13 เมษายน 2554

7. เพื่อนสาวพาเที่ยว

     วันรุ่งขึ้นภราวาติกากับฉันออกเที่ยวกันสองคน โดยมีโชเฟอร์ประจำตัวพาไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของเมืองโพครา เริ่มต้นด้วยการไหว้ขอพรและถวายของให้กับเทพเจ้าดูการ์ (Durga) ที่วัดบินดยาวาสินี (Bindhyavasini) เทพเจ้าดูการ์ (Durga) เป็นเทพเจ้าแห่งพลังอำนาจและความแข็งแกร่ง  ซึ่งเป็นปางดุร้ายของเทพเจ้า “ภารวาติ” (หรืออีกชื่อหนึ่งคือพระแม่อุมา ชายาของพระศิวะ​) ปกติเวลาที่เราไปถวายของให้กับเทพเจ้านั้นมักจะประกอบไปด้วย ดอกไม้ และผลไม้ บางทีก็มีข้าวสารด้วย คนพื้นเมืองมักนำมาจากที่บ้าน แต่บริเวณหน้าวัดก็จะมีคนนำของมาขาย สามารถเลือกซื้อหาได้ เมื่อไปถึงก็มักนำของไปถวายให้เทพเจ้าโดยมีคนดูแลวัดรับไปจัดการให้เพราะคนทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใกล้ประชิดรูปปั้นเทพเจ้า เขาจะเลือกของบางอย่างไปถวายให้กับเทพเจ้า บางส่วนจะถูกคืนกลับมาให้กับเจ้าของ ซึ่งถือเป็นของศักดิสิทธิ์ควรรับกลับมาทาน (ถ้าทานได้) และแบ่งปันให้กับคนรอบๆ ตัว หรือถ้าเป็นดอกไม้ก็ทัดไว้กับผมถือเป็นสิริมงคลและจะมีคนที่เจิมหน้าผากด้วยผงติกาสีแดงให้ที่หน้าผาก
     หลังจากนั้นเราไปเที่ยวต่อที่ถ้ำ “กัปเทสวอ มหาเทพ” (Gupteshwor Mahadev) และน้ำตก “เดวี่” (Devi’s Fall) ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของโพครา ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมชื่อน้ำตกเป็นฝรั่งก็เพราะว่าคู่สามีภรรยานามว่าเดวี่ซึ่งเป็นชาวสวิสเคยมาเที่ยวที่น้ำตกแห่งนี้ได้ถูกน้ำพัดตกลงและเสียชีวิต ทางการก็เลยตั้งชื่อน้ำตกให้เป็นอนุสรณ์


     ทะเลสาปเฟวา (Phewa) เป็นอีกหนึ่งในสถานที่ยอดฮิตที่ใครไปใครมาโพคราต้องแวะมาเที่ยว ทำให้ในปัจจุบันมีโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ร้านค้า ร้านกาแฟ เปิดขึ้นและตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาปอย่างมากมายเพื่อตอบรับกับความนิยมของนักท่องเที่ยว โชคดีที่ฉันได้ไปเห็นตอนที่โพครายังพอมีความเงียบสงบอยู่บ้าง
     ทะเลสาปเฟวามีขนาดกว้างใหญ่และลึกถูกโอบล้อมด้วยเทือกเขาหิมาลัย วันที่อากาศดีๆ สามารถมองเห็นแนวทิวเขา “อนาปุระ” (Annapurna) เราสามารถเช่าเรือพายไปชื่นชมบรรยากาศกลางทะเลสาปเฟวาได้ หรือถ้ากลัวหมดแรงซะก่อนก็จ้างเด็กพื้นเมืองพายให้ก็ได้ถือเป็นการกระจายรายได้ เมื่อพายเรือออกไปจากฝั่งซักพักจะรู้สึกสบายและสงบอย่างบอกไม่ถูก มีแต่เสียงสบายๆ ของธรรมชาติกล่อมเราให้รู้ผ่อนคลาย ปลดปล่อยเรื่องราวทุกข์ใจทิ้งไปกับน้ำหรือไม่ก็ให้สายลมพัดไปทิ้งไว้ด้านหลังเทือกเขาหิมาลัย
     เมื่อพายเรือเล่นกันสบายอกสบาย สูดออกซิเจนเต็มปอดแล้วก็แวะไปสวดมนต์ขอพรเทพเจ้าที่วัดบาราฮี (Barahi) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ กลางน้ำ เป็นวัดที่คุ้มครองดูแลทะเลสาปจึงได้รับความนิยมจากทั้งคนต่างชาติและชาวพื้นเมืองที่แวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย

     
     บางทีเวลาเข้าวัดไหว้พระในต่างประเทศฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่เราพูดกับเทพเจ้านั้นท่านจะเข้าใจรึเปล่าเพราะเราพูดคนละภาษากับชาวพื้นเมืองของที่นั้นๆ แต่เดาเอาเองว่าท่านคงสามารถสื่อกับเราได้ทางจิตมากกว่าการแปลจากภาษาที่เราใช้ 
     เย็นนั้นเราฝากท้องไว้ที่ร้านแถวๆ ทะเลสาป ซึ่งเป็นร้านอาหารเนปาลพื้นเมือง โดยมีหนุ่มๆ ตามมาสมทบ ยามค่ำคืนที่โพคราในตอนนั้น (ต้นปี 2000) ยังค่อนข้างเงียบ ร้านรวงปิดมืด ผู้คนต่างเข้านอนกันแต่หัวค่ำ ใช้ชีวิตกันแบบเรียบง่าย อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างกลมกลืน
     ฉันได้ยินมาว่าในปัจจุบันนี้่ย่านริมทะเลสาปเริ่มวุ่นวาย มีผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยวมากมายทำให้มีร้านรวงเปิดขึ้นจำนวนมาก ทำลายบรรยากาศสงบๆ แบบเดิมไป ทำท่าว่าจะเข้าใกล้เมืองหลวงไปทุกที 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น