19 เมษายน 2554

13. Little Tibet

     สถานที่สำคัญอีกแห่งที่ถ้าคุณมาเนปาลแล้วน่าจะไปเยี่ยมชมก็คือวัดโบถนาถ (Bodhnath) ซึ่งเป็นวัดพุทธนิกายวัชรยานและเป็นแหล่งชุมชนชาวทิเบตที่อพยพมาจากลาซาเมื่อครั้งถูกยึดครองโดยจีน (ทิเบตกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 ... น่าเสียใจ)
     เชื่อกันว่าโบถนาถ* ถูกสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ “มนาเทพ” (Manadeva) ในรัชสมัยลิชาวิ (Lichavi) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 100 เมตร และสูง 40 เมตร ทำให้เป็นสถูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นมรดกโลกภายใต้การดูแลขององค์การยูเนสโกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางการค้าระหว่างทิเบตและเมืองซังกู (Sankhu) ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญสมัยโบราณทำให้พ่อค้าชาวทิเบตมาแวะพักแรมมากมาย
     โบถนาถเป็นสถูปทรงครึ่งวงกลมคว่ำสีขาวที่ค่อนข้างใหญ่มาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บริเวณโดยรอบประกอบไปด้วยวัด บ้้านชาวทิเบตและร้านค้าขายของที่ระลึกและของบูชาพระมากมาย ที่นี่คุณจะพบกับลามะและชาวทิเบตเดินปะปนไปกับนักท่องเที่ยว ซึ่งต่างก็คงไว้ซึ่งการแต่งชุดพื้นเมืองและใช้วิถีชีวิตคล้ายๆ เดิม นับว่าเป็นหนึ่งในชุมชนชาวทิเบตที่มีอิสระในการใช้ชีวิต นับถือและปฏิบัติตามกิจของศาสนาโดยไม่ต้องถูกควบคุมและคุกคาม สามารถบูชารูปทะไลลามะ (Dalai Lama) ได้อย่างเปิดเผยแต่ถึงแม้ว่าจะมีอิสระอย่างไรฉันก็เชื่อว่าคนที่อพยพมานั้นย่อมต้องคิดถึงบ้านเกิดและอยากกลับไปซักครั้งอย่างแน่นอน
     ซูนิมและฉันเริ่มต้นโดยการเดินหมุนกงล้อมนตราที่อยู่รอบๆ สถูปตรงฐานด้านล่างจนครบทุกอัน ซูนิมนับถือศาสนาพุทธเขาจึงค่อนข้างที่จะอินกับวัดนี้มากกว่าวัดปชุปตินาถ เราเดินต่อขึ้นไปยังด้านบนของสถูปซึ่งก็จะเห็นชาวทิเบตทำอัษฏางคประดิษฐ์อยู่รอบๆ การทำอัษฏางคประดิษฐ์นั้นเป็นการสักการะอย่างสูงสุดต่อพระรัตนตรัยและแผ่ความกรุณาปรานีต่อสัตว์ คนไทยเรากราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์ซึ่งทั้ง 5 ส่วนของร่างกายจะจรดกับพื้น แต่สำหรับอัษฏางคประดิษฐ์ร่างกายจะถูกพื้นถึง 8 ส่วน
     **สำหรับคนทิเบตนั้นให้ความสำคัญกับการกราบมากเพราะนอกจากจะเป็นการเคารพทางกายแล้วยังเป็นการปฏิบัติทางวาจาและใจ การกราบ วาจา สวดมนต์ จิตศรัทธามั่นในพระรัตนตรัยและแผ่ความกรุณาต่อสรรพสัตว์ คนทิเบตบางคนก็ออกเดินทางจาริกแสวงบุญซึ่งจะเดินไปกราบไปเป็นจำนวนพันๆ ครั้งจากบ้านไปเป็นเวลานานก็มีเพราะเขามีความเชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองและเป็นการสลายบาปกรรมและเป็นการสั่งสมบุญบารมีสำหรับการปฏบัติธรรมเพื่อให้มีความสุขความเจริญในชาตินี้และเป็นบุญบารมียิ่งใหญ่ในชาติต่อไป


     บริเวณโดยรอบมีวัดหลายวัดเช่น “เซมเชน กอมป้า” (Tsamchen Gompa) ทามัง กอมป้า (Tamang Gompa ) ซัมเทนลิง กอมป้า ( Samtenling Gompa )
     กลางวันวันนี้เรากลับไปทานข้าวที่บ้านซูนิม ซึ่งภราวาติกาเป็นแม่ครัวหัวเห็ด ต้องบอกว่าอาหารมื้อนั้นเป็นมื้อที่อร่อยสุดๆ ความจริงเธอไม่ได้ทำอาหารอะไรเลิศเลอเป็นพิเศษ แต่เพียงแค่ผัดผักธรรดาๆ ซุปพื้นเมืองและแกงหนึ่งอย่างทานกับข้าวร้อนๆ ก็อร่อยได้ใจฉันไปเต็มๆ คงเป็นเพราะว่ารสชาติใกล้เคียงกับอาหารไทยก็เลยเป็นที่คุ้นเคยปากแถมยังรู้สึกซาบซึ้งใจที่เพื่อนใหม่ทั้งสองมีน้ำใจต่อฉันมาก ขนาดว่าเพิ่งรู้จักกันได้ไม่กี่วันก็ยังดูแลฉันเป็นอย่างดีขนาดนี้



     เย็นนั้นฉันไปทานข้าวที่บ้านจูเกชเพื่อร่ำลาพ่อแม่พี่น้องและญาติๆ ของเขา เพราะวันรุ่งขึ้นคงจะไม่มีโอกาสได้เจอ แล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะได้เจอกันอีกที คืนนั้นจึงใช้เวลาอยู่ที่บ้านนั้นถึงดึกโดยมีราเกชน้องชายของจูเกชขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งที่โรงแรม
*www.magical-nepal.com
*www.wikipedia.org
**อ้างอิงจากหนังสือ “แทบธุลีดิน” บันทึกโดย กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ เรียบเรียงโดย วรวรรณา เพ็ชรกิจ 

2 ความคิดเห็น: