30 เมษายน 2554

9. เหาะไปไหว้พระ

     วันนี้เราตื่นเช้าอีกเช่นเคยเพื่อที่จะเดินทางไปยังวัด “มานากามานะ” (Manakamana) 
ซึ่งอยู่ระหว่างถนนเส้นที่เดินทางไปโพครา เป็นวัดฮินดูที่บูชาเทพเจ้ามานากามานะ เราออกจากบ้านประมาณตีห้าและใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่ตอนที่เราไปถึงนั้นเคเบิ้ลยังไม่เปิดให้บริการเราจึงต้องไปนั่งทานอาหารเช้ารอตรงร้านข้างๆ ทาง วัดตั้งอยู่บนภูเขาสูงถึง 1,302 เมตร ซึ่งในปัจจุบันมีรถเคเบิ้ลขึ้นไปถึงใช้เวลาไม่ถึง 10  นาที แต่ในสมัยก่อนนั้นคนที่อยากมาสักการะเทพเจ้าต้องเดินด้วยเท้าใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะขึ้นไปถึงยอดเขา บางคนใช้เวลาเป็นวันๆ ในการเดินทางเพราะเดินจากบ้าน
     รถเคเบิ้ลเปิดทำการประมาณเกือบเก้าโมงเช้า ซึ่งโชคดีที่คุณสุจิณได้จัดเตรียมตั๋วไว้ให้เรียบร้อย ไม่ต้องไปต่อแถวซื้อ เพียงแต่ต่อแถวเพื่อรอขึ้นเคเบิ้ลซึ่งมีจำนวนถึง 31 คัน และจุคนได้ถึง 6 คนต่อคัน จึงทะยอยขึ้นไปส่งคนได้เรื่อยๆ ไม่มีหยุด รถกระเช้าเคเบิ้ลนี้สร้างโดยบริษัทในประเทศออสเตรีย เชื่อถือได้ในเทคโนโลยีและความปลอดภัย ราคาต่อคนนั้นคือ 278 รูปี (ประมาณ 130 บาท ไปและกลับ) สำหรับคนท้องถิ่น แต่สำหรับคนต่างชาตินั้นเสียแพงกว่าคือ 10 ดอลล่าห์​ (ประมาณ 330 บาท ) เราออกจะตื่นเต้้นเพราะไม่เคยขึ้นรถเคเบิ้ลแบบนี้  ระหว่างที่รอก็สังเกตดูผู้คนที่มาเที่ยวที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถ่ินมีชาวต่างชาติบ้างแต่ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว วัดนี้ผู้คนนิยมมาทำพิธีบูชายัญจึงมีคนจูงแพะ อุ้มไก่ ขึ้นรถไปด้วย พวกสัตว์พวกนี้ก็ต้องเสียตังค์ค่าขึ้นรถเหมือนกัน ส่วนข้าวของที่นำขึ้นไปด้วยคิดเป็นกิโล
     เมื่อถึงคิวเราก็ก้าวขึ้นรถเคเบิ้ลไปกับคนท้องถิ่นอีก 3 คน รถเคเบิ้ลนี้ใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนและมีความเร็วพอสมควรแต่นั่งแล้วสบายไม่กระตุก วิวรอบๆ ตัวก็สวย แถมด้านล่างยังเป็นแม่น้ำอีกด้วย  ถ้าใครกลัวความสูงอาจจะเกิดอาการเสียวนิดหน่อย


     ไม่นานนักเราก็ขึ้นไปถึงด้านบน ตรงบริเวณที่สถานีตั้งอยู่นั้นยังต้องเดินไปอีกหน่อยถึงจะไปถึงวัดมานากามานะ ระหว่างทางจะมีดอกไม้และสัตว์ขายให้แก่คนที่เดินทางมาสักการะเทพเจ้า รวมทั้งหมอดูที่มานั่งรอลูกค้า ฉันเองก็นึกในใจว่าอยากจะทดลองความแม่นเหมือนกัน แต่เดาว่าคงจะเข้าใจกันยากทีเดียวก็เลยตัดใจ คนนิยมเดินทางมาขอพรกันมากเพราะเชื่อกันว่าเทพเจ้าจะอวยพรให้คำขอเกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะการมาขอให้ได้ลูกชาย ในช่วงหน้าหนาวนั้นวิวจะสวยมากเพราะด้วยความที่วัดอยู่ค่อนข้างสูง ช่วงเช้าๆ จะเห็นเหมือนวัดลอยอยู่บนหมู่เมฆ ตอนแรกฉันก็ตั้งใจว่าจะซื้อดอกไม้ไปถวายเทพเจ้าเหมือนกันเพราะไหนๆ ก็อุตส่าห์มาแล้ว แต่เมื่อเห็นคิวของคนที่ต่อแถวเพื่อเข้าไปถวายของในวัดแล้วก็ต้องเปลี่ยนใจเพราะแถวยาวจนเลื้อยขึ้นไปยังบริเวณเนินเขาที่ต่อไปยังหมู่บ้านเล็กๆ คงเป็นเพราะเราไปในวันอังคารพอดี ซึ่งเป็นวันที่คนมักจะมาทำพิธีบูชายัญกันนอกเหนือไปจากวันเสาร์
     ตัววัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบโบราณเหมือนที่เราเห็นกันในหุบเขากาฐมาณฑุแต่เนื้อไม้นั้นเป็นสีดำ บริเวณใกล้ๆ มีที่สำหรับเชือดสัตว์เพื่อบูชายัญมีพนักงานประจำรับเชือดสัตว์เพื่อนำเลือดไปถวายให้แก่เทพเจ้า หลังจากนั้นเขาก็จะชำแหละและนำไปทานอาหารทำกันในครอบครัวต่อไป นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมรถเคเบิ้ลถึงมีบริการรับส่งของด้วย ถือเป็นโอกาสปิคนิคกันในครอบครัว แพะตัวหนึ่งก็ไม่ใช่ถูกๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะทำการเชือดเพื่อทำพิธีบูชายัญนั้นต้องถือเป็นเรื่องพิเศษ และจะเป็นช่วงที่ครอบครัวชาวเนปาลจะทานเนื้อสัตว์กันเป็นเรื่องเป็นราว


     เมื่อเดินสำรวจโดยรอบบริเวณวัดแล้วเราก็เดินต่อขึ้นไปสำรวจหมู่บ้านที่อยู่ด้านบน ซึ่งก็ได้พบเจอบ้านแบบโบราณทำด้วยดิน มีฝักข้าวโพดตากแห้งอยู่หน้าบ้าน เราพบคุณลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบ้านให้การต้อนรับเราอย่างดี คงเป็นเพราะมีพี่ธันวาซึ่งเป็นคนเนปาลมาด้วยเลยได้พูดคุยกันรู้เรื่อง แกอยู่กับลูกชายและลูกสะใภ้ กลางวันก็ออกไปทำไร่ไถนากันในบริเวณเชิงเขาที่อยู่ใกล้ๆ ฉันได้อาศัยบ้านแกเป็นที่เปลี่ยนเสื้ออันเนื่องมาจากอากาศร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เสื้อกล้ามที่ใส่ไว้ด้านในจึงหมดความจำเป็น ฉันรู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคยกับอากาศร้อนของเนปาลเท่าไหร่ เพราะสองครั้งแรกที่มาต้องพึ่งพาเสื้อหนาวเป็นเพื่อนคู่ตัว ชาวบ้านเแถวๆ นี้อัธยาศัยดีและค่อนข้างคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยว ในสมัยก่อนกิจการโรงแรมและร้านอาหารคึกคักทำรายได้ดีกว่านี้มาก เพราะเมื่อครั้งยังไม่มีรถเคเบ้ิลนั้นคนต้องเดินเท้าขึ้นมา กว่าจะมาถึงก็ครึ่งค่อนวันเมื่อไหว้พระแล้วก็แล้วต้องพักแรมก่อนที่จะเดินกลับในวันรุ่งขึ้น พอมีรถเคเบ้ิลอำนวยความสะดวกให้กับคนท้องถิ่นมากขึ้น  ทำให้สามารถมาเวลาไหนหรือกลับเวลาไหนก็ได้เพราะรถเคเบิ้ลวิ่งตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น คราวนี้ความเดือดร้อนก็ตกอยู่กับคนท้องถิ่นที่เคยได้รายได้ค่าอาหารและค่าที่พักจากนักท่องเที่ยว ตอนนี้กิจการต่างๆ ก็ซบเซาลง ไม่รู้ว่ามีรถเคเบิ้ลแล้วดีกว่าหรือแย่ลงกันแน่  แต่ที่แน่ๆ คงจะดีสำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องมาขอพรจากเทพเจ้ามานากามานะ เพราะช่วยย่นย่อเวลาเดินทางลงไป 30 เท่าเชียว พี่ธันวาเองยังเคยเดินมาเที่ยวกับเพื่อนๆ เลยเมื่อตอนแกยังเป็นเด็ก แต่ถ้าให้ฉันเดินท่ามกลางอากาศร้อนขนาดนี้เป็นเวลาห้าชั่วโมงล่ะก็ ฉันคงแย่แน่ๆ อาจถึงขั้นเป็นลมกลางทาง
     เราเดินเล่นเรื่อยเปื่อยดูร้านรวงต่างๆ ตามข้างทาง ดูแล้วก็เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีกิจกรรมคึกคักดีในช่วงกลางวัน แต่เดาว่าช่วงกลางคืนคงสงบและบรรยากาศคงจะดีทีเดียว 

29 เมษายน 2554

8. ของขวัญจากเทพเจ้า

     เราแวะไปที่รถแห่เทพเจ้ากรุณามัยเพื่อที่จะดูคนมาถวายของแก่เทพเจ้า วันนี้เป็นวันที่คนจากทุกเขตจะเอาของมาถวาย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งให้แก่เทพเจ้าองค์พี่ ส่วนที่สองให้แก่เทพเจ้าองค์น้อง สงสัยล่ะสิว่าส่วนท่ีสามถวายใคร เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าเทพกรุณามัยนั้นมีเพื่อนสนิทองค์หนึ่งซึ่งสถิตอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณที่รถแห่มาจอดในวันนี้ ของส่วนที่สามจึงนำมาถวายให้กับองค์เพื่อน แต่เมื่อพิธีถวายเรียบร้อยดีแล้ว ของทั้งหมดก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคนที่เฝ้ารถเทพเจ้า เพราะทั้งวันทั้งคืนตลอดเทศกาลเขาจะไม่ไปไหนเลย จะเฝ้าดูแลเทพเจ้าและช่วยทำพิธีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวัน
     หลังจากท่ีเหนื่อยมากมาทั้งวันเราก็กลับไปตั้งหลักกันที่ซานูเฮ้าส์ เพื่อที่จะเตรียมตัวไปงานสองแห่ง แห่งแรกก็คือบ้านเก่าของคุณแม่พี่ธันวา ซึ่งตอนนี้พี่ชายของคุณแม่ (คุณลุงพี่ธันวา) ได้อาศัยอยู่กับป้าสะใภ้ ทั้งสองไม่มีลูกอยู่กันแค่สองคน เนื่องจากว่ารถแห่เทพเจ้าได้เลื่อนมาจนถึงเขตบ้านคุณลุง และตามธรรมเนียมอย่างที่บอกในตอนต้นว่าเมื่อรถไปถึงเขตไหน คนในเขตนั้นต้องจัดงานเลี้ยงข้าวญาติๆ และส่วนใหญ่เขาจะไปเชื้อเชิญด้วยตัวเองถึงที่บ้าน ถ้าใครไม่ได้รับเชิญก็ไม่สามารถมาร่วมงานได้ เพราะฉะนั้นเขาจะให้ความสำคัญกับคำเชิญมากๆ และถึงแม้ว่าฉันจะมีนัดทานข้าวที่บ้านภราวาติกาในค่ำคืนนี้ก็ตามฉันก็ต้องไปทานข้าวที่บ้านคุณลุงก่อนไม่งั้นจะเป็นการเสียมารยาท
     เราไปถึงที่บ้านตอนห้าโมงกว่าๆ เพื่อที่จะทานข้าวเร็วหน่อยและไปต่ออีกบ้านหนึ่งได้ไม่ช้าเกินไป เราขึ้นไปทานข้าวบนห้องอาหารด้านบน คุณแม่พี่ธันวามาช่วยป้าสะใภ้ทำอาหารและคอยเอาใจตักอาหารให้เราทาน มื้อนั้นมีฉันกับพี่ตุ๊กที่เป็นแขก นอกนั้นก็มีแต่ญาติๆ ของพี่ธันวาซึ่งฉันเคยพบแล้วทุกคน ก็คือ สาริตา พี่สาวพี่ธันวา และหลานๆ ทั้งสี่คน อาหารวันนี้เป็นอาหารพื้นเมืองแท้ๆ ประกอบไปด้วย พริกไทยสดผักกับแครอท ถั่วผัดกับเครื่องเทศ แกงไก่ ทานกับข้าวบาร์เล่ย์ มื้อนี้เราทดลองทานด้วยมือเพราะบ้านนี้ไม่มีช้อนส้อมซึ่งก็ได้รสชาติไปอีกแบบ ถึงแม้ว่าจะขลุกขลักไปบ้าง เราพยายามทานแต่น้อยเพราะมีอีกมื้อใหญ่ที่ต้องไปทานในภายหลัง แต่เมื่อใดที่จานเริ่มพร่องลงคุณแม่พี่ธันวาก็พร้อมที่จะเติมข้าวและอาหารให้เรา เรียกว่าเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี เป็นธรรมเนียมของคนเนปาลที่ต้องเลี้ยงแขกให้อ่ิมหมีพีมัน เราต้องใจแข็งแล้วบอกว่าพอพร้อมกับนำมือมาปิดบนจานข้าว ไม่งั้นเราก็จะได้อาหารเติมไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นเราจึงสังเกตการทานอาหารของคนอื่นอย่างออกรส คนเนปาลทานข้าวค่อนข้างเยอะ แถมท้ายด้วยการนำโยเกิร์ตราดบนข้าวเป็นการปิดท้ายคล้ายๆ ทานของหวาน
     ความจริงเป็นการเสียมารยาทถ้าคนที่ร่วมมื้ออาหารยังทานไม่เสร็จแล้วเราจะลุกไป แต่เนื่องจากว่าฉันมีนัดกับเพื่อนจึงต้องขอตัวไปก่อน


     บ้านของภราวาติการอยู่นอกเมืองกาฐมาณฑุ เรานั่งแท้กซี่ไปประมาณไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ไปถึงบ้านเธอ ความทรงจำเก่าๆ ครั้งที่ฉันมาทานข้าวบ้านเธอในวันสุดท้ายของทริปครั้งที่สองกลับมาอีกครั้ง ฉันยังจำรสมือเธอได้ดีว่าอร่อยแค่ไหน แถมยังโอ้อวดกับพี่ตุ๊กไว้ตั้งหลายหน 
จูเกชเองยังอดชมไม่ได้เลยว่า “โมโม่” ฝีมือภราวาติกานั้นอร่อยเป็นที่สุด แต่ฉันไม่ได้ขอร้องให้เธอทำหรอกเพราะเกรงใจ อาหารอะไรที่เธออยากทำให้เราทานนั่นก็ต้องเป็นอาหารที่ดีที่สุดแล้ว เพราะเพื่อนอุตส่าห์ตั้งใจทำให้
     ซูนิมยังกลับมาไม่ถึงบ้านตอนที่เราไปถึง เราจึงนั่งคุยกับภราวาติกาก่อน ที่บ้านนี้เพ่ิงต้อนรับสมาชิกใหม่ตัวน้อย คุณแม่ของภราวาติกาจึงย้ายมาอยู่เป็นเพื่อนเพื่อช่วยเลี้ยงลูกสาวตัวน้อยอายุเพียง 2 เดือน ฉันเข้าใจผิดคิดว่าเธอเพิ่งคลอดลูก จึงออกจะเกรงใจที่มารบกวนถึงบ้าน แต่จริงๆ แล้วภราวาติกากับซูนิมตัดสินใจรับอุปการะเด็กเพราะทั้งสองพยายามมีลูกมานานแล้วแต่ไม่สำเร็จ เด็กน้อยที่โชคดีคนนี้ชื่อ Syesha ( สเยชา ) แปลว่าสิ่งที่อุทิศแก่เทพเจ้า 
( Sacred ) เป็นลูกของหญิงสาวชาวเนปาลที่ตั้งท้องโดยไม่ได้แต่งงานและเธอเองยังเด็กมากจึงตัดสินใจยกลูกให้คนที่อยากมีลูกแต่มีไม่ได้รับไปเลี้ยงแทน เพื่อที่ตัวเธอเองก็จะได้เร่ิมต้นชีวิตใหม่  เห็นได้ว่าเด็กน้อยเป็นที่รักของทุกคนในบ้าน และได้รับการดูแลอย่างดี ฉันเตรียมซื้อเสื้อผ้าเด็กอ่อนไปฝากหนูน้อยจากเมืองไทยซึ่งทำให้ภราวาติกาตื่นเต้นดีใจมาก
     ไม่นานนักซูนิมก็กลับจากที่ทำงาน เขาทำงานที่ดีเอชเอลมาพักใหญ่แล้ว หลังจากที่ลาออกจากฮอลิเดย์อินน์ และด้วยความที่แยกย้ายกันทำงานทำให้เขาและจูเกชไม่ค่อยได้พบปะสนิทสนมกับเหมือนเช่นเคยขนาดว่าเรื่องการรับเลี้ยงลูก จูเกชยังไม่รู้เลย ทั้งสองบอกว่าจะบอกเฉพาะคนที่สนิทมากๆ เท่านั้น เพราะไม่อยากให้ทุกคนตื่นตูมและพากันถามเรื่องราวของเด็กน้อยมากจนเกินจำเป็น ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้มีส่วนรับรู้เรื่องนี้ แสดงว่าเขาทั้งสองให้ความสนิทสนมและไว้ใจฉันมาก
     ซูนิมเป็นคนจริงจังกับชีวิตและงาน เป็นคนมีความรู้และมีการศึกษาที่ดี ทั้งเขาและภราวาติกาต่างก็เรียนจบมาจากอินเดียด้วยกันทั้งคู่ จึงพูดภาษาอังกฤษได้ดีและคล่องปรื๋อ ซูนิมดูจะเป็นคนมีความทะเยอทะยานแต่ก็ตั้งอยู่ในเหตุผลและความจริง การพูดคุยกับเขานั้นได้ข้อคิดและความรู้อะไรหลายๆ อย่าง ขนาดพี่ตุ๊กเองยังอดประทับใจไม่ได้ เขาศึกษาโดยการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กเยอะมากเพื่อเตรียมตัวเป็นพ่อที่ดี เขาต้องการเน้นการเพ่ิมสารอาหารให้แก่เด็กเพราะว่าเมื่อเด็กไม่ได้ทานนมแม่ก็อาจจะขาดสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างภูมิต้านทานโรค ฉันเชื่อว่าซูนิมน่าจะเป็นคุณพ่อที่ดีได้ ดูเขาหลงลูกสาวมากๆ ในขณะที่คุยกับเราไปเขาก็อุ้มลูกสาวตัวน้อย กล่อมเบาๆ ให้เธอหลับ ดูสายตาเขาอ่อนโยนผิดกับเวลาพูดถึงธุรกิจ
     เรานั่งคุยกันพักใหญ่ก็เริ่มทานอาหารมื้อค่ำ ซึ่งต้องบอกว่าอร่อยถูกปากเป็นที่สุด สมกับการที่โปรโมทให้พี่ตุ๊กฟังไว้มาก อาหารของภราวาติกาต่างจากอาหารพื้นเมืองทุกมื้อที่เราได้กินมาในเวลาหลายวัน อาจเป็นเพราะทั้งซูนิมและภราวาติกาไม่ใช่คนเนวาร์แท้ๆ พื้นเพของซูนิมนั้นเป็นชาวเขาอยู่นอกเมือง (อันนี้คนพื้นเมืองเขาสามารถรู้ได้จากนามสกุล) แต่จะเป็นชาวเขาชาวเผ่าชาวเมืองอะไรฉันก็ไม่สนหรอกเพราะรสชาติอาหารนั้นอร่อยเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นผัดผัก 
ซุปถั่ว แกงไก่ ซึ่งรสชาติไม่เผ็ดและไม่จืด อร่อยคล้ายๆ อาหารไทย มื้อนั้นเลยเป็นมื้อใหญ่ของเราในรอบหลายวัน


     เรานั่งคุยสัพเพเหระ อัพเดทความเป็นไปของกันและกันอีกพักใหญ่จึงขอตัวกลับบ้านเพราะเกรงใจเพื่อน ซูนิมอาสาขับรถมาส่งถึงซานูเฮ้าส์ และแยกจากกันไปในความมืดมิดของค่ำคืนนั้น คืนนั้นเป็นคืนเดียวที่ฉันได้เจอกับเพื่อนทั้งสองในทริปนี้ น่าเสียดายที่เราได้ใช้เวลาร่วมกันน้อยไปหน่อย แต่ฉันก็ดีใจที่ได้มีโอกาสกลับมาเจอเพื่อนอีกครั้ง อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่ฉันไปเที่ยวเนปาลนั้นฉันไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะฉะนั้นทริปหน้าต้องเกิดขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน และวันนั้นหนูน้อย Syesha (ชเยชา)​ คงจะโตจนพูดได้แล้ว 

28 เมษายน 2554

7. เทพเจ้ามีชีวิต วัดพุทธและฮินดู

     พอสายๆ พี่ธันวาอยากพาเราไปพบกับกุมารีแต่ยังเช้าเกินไปก็เลยพาไปพบกับอดีตกุมารีก่อน
     อดีตกุมารีคนนี้เป็นคนไม่ใกล้ไม่ไกลเพราะเป็นคุณแม่ของเพื่อนนักเรียนของพี่ธันวานั่นเอง เราไปที่บ้านของเธอซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดกัมเบชวอนัก ฉันไม่แน่ใจนักว่าเขาจะตื่นกันรึยังเพราะตอนนั้นยังเช้าตรู่มาก (ประมาณหกโมงกว่าๆ) แต่เราก็โชคดี
     บ้านของอดีตกุมารีนั้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีความซับซ้อนมาก มีหลายหลังและหลายห้องในบริเวณบ้าน มีสวนตรงกลาง คือพ่อแม่และลูกๆ แบ่งกันอยู่คนละหลัง ดูท่าทางคงมีฐานะค่อนข้างดีลักษณะการตกแต่งบ้านนั้นค่อนไปทางทันสมัยมีอุปกรณ์เครื่องใช้ครบครัน เราได้รับการต้อนรับที่ห้องรับแขกของบ้าน ซึ่งมีขนาดค่อนข้างกว้างขวาง 
     คุณแม่ (อดีตกุมารี) หน้าตาสวย กริยาวาจาสุภาพและใจดีมาก ส่วนคุณพ่อนั้นเป็นคนทิเบตทำการค้าขายและเดินทางไปกลับระหว่างเนปาลและทิเบตค่อนข้างบ่อยเมื่อครั้งยังหนุ่มอยู่  ส่วนเพื่อนของพี่ธันวานั้นทำงานที่สายการบินไทย เป็นผู้หญิงที่ดูดี เรียบร้อย อัธยาศัยค่อนข้างดีมาก
     เราได้รับการต้อนรับด้วยชานมร้อน ขนมปังทาเนยถั่วอย่างดี เราออกจะเกรงใจเจ้าของบ้านอยู่มากแต่ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมของคนที่นี่ที่จะต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือนอย่างดีถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้จักกับเขาก็ตาม พี่ธันวาเล่าให้ทั้งสามฟังว่าฉันเป็นนักเขียนและเดินทางมาเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ประเพณี เทศกาล และวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อนำไปเขียนหนังสือเล่มถัดไปทำให้ทุกคนตื่นเต้นและยินดีอย่างมากที่จะแบ่งปันข้อมูลตามที่ฉันอยากรู้ แถมยังพาไปดูห้องหนังสมุดที่เก็บรวบรวมหนังสือไว้มากมาย ดูเหมือนครอบครัวนี้จะค่อนข้างเคร่งศาสนาและให้ความสนใจในศาสตร์นี้ค่อนข้างมาก ลูกสาวทุกคนไม่มีใครแต่งงานแต่อยู่ดูแลพ่อแม่ที่บ้านอย่างดี เป็นครอบครัวอบอุ่น
     คุณแม่เล่่าว่าท่านเป็นกุมารีไม่กี่ปีเพราะเผอิญว่าฟันหักจึงต้องลาออกทำให้เธอไม่ค่อยมีความทรงจำเกี่ยวกับการทำหน้าที่เป็นกุมารีเท่าไหร่นัก เธอยังนำรูปสมัยก่อนตอนเป็นกุมารีมาให้ดูเลย ฉันสงสัยเหมือนกันว่าคุณพ่อทำไมถึงหลงรักและกล้าแต่งงานกับคุณแม่เพราะเคยรู้มาว่าส่วนใหญ่ผู้ชายจะกลัวไม่กล้าแต่งงานกับคนที่เคยเป็นกุมารีเพราะเหมือนเป็นคนพิเศษถ้าใช้ชีวิตอยู่ด้วยก็อาจทำให้เกิดเหตุอาเพศได้ แต่เท่าที่ดูแล้วก็สังเกตได้ว่าทั้งสองดูเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขดี มีครอบครัวที่ดีและมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต 
     พี่ธันวาใช้เวลาอีกซักพักในการพูดคุยกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมานานเป็นสิบปีแล้วเราจึงจากลาครอบครัวที่น่ารักมา
     โปรแกรมต่อไปคือไปเยี่ยมกุมารีของเมืองปาตันแต่ต้องผิดหวังเพราะเมื่อไปถึงที่บ้านแล้วท่านกำลังเรียนหนังสืออยู่ เดี๋ยวนี้กุมารีสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงกับเด็กหญิงทั่วๆไปได้ และมีสวัสดิการที่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน

     
     เราจึงไปเดินเที่ยวเล่นกันที่ดูร์บาร์สแควร์เพื่อพาพี่ตุ๊กไปดูศูนย์กลางวัฒนธรรมของเมือง
ปาตัน หลังจากนั้นก็เดินทางไปเที่ยวต่อที่วัดโบถนาถ และคราวนี้พิเศษหน่อยที่ได้ไปเยี่ยมวัดทิเบตใกล้ๆ “คานิงเชลดรับลิง กอมป้า” (Ka-Nying Sheldrup Ling Gompa) ซึ่งถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบทิเบตสีสันสดใสสวยงามมาก ขณะที่เราไปถึงนั้นเหล่าเณรกำลังหัด
อ่่านบทสวดมนต์กันอยู่ เราจึงนั่งอยู่ด้านข้างอย่างสงบและทำสมาธิฟังเสียงสวดมนต์ที่ฉันรู้สึกว่าไพเราะ ทำให้จิตใจสงบและเย็นลงจากความร้อนระอุด้านนอกได้อย่างดี การเป็นฆราวาสหน้าตาแปลกๆ มานั่งอยู่ในอุโบสถก็สร้างความแตกตื่นให้กับเหล่าเณรอยู่บ้าง แต่เราพยายามนั่งกันนิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวหรือส่งเสียงดัง ซึ่งจะเป็นการรบกวนการสวดมนต์ของเณรเหล่านั้น ซักครู่พระพี่เลี้ยงก็ให้เณรรูปหนึ่งนำกาน้ำชาเดินเสิร์ฟให้กับเณรน้อยทีละรูป และท้ายที่สุดท่านยังใจดีสั่งให้รินให้เราด้วยคนละแก้ว ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ได้กลายเป็นเวลาแห่งความประทับใจ



      หลังจากนั้นเราตัดสินใจว่าจะแวะไปทานข้าวกลางวันกันที่โรงแรมดวาริกา (Dwarika) ซึ่งเป็นโรงแรมที่อนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบเนวาร์โบราณได้อย่างดีเยี่ยมโดยผู้เป็นเจ้าของมิสเตอร์ ดาส เชรสทรา (Das Shrestha)  เพราะเขาเห็นความสำคัญในการเก็บรักษามรดกโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูชมกัน เขาจึงมีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ศิลปะโบราณและได้รวบรวม บานประตูหน้าต่าง เสา ต่างๆ นำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานดีไซน์ของโรงแรม เพราะฉะนั้นของเกือบทุกช้ินนั้นเป็นของเก่าจริง ไม่มีมุมไหนหรือห้องไหนเหมือนกัน แต่ละห้องล้วนมีจุดเด่น ความสวยงามและประวัติเป็นของตัวเอง สิ่งเดียวที่เหมือนกันก็คือความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ของโบราณชิ้นนั้นๆ ไว้ ถึงแม้ราคาค่าห้องจะแพงแต่เรียกว่าคุ้ม เพราะเหมือนเราได้ย้อนไปอยู่ในบรรยากาศแบบโบราณ ฉันคิดว่าครั้งหน้าที่ไปเนปาลคงต้องหาโอกาสไปพักซักคืนสองคืน
     เราทานอาหารกลางวันกันที่ร้านอาหารภายในโรงแรมแต่ไม่ใช่ร้าน “กฤษณาปัน” (Krisnarpan) อันลือชื่อ เพราะที่ร้านนั้นเปิดเฉพาะเวลากลางคืน เสริฟอาหารแบบพื้นเมืองมีบรรยากาศตกแต่งสวยงามและมีการเต้นรำพื้นเมืองให้นักท่องเที่ยวได้ชม ใครมีโอกาสไปก็อย่าลืมไปแวะชิมล่ะ มื้อกลางวันนี้จึงเป็นมื้อง่ายๆ และเบาๆ ที่ค้อฟฟี่ช้อปภายในโรงแรม ฉันทานสลัด พี่ตุ๊กทานสปาเก๊ตตี้ ส่วนพี่ธันวาถือโอกาสลองชิมอาหารชุดพื้นเมืองเนปาล ซึ่งหน้าตาดูน่ารับประทานมาก
     เมื่ออ่ิมท้องและหายเหนื่อยหายร้อนจากอากาศระอุแล้ว เราเดินเล่นชมบริเวณภายในโรงแรมที่ถูกจัดแต่งอย่างสวยงามและเงียบสงบ มีสระว่ายน้ำอยู่่ด้านใน บรรยากาศรายล้อมไปด้วยสวนและต้นไม้ร่มรื่นดอกไม้จัดแต่งแบบเป็นธรรมชาติ ยามค่ำคืนคงสวยโรแมนติกและดูขลังไปอีกแบบ



     หลังจากนั้นเราไปเยี่ยมวัดปชุปตินาถ โดยที่ใช้เวลาไม่นานนัก วันนั้นมีการเผาศพ 2 ศพ ซึ่งดูแล้วก็น่าสลดใจ พี่ตุ๊กไม่กล้าไปเดินตรงฝั่งที่มีการเผาศพเพราะไม่อยากให้ภาพติดตาและประกอบกับว่าการเผาสดๆ นั้นจะก่อให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงปรารถนา เธอจึงไปยืนรอที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ ถึงแม้ว่าฉันจะเคยเห็นการเผาศพแบบนี้มาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะไปสำรวจอีกครั้ง แต่ครั้งนี้อาจจะด้วยจุดประสงค์ที่ต่างไปจากสองครั้งแรก ครั้งแรกนั้นดูด้วยความตื่นเต้นและหวาดกลัวเล็กน้อย เก็บภาพเพื่อจดจำและโอ้อวดต่อผู้คนที่ไม่เคยได้สัมผัส ครั้งที่สองไปเยือนเหมือนกลับไปเยี่ยมเพื่อนเก่า ไปดูสิ่งเดิมๆ ที่เคยเห็นแล้ว และไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรเท่าไหร่  ส่วนครั้งหลังนี้ไปดูเพื่อจะปลงกับชีวิต ฉันต้องยอมรับว่าเป็นคนที่กลัวความตาย และคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อมและทำใจยอมรับกับความตายไม่ได้ ครั้งนี้ฉันจึงตั้งใจไปดูเพื่อจะได้เห็นว่าวาระสุดท้ายของชีวิตนั้นจะมาเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครกำหนดได้ และไม่มีอะไรที่เราจะเอาติดตัวไปได้ ไม่ว่าเราจะทำพิธีศพด้วยการเผาหรือการฝัง แต่ในที่สุดแล้วร่างกายเราก็จะดับสูญและสูญสิ้นไปในที่สุด ครั้งนี้ฉันไม่แม้แต่หยิบกล้องขึ้นมา ฉันเพียงแต่สังเกตศพและคนรอบข้าง ญาติพี่น้องที่แสดงถึงความเสียใจต่อการจากไปต่อผู้อันเป็นที่รัก ฉันไม่รู้สึกกลัวอีกแล้วแต่กลับกลายเป็นรู้สึกได้ถึงสัจธรรมความจริงของชีวิตที่ทุกคนต้องเผชิญ ฉันรู้สึกว่าฉันคงต้องเริ่มเตรียมตัวกับความตายให้กับตัวเอง คนบางคนที่มาดูสถานที่เผาศพอาจจะรู้สึกว่ามันน่ากลัว แต่ฉันรู้สึกว่าการทำพิธีศพแบบฮินดูนั้นเป็นอะไรที่จริงดี เมื่อความตายมาเยือนผู้ใด ญาติพี่น้องก็ต้องจัดการตามพิธีทางศาสนาโดยปัจจุบันทันด่วน อาจจะไม่มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจอะไรมากมาย ไม่ต้องสิ้นเปลืองในการจัดพิธีหลายๆ วัน ตายเมื่อใดอีกไม่เกินหนึ่งวันเป็นอันว่าหมดสิ้น ไม่หลงเหลืออะไรทิ้งไว้ เหลือก็เพียงแต่ความทรงจำดีๆ ต่อคนผู้นั้น



     การไปวัดปชุปตินาถในครั้งที่สามนี้ ฉันหมดความตื่นเต้นแล้วแต่รู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่เราควรไปเยี่ยมชมเพื่อให้เห็นสัจธรรมของชีวิต ไม่ใช่ไปเพื่อดูความสวยงามอีกต่อไป และขอร้องเถอะนะว่าอย่าอยากรู้อยากเห็นมากจนเกินงาม ควรมีมารยาทในการสังเกตวิถีของชาวฮินดูในการจัดการกับศพ เห็นใจญาติเขาเถอะ ถึงแม้เขาจะเผากันสดๆ แบบนั้นแต่ก็ใช่ว่าเขาจะทำใจได้ บางทีฉันเห็นญาติร้องห่มร้องไห้แทบจะเข้าไปกอดศพทั้งๆ ที่ไฟก็ลุกอยู่ เพราะฉะนั้นเขาคงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวอย่างเราเข้าไปยุ่มย่ามใกล้ชิดมากเกินไป เพราะเวลานั้นก็คือเวลาสุดท้ายของการอยู่ร่วมกันบนโลกมนุษย์ใบนี้แล้ว
     เรากลับออกจากวัดด้วยความทุลักทุเล เพราะอากาศที่ร้อนระอุแถมยังต้องเดินอีกเป็นระยะทางไกลกว่าจะเรียกแท้กซี่ได้ ฉันรู้สึกเหนื่อยพอสมควรทีเดียวสำหรับการเที่ยวในวันนี้คงเป็นเพราะว่าต้องตื่นแต่เช้าตรู่ซึ่งไม่ใช่เวลาที่คุ้นเคยนักสำหรับนกตื่นสายอย่างฉัน

27 เมษายน 2554

6. ตื่นรู้

     วันนี้เราตื่นแต่ก่อนเช้ามืดอีกเช่นเคย ฉันลุกขึ้นมาตอนตี 3:45 นาที เพื่อเตรียมตัวอาบน้ำล้างหน้าให้ตื่นเต็มที่ เพราะเราจะไปฟังสวดมนต์กันแต่เช้า
     วัดทอง (Golden Temple ) เป็นวัดพุทธที่มีชื่อเสียงมากวัดหนึ่ง เป็นวัดที่บูชาพระศากยมุนี (แต่เขาห้ามถ่ายรูป)  ด้านหน้าทางเข้ามีรูปปั้นสิงโตอยู่และเมื่อเข้าไปถึงด้านในก็จะมีบริเวณพื้นที่ตรงกลางที่มีไว้สำหรับผู้ที่มาสวดมนต์ทำพิธีต่างๆ ซึ่งบริเวณนี้ห้ามใส่รองเท้าหรือเครื่องแต่งกายที่เป็นหนังผ่านลงไป อันนี้ไม่มีปัญหาเพราะเราเตรียมตัวมาอย่างดี ตรงบริเวณรอบๆ นั้นเป็นแบ่งเป็นห้องๆ มีพระพุทธรูป พระแม่ตาราและรูปวาดแบบทิเบตแสดงถึงศิลปะโบราณที่สวยงามมาก รอบๆ มีกงล้อมนตราเรียงรายให้ได้หมุนทำสมาธิสวดมนต์กันตามอัธยาศัย มุมทั้งสี่ของวัดนั้นมีรูปปั้นลิงถือผลขนุนซึ่งเป็นของที่ลิงทั้งสี่ตัวถวายให้แก่พระศากยมุนี เราสามารถเดินขึ้นไปชมบริเวณชั้นสองได้ด้วย ซึ่งก็จะได้เห็นวิวของตัววัด
จากอีกมุมหนึ่ง วัดมีหลังคาสามชั้นและเป็นสีทอง ไม่แน่ใจว่าเป็นทองจริงรึเปล่า
     เราไปถึงวัดตอนประมาณตีสี่ครึ่งซึ่งถือว่าเช้ามากสำหรับเรา แต่ในตอนนั้นก็มีกลุ่มคนมานั่งสวดมนต์อยู่นานแล้วส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ เขานั่งกันบนพื้นตรงบริเวณด้านหน้าตัววัดเพื่อรอเวลาที่เณร 2 รูปซึ่งเป็นพี่น้องกันจะออกมาทำพิธี ทั้งสองเป็นผู้เฝ้าดูแลและทำพิธีสวดมนต์ในตอนเช้า ซึ่งรับหน้าที่นี้ประมาณ 30 วัน และหลังจากนั้นก็จะผลัดเปลี่ยนให้เณรรูปอื่นมาดูแล เรารออยู่ไม่นานนักเณรทั้งสองก็ออกมาสวดมนต์ นำกระจกที่ไปส่องหน้าเทพเจ้าและยื่นให้คนที่มารอได้ดู เพื่อได้พบเจอและเห็นแต่สิ่งดีๆ และโปรยข้าวสาร น้ำมนต์เสกแก่คนที่อยู่รอบๆ วัดทองนี้เป็นวัดที่ได้รับความนิยมจากชาวพื้นเมืองมาก ทุกๆ วันจะมีคนมากราบไหว้พระเป็นจำนวนมาก นับเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับเรา




     หลังจากนั้นเราก็เดินไปยังบริเวณใกล้ๆ เพื่อดูแหล่งน้ำธรรมชาติโบราณที่ชาวพื้นเมืองเขามารองไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อใช้ในการชำระล้าง ดื่มกิน อาบน้ำ ทำอาหาร ฯลฯ น้ำนั้นดูใสสะอาดและไหลออกมาจากทางน้ำไหล ชาวพื้นเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงก็จะถือคนโททำจากทองเหลืองมารองน้ำเพื่อนำกลับไปใช้ที่บ้าน บางคนก็ยืนแปรงฟันล้างหน้ากันตรงนั้นเลยแบบไม่ต้องอายใครเพราะเป็นเรื่องธรรมชาติของคนที่นั่น  ไม่มีใครทราบว่าแหล่งน้ำมาจากที่ไหน แต่เชื่อกันว่าเป็นน้ำที่สะอาดสามารถไปนำไปใช้ดื่มกินได้ (สำหรับคนพื้นเมืองเท่านั้น ถ้านักท่องเที่ยวอย่างเราดื่มเข้าไป อาจท้องเสาะได้ เพราะแต่ละที่ก็มีแบคทีเรียต่างชนิดกัน ท้องของคนท้องถิ่นเค้าชินแล้วแต่ท้องชาวต่างชาติอาจยังไม่รู้จักแบคทีเรียชนิดที่อาศัยอยู่ที่เนปาล เพราะฉะนั้นอย่าเสี่ยงดื่มน้ำที่ยังไม่ผ่านการต้มและฆ่าเชื้่อโรค) ฉันแอบสงสัยในใจเหมือนกันว่าถ้าวันหนึ่งน้ำหยุดไหลคนที่นั่นเค้าจะทำยังไงกัน
     เราเดินต่อไปยังวัด “กัมเบชวอ” (Kumbeshwar) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดที่เก่าแก่มากวัดหนึ่ง และยังเป็นหนึ่งในสามของวัดในหุบเขากาฐมาณฑุที่มีสถาปัตยกรรมแบบเนวาร์ที่มีหลังคาห้าชั้นและมีรูปแกะสลักไม้สวยงามมาก วัดนี้เป็นวัดที่บูชาพระศิวะโดยที่สังเกตง่ายๆ ว่ามีรูปปั้นวัวอยู่ด้านหน้าวัด เราเจอกับพราหมณ์รูปงามที่บังเอิญว่าเป็นรูปเดียวกับที่พี่ธันวาเคยเชิญมาประกอบพิธีแต่งงานให้เด็กหญิงกับลูกพลับที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก พี่ธันวาเลยถือโอกาสไปทักทายท่านโดยที่มีเราแอบถ่ายรูปไว้



     สรุปว่าในเวลาช่วงเช้าวันนี้เราเน้นเที่ยววัดกัน วัดพุทธก่อนแล้วก็วัดฮินดู แต่ถ้าเราไม่สังเกตดีๆ ก็อาจจะงงได้ว่าวัดไหนเป็นวัดของศาสนาไหนกันแน่ เพราะถ้าให้แยกตามสถาปัตยกรรมก็แยกไม่ออกเพราะคล้ายกันมาก ถ้าให้แยกตามคนที่มาวัดก็ยิ่งแยกไม่ออกใหญ่ แต่ก็คงไม่แปลกหรอกเพราะอย่างที่บอกว่าที่เนปาลนั้นศาสนาพุทธและฮินดูอยู่กันอย่างกลมเกลียว วัดพุทธมีเทวรูปฮินดู วัดฮินดูบางวัดก็มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ฉันว่าเป็นการอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวและมีความสุขดี จิตใจคนที่นี่ล้วนมีศรัทธาและสิ่งยึดเหนี่ยวให้กับชีวิต 
     คนเราทุกคนคงต้องมีความเชื่อในอะไรบางอย่าง เพื่อให้ชีวิตมีความหวัง ...

26 เมษายน 2554

5. ตะลุยหมู่บ้าน

     วันนี้เราจะได้ออกไปนอกเมืองกัน ซึ่งเป็นความตั้งใจในการเดินทางมาเนปาลในครั้งนี้ของฉันว่าอยากจะไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านเล็กๆ รอบนอกหุบเขาที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ไปสัมผัส เพราะอยากไปดูวิถีชีวิตแบบชาวบ้านแท้ๆ ไม่ใช่ชาวเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกจนดูไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่ทั่วๆ ไป
     พี่ธันวาจัดแจงวางแผนการว่าเราจะเดินทางไปหมู่บ้านลุบุ (Lubu) ซึ่งนั่งรถไปแค่ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้นแต่สภาพของหมู่บ้านและวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นช่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับตัวเมืองใหญ่
     เมื่อเราไปถึงยังด้านหน้าทางเข้าหมู่บ้านก็เห็นมีกลุ่มแขกมุงอยู่ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ถึงได้ร้องอ๋อ เขากำลังเล่นไฮโลกันอย่างสนุกสนาน ดูๆ ไปก็คล้ายกับชีวิตในชนบทบ้านเรา แต่การพนันนั้นจริงๆ แล้วเป็นของต้องห้าม อนุญาตให้เล่นได้เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น
    เดินเลยไปก็พบทางเข้าหมู่บ้าน ที่มีบ้านแบบเนวาร์โบราณเรียงราย มีธงสีห้อยจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง เพราะกำลังจะเข้าช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวบ้านที่อยู่แถวๆ นั้นให้การต้อนรับเราอย่างดี ยิ้มแย้มแจ่มใส แกมทำหน้าประหลาดใจว่านักท่องเที่ยวเดินทางมากันถึงนี่ได้ยังไง
     โชคดีจริงที่หมู่บ้านนี้ก็มีการแห่เทพเจ้าเวลาเดียวกับที่ปาตัน แต่เขาไม่ได้ทำรถลากแห่เหมือนในเมืองแต่แบกเทพเจ้าบนเกี้ยว เด็กๆ ที่นี่ดูจะมีอัธยาศัยดีและชอบต้อนรับนักท่องเที่ยว มีเด็กหลายคนเข้ามาเดินล้อมเราและเป็นนายแบบให้อย่างดี มีคุณลุงคนหนึ่งน่าจะเป็นชาวบ้านแถวนั้นเข้ามาอธิบายให้เราฟังถึงเรื่องราวของหมู่บ้าน สถาปัตยกรรมและพิธีกรรมต่างๆ อันนี้เดาเอานะเพราะแกพูดเป็นภาษาถิ่นปร๋อ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่เข้าใจซักคำ แต่แกก็พูดไปเรื่อย แถมยังพาเดินไปตามตรอกซอกซอยตามหมู่บ้าน โชคดีมีพี่ธันวาแปลให้ฟังเป็นระยะๆ ถึงแม้เราจะไม่สามารถสื่อสารกันได้โดยภาษาพูดแต่เราสื่อถึงแกได้โดยภาษาใจ ดูแกมีความตั้งใจอันดีและมีน้ำใจให้แก่นักท่องเที่ยวแปลกหน้าอย่างเรามากๆ โดยไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทน


     ระหว่างทางก็ได้สังเกตสังกาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนแถบนี้ไปเรื่อยๆ คนที่นี่ไม่อาบน้ำบ่อยๆ เหมือนเราเพราะน้ำขาดแคลนและอากาศเย็น บางแห่งน้ำประปายังไปไม่ถึงก็ต้องไปตักน้ำจากธรรมชาติมาใช้ บางแห่งก็มีบ่อน้ำกลางหมู่บ้านให้ได้ใช้กัน บางทีอาบน้ำกันแค่อาทิตย์ละหนเท่านั้น เสื้อผ้าก็ใส่กันหลายๆ วันถึงจะซัก เราจึงเห็นเด็กๆ แต่งตัวมอมแมมจากฝุ่น วันนี้มีคุณแม่คนหนึ่งอาบน้ำและสระผมให้ลูกสาว โดยมีกะละมังรองน้ำหนึ่งใบ ค่อยๆ ตักน้ำทำความสะอาด เรียกว่าใช้น้ำแบบประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เห็นแล้วนึกโกรธตัวเองที่บางทีละเลยปล่อยน้ำไหลจากก๊อกโดยไม่ปิดระหว่างแปรงฟัน
     คนที่นี่มีอาชีพหลักคือการเพาะปลูก แต่ก็มีบางบ้านที่ทำอาชีพอื่นเช่นการทอผ้าส่งออกส่งไปขายที่ญี่ปุ่นก็มี น่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่ดี
     หมู่บ้านนี้ค่อนข้างเงียบดูเหมือนมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก แต่ตามตรอกซอยเล็กๆ ที่เราเดินไปก็จะเห็นชาวบ้านออกมาจับกลุ่มนั่งคุยกัน กลุ่มผู้ชายแยกกับกลุ่มผู้หญิง สงสัยจะนั่งเม้าท์สามีกันสนุก บ้างก็นั่งถักโครเชย์ ออกมาตักน้ำจากบ่อน้ำ เด็กๆก็เล่นซุกซนตามประสา คนที่นี่ดูใจดียิ้มแย้มทักทายตอบเมื่อเราส่งเสียง “นมัสเต” ไป
     เนื่องจากว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านนอกเมืองแห่งแรกที่ฉันมีโอกาสได้ไปเยือน ก็รู้สึกประทับใจและตื่นเต้นกับทุกอย่างที่เห็น รู้สึกเหมือนเดินทางย้อนยุคไปเมื่อศตวรรษที่แล้ว ด้วยเพราะตึกรามบ้านช่องนั้นคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ ผู้คนแต่งตัวแบบพื้นเมืองดั้งเดิม ดูสวยแปลกตา ยิ่งพี่ตุ๊กด้วยแล้วถ่ายรูปเพลินเลยทีเดียว


     เราเดินทางต่อขึ้นไปยังภูเขาใกล้ๆ เพื่อไปดูอีกหมู่บ้านที่อยู่ตามไหล่เขา บ้านที่อยู่บนนี้ก็ถูกปลูกสร้างแบบโบราณเหมือนกัน เราโชคดีได้เจอเจ้าของบ้านคนหนึ่งเป็นหญิงชราอายุ 71 ปี เธออาศัยอยู่คนเดียวเพราะลูกๆ แยกย้ายกันไปหมดแล้ว บ้านหลังเล็กข้างๆ เป็นที่อาศัยของลูกชายและลูกสะใภ้ซึ่งไม่ค่อยจะถูกกันซักเท่าไหร่ เป็นเรื่องธรรมดาของแม่ผัวลูกสะใภ้ อันนี้ชาติไหนๆ คงเหมือนกันหมด
     ขณะที่เราไปถึงและด้อมๆ มองๆ บ้านของเธอพลางถ่ายรูปนั้น เธอก็ส่งเสียงทักทายและเชื้อเชิญให้เข้าไปในบ้าน เธอกำลังนั่งทำด้ายสำหรับเป็นใส้ในตะเกียงน้ำมัน เอาไว้จุดบูชาเทพเจ้า เธอเชื้อเชิญให้เราเข้าไปชมในบ้าน ซึ่งปลูกสร้างมาหลายสิบปีแล้ว เป็นบ้านดินแบบดั้งเดิม ขนาดเล็กกะจิ้ดริ้ด และค่อนข้างมืดเพราะไม่มีไฟฟ้า ด้านบนเป็นห้องนอนของเธอและถัดไปเป็นห้องเก็บของ มีหิ้งเล็กๆ ที่เธอบูชาเทพเจ้าด้วยผลส้ม เรานั่งอยู่ด้านบนซักครู่ เธอก็หยิบส้มจากหิ้งมาแล้วถามพี่ธันวาว่าเราทานส้มบูชาได้มั้ย เมื่อตอบว่าได้ เธอจึงลงมือแกะผลส้มและแบ่งให้เราทาน ส้มนั้นหวานไปด้วยน้ำใจจากคุณป้าใจดี ก่อนจากกันเราได้มอบเงินเล็กน้อยเป็นสินน้ำใจให้คุณป้า เผื่อว่าเธอต้องใช้ซื้ออะไรที่จำเป็นในชีวิต 



     เราเดินต่อขึ้นไปบนเขาอีกหน่อยก็เจอบ้านดินสวยอีกหลังที่มีเจ้าของบ้านสาวสวยหน้าคมกำลังนำข้าวบาร์เลย์มาตากแดดซึ่งต้องใช้เวลาถึง 3 วันกว่าจะแห้งและเก็บเข้ายุ้งฉาง วันนี้เธออยู่บ้านคนเดียวเพราะลูกไปโรงเรียนและสามีออกไปทำงานนอกบ้าน
     เราลงจากเขามาแล้วเดินเลยไปอีกด้านหนึ่งซึ่งชาวบ้านกำลังฝัดข้าวกันอยู่ เขาใช้วิธีแบบดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยีใกล้ตัวนั่นก็คือนำก้านข้าวบาร์เลย์ที่ตัดมาแล้วโปรยลงไปบนพื้นในขณะที่เปิดพัดลมเพื่อพัดให้เมล็ดข้าวหลุดจากต้น เมื่อหลุดแล้วก็ใช้กระจาดกรองเมล็ดข้าวอีกทีหนึ่ง ดูแล้วก็น่าสนุกดีแต่ถ้าให้ไปทำจริงๆ คงเหนื่อยน่าดู
     ระหว่างทางที่กลับลงมาจากภูเขานั้นเราแวะหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีการล้มแพะเพื่อฉลองสำหรับเทศกาล มัจฉินทรานาถ เลยได้เห็นเขาย่างแพะตัวเกรียมเป็นสีดำและเมื่อเขาเร่ิมที่จะแบ่งชิ้นส่วนของแพะโดยเริ่มจากการหั่นคอ ฉันก็ต้องรีบเดินผ่านไปเพราะไม่งั้นคงอดที่จะคลื่นไส้ไม่ได้ ตรงด้านข้างๆ บ้านนั้นเป็นแปลงปลูกข้าวบาร์เล่ย์ ซึ่งมีหญิงชาวบ้านเกี่ยวข้าวกันอยู่ เราจึงเดินเข้าไปสำรวจโดยระยะประชั้นชิด  



     ที่ๆ จะแวะในลำดับถัดไปนั้นทำให้ใจฉันเต้นระทึก เพราะเราจะไปเที่ยวที่หมู่บ้านทาซิ (Thasi) ที่พี่ธันวาเล่าว่าเป็นหมู่บ้านของการทำไสยศาสตร์ ผู้หญิงที่หมู่บ้านนี้มีความรู้เรื่อง
ไสยศาตร์มนต์ดำ เรียกภาษาชาวบ้านคงต้องบอกว่า “เล่นของ” ทำให้ผู้ชายในหมู่บ้านนี้ตกอยู่ภายใต้อานัติผู้หญิงกันหมด ฉันเดินเข้าไปด้วยใจตุ้มๆ ต่อมๆ ในขณะที่ฝนเริ่มตั้งเค้า ท้องฟ้ามืดครึ้ม ไม่รู้เป็นเพราะใครสั่งรึเปล่า หมู่บ้านดูเงียบเหงาและลึกลับ เมื่อเราเดินเข้าไปด้านในเห็นผู้หญิงไม่กี่คนถักทอฟางจากข้าวบาร์เลย์ให้เป็นเสื่อซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่ และแล้วฝนก็เทลงมาทำให้เราต้องหาที่หลบฝน เพื่อคอยให้ฝนหยุดก่อนที่จะสำรวจหมู่บ้านต่อไป แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าพระพิรุณท่านจะปรานีนักท่องเที่ยวอย่างเรา หรืออาจมีใครบางคนทที่นั่นไม่ชอบให้เราไปเดินจุ้นจ้านก็ไม่รู้  จึงต้องตัดสินใจจากลาหมู่บ้านทาซิไปโดยไม่ได้ดูได้เห็นอะไรมากนัก หวังว่าวันหนึ่งจะได้กลับมาอีกครั้ง



     เราตัดสินใจกลับเข้าเมืองปาตันเพื่อไปดูพิธีลากรถเทพเจ้ากรุณามัย ซึ่งตอนนั้นยังไม่ถึงเวลาเร่ิมพิธี พี่ธันวาจึงพาเราไปล้ิมลองรสชาติอาหารพื้นเมืองแบบโบราณที่ร้านๆ หนึ่ง เป็นห้องแคบๆ หลังคาต่ำ ถ้าให้หาเองก็คงหาไม่เจอ แต่ชาวพื้นเมืองจะรู้จักกันดี และเป็นที่นิยมมาก ร้านจะแน่นไปด้วยผู้คนตลอดเวลาเรียกว่าขายดีมาก ๆ มาเป็นเวลานานแล้ว ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับจูเกชในภายหลัง เขาแอบกระซิบว่าในสมัยก่อนที่คนนิยมไปทานร้านนี้กันเพราะว่าเจ้าของร้านมีลูกสาวสวย แต่ตอนนี้เธอเองก็แต่งงานไปแล้วแต่ร้านก็ยังแน่นอยู่ ร้านนี้ไม่มีเมนูแต่มีอาหารขึ้นชื่ออยู่ไม่กี่อย่าง แกงถั่ว แกงเนื้อ (ควาย) แกงมัน และพิซซ่าเนปาล (อันนี้ฉันเรียกเอง เพราะหน้าตามันดูละม้ายคล้ายพิซซ่ามาก แต่ส่วนประกอบนั้นผิดกันลิบลับ) ซึ่งทำจากแป้งนำมาทอดบนกระทะเหล็กแบน เอาเนื้อบดใส่ลงไปและตอกไข่ลงไปตรงกลาง กลับด้านลงไปเพื่อทอดให้สุก แค่นี้ก็พร้อมทาน ด้วยความที่ฉันไม่ทานเนื้อวัวอยู่แล้ว เนื้อควายไม่ต้องพูดถึง ก็เลยสั่งให้เค้าทำแบบพิเศษโดยใส่แต่ไข่อย่างเดียว รสชาติอร่อยแปลกลิ้นดี ทานแกล้มกับข้าวบาร์เล่ย์ซึ่งมีเนื้อแข็งกว่าข้าวปกติ ทานแล้วกรุบๆ เหมือนทานขนมกรุบกรอบมากกว่า
     หลังจากแซบจากอาหารที่ร้านโบราณเรากลับไปรอขบวนแห่ตรงจุดหมายปลายทางของรถแห่ในวันนี้ ผู้คนหนาตาต่างมาจับจองที่กันด้วยใจเปี่ยมศรัทธา เราไปยืนกันบนแท่นที่ยกพื้นขึ้นสูงกว่าพื้นถนนตรงกลางเพื่อที่จะเห็นรถแห่ได้ชัดเจน รออยู่พักใหญ่ก็ได้ยินเสียงเฮๆ เป็นระยะ ส่งสัญญาณว่าขบวนกำลังเดินทางมาใกล้ถึงแล้ว เราก็พลอยตื่นเต้นไปกับชาวบ้านรอบข้างไปด้วย ไม่รู้ทำไม ทั้งๆ ที่ก็เคยเห็นรถและพิธีลากแล้ว สงสัยนี่ล่ะมังที่เขาเรียกว่าบรรยากาศพาไป เมื่อรถเดินทางมาถึงด้วยความทุลักทุเลแต่ก็ไม่เกินความพยายามและตั้งใจของคนที่ลาก ก็ตรงเข้าประจำที่ที่จัดไว้ ทันใดนั้นทหารโบราณซึ่งยืนประจำการอยู่ใกล้ๆ กับเราก็ยกปืนขึ้นฟ้า
และเร่ิมยิง “แป้ก” นัดแรกกระสุนบอด ทหารยกปืนยิงอีกนัด คราวนี้สำเร็จ ยังเหลืออีกสองนัดที่ต้องยิงเพื่อที่จะปิดพิธีกรรมสำหรับวันนี้ “แป้ก” “แป้ก” ไม่รู้วันนี้ปืนหรือกระสุนเป็นอะไร ทหารคนอื่นมาผลัดยิงอีกแต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุด “ปุ้ง” นัดที่สองก็ยิงออก ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้คนรอบข้าง แต่น่าเสียดายนั่นเป็นกระสุนนัดสุดท้ายของทหารทั้งกอง วันนี้พิธีจึงต้องจบลงด้วยการยิงปืนเพียงแค่สองนัด ทหารโบราณตั้งแถวและเริ่มออกเดินด้วยสีหน้าขัดเขินเล็กน้อย
     เย็นนี้เราไปทานข้าวกันที่ร้านตาเลจู (Taleju) ซึ่งเป็นร้านที่อยู่ใกล้ๆ กับดูร์บาร์สแคว์ร โดยเลือกขึ้นไปนั่งบนชั้นดาดฟ้าเพื่อจะได้เห็นวิวของดูร์บาร์สแควร์ทั้งหมดรวมทั้งวิวเมืองปาตันด้วย น่าเสียดายที่ฤดูนี้ฟ้าไม่เปิดไม่งั้นเราคงได้ชมวิวเมืองที่มีเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่อยู่ด้านหลัง
     เรากลับไปที่รถแห่อีกครั้งเพื่อไปดูผู้คนมาถวายไฟ สังเกตได้ว่าไม่ว่าจะเวลาไหนก็จะมีผู้คนมากราบไหว้บูชาเทพเจ้าอยู่อย่างเนืองแน่นเป็นการตอกย้ำว่าคนในหุบเขากาฐมาณฑุนั้นมีความศรัทธาในศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลายและดูเหมือนว่าพิธีกรรมต่างๆ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาอย่างแนบแน่น
     ฉันเองก็ได้มีโอกาสถวายไฟให้กับเทพเจ้ากรุณามัยองค์พี่ด้วย ขอพรจากท่านให้โชคดี 

25 เมษายน 2554

4. เยี่ยมบ้านเทพเจ้า

     ตาเบิกโพลงขึ้นมาเพราะนาฬิกาส่งเสียงปลุกตอนตีสี่
     ทั้งเหนื่อยทั้งเพลียเนื่องมาจากอาการนอนไม่ค่อยหลับ (เป็นยังงี้ในคืนแรกทุกทีเวลานอนแปลกที่) แต่ก็ต้องลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวเพราะวันนี้เราจะไปดูพิธีไหว้เทพเจ้ากัน
     พี่ธันวาเกรงว่าเราจะเดินกันไม่ไหวเพราะทั้งเช้า ทั้งมืด ทางเดินก็ไม่เรียบเท่าไหร่ เดี๋ยวหกล้มหกลุกไปจะเดือดร้อนหมู่ ก็เลยเรียกแท้กซี่ให้ไปส่งตรงใกล้ๆ บริเวณที่รถแห่จอดอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าผู้คนจะมากันอย่างมากมายทั้งหญิงชายหลายวัย มากันทั้งแบบเดี่ยวแบบกลุ่ม ต่างก็มาด้วยความศรัทธา บ้างก็จุดเทียนเพื่อบูชาเทพเจ้า บ้างก็สวดมนต์ บางกลุ่มมาร้องเพลงเล่นดนตรีซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญเทพเจ้า เมื่อเวลาเดินถึงเกือบๆ ตีห้า เจ้าพนักงานที่อยู่บนรถก็เริ่มทำพิธี ไฮไลต์ของก็คือเขาจะเอากระจกส่องหน้าเทพเจ้าและหันออกมาส่องไปยังประชาชนที่มาเฝ้ารออยู่ด้านหน้าเพื่อให้เป็นสิริมงคล เพราะถือว่าเทพเจ้านั้นมองเห็นแต่สิ่งดีๆ เมื่อหันกระจกออกมาก็เหมือนว่าให้ประชาชนเห็นสิ่งดีนั้นไปด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงพีค ผู้คนจะรับพรกันอย่างตั้งใจ หลังจากนั้นพนักงานก็จะโปรยน้ำเสก ข้าวสารไปยังคนที่มาร่วมพิธี และแจกดอกไม้ที่อยู่บนรถให้ไปใส่บนผมเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นจะทำพิธีเช่นเดียวกันกับเทพเจ้าองค์น้อง



     ฟ้าเริ่มสางผู้คนทยอยกันมากราบไหว้รถแห่กันอย่างไม่ขาดสาย บริเวณแถวๆ นั้นกลายเป็นตลาดขนาดย่อม มีของขายมากมาย พวกดอกไม้และเครื่องบูชาเทพเจ้า ผัก ผลไม้ ของใช้ กำไล รวมทั้งคนที่มาเจิมหน้าผากให้กับคนที่มาร่วมพิธี ฉันเองให้คุณป้าคนหนึ่งเจิมหน้าผากให้เป็นลายสวยงาม ให้ตังค์แกนิดหน่อยเป็นสินน้ำใจ



     การตื่นแต่เช้าตรู่ขนาดนี้ถึงแม้จะง่วงมากแต่อากาศนั้นดีมากๆ เย็นกำลังดี บ้านเรือนอยู่ในความสงบ ไม่จ้อกแจ้กจอแจ แสงแดดยังไม่จ้าทำให้ถ่ายรูปได้สวย เราเดินเยี่ยมชมวัดที่อยู่ในละแวกนั้นกันก่อนที่จะแวะทานชานมกับขนมโรตีสอดไส้เผือกบดรสชาติหวานกลมกล่อมที่ร้านเล็กๆ ระหว่างทางเดินกลับที่พักซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของพี่ตุ๊กมาก พี่ธันวาบอกว่าขนมพวกนี้สำหรับคนเนปาลแล้วต้องมีฐานะดีถึงจะมาทานกัน




     เรากลับไปทานอาหารเช้าที่ซานูเฮ้าส์ซึ่งสาริตาทำข้าวต้มไว้ให้ มีแกงมันรสชาติคล้ายๆ กับแกงส้ม และแพนเค้กแบบเนปาล ช้ินเล็กๆ น่ารัก ทำจากแป้งและถั่ว อร่อยดีมีสุขภาพ คนเนปาลทานถั่วและมันฝรั่งค่อนข้างเยอะเพราะเค้าไม่ทานเนื้อสัตว์กันจึงต้องรับโปรตีนจากอาหารจำพวกถั่ว แล้วก็ต้องกินพวกมันฝรั่งเพื่อให้มีแรง
     ไม่รอช้าให้เสียเวลาเที่ยว เราออกเดินทางกันอีกครั้งเมื่อทานอาหารเช้าเรียบร้อย ที่หมายแห่งแรกคือหนึ่งในสี่เจดีย์ที่พระเจ้าอโศกได้สร้างไว้ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองปาตัน ชื่อว่า “เตตาทุระ”  (Teta Thura) เชื่อกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างเจดีย์ทั้งหมด 
4 องค์ อยู่รอบมุมเมืองในทิศต่างๆ และเป็นจุดที่บ่งบอกถึงอาณาเขตของเมืองปาตันด้วย เจดีย์นี้ถูกปกคลุมไปด้วยหญ้าสีเขียวเหมือนกับอีกสององค์ มีเพียงเจดีย์ที่อยู่ทางทิศเหนือเท่านั้นที่เป็นสีขาว เราเดินรอบเจดีย์ตามเข็มนาฬิกาเพื่อเป็นการทำความเคารพ หลังจากนั้นพี่ธันวาขอไปดูที่ซึ่งตอนนี้ปลูกข้าวโพดเพื่อใช้ทานกันในครอบครัว ที่เหลือจากทานก็นำไปขายเป็นรายได้เพิ่มเติม ส่วนใหญ่คนเนปาลที่พื้นฐานครอบครัวเป็นชาวนามักจะมีที่มากมายและปลูกพืชผักไว้ทานกันเองไม่ต้องเสียตังค์ซื้อหา พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องมีเงินรายได้มากมายในการดำรงชีวิต เพราะเพียงแค่เขาอยู่กันแบบเศรษฐกิจพอเพียง กินใช้เท่าที่จำเป็นก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ ช่วงนี้ตามที่นาเขาจะปลูกข้าวบาร์เล่ย์กัน และอีกไม่นานเมื่อหน้าฝนมาเยือนก็จะเริ่มปลูกข้าวสาลีเรียกว่าสามารถปลูกข้าวทานได้ตลอดทั้งปีทีเดียว   
       
                            
     เราเดินกลับเข้าไปในเมืองกันโดยที่เริ่มสำรวจวัดแรกคือ “อุกุบาฮาล” (Uku Baha หรือ Rudra Varna Mhavihar) เป็นวัดพุทธ มีพื้นที่ภายในวัดค่อนข้างกว้าง และมีรูปปั้นรูปสลักน่าสนใจหลายอย่างรวมไปถึงเสาไม้สลักสีสันสวยงามและเก่าแก่ที่ค้ำหลังคาก็เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวัดนี้ ในสมัยโบราณกษัตริย์จะถูกสวมมงกุฏเพื่อขึ้นครองราชบัลลังค์ที่วัดนี้
     เดินต่อไปไม่ไกลนักในละแวกของร้านขายพระพุทธรูปนั้นมีวัดที่สำคัญอีกแห่งคือวัด "มหาพุทธา" (Mahabouddha) ซึ่งซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางตึก อาจจะต้องมองหาซักหน่อยแต่คงไม่ยากเกินความตั้งใจ วัดนี้มีต้นแบบมาจากวัดมหาพุทธาที่พุทธคยาประเทศอินเดีย สร้างด้วยอิฐสีส้ม มีรูปปั้นพระพุทธเจ้าในช่องต่างๆของตัววัดนับพันรูป ทางทิศใต้นั้นเป็นวัดที่สักการะพระนางมายาเทวี ชาวพุทธคงไม่อยากพลาดวัดนี้เป็นแน่



     เมื่อเดินออกจากประตูมาพี่ธันวาพาเราเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยต่างๆ เพื่อพาไปดูวิธีการสลักรูปปั้นพระพุทธเจ้า เผอิญว่าพี่ชายของเพื่อนพี่ธันวาทำงานเป็นนักแกะสลักมืออาชีพ เราไปที่บ้านเขาโดยไม่ได้นัดหมายแต่โชคดีที่เขาทำงานที่บ้านก็เลยได้เจอเจ้าตัว
     คนเนปาลนั้นเป็นคนง่ายๆ ไม่ค่อยมีพิธีรีตรองอะไรเคร่งครัดเหมือนคนไทย แล้วก็เป็นชาติที่มีน้ำใจต่อแขกผู้มาเยือนอย่างมากจนเรารู้สึกเกรงใจ เมื่อไปถึงเขาต้อนรับขับสู้เราอย่างดี เชิญขึ้นไปนั่งยังด้านบนบ้านซึ่งเป็นห้องทำงานของเขา นำน้ำชา น้ำอัดลมมาต้อนรับอย่างใจดี เขาทักทายเราและถามว่าเรามาจากไหน พี่ธันวาบอกเขาว่าอยากพาพวกเรามาดูแหล่งผลิตรูปปั้นพระพุทธเจ้าจะได้เห็นว่าการสลักแต่ละพระองค์นั้นลำบากยากเย็นขนาดไหน ใช้เวลา ความเชี่ยวชาญ และความอดทนอย่างมากมาย แถมสายตาต้องดีมากๆ เมื่อได้เห็นขั้นตอนแล้วก็ต้องบอกว่าทึ่งมากและเข้าใจทันทีว่าทำไมราคาของแต่ละองค์ถึงสูงมากๆ ยิ่งขนาดเล็กเท่าไหร่ก็ต้องใช้ความละเอียดเพ่ิมมากขึ้นไปอีก การสลักแต่ละองค์นั้นใช้เวลประมาณ 20 วัน (ขนาดเล็ก) และได้เงินค่าจ้างประมาณ 28,000 รูปี ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงมากถ้าเทียบกับรายได้โดยเฉลี่ยของคนเนปาลทั่วไป องค์พระพุทธรูปในแถบหิมาลัยที่อยู่ตามวัดต่างๆในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนั้นส่วนใหญ่ผลิตจากเนปาลเพราะช่างเนปาลมีฝีมือค่อนข้างดี พวกฝรั่งแถวๆ ยุโรปก็นิยมมาซื้อหากันที่นี่



     เมื่อนั่งดูเขาแกะสลักซักพักใหญ่เราก็ขอตัวกลับเพื่อที่จะไม่รบกวนเขามากเกินไป และมุ่งหน้าไปวัดซึ่งเป็นที่ประทับขององค์เทพเจ้ากรุณามัยที่ตอนนี้เสด็จประทับบนรถแห่ในงานเทศกาล วัด “ราโตมาเชนดรานาถ” (Rato Machhendranath) เป็นวัด 3 ชั้น อยู่ภายในบริเวณกว้าง มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศซึ่งมีสิงโตเฝ้าอยู่ เสาไม้ที่ค้ำหลังคาถูกสลักด้วยลวดลายและสีสันสวยงาม ในปัจจุบันมีประตูรั้วเหล็กล้อมโดยรอบและหลังจากที่เทศกาลจบลง เทพเจ้ากรุณามัยจะยังไม่เสด็จกลับมาประทับที่วัดนี้แต่จะไปประทับที่วัดในเมืองบุงกามาติ (Bungamati) อีก 
6 เดือนถึงจะเสด็จกลับ เรื่องนี้เป็นเพราะว่าในสมัยโบราณนั้นเทพเจ้ากรุณามัยได้ถูกนำมาจากแคว้นอัสสัมในอินเดีย โดยการร่วมมือระหว่างกษัตริย์จากกาฏมาณฑุ ชาวนาจากปาตัน และคนทำพิธีทางศาสนาจากเมืองภักตาปูร์เพราะเกิดความแร้นแค้นฝนไม่ตกตามฤดูกาล เมื่อเดินทางมาพักกลางทางที่บ้านชาวบ้านในเมืองบุงกามาติ หญิงคนนั้นเกิดได้ยินเรื่องที่ทั้งสามพูดถึงเทพเจ้าจึงไม่ยอมให้ทั้งสามออกจากบ้านเพื่อเดินทางกลับ เกิดการต่อรองกันขึ้น ทั้งสามสัญญาว่าถ้าเธออนุญาตให้นำเทพเจ้ากลับไปยังปาตัน ในทุกๆปีเขาจะส่งเทพเจ้ากลับมาประทับที่เมืองบุงกามาติเป็นเวลา 6  เดือน นับแต่นั้นมาจึงเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อขบวนแห่ในเทศกาลเดินทางไปถึงยังจุดหมายเทพเจ้ากรุณามัยจะต้องถูกส่งไปประทับที่บุงกามาติ



     ในตอนบ่ายหลังจากทานอาหารกลางวันกันที่ร้านๆ หนึ่งซึ่งมีความเป็นพิเศษคือคนเสริฟทุกคนในร้าน “เป็นใบ้” ตอนแรกเราก็กังวลว่าจะสั่งอาหารกันไม่รู้เรื่อง แต่เอาเข้าจริงๆ อาหารมาถูกต้องทุกอย่างและรสชาติค่อนข้างโอเค เราเดินทางไปเข้าร่วมพิธีบวชหมู่ของคุณพ่อพี่ธันวาที่วัดแห่งหนึ่งในตอนบ่าย (ครอบครัวพี่ธันวานับถือศาสนาพุทธและมีความศรัทธาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคุณพ่อที่มักจะหาโอกาสไปนั่งสมาธิที่วัดอยู่เสมอๆ) หลังจากนั้นจึงไปทานเข้ากันแถวย่านทาเมล
     ทาเมลในปัจจุบันนั้นไม่ค่อยสร้างความประทับใจให้กับฉันเท่าไหร่ คงเป็นเพราะว่ามันดูพลุกพล่าน เต็มไปด้วยร้านค้า ผับ บาร์ ทำให้ถนนที่เคยสงบกลับอึกทึกไปด้วยเสียงเพลง เสียงวงดนตรีที่เล่นแข่งกันในแต่ละร้าน ฉันเดินสำรวจย่านทาเมลแต่ก็เพียงแค่ผิวๆ เท่านั้น เพราะไม่ค่อยมีอะไรที่น่าสนใจเท่าไหร่ แถมผู้คนก็ไม่ค่อยจะน่ารักนัก คิดแต่ว่าจะขายของอย่างเดียว เสน่ห์ความใจดีของคนเนปาลจึงเหือดหายไปหมดแล้ว 



     มีเพียงร้านเดียวที่ยังคงน่าสนใจอยู่นั่นก็คือ ร้านหนังสือพิลกริม (Pilgrims book house) ซึ่งอยู่ในช่วงกลางๆ ของย่านทาเมล ร้านนี้มีหนังสือมากมายหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศแถบหิมาลัย ราคาก็ไม่แพง ฉันเลยได้หนังสือเกี่ยวกับการเดินทางหนีออกจากทิเบตขององค์คามาปะที่ 17  ภายในร้านยังมีส่วนที่ขายของที่ระลึกอีกด้วย ส่วนด้านหลังเป็นร้านอาหารซึ่งเป็นที่ที่เราฝากท้องสำหรับมื้อค่ำในวันนี้ เขาขายแต่อาหารที่เป็นมังสวิรัติ ถ้าใครไม่ค่อยชอบทานผักก็อาจต้องลองเลือกจากร้านอื่นๆ ซึ่งมีอยู่อย่างคึกคักตลอดสายของถนนทาเมล และมีครบทุกชาติที่เป็นที่คุ้นเคยรวมทั้งอาหารเนปาลด้วย ร้านขนมปังและเค้กก็มีให้บริการ ซูเปอร์มาร์เก็ตก็โมเดิร์นมาก มีขนมและอาหารยี่ห้อชั้นนำให้เลือกหามากมาย
     เราจบการท่องเที่ยวในวันที่สองด้วยการทานอาหารภายใต้แสงเทียนเพราะเผอิญว่าไฟดับพอดี ที่เนปาลนั้นไฟดับค่อนข้างบ่อย เพราะเขามีไฟฟ้าใช้กันอย่างจำกัด จึงต้องแบ่งเวลากันใช้ แต่ละบ้านจะรู้กันดีว่าวันไหนเวลาไหนที่บ้านของตัวเองจะไฟดับ เพราะมีการแจ้งล่วงหน้า สำหรับเขาคงชินแล้ว ก็จะเตรียมตัวใช้ชีวิตกับความมืดได้อย่างดี แต่สำหรับเราคงต้องทำให้มันเป็นเรื่องโรแมนติกไป

24 เมษายน 2554

3. ต้อนรับเทพเจ้า

     เราไม่รอช้า พักได้ซักครู่ก็ออกเดินทางเข้าเมืองด้วยการเดินเท้าลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยเล็กซอยน้อย เห็นวิถีชีวิตบ้านเรือนของชาวบ้านเพื่อไปร่วมชมเทศกาลแห่เทพเจ้ากรุณามัย กลิ่นเครื่องเทศและธูปลอยเข้าปะทะจมูกฉันทำให้ความรู้สึกและความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับเนปาลหวนกลับมาหาฉันอีกครั้ง


     
     ระหว่างทางที่เดินไปนั้นนับว่าเราโชคดีมากๆ เพราะได้เจอขบวนแห่พิธีสำคัญของชาวเนปาลอีก 3 ขบวนด้วยกัน ขบวนแรกก็คือขบวนแห่เด็กชายถือเป็นสัญญาณว่าเด็กชายเหล่านั้นเข้าวัยเด็กโตแล้ว ไม่ใช่เด็กเล็กอีกต่อไป ขบวนที่สองคือแห่ลูกสาว เป็นพิธีการแต่งงานของเด็กหญิงกับลูกพลับ  และขบวนสุดท้ายคือแห่คุณยาย หญิงชราที่อายุ 77 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่งตัวสีแดงสวยงามและถูกหามอยู่บนแคร่เป็นการฉลองที่เธอมีอายุยืนยาว เพราะจริงๆ แล้วคนเนปาลอายุไม่ค่อยยืนเท่าไหร่


     
     วันนี้เป็นวันแรก ( 9 พ.ค 2551 ) ของเทศกาล “แห่เทพเจ้ากรุณามัย” เทพเจ้าแห่งพืชผล 
ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระโพธิสัตว์ เทศกาลนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Rato Machhendranath Festival ซึ่งจะมีขึ้นทุกปีแต่วันเวลาไม่แน่นอนต้องดูการเคลื่อนของดวงอาทิตย์ในแต่ละปี แต่จะเกิดขึ้นในช่วงก่อนฤดูฝน เพราะพิธีกรรมนี้มีขึ้นเพื่อที่จะขอให้ฝนตกตามฤดูกาล มีการจัดพิธีแห่ทุกเมืองแต่เวลาไม่ตรงกัน การแห่เทพเจ้ากรุณามัยนี้ทำสืบทอดกันมากว่า 1,200 ปีแล้ว และดูเหมือนว่าชาวพื้นเมืองยังให้ความสำคัญกันมากๆ เพราะจะมีผู้คนมาเข้าร่วมอย่างแน่นขนัดในทุกๆ วันของเทศกาล ในปีหนึ่งๆ คุณสามารถไปเที่ยวชมเทศกาลได้ตลอดทั้งปี อยู่ที่ว่าอยากไปดูของเมืองไหน ตอนที่ฉันเขียนอีเมล์ไปบอกจูเกชว่าฉันจะเดินทางไปชมเทศกาลที่เนปาล เขาเองยังงงๆ ว่ามีเทศกาลอะไร เพราะทั้งเขาทั้งคนรอบตัวไม่ยักกะรู้เรื่อง 
นี่สาวไทยจะมารู้ดีกว่าคนเนปาลเชียวหรือ คำตอบนั้นง่ายมากก็เพราะจูเกชเป็นชาวกาฏมาณฑุนั่นเองเขาจึงไม่รู้เรื่องเทศกาลของเมืองปาตัน
     พี่ตุ๊กและฉันออกจะตื่นเต้นกับการที่จะได้เห็นและร่วมเทศกาลของชาวพื้นเมือง เตรียมตัวเตรียมกล้องกันอย่างดี เมื่อเราเดิน (จนเหนื่อย) ก็ไปถึงบริเวณ “ปุลโจก” ( Pholchowki ) ซึ่งเป็นที่ประทับของรถที่แห่เทพเจ้ากรุณามัยซึ่งกำลังอยู่ในช่วงตกแต่งและเช็คความเรียบร้อยครั้งสุดท้ายก่อนที่พิธีจะเริ่มขึ้นในไม่ช้า   
     รถที่ประทับนั้นทำด้วยไม้ทั้งหมด มีที่ประทับของเทพเจ้ากรุณามัยซึ่งอยู่บนฐานด้านบนและมีล้อขนาดใหญ่อยู่ด้านล่าง มีไม้ขนาดใหญ่ทำจากไม้ทั้งต้นยื่นออกมาด้านหน้าซึ่งมีไว้เพื่อดึงรถไปด้านหน้า ส่วนด้านบนนั้นประดับด้วยไม้ต่อขึ้นไปเป็นชั้นๆ มีขนาดสูงมากประมาณตึก 5 ชั้น และมีเครื่องประดับสอดแทรกดูๆ ไปก็คล้ายกับต้นคริสตมาสที่อยู่บนเกวียน แต่การสร้างนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก คนที่สร้างต้องมีความชำนาญ มีประสบการณ์และที่สำคัญต้องรักษาศีลมาก่อนเพราะพิธีกรรมนี้เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ คนที่เป็นพนักงานประจำรถนั้นต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างมาก​ เพราะเทศกาลนี้ค่อนข้างยาว บางครั้งก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะจบลงเมื่อใด (ตามกำหนดนั้นคือ 2 สัปดาห์) เพราะขึ้นอยู่กับหลายๆ องค์ประกอบ หลักๆ เลยก็คือฤกษ์ซึ่งก็ต้องดูตามการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และยังมีเหตุอื่นที่ไม่อาจคาดเดาได้อีกนั่นก็คืออุบัติเหตุ ถ้ารถถูกลากไปแล้วเกิดล้มลง (ซึ่งเป็นไปได้ง่ายมากเพราะรถสูงมากและไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการประกอบ เป็นการใช้ความรู้ท้องถิ่นล้วนๆ ทำให้อาจเกิดเสียศูนย์และล้มลงพังครืนได้) ก็จะต้องประกอบขึ้นใหม่ตรงจุดนั้น แล้วจึงลากต่อไปได้ แล้วถ้าเกิดเหตุขึ้นจริงๆ ก็จะถือว่าเป็นลางไม่ดี อาจจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับเมือง คนที่ได้ค่าตอบแทนมากที่สุดก็คือคนที่คอยห้ามล้อรถ เป็นตำแหน่งที่เสี่ยงมากๆ และสำคัญอย่างมาก เพราะต้องคอยเอาไม้เข้าไปยันไม่ให้รถแล่นเร็วไป หรือเบี่ยงทิศของรถไปซ้ายขวาตามทาง ซึ่งมีคนที่เคยถูกรถทับตายมาแล้วหลายคน



     พิธีกรรมในการลากรถนี้ในทุกๆ วัน จะต้องลากจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งและมีพิธีต่างๆ ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงดึกดื่น รถไปหยุดตรงเขตไหนชาวบ้านในเขตนั้นก็จะมาทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้ บูชา ร้องเพลงสรรเสริญต่างๆ รวมทั้งจัดงานเลี้ยงฉลองที่บ้านและเชิญชวนญาติพี่น้องมาทานอาหารร่วมกัน
     เมื่อใกล้เวลาพิธีเชิญรถลากจะเริ่ม ฝนก็ตั้งเค้าและเร่ิมตกปรอยๆ จนเราต้องหาที่หลบฝน ไม่นานนักสัญญาณที่บ่งบอกว่าพิธีจะเริ่มขึ้นในอีกไม่นานนักก็มาถึงนั่นก็คือทหารที่อยู่ในชุดเครื่องแบบโบราณสีดำมีเครื่องประดับเงินคาดศีรษะ ถือปืน ขลุ่ย กลองและฉาบ เดินมาตั้งแถวประมาณเกือบ 20 นาย และเมื่อทหารยิงปืนขึ้นฟ้า 3 นัด นั่นแปลว่าขบวนรถลากจะเริ่มออกเดินทาง ในเวลานั้นชาวบ้านไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลต่างมายืนรอดูขนวนรถอย่างใจจดจ่อ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก วัยรุ่น ชายหนุ่ม หญิงสาว หรือแม้แต่คนแก่ มีคนขี่จักรยานแจกน้ำฟรีแก่ผู้มาเข้าร่วมพิธี และก็คงเหมือนๆ กับงานเทศกาลที่เมืองไทย ที่เมื่อมีคนมารวมกันเยอะๆ นานๆ ก็ต้องมีของกินมาขาย เพื่อประทังความหิว เช่่น ถั่ว ไอสกรีม เป็นต้น


     
     ใช้เวลาพักใหญ่กว่ารถประทับจะสามารถเคลื่อนตัวออกจากจุดเริ่มต้นได้ ต้องใช้แรงใจ แรงเชียร์ กันยกใหญ่ การเริ่มต้นทำอะไรซักอย่างมักจะเป็นส่วนที่ยากที่สุดเสมอ แต่ถ้าเราไม่ละความพยายามละก็ต้องสำเร็จได้ในที่สุด การจะลากรถที่หนักและสูงมากนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ที่แน่ๆ คือพละกำลังมหาศาล ความพร้อม และคนที่จะเป็นผู้นำทิศทาง สำหรับการลากรถประทับนี้จะมีคนที่อยู่ด้านบนที่คอยบอกคนลากด้านล่างว่าเมื่อไหร่จะเริ่มลาก ลากกี่ครั้ง ลากไปทางซ้ายหรือขวา แถมยังต้องพูดจากระตุ้นให้พนักงานลากรถมีกำลังใจและฮึดสู้ นอกจากนี้จะมีเจ้าพนักงานที่อยู่ด้านบนเสาสูงที่จะคอยประคองและดึงให้เสาอยู่ตรงเสมอไม่เอนไปด้านใดด้านหนึ่งซึ่งจะทำให้รถเสียหลักได้
     รถประทับของเทพเจ้าในเทศกาลมัจฉินทรานาถนี้ไม่ได้มีแต่เพียงองค์เดียว แต่มีองค์เล็กหรือองค์น้องด้วย มีขนาดเล็กกว่าแต่ก็จะมีการปฏิบัติเช่นเดียวกับองค์ใหญ่และเป็นการลากโดยเด็กชาย เทพเจ้าที่อยู่บนรถลากเล็กนั้นคือ เทพเจ้า “มานินาถ” (Maninath) ซึ่งเชื่อว่าเป็นน้องชายของเทพเจ้ากรุณามัย เทพเจ้ามานินาถนั้นประทับอยู่คนละวัดกับเทพเจ้ากรุณามัย ในช่วงเทศกาลนี้จึงเป็นช่วงที่เทพทั้งสองพระองค์จะได้พบกัน ในวันแรกนี้รถทั้งสองจึงถูกลากมาจากคนละทิศเพื่อที่จะพบกันตรงกลางและเมื่อสิ้นสุดการลากก็จะประทับอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน เพื่อที่จะออกเดินทางในวันถัดไป
     เมื่อรถลากออกเดินทางได้ซักครู่เราก็เดินล่วงหน้าไปยังบริเวณใกล้ๆ กับจุดหมายปลายทางของรถในวันนี้เพื่อรอดูการลากผ่านบ้านผู้คนซึ่งค่อนข้างยากเพราะทางแคบและมีตึกสูงขนาบสองข้างทาง ฝนเริ่มตกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราต้องหาทำเลเหมาะๆ ในการพัก ซึ่งก็คือชายคาของบ้านที่อยู่ริมทางนั่นเอง เรารอคอยอยู่พักใหญ่ก็ได้ยินเสียงเฮเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ารถประทับกำลังจะมาถึงในไม่ช้า ผู้คนหลั่งไหลเบียดเสียดกันมากขึ้นเรื่อยๆ เต็มถนนไปหมด บ้างก็ร้องรำทำเพลง เต้นรำพื้นเมืองกันอย่างสนุกสนานโดยที่ไม่กลัวสายฝนที่พรั่งพรูลงมา ทั้งฉันและพี่ตุ๊กต่างก็ร่วมตื่นเต้นไปกับเขาด้วย ขนาดพี่ธันวาซึ่งเป็นคนพื้นเมืองเองก็ยังอดที่จะตื่นตาเหมือนนักท่องเที่ยวอย่างเราไม่ได้ เพราะไม่ได้มาร่วมพิธีนี้ 20 ปีได้ เมื่อรถผ่านไปตรงไหนคนก็จะส่งเสียงร้องด้วยความยินดีปรีดา เจ้าของบ้านที่อยู่ด้านบนจะสาดน้ำลงมายังรถประทับเหมือนเป็นการสรงน้ำเทพเจ้า สำหรับผู้ชมอย่างเราก็ต้องคอยหลบให้ดีเพราะอาจเปียกไม่รู้ตัว ตามถนนที่รถแห่ผ่านไปนั้นเจ้าพนักงานต้องตัดสายไฟทิ้งแล้วมาต่อทีหลังเพราะไม่งั้นแล้วรถก็ไม่สามารถผ่านไปได้ บ้านเรือนที่อยู่แถวนั้นก็จะไม่มีไฟใช้ในช่วงหนึ่ง บางทีถ้ารถเอียงมากๆ ก็อาจจะละไปตามหลังคาบ้านทำให้บางครั้งหลังคาพังครืนลงมาก็มีเหมือนกัน  และแล้วเทพเจ้าก็ดำเนินมาจนถึงจุดหมายปลายทางของวันแรกเรียบร้อยซึ่งก็เป็นช่วงใกล้ค่ำพอดี ทหารโบราณทำการยิงปืน 3 นัดเพื่อจบพิธีการสำหรับวันแรก      
     ในวันนี้กุมารีออกมาประทับที่หน้าวัดประจำตำแหน่งของกุมารีเพื่อให้พรแก่ประชาชน ฉันเองก็ฝ่าผู้คนเข้าไปรับดอกไม้ประทานจากกุมารีมาปักบนผมเพื่อเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นเราก็ไปทานข้าวเย็นที่บ้านพี่สาวของพี่ธันวา เมื่อไปถึงเราได้รับการต้อนรับในห้องนอนซึ่งมีโซฟาไว้นั่งดูทีวี ฉันรู้สึกกระดากนิดหน่อยที่จะนั่งบนเตียงนอนของใครก็ไม่รู้ เพราะเนื้อตัวเราอาจจะสกปรกจากการเดินมาตลอดบ่ายก็เลยนั่งกับพื้น แต่เจ้าของบ้านก็คะยั้นคะยอให้นั่งบนเตียงเพราะถือเป็นการต้อนรับแขก พี่สาวพี่ธันวานำชานมและคุ้กกี้มาให้เราทานรองท้องก่อนจะถึงเวลาอาหารเย็น ที่บ้านนี้มีคนอยู่กันหลายคน ส่วนใหญ่ผู้หญิงเนปาลเมื่อแต่งงานก็จะมาอยู่กับครอบครัวสามีเพราะมีหน้าที่ต้องดูแลสามี ครอบครัวสามีรวมถึงครอบครัวของเธอเอง ซึ่งถ้าที่บ้านนั้นมีจำนวนสมาชิกอยู่กันหลายคน ปริมาณสมาชิกในบ้านก็จะมีแต่เพิ่มไม่มีลด พี่สาวพี่ธันวามีลูกทั้งหมด 4 คน Binissa (บินิสสา) Binu (บินุ) Biju (บิจู) และ Bijay (บิเจ) หญิงสองชายสอง ซึ่งก็ต่างเดินเข้ามาทักทายทำความรู้จักกับแขกแปลกหน้าเช่นเราอย่างเป็นกันเอง เราก็ดูทีวีไป พูดคุยซักถามเกี่ยวกับเรื่องนู้นเรื่องนี้ตามแต่ที่จะนึกสงสัย





     เมื่อเวลาอาหารค่ำมาถึงเราต้องไต่ขึ้นไปยังด้านบนสุดของบ้านซึ่งเป็นที่อยู่ของครัวและห้องอาหารตามหลักการสร้างบ้านแบบเนปาล อาหารมื้อนี้เป็นอาหารพื้นเมืองมื้อแรกสำหรับทริปนี้ เราได้ทานอาหารบนถาดทองเหลือง โดยที่พี่สาวพี่ธันวาตักอาหารจากหม้อมาให้เราในจานทั้งหมด 4 อย่าง และข้าวอีก 1 อย่าง คนเนปาลส่วนใหญ่ทานผักเยอะกว่าเนื้อสัตว์และทานข้าวค่อนข้างเยอะ มื้อนี้มี แกงถั่ว พริกไทยสดผัดกับแครอท และแกงอีก 2 อย่าง ฟังดูเหมือนเยอะแต่เขาจะตักให้ทีละน้อยเผื่อว่าไม่ถูกปากอาหารจะได้ไม่เหลือ ถ้าชอบถูกปากจะขอเพิ่มในภายหลังเจ้าบ้านก็จะดีใจมาก ตามปกติเขาจะไม่ทานข้าวเหลือกันเพราะเมื่ออาหารถูกตักมาบนจานเราแล้วก็ถือว่าไม่บริสุทธิ์ คนอื่นจะไม่สามารถทานได้อีก เพราะฉะนั้นเวลาไปทานอาหารบ้านชาวพื้นเมืองพยายามอย่าทานอาหารเหลือ ส่วนน้ำดื่มนั้นเขาจะทานรวมกันในเหยือกทองเหลือง ซึ่งจะเทใส่ในปากโดยไม่ให้ปากถูกกับภาชนะไม่งั้นก็ถือว่าไม่บริสุทธิ์เช่นกัน พี่ธันวาไม่ให้เราดื่มน้ำจากเหยือกในมื้อแรกนี้เพราะเกรงว่าท้องของเราจะแสลงเพราะไม่คุ้นกับน้ำ คนพื้นเมืองเขาทานน้ำจากธรรมชาติได้เพราะร่างกายคุ้นชินกันแบบนั้น แต่ท้องอย่างเราๆ มักจะชินกับน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาอย่างดีก็เลยไม่มีภูมิคุ้มกัน แนะนำว่าให้พกน้ำขวดไปเองจะปลอดภัยกว่า แบคทีเรียแต่ละที่นั้นมันต่างชนิดกัน ถ้าไม่คุ้นเคยก็จะอาจจมีผลกับระบบขับถ่ายได้
     คืนนี้ฝนตกหนักเราจึงไม่สามารถเดินกลับที่พักได้ ต้องเรียกแท้กซี่ให้ไปส่ง เมื่อถึงบ้านก็รีบอาบน้ำเข้านอนเพราะมีภาระกิจในวันรุ่งขึ้นแต่เช้าตรู่ (เช้ามากๆ ขอบอก)