18 เมษายน 2554

12. วาระสุดท้ายของชีวิต

     วันสุดท้ายก่อนกลับบ้าน ซูนิมขันอาสาพาฉันไปเที่ยวเพราะเป็นวันหยุดของเขา
     ช่วงเช้าหลังจากที่แวะไปชมรมกอล์ฟกับซูนิมแล้วเราก็แวะไปที่วัด “ปชุปตินาถ” (Pashupatinath) กัน
     วัดปชุปตินาถเป็นวัดฮินดูที่สำคัญที่สุดของเนปาลซึ่งเป็นวัดที่สักการะพระศิวะในปางที่เป็นเทพเจ้าแห่งสรรพสัตว์ ตั้งอยู่ติดแม่น้ำสำคัญคือ “บัคมาติ” (Bagmati) ซึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เปรียบได้กับแม่น้ำคงคาของอินเดีย วัดนี้อยู่ไม่ไกลจากสนามบินไตรภูวัณเท่าไหร่ นั่นก็แปลว่าอยู่ห่างออกจากใจกลางเมืองไปพอสมควร เป็นวัดที่ค่อนข้างเคร่งครัดกับคนนอกศาสนามาก คนที่ไม่ได้นับถือฮินดูไม่สามารถเข้าไปภายในบริเวณตัววัดได้ แต่สามารถเดินดูรอบๆ ได้
     ภายในบริเวณวัดมีส่วนที่เป็นที่อยู่สำหรับคนแก่ในระยะสุดท้ายโดยถูกพามาอยู่ที่นี่เพื่อรอคอยความตายซึ่งนับเป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างสลดหดหู่ ตัววัดปชุปตินาถนั้นต้องผ่านประตูเข้าไปอยู่เป็นสัดส่วนและต้องเดินขึ้นบันไดไปอีกที แต่สำหรับคนที่ไม่ได้นับถือฮินดูอย่างเราๆ สามารถข้ามไปดูวัดจากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำได้ สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลซึ่งไกลเกินกว่าสายตาปกติจะมองทะลุเข้าไปเห็นกิจกรรมการกราบไหว้บูชาพระศิวะที่เกิดขึ้นภายในวัดได้ วัดที่บูชาพระศิวะนั้นสังเกตได้ง่ายๆ ก็คือมักจะมีวัวนั่งอยู่ด้านหน้า (พาหนะของพระศิวะ) และมี “ไทรเด้นท์” (Trident) ซึ่งเป็นอาวุธที่มีลักษณะเป็นแท่งและมีสามง่่ามอยู่ด้านบน วันที่ฉันไปนั้นน่าจะมีพิธีอะไรที่สำคัญเพราะมีกลุ่มผู้หญิงมากมายใส่ชุดส่าหรีสีแดงมาชำระล้างกายในแม่น้ำบริเวณด้านหน้้าวัด อาจจะเป็น “เทศกาลศิวะราตรี” (Maha Shivaratri)* เพราะตามปฏิทินแล้วจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ปฏิทินฮินดูนั้นคือคืนข้างแรมที่ 14  (เวลาที่แน่นอนต้องดูจากปฏิทินอีกที) ซึ่งถือเป็นวันคล้ายวันเกิดของพระศิวะ บางตำราก็ว่าเป็นวันคล้ายวันแต่งงานกับพระนางภราวาติ คนที่นับถือพระศิวะจากทั่วสารทิศจะอดอาหารทั้งวันทั้งคืนและไปวัดสวดมนต์ มีพิธีกรรมที่วัดตลอดทั้งวันผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็จะสวดมนต์ขอพรให้สามีและลูกชายอยู่ดีมีสุข ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานก็มักจะสวดขอพรให้ได้สามีแบบพระศิวะ หลังจากอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วก็จะทำพิธีถวายของแด่พระศิวะซึ่งหลักๆ ก็จะมีนม โยเกิร์ต นำ้ผึ้ง น้ำมันเนย และน้ำ ซึ่งมีความหมายที่ดี วันนี้ถือเป็นวันเดียวที่คนสูบกัญชาจะทำได้อย่างถูกกฏหมายเพราะถือเป็นเครื่องเซ่นที่พระศิวะโปรดปราน


     เมื่อข้ามสะพานไปจะมีสถูปหินขนาดเล็ก (Chaityas) อยู่ถึง 11 องค์ ซึ่งมักมีโยคีและสาธุมาอาศัยอยู่กันเพราะเขาเป็นสาวกของพระศิวะ เขาจะนั่งๆ นอนๆ กันแถวๆ เจดีย์ที่มีอยู่โดยรอบ และเมื่อเราถ่ายรูปพวกเขาเพราะเห็นว่าทรงผมและการแต่งกายดูเก๋แปลกตา เขาก็จะขอเงินเป็นการแลกเปลี่ยน เพราะคนเหล่านี้ไม่มีอาชีพอะไร การยังชีพอยู่ได้ก็ด้วยการรับบริจาคจากชาวบ้าน และเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามากันมากขึ้นเรื่อยๆ การถ่ายรูปแลกกับเงินก็เลยกลายเป็นธรรมเนียมไป แล้วถ้าเราแข็งขืนไม่ยอมให้เขา เขาก็จะตะโกนด่าสาปแช่งไล่หลังตามไป ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้หรอกว่าเขาด่าอะไรแต่ไม่เสี่ยงดีกว่า ขอเขาถ่ายรูปดีๆ แล้วก็ให้เงินเป็นการแลกเปลี่ยนกัน เราได้รูปสวย เขาได้เงินเล็กน้อยในการยังชีพ สาธุพวกนี้ก็มีทั้งตัวจริงและตัวปลอม พวกที่ปฏิบัติตนในฐานะสาวกพระศิวะก็คงมีจริงๆ แต่พวกที่เห็นแก่รายได้ในการขอจากนักท่องเที่ยวโดยการปลอมตัวแต่งตัวให้เหมือนตัวจริงก็คงมีบ้างเป็นวิถีในการดำรงชีพไปอีกรูปแบบหนึ่งก็คงเหมือนที่เมืองไทยมีพระปลอมอยู่เยอะแยะ หลอกลวงเอาเปรียบชาวบ้าน แถมยังทำเรื่องไม่ดีๆ ให้ศาสนาด่างพร้อยไปด้วย เอาเถอะนะของแบบนี้กรรมใครกรรมมัน ฉันเองก็ได้ถ่ายทั้งเดี่ยวทั้งคู่กับสาธุตนหนึ่งไว้เป็นที่ระลึก ท่าทางว่าจะมีอายุค่อนข้างมากแล้วเพราะมีหนวดเครายาวรุงรังและขาวโพลน โดยมีซูนิมทำหน้าที่เป็นฑูตสันถวไมตรีเจรจาขออนุญาตและถ่ายภาพให้                 
     วัดนี้เป็นที่ๆคนนิยมมาเผาศพ ทั้งราชวงศ์และคนสามัญธรรมดา ซึ่งการเผาศพที่นี่ก็จะทำกันสดๆ ตรงลานที่จัดไว้ให้โดยเฉพาะ ตายได้หนึ่งวันก็เผาเลยตามธรรมเนียมของศาสนาฮินดูไม่ได้เก็บไว้และสวดหลายๆ วันเหมือนศาสนาพุทธ ลานเผาอยู่ตรงบริเวณข้างๆ แม่น้ำเพราะเมื่อเผาแล้วก็จะทิ้งซากลงไปในแม่น้ำ เราสามารถถ่ายภาพพิธีเผาศพได้ แต่ก็ควรจะให้ความเคารพแก่คนตายและญาติๆ ด้วยเพราะในขณะนั้นเขาต่างก็มีความเศร้าโศกเสียใจในการสูญเสียคนอันเป็นที่รัก อย่าอยากรู้จนเกินงาม แล้วถ้าใครใจไม่แข็งพอก็ขอแนะนำว่าอย่าไปดูเลย เพราะทั้งภาพและกลิ่นจะติดตาติดจมูกคุณไปอีกหลายวัน แต่ถ้าใครอยากจะปลงกับชีวิตก็นับเป็นสถานที่ที่ควรแก่การไปทำใจและเตรียมพร้อมสำหรับความตาย


*www.mahashivaratri.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น