24 เมษายน 2554

3. ต้อนรับเทพเจ้า

     เราไม่รอช้า พักได้ซักครู่ก็ออกเดินทางเข้าเมืองด้วยการเดินเท้าลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยเล็กซอยน้อย เห็นวิถีชีวิตบ้านเรือนของชาวบ้านเพื่อไปร่วมชมเทศกาลแห่เทพเจ้ากรุณามัย กลิ่นเครื่องเทศและธูปลอยเข้าปะทะจมูกฉันทำให้ความรู้สึกและความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับเนปาลหวนกลับมาหาฉันอีกครั้ง


     
     ระหว่างทางที่เดินไปนั้นนับว่าเราโชคดีมากๆ เพราะได้เจอขบวนแห่พิธีสำคัญของชาวเนปาลอีก 3 ขบวนด้วยกัน ขบวนแรกก็คือขบวนแห่เด็กชายถือเป็นสัญญาณว่าเด็กชายเหล่านั้นเข้าวัยเด็กโตแล้ว ไม่ใช่เด็กเล็กอีกต่อไป ขบวนที่สองคือแห่ลูกสาว เป็นพิธีการแต่งงานของเด็กหญิงกับลูกพลับ  และขบวนสุดท้ายคือแห่คุณยาย หญิงชราที่อายุ 77 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่งตัวสีแดงสวยงามและถูกหามอยู่บนแคร่เป็นการฉลองที่เธอมีอายุยืนยาว เพราะจริงๆ แล้วคนเนปาลอายุไม่ค่อยยืนเท่าไหร่


     
     วันนี้เป็นวันแรก ( 9 พ.ค 2551 ) ของเทศกาล “แห่เทพเจ้ากรุณามัย” เทพเจ้าแห่งพืชผล 
ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระโพธิสัตว์ เทศกาลนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Rato Machhendranath Festival ซึ่งจะมีขึ้นทุกปีแต่วันเวลาไม่แน่นอนต้องดูการเคลื่อนของดวงอาทิตย์ในแต่ละปี แต่จะเกิดขึ้นในช่วงก่อนฤดูฝน เพราะพิธีกรรมนี้มีขึ้นเพื่อที่จะขอให้ฝนตกตามฤดูกาล มีการจัดพิธีแห่ทุกเมืองแต่เวลาไม่ตรงกัน การแห่เทพเจ้ากรุณามัยนี้ทำสืบทอดกันมากว่า 1,200 ปีแล้ว และดูเหมือนว่าชาวพื้นเมืองยังให้ความสำคัญกันมากๆ เพราะจะมีผู้คนมาเข้าร่วมอย่างแน่นขนัดในทุกๆ วันของเทศกาล ในปีหนึ่งๆ คุณสามารถไปเที่ยวชมเทศกาลได้ตลอดทั้งปี อยู่ที่ว่าอยากไปดูของเมืองไหน ตอนที่ฉันเขียนอีเมล์ไปบอกจูเกชว่าฉันจะเดินทางไปชมเทศกาลที่เนปาล เขาเองยังงงๆ ว่ามีเทศกาลอะไร เพราะทั้งเขาทั้งคนรอบตัวไม่ยักกะรู้เรื่อง 
นี่สาวไทยจะมารู้ดีกว่าคนเนปาลเชียวหรือ คำตอบนั้นง่ายมากก็เพราะจูเกชเป็นชาวกาฏมาณฑุนั่นเองเขาจึงไม่รู้เรื่องเทศกาลของเมืองปาตัน
     พี่ตุ๊กและฉันออกจะตื่นเต้นกับการที่จะได้เห็นและร่วมเทศกาลของชาวพื้นเมือง เตรียมตัวเตรียมกล้องกันอย่างดี เมื่อเราเดิน (จนเหนื่อย) ก็ไปถึงบริเวณ “ปุลโจก” ( Pholchowki ) ซึ่งเป็นที่ประทับของรถที่แห่เทพเจ้ากรุณามัยซึ่งกำลังอยู่ในช่วงตกแต่งและเช็คความเรียบร้อยครั้งสุดท้ายก่อนที่พิธีจะเริ่มขึ้นในไม่ช้า   
     รถที่ประทับนั้นทำด้วยไม้ทั้งหมด มีที่ประทับของเทพเจ้ากรุณามัยซึ่งอยู่บนฐานด้านบนและมีล้อขนาดใหญ่อยู่ด้านล่าง มีไม้ขนาดใหญ่ทำจากไม้ทั้งต้นยื่นออกมาด้านหน้าซึ่งมีไว้เพื่อดึงรถไปด้านหน้า ส่วนด้านบนนั้นประดับด้วยไม้ต่อขึ้นไปเป็นชั้นๆ มีขนาดสูงมากประมาณตึก 5 ชั้น และมีเครื่องประดับสอดแทรกดูๆ ไปก็คล้ายกับต้นคริสตมาสที่อยู่บนเกวียน แต่การสร้างนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก คนที่สร้างต้องมีความชำนาญ มีประสบการณ์และที่สำคัญต้องรักษาศีลมาก่อนเพราะพิธีกรรมนี้เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ คนที่เป็นพนักงานประจำรถนั้นต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างมาก​ เพราะเทศกาลนี้ค่อนข้างยาว บางครั้งก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะจบลงเมื่อใด (ตามกำหนดนั้นคือ 2 สัปดาห์) เพราะขึ้นอยู่กับหลายๆ องค์ประกอบ หลักๆ เลยก็คือฤกษ์ซึ่งก็ต้องดูตามการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และยังมีเหตุอื่นที่ไม่อาจคาดเดาได้อีกนั่นก็คืออุบัติเหตุ ถ้ารถถูกลากไปแล้วเกิดล้มลง (ซึ่งเป็นไปได้ง่ายมากเพราะรถสูงมากและไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการประกอบ เป็นการใช้ความรู้ท้องถิ่นล้วนๆ ทำให้อาจเกิดเสียศูนย์และล้มลงพังครืนได้) ก็จะต้องประกอบขึ้นใหม่ตรงจุดนั้น แล้วจึงลากต่อไปได้ แล้วถ้าเกิดเหตุขึ้นจริงๆ ก็จะถือว่าเป็นลางไม่ดี อาจจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับเมือง คนที่ได้ค่าตอบแทนมากที่สุดก็คือคนที่คอยห้ามล้อรถ เป็นตำแหน่งที่เสี่ยงมากๆ และสำคัญอย่างมาก เพราะต้องคอยเอาไม้เข้าไปยันไม่ให้รถแล่นเร็วไป หรือเบี่ยงทิศของรถไปซ้ายขวาตามทาง ซึ่งมีคนที่เคยถูกรถทับตายมาแล้วหลายคน



     พิธีกรรมในการลากรถนี้ในทุกๆ วัน จะต้องลากจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งและมีพิธีต่างๆ ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงดึกดื่น รถไปหยุดตรงเขตไหนชาวบ้านในเขตนั้นก็จะมาทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้ บูชา ร้องเพลงสรรเสริญต่างๆ รวมทั้งจัดงานเลี้ยงฉลองที่บ้านและเชิญชวนญาติพี่น้องมาทานอาหารร่วมกัน
     เมื่อใกล้เวลาพิธีเชิญรถลากจะเริ่ม ฝนก็ตั้งเค้าและเร่ิมตกปรอยๆ จนเราต้องหาที่หลบฝน ไม่นานนักสัญญาณที่บ่งบอกว่าพิธีจะเริ่มขึ้นในอีกไม่นานนักก็มาถึงนั่นก็คือทหารที่อยู่ในชุดเครื่องแบบโบราณสีดำมีเครื่องประดับเงินคาดศีรษะ ถือปืน ขลุ่ย กลองและฉาบ เดินมาตั้งแถวประมาณเกือบ 20 นาย และเมื่อทหารยิงปืนขึ้นฟ้า 3 นัด นั่นแปลว่าขบวนรถลากจะเริ่มออกเดินทาง ในเวลานั้นชาวบ้านไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลต่างมายืนรอดูขนวนรถอย่างใจจดจ่อ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก วัยรุ่น ชายหนุ่ม หญิงสาว หรือแม้แต่คนแก่ มีคนขี่จักรยานแจกน้ำฟรีแก่ผู้มาเข้าร่วมพิธี และก็คงเหมือนๆ กับงานเทศกาลที่เมืองไทย ที่เมื่อมีคนมารวมกันเยอะๆ นานๆ ก็ต้องมีของกินมาขาย เพื่อประทังความหิว เช่่น ถั่ว ไอสกรีม เป็นต้น


     
     ใช้เวลาพักใหญ่กว่ารถประทับจะสามารถเคลื่อนตัวออกจากจุดเริ่มต้นได้ ต้องใช้แรงใจ แรงเชียร์ กันยกใหญ่ การเริ่มต้นทำอะไรซักอย่างมักจะเป็นส่วนที่ยากที่สุดเสมอ แต่ถ้าเราไม่ละความพยายามละก็ต้องสำเร็จได้ในที่สุด การจะลากรถที่หนักและสูงมากนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ที่แน่ๆ คือพละกำลังมหาศาล ความพร้อม และคนที่จะเป็นผู้นำทิศทาง สำหรับการลากรถประทับนี้จะมีคนที่อยู่ด้านบนที่คอยบอกคนลากด้านล่างว่าเมื่อไหร่จะเริ่มลาก ลากกี่ครั้ง ลากไปทางซ้ายหรือขวา แถมยังต้องพูดจากระตุ้นให้พนักงานลากรถมีกำลังใจและฮึดสู้ นอกจากนี้จะมีเจ้าพนักงานที่อยู่ด้านบนเสาสูงที่จะคอยประคองและดึงให้เสาอยู่ตรงเสมอไม่เอนไปด้านใดด้านหนึ่งซึ่งจะทำให้รถเสียหลักได้
     รถประทับของเทพเจ้าในเทศกาลมัจฉินทรานาถนี้ไม่ได้มีแต่เพียงองค์เดียว แต่มีองค์เล็กหรือองค์น้องด้วย มีขนาดเล็กกว่าแต่ก็จะมีการปฏิบัติเช่นเดียวกับองค์ใหญ่และเป็นการลากโดยเด็กชาย เทพเจ้าที่อยู่บนรถลากเล็กนั้นคือ เทพเจ้า “มานินาถ” (Maninath) ซึ่งเชื่อว่าเป็นน้องชายของเทพเจ้ากรุณามัย เทพเจ้ามานินาถนั้นประทับอยู่คนละวัดกับเทพเจ้ากรุณามัย ในช่วงเทศกาลนี้จึงเป็นช่วงที่เทพทั้งสองพระองค์จะได้พบกัน ในวันแรกนี้รถทั้งสองจึงถูกลากมาจากคนละทิศเพื่อที่จะพบกันตรงกลางและเมื่อสิ้นสุดการลากก็จะประทับอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน เพื่อที่จะออกเดินทางในวันถัดไป
     เมื่อรถลากออกเดินทางได้ซักครู่เราก็เดินล่วงหน้าไปยังบริเวณใกล้ๆ กับจุดหมายปลายทางของรถในวันนี้เพื่อรอดูการลากผ่านบ้านผู้คนซึ่งค่อนข้างยากเพราะทางแคบและมีตึกสูงขนาบสองข้างทาง ฝนเริ่มตกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราต้องหาทำเลเหมาะๆ ในการพัก ซึ่งก็คือชายคาของบ้านที่อยู่ริมทางนั่นเอง เรารอคอยอยู่พักใหญ่ก็ได้ยินเสียงเฮเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ารถประทับกำลังจะมาถึงในไม่ช้า ผู้คนหลั่งไหลเบียดเสียดกันมากขึ้นเรื่อยๆ เต็มถนนไปหมด บ้างก็ร้องรำทำเพลง เต้นรำพื้นเมืองกันอย่างสนุกสนานโดยที่ไม่กลัวสายฝนที่พรั่งพรูลงมา ทั้งฉันและพี่ตุ๊กต่างก็ร่วมตื่นเต้นไปกับเขาด้วย ขนาดพี่ธันวาซึ่งเป็นคนพื้นเมืองเองก็ยังอดที่จะตื่นตาเหมือนนักท่องเที่ยวอย่างเราไม่ได้ เพราะไม่ได้มาร่วมพิธีนี้ 20 ปีได้ เมื่อรถผ่านไปตรงไหนคนก็จะส่งเสียงร้องด้วยความยินดีปรีดา เจ้าของบ้านที่อยู่ด้านบนจะสาดน้ำลงมายังรถประทับเหมือนเป็นการสรงน้ำเทพเจ้า สำหรับผู้ชมอย่างเราก็ต้องคอยหลบให้ดีเพราะอาจเปียกไม่รู้ตัว ตามถนนที่รถแห่ผ่านไปนั้นเจ้าพนักงานต้องตัดสายไฟทิ้งแล้วมาต่อทีหลังเพราะไม่งั้นแล้วรถก็ไม่สามารถผ่านไปได้ บ้านเรือนที่อยู่แถวนั้นก็จะไม่มีไฟใช้ในช่วงหนึ่ง บางทีถ้ารถเอียงมากๆ ก็อาจจะละไปตามหลังคาบ้านทำให้บางครั้งหลังคาพังครืนลงมาก็มีเหมือนกัน  และแล้วเทพเจ้าก็ดำเนินมาจนถึงจุดหมายปลายทางของวันแรกเรียบร้อยซึ่งก็เป็นช่วงใกล้ค่ำพอดี ทหารโบราณทำการยิงปืน 3 นัดเพื่อจบพิธีการสำหรับวันแรก      
     ในวันนี้กุมารีออกมาประทับที่หน้าวัดประจำตำแหน่งของกุมารีเพื่อให้พรแก่ประชาชน ฉันเองก็ฝ่าผู้คนเข้าไปรับดอกไม้ประทานจากกุมารีมาปักบนผมเพื่อเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นเราก็ไปทานข้าวเย็นที่บ้านพี่สาวของพี่ธันวา เมื่อไปถึงเราได้รับการต้อนรับในห้องนอนซึ่งมีโซฟาไว้นั่งดูทีวี ฉันรู้สึกกระดากนิดหน่อยที่จะนั่งบนเตียงนอนของใครก็ไม่รู้ เพราะเนื้อตัวเราอาจจะสกปรกจากการเดินมาตลอดบ่ายก็เลยนั่งกับพื้น แต่เจ้าของบ้านก็คะยั้นคะยอให้นั่งบนเตียงเพราะถือเป็นการต้อนรับแขก พี่สาวพี่ธันวานำชานมและคุ้กกี้มาให้เราทานรองท้องก่อนจะถึงเวลาอาหารเย็น ที่บ้านนี้มีคนอยู่กันหลายคน ส่วนใหญ่ผู้หญิงเนปาลเมื่อแต่งงานก็จะมาอยู่กับครอบครัวสามีเพราะมีหน้าที่ต้องดูแลสามี ครอบครัวสามีรวมถึงครอบครัวของเธอเอง ซึ่งถ้าที่บ้านนั้นมีจำนวนสมาชิกอยู่กันหลายคน ปริมาณสมาชิกในบ้านก็จะมีแต่เพิ่มไม่มีลด พี่สาวพี่ธันวามีลูกทั้งหมด 4 คน Binissa (บินิสสา) Binu (บินุ) Biju (บิจู) และ Bijay (บิเจ) หญิงสองชายสอง ซึ่งก็ต่างเดินเข้ามาทักทายทำความรู้จักกับแขกแปลกหน้าเช่นเราอย่างเป็นกันเอง เราก็ดูทีวีไป พูดคุยซักถามเกี่ยวกับเรื่องนู้นเรื่องนี้ตามแต่ที่จะนึกสงสัย





     เมื่อเวลาอาหารค่ำมาถึงเราต้องไต่ขึ้นไปยังด้านบนสุดของบ้านซึ่งเป็นที่อยู่ของครัวและห้องอาหารตามหลักการสร้างบ้านแบบเนปาล อาหารมื้อนี้เป็นอาหารพื้นเมืองมื้อแรกสำหรับทริปนี้ เราได้ทานอาหารบนถาดทองเหลือง โดยที่พี่สาวพี่ธันวาตักอาหารจากหม้อมาให้เราในจานทั้งหมด 4 อย่าง และข้าวอีก 1 อย่าง คนเนปาลส่วนใหญ่ทานผักเยอะกว่าเนื้อสัตว์และทานข้าวค่อนข้างเยอะ มื้อนี้มี แกงถั่ว พริกไทยสดผัดกับแครอท และแกงอีก 2 อย่าง ฟังดูเหมือนเยอะแต่เขาจะตักให้ทีละน้อยเผื่อว่าไม่ถูกปากอาหารจะได้ไม่เหลือ ถ้าชอบถูกปากจะขอเพิ่มในภายหลังเจ้าบ้านก็จะดีใจมาก ตามปกติเขาจะไม่ทานข้าวเหลือกันเพราะเมื่ออาหารถูกตักมาบนจานเราแล้วก็ถือว่าไม่บริสุทธิ์ คนอื่นจะไม่สามารถทานได้อีก เพราะฉะนั้นเวลาไปทานอาหารบ้านชาวพื้นเมืองพยายามอย่าทานอาหารเหลือ ส่วนน้ำดื่มนั้นเขาจะทานรวมกันในเหยือกทองเหลือง ซึ่งจะเทใส่ในปากโดยไม่ให้ปากถูกกับภาชนะไม่งั้นก็ถือว่าไม่บริสุทธิ์เช่นกัน พี่ธันวาไม่ให้เราดื่มน้ำจากเหยือกในมื้อแรกนี้เพราะเกรงว่าท้องของเราจะแสลงเพราะไม่คุ้นกับน้ำ คนพื้นเมืองเขาทานน้ำจากธรรมชาติได้เพราะร่างกายคุ้นชินกันแบบนั้น แต่ท้องอย่างเราๆ มักจะชินกับน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาอย่างดีก็เลยไม่มีภูมิคุ้มกัน แนะนำว่าให้พกน้ำขวดไปเองจะปลอดภัยกว่า แบคทีเรียแต่ละที่นั้นมันต่างชนิดกัน ถ้าไม่คุ้นเคยก็จะอาจจมีผลกับระบบขับถ่ายได้
     คืนนี้ฝนตกหนักเราจึงไม่สามารถเดินกลับที่พักได้ ต้องเรียกแท้กซี่ให้ไปส่ง เมื่อถึงบ้านก็รีบอาบน้ำเข้านอนเพราะมีภาระกิจในวันรุ่งขึ้นแต่เช้าตรู่ (เช้ามากๆ ขอบอก) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น