05 เมษายน 2554

10. ชะตากรรมของแพะดำ

     วันสุดท้ายที่เนปาลฉันเริ่มหมดมุก เพราะที่ท่องเที่ยวหลักๆ ตามที่ไกด์บุ๊คแนะนำก็ไปมาหมดแล้วกฤษณาเลยเสนอว่าจะพาไปเที่ยวในที่แปลกๆ ไม่ใช่สถานที่ยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวมักจะไปกัน
     เวลาเก้าโมงเช้ากฤษณามารอฉันที่หน้าโรงแรมเหมือนทุกๆวัน และบอกว่าจะพาไปเที่ยววัดฮินดูนอกเมือง ฉันก็เออออไปกับเขาเพราะไม่รู้จักวัดที่เขาว่า
     กฤษณาขออนุญาตแวะรับญาติระหว่างทางที่รถผ่านออกไปนอกเมือง เพราะเขาจะไปไหว้พระที่วัดนั้นพอดี ฉันก็ไม่ได้แย้งเพราะเห็นว่าไม่ได้ออกนอกเส้นทางและไม่เดือดร้อนอะไร ไหนๆ ก็ต้องไปอยู่แล้วให้คนอาศัยไปด้วยอีกคนจะได้ประหยัดน้ำมัน
     ญาติที่ว่านั่นเป็นชายหนุ่มอายุประมาณ 30 กว่าๆ แต่งตัวเรียบร้อยใส่เสื้อเชิ๊ตสีขาวและกางเกงสแล็คเขาพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่ากฤษณาก็เลยซักถามเกี่ยวกับตัวฉันหลายอย่าง เช่นว่า มาจากประเทศอะไรมาทำอะไรที่เนปาล จะอยู่กี่วัน กลับวันไหน และออกจะแปลกใจนิดหน่อยที่หญิงสาวเดินทางคนเดียว 
     รถเริ่มแล่นออกนอกเมืองไปไกล สองข้างทางเริ่มเป็นป่าเขารก ฉันเริ่มใจเสียนิดหน่อย เพราะไม่มีบ้านเรือนผู้คนหรือร้านค้าเท่าไหร่ ใจกังวลไปว่าถ้าชายเนปาลสองคนนี่เกิดคิดมิดีมิร้ายอะไรขึ้นมาฉันคงต้องแย่แน่ๆ เพราะไม่เห็นทางหนีที่ไล่เลย มือเริ่มเย็น จับประตูรถแน่น พยายามตั้งสติตัวเองให้ได้มากที่สุดเพื่อพร้อมที่จะกระโดดจากรถ วิ่งหนีให้เร็วที่สุด เมื่อเวลาคับขันมาถึง นึกภาพหนังผจญภัยต่างๆ นานา และวิธีเอาตัวรอดของตัวละครเหล่านั้น
     ดูเหมือนว่าความกังวลนั้นจะเกิดขึ้นจากอาการวิตกจริตของฉันเอง ไม่ใช่เพราะชายเนปาลสองคนนั้นทำท่าทางไม่น่าไว้ใจอะไร 
     “วัดดากชินกาลี” (Dakshinkali) ที่นายกฤษณะพาฉันไปนั้น อยู่ที่เมือง “พาพิง” (Pharping) ซึ่งอยู่ห่างจากกาฏมาณฑุไปทางตอนใต้ประมาณ 19 กิโลเมตร
     วัดดากชินกาลีนี้เป็นวัดฮินดู สร้างขึ้นเพื่อสักการะเทพเจ้ากาลี (ปางดุร้ายของชายาพระศิวะ) เป็นวัดที่ค่อนข้างเข้มงวด คนที่ไม่ใช่ฮินดู คนต่างชาติ โดยเฉพาะที่ใส่เสื้อผ้าเครื่องประดับที่เป็นหนังจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในบริเวณวัดหากแต่ถ่ายรูปจากด้านนอกได้ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมแต่งตัวให้เหมาะกับสถานที่ คนฮินดูจะนิยมมาทำพิธีบูชายัญสัตว์กันทุกๆ วันอังคารและเสาร์ซึ่งจะเป็นวันที่คนมากันค่อนข้างแน่นวัด เขาจะนำสัตว์ประเภทแพะ แกะ เป็ด ไก่ หมูหรือบางทีอาจจะมีควายมาเชือดเพื่อที่จะบูชาเลือดสัตว์เหล่านั้นต่อเทพเจ้ากาลี วันนั้นมีเด็กน้อยจูงแพะดำสองตัวมาเพื่อทำพิธีบูชายัญ ดูๆไปแล้วยังเป็นแพะเด็กที่ไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง โดยที่บริเวณเชือดนั้นจะเป็นสัดส่วนเฉพาะแต่ก็อยู่ภายในวัดนั่นแหล่ะ มีพนักงานที่ทำหน้าที่เชือดประจำอยู่ที่วัดและมีความเชี่ยวชาญมาก เรียกได้ว่ามีดปาดคอทีเดียวเป็นอันจบชีวิต
     สำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธอาจดูว่าเป็นพิธีกรรมที่โหดร้าย บาป และผิดศีลข้อหนึ่ง แต่สำหรับคนฮินดูการทำบูชายัญ เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งและเป็นพิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมานาน เมื่อเขานำเลือดสัตว์ไปป้ายบนรูปปั้นเทพเจ้าแล้วร่างสัตว์ก็จะคืนให้กับเจ้าของ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะนำไปทำอาหารรับประทานกันต่อไป บางคนก็นำหม้อและอุปกรณ์ทำอาหารมาที่วัดและปิคนิคกันที่บริเวณใกล้ๆ เลย ถ้าจะดูพิธีบูชายัญที่สำคัญที่สุดและเป็นช่วงเวลาที่สัตว์ตายมากที่สุดก็ต้องมาในช่วงเดือนตุลาคมที่มีเทศกาล “ดาเซน” (Dasain) ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะที่เทพเจ้า “ดูร์กา” (Durga) มีต่อวิญญาณชั่วร้าย “มาหิสาสุระ” (Mahisasura) ที่ปลอมตัวมาในร่างควาย
     การเห็นสัตว์ถูกเชือดตายต่อหน้าไม่ใช่เรื่องธรรมดาสำหรับฉันเลย แต่จะเป็นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้นที่ฉันจะดู ต้องอาศัยความใจแข็งยืนดูและกดชัตเตอร์เพราะฉันคงไม่สามารถไปห้ามไม่ให้เขาเชือดคอสัตว์น้อยได้ อย่างมากก็คงทำการสวดแผ่เมตตาให้แก่วิญญาณสัตว์เหล่านั้น ให้ไปเกิดในชาติภพที่ดีขึ้นและไม่ต้องตายแบบทรมานอีก ถ้าใครที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอขอแนะนำว่าอย่าดูเพราะมันจะเป็นภาพที่ติดตาไปอีกนาน
     ฉันยืนสยองกดชัตเตอร์ไปหลายภาพแล้วจึงเดินออกไปบริเวณด้านหน้าวัด รอให้กฤษณากับญาติไหว้พระกันจนเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงออกเดินทางต่อไป


     วัด “เชรส นารายัน” (Shesh Narayan) อยู่ไม่ไกลจากวัดดากชินกาลี เป็นวัดที่สักการะพระวิษณุที่สำคัญวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ภายในบริเวณที่เป็นธรรมชาติมาก มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ก่อนทางขึ้นไปบริเวณวัด


     กฤษณาพานั่งรถต่อไปอีกหน่อยเข้าเขตเมือง “โชบา” (Chobar) วิวรอบข้างนั้นสวยงามมากมีต้นไม้รกครึ้ม บริเวณช่องเขาด้านล่างนั้นชาวบ้านทำนาแบบขั้นบันได มีแม่น้ำบักมาติตัดผ่าน และมีสะพานแขวนขนาดเล็กข้ามแม่น้ำ สามารถลงไปเดินเล่นชมวิวถ่ายรูปธรรมชาติสวยๆ ได้ 

     จากนั้นจะเห็นวัด “จัล บินายัค” (Jal Binayak) เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งที่สักการะพระพิฒเนศ ใครต้องการความเข้มแข็งก็ต้องมาขอพรจากพระพิฒเนศที่ทำจากหินองค์ใหญ่เคลือบด้วยทองเหลือง ชาวเนวาร์มักจะเดินทางมาจาริกแสวงบุญกันที่วัดนี้ สถาปัตยกรรมที่นี่ออกจะแปลกๆ อยู่ซักหน่อย เพราะส่วนใหญ่ของวัดนั้นสร้างจากหิน มีวัดแบบพื้นเมืองโบราณมีหลังคา 3 ชั้นอยู่ด้านหน้า  เมื่อมองจากมุมสูงก็เลยดูไม่ค่อยเข้ากันซักเท่าไหร่



     หลังจากไปวัดมาหลายวัด ฉันสังเกตได้ว่าสถาปัตยกรรมนั้นอาจจะมีความคล้ายหรือต่างกันบ้าง แต่ที่เหมือนกันเห็นจะเป็นความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาของคนเนปาลที่สืบทอดต่อกันมาเรื่อยๆ รุ่นถึงรุ่น ทำให้พิธีกรรมต่างๆ ไม่หายไปตามยุคสมัย วัดจึงไม่เคยเงียบเหงาหากแต่มีผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้ขอพรเทพเจ้าให้เป็นสิริมงคลกับชีวิตในทุกๆ วันและทุกๆ เวลา เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันกันเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น