิ (Marui) และมารูอิ แจม (Marui Jam) ได้กระเป๋าใบสวยมาสองใบแต่กระเป๋าตังค์คงเบาไปอีกนาน
     นอกจากพวกแฟชั่นแล้ว ชิบูย่ายังมีร้านหนังสือและร้านเพลงใหญ่ๆ หลายแห่ง เช่น ซึทาย่า (Tsutaya)  เอชเอ็มวี (HMV) และทาวเวอร์เรคคอร์ด (Tower Records) นอกจากนี้ก็มีร้านเกมส์ต่างๆ รวมทั้งปาจิงโกะอยู่ตรงถนนเซนเตอร์ ไก (Center Gai) แถวนี้เด็กๆ มักชอบมาเดินเที่ยวเล่นกัน
     วันนี้ฉันเดินจนเมื่อยอีกเช่นเคยก็เลยซื้ออาหารกล่องจากโตคิวกลับไปทานที่โรงแรม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น