19 กรกฎาคม 2554

3. พิธีกรรม เทพเจ้า งานเลี้ยงฉลอง เป็นของคู่กัน

           ราเกชมายืนรอรับที่ด้านหน้าโรงแรมแล้ว ออกจะแปลกใจที่เห็นฉันมาในรูปแบบรถส่วนตัวไม่ใช่รถบัสตามที่นัดหมาย (ไอ้รถส่วนตัวที่ว่านี้มันคือรถตู้ขนาดเล็กดูคล้ายรถกระป๊อแบบมีประตูปิดได้มากกว่า)
            เรานั่งรถไปได้ไม่นานก็ถึงบ้านของจูเกช ซึ่งอยู่รอบขอบของเมืองกาฏมาณฑุ แต่อยู่ในย่านที่ดีเพราะปากซอยเป็นกรมตำรวจและใกล้ๆ กันก็เป็นบ้านของ ผบ.ทบ ทำให้มั่นใจได้ในความปลอดภัยเต็มร้อย มีทหารและตำรวจคุมเข้ม
            บ้านเขาเป็นแบบสมัยใหม่มีรั้วรอบขอบชิดต่างจากบ้านเดิมลิบลับ ตัวบ้านแบ่งเป็นสองหลังแต่มีส่วนเชื่อมกันบนดาดฟ้า มีสองครอบครัวหลักที่อยู่ที่นี่คือครอบครัวจูเกช และครอบครัวราเกช รวมทั้งคุณพ่อและคุณแม่ แต่น้องสาวทั้งสองและญาติๆ ก็ยังมาค้างอยู่บ้างเวลาที่ที่บ้านมีงานพิธีทางศาสนา นอกจากนี้ก็มีเด็กรับใช้และคนขับรถรวมทั้งหมาสองตัว อาศัยอยู่ที่นี่เช่นกัน
บ่ายนั้นทุกคนอยู่บ้านกันอย่างพร้อมหน้า อ๊ะอ๊ะ อย่าเพิ่งนึกว่าเพราะมีแขกคนสำคัญมา แต่เป็นเพราะการประท้วงต่างหากทำให้บริษัทห้างฯ ร้านบางแห่งต้องปิด ทุกคนเลยได้
อยู่บ้านต้อนรับฉันกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ยกเว้นริซ่าที่ยังอยู่ที่ทำงาน


ไอช่า (Aayesha) อาจิ (Aajiresh) และคริสมา (Krisma) (ลูกสาวของนูนู่ น้องสาวจูเกช) โตขึ้นมาก หน้าตาเปลี่ยนไปจากเมื่อ 3 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง เด็กๆ ออกจากขวยเขินนิดหน่อยที่เจอคุณน้าจากต่างแดน



 กระเป๋าเดินทางของฉันถูกนำไปเก็บไว้ในห้องนอนของเด็กๆ ซึ่งจะกลายเป็นห้องส่วนตัว
ของฉันในอีก 6 วันข้างหน้า ล้างหน้าล้างตาออกมานั่งคุยกับจูเกชเพื่อนเก่าตรงห้องนั่งเล่นด้านหน้า ได้รับการต้อนรับด้วยเบียร์ยี่ห้อ “กาฏมาณฑุ” ที่เขาภูมิใจเสนอเพราะเป็นสินค้าของเพื่อนเขาเอง 
เรานั่งคุยกันเรื่อยเปื่อย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของกันและกัน โดยมีราเกชมาแจมพร้อมกับภรรยาสาว “ปราวีณา” ฉันรู้สึกดีใจกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเพื่อน ที่มากไปกว่านั้นดูเขาและครอบครัว
มีความสุขขึ้นมาก หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส
            “มาหนนี้เธออยากไปเที่ยวที่ไหนบ้าง”
            “ก็ไม่มีแพลนเป็นเรื่องเป็นราวนะ ตั้งใจมางานพิธีของไอช่าโดยเฉพาะเลย แต่มีของสองสามอย่างที่ฉันอยากซื้อ พระพิฒเนศปางเด็กที่กำลังทำท่าคลาน ซีดีเพลงตามรายการนี้ (ฉันยื่นให้เขาดู) ผ้าคลุมไหล่แพชมีน่า และธูปหอม เท่านี้แหล่ะที่ต้องการ อ้อ … แล้วฉันก็อยากไปเจดีย์โพธนาถด้วย”
            ของส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นของที่ฉันต้องการซื้อ แต่เป็นเพื่อนๆ จากเมืองไทยที่ฝากมา
            “ไม่มีปัญหาเดี๋ยวจัดให้ตามต้องการ ผมมีเพื่อนเป็นเจ้าของร้านซีดี เดี๋ยวโทรไปบอกให้เขาจัดมาให้ตามรายการนี้ ส่วนแพชมีน่ามีร้านที่รู้จักกันคุณภาพดีมาก เดี๋ยววันไหนว่างจะพาไปเลือกนะ โพธนาถนั้นเดี๋ยวไปวันจันทร์แล้วกัน ช่วงบ่ายหลังจากพิธีน่าจะพอมีเวลาว่าง ส่วนพระพิฆเนศไม่แน่ใจว่าจะหาได้รึเปล่า แต่เดี๋ยวจะลองถามคนรู้จักดู ว่าแต่ว่าทำไมเธอถึงอยากได้พระพิฆเนศนักล่ะ”
            เขาคงสงสัยว่าทำไมชาวพุทธถึงอยากบูชาพระพิฒเนศ
            “องค์นี้เพื่อนฉันอยากได้น่ะ คนไทยที่ทำงานด้านศิลปะส่วนใหญ่จะบูชาพระพิฆเนศนะ ให้ท่านช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์และทำงานเจริญก้าวหน้า”
            “ปกติพระพิฆเนศเราไม่ค่อยเช่ากันเองหรอก ส่วนใหญ่มีคนให้มากกว่า”
            “อ้าวเหรอ …​ ไม่เป็นไร งั้นองค์นี้ฉันเช่าไปฝากเพื่อนก็ได้”
           
            ประเพณีของคนเนปาลนั้นยังนิยมอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ คือพ่อแม่ ลูกๆ และหลานๆ ลูกชายแต่งสะใภ้เข้าบ้าน ลูกสาวแต่งออกไปอยู่บ้านสามี แต่เดิมที่บ้านเก่านั้นนอกจากครอบครัวจูเกชแล้วยังมีครอบครัวของลุงซึ่งเป็นพี่ชายของพ่ออยู่ร่วมด้วย รวมทั้งลูกหลาน เมื่อมีจำนวนสมาชิกเพ่ิมมากขึ้น พื้นที่ใช้สอยย่อมลดลง แรงเสียดทานย่อมมีมากขึ้นตามธรรมชาติ ทุกคนย่อมต้องมีนิสัย ความชอบที่ไม่เหมือนกัน ไม่มีใครดีทั้งหมดและเลวทั้งหมด การอยู่ร่วมกันต้องอาศัยความรัก ความสมัครสมานกลมเกลียวและความอดทนค่อนข้างมากทีเดียว เรื่องกระทบกระทั่งกันบ้างถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์ เพราะทุกคนก็ย่อมมีความต้องการส่วนตัว บางครั้งอาจจะเป็นการดีที่จะแยกกันอยู่เพื่อให้รักกันมากขึ้น
            จูเกชย้ายมาอยู่บ้านใหม่ประมาณปีครึ่งแล้ว ส่วนฉันเองก็เช่นเดียวกัน ย้ายบ้านไล่เลี่ยกันกับเขา และอาจเป็นเพราะวัยหรือพื้นฐานครอบครัวที่ใกล้เคียงกันทำให้เราต่างมีปัญหาและความคิดอะไรที่คล้ายๆ กัน มีการตัดสินใจทำอะไรในเวลาที่ใกล้เคียงกัน
            บ่ายแก่ๆ ราเกชชวนฉันออกไปเดินเล่นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้านแก้เบื่อ แต่ต้องผิดหวังเพราะเขาปิดทำการเนื่องจากการประท้วง ดูเหมือนว่ามันจะมีผลกระทบต่อคนหมู่มากทีเดียว เมืองจึงเงียบเหงาไปถนัดใจ เขาลองวนรถไปร้านขายของชำเล็กๆ อีกแห่งหนึ่งที่เปิดทำการ และซื้อของกินของใช้ ขนม เครื่องดื่มหลายอย่าง เนื่องจากวันรุ่งขึ้นจะมีงานเลี้ยงที่บ้าน ร้านค้าที่นี่มีของทันสมัยทุกอย่าง ขนมขบเคี้ยวนั้นเรียกได้ว่ามีครบทุกแบบ จะเป็นบิสกิต คุกกี้ มันฝรั่งหลากรส ช้อกโกแลตแบบแท่ง น้ำผลไม้ ลูกอม ขนมกรุบกรอบ ขนมปัง ชีส ฯลฯ อีกมากมาย ไม่ต้องกลัวอดตายหรือท้องเสีย ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องขนอาหารมาจากกรุงเทพฯ ให้หนักและเปลืองพื้นที่



ตกเย็นอากาศเร่ิมดีขึ้น ไม่ร้อนมากแล้ว เราจึงอัญเชิญตัวเองขึ้นไปบนดาดฟ้า คุยกันไปแอบดูข้างบ้านตีแบดออกกำลังกันไป
            มาคราวนี้ฉันได้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีโบราณหลายอย่างเลยทีเดียว ช่วงที่ฉันไปนั้นนอกจากไอช่าจะเข้าพิธีแต่งงานกับลูกพลับซึ่งฉันจะเล่าให้ฟังในบทต่อๆ ไปแล้ว ยังมีพิธีสำคัญที่จัดขึ้นที่บ้านคุณลุงของจูเกชอีกสองวันคือเมื่อวานกับวันนี้ นั่นก็คือ พิธีเดวาลี (Dewali) ไม่ใช่พิธีเฉลิมฉลองด้วยไฟเหมือนในอินเดีย แต่คือการบูชาเทพเจ้าประจำตระกูล เป็นการถือครองรูปเทพเจ้า (องค์ไหนไม่ทราบเพราะเพื่อนชาวเนปาลีเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน คงมีแต่ผู้หลักผู้ใหญ่เท่านั้นที่รู้อย่างลึกซึ้ง) ทุกปีจะมีการผลัดเปลี่ยนกันบูชารูปปั้น โดยมีการทำพิธีทางศาสนาและเลี้ยงแขกเหรื่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นญาติในตระกูล ทำพิธีทั้งหมด 2 วันเต็ม ถือเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่ให้ญาติพี่น้องได้มาเจอกัน อย่างน้อยก็ปีละครั้ง จะได้มีปฏิสัมพันธ์กัน (นอกเหนือไปจากงานพิธีทางศาสนาอื่นๆ ที่มีถี่ตลอดทั้งปีแล้ว) กว่าทีีจูเกชกับราเกชจะได้ทำพิธีนี้นับคร่าวๆ ก็อีกเกือบ 20 ปี เพราะต้องผ่านญาติผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ไม่รู้ว่าป่านนั้นฉันจะยังมีชีวิตและมีแรงที่จะมาร่วมงานรึเปล่า
            ตกค่ำเรามีงานพิธีที่ต้องไปอีกงาน เรียกว่าการเดินทางมาครั้งนี้ของฉันนั้นได้เรียนรู้ ซึบซับวิถีเนปาลอย่างลึกซึ้ง เขาไปไหน เขาก็พาฉันไปด้วย (กลัวคนจะนึกว่าเป็นเมียน้อยจูเกชอยู่เหมือนกัน ฮ่าๆๆๆ)​ ที่แสบก็คือไม่ยอมบอกฉันก่อนว่าฉันจะต้องไปงานแต่งงานของญาติ
ริซ่าด้วย ทำให้ฉันไม่ได้เตรียมชุดสวยมาอวดชาวเนปาลี
            วันนี้เป็นงานเลี้ยงฉลองแต่งงาน ไม่ใช่พิธีทางศาสนาจึงจัดนอกสถานที่ซึ่งเป็นที่จัดงานเลี้ยงโดยเฉพาะ ดูเหมือนว่าชาวเนปาลยุคใหม่นั้นจะเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตไปคล้ายทางตะวันตกค่อนข้างมาก สไตล์การจัดงานนั้นจะแบ่งส่วนไว้ชัดเจนคือด้านนอกนั้นจะมีเก้าอี้ให้นั่ง เสิร์ฟอาหารทานเล่นและเครื่องดื่ม ซึ่งผู้คนที่มางานก็จะทักทาย ยืนคุยกันพร้อมกับจิ้มอาหารว่างทานเล่นกันไปก่อน พอตกดึกจึงย้ายเข้าด้านในไปตักอาหารหนักทานกันเป็นเรื่องเป็นราว มื้อค่ำวันแรกของฉันนั้นอยู่ที่เวลาสามทุุ่ม (เวลาเมืองไทยคือสี่ทุ่มครึ่ง)
            ฉันเจอญาติๆ ริซ่าหลายคนที่เคยเจอเมื่อครั้งมางานแต่งงานของเธอ และครั้งก่อนที่ไปทานข้าวที่บ้านเธอ บางคนจำหน้าตาและท่าทางแปลกๆ ของฉันได้ ทุกคนให้การต้อนรับฉันอย่างดีประหนึ่งว่าเป็นญาติคนหนึ่ง



            เมื่อเราทานอาหารกันจนอ่ิมแล้ว ถึงเวลาที่จูเกชต้องไปทำหน้าที่ลูกชายคนโตที่แสนดี โดยการไปร่วมพิธีบูชาเทพเจ้าที่บ้านคุณลุง เขาจึงไปส่งฉันกับเด็กๆ ที่ร้าน รัมดูเดิ้ล (Rum Doodle) ซึ่ง ราเกช ปราวีณา นีราจา (น้องสาวอีกคนหนึ่งของจูเกช)  และวิคเตอร์​ (ลูกของ
ลุงจูเกช) ไปรอรับอยู่แล้ว เด็กๆ ดื่มมิลค์เชคกันสนุกสนาน ผู้ใหญ่ดื่มแอลกอฮอล์กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ที่ร้านนี้เขามีความพิเศษตรงที่เป็นที่ฉลองของนักปีนเขา ถ้าใครสามารถปีน
เอเวอเรสได้สำเร็จก็จะดื่มฟรีไปตลอดชีวิต ภายในร้านก็จะตกแต่งด้วยรูปภูเขา รูปนักปีนเขา และมีข้าวของเครื่องใช้ภายในร้านที่ออกแบบโดยเฉพาะซึ่งเป็นรูปเท้าคนทำจากกระดาษ เช่นที่รองแก้วน้ำ ซึ่งเป็นของเล่นที่ทำให้เด็กๆ เพลิดเพลินในการแต่งแต้มสีสันวาดรูปสไตล์ใครสไตล์มัน และยังมีเท้าขนาดใหญ่ทำจากไม้แผ่นบางไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ตกแต่งและแขวนประดับบนกำแพงเป็นที่ระลึกด้วย ซึ่งเราได้ลงชื่อแต่ละคนไว้ว่าได้มาสนุกร่วมกัน ใครมีโอกาสได้แวะไปอย่าลืมไปหาดูอยู่บริเวณชั้นสามตรงกำแพงด้านนอก 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น