26 เมษายน 2554

5. ตะลุยหมู่บ้าน

     วันนี้เราจะได้ออกไปนอกเมืองกัน ซึ่งเป็นความตั้งใจในการเดินทางมาเนปาลในครั้งนี้ของฉันว่าอยากจะไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านเล็กๆ รอบนอกหุบเขาที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ไปสัมผัส เพราะอยากไปดูวิถีชีวิตแบบชาวบ้านแท้ๆ ไม่ใช่ชาวเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกจนดูไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่ทั่วๆ ไป
     พี่ธันวาจัดแจงวางแผนการว่าเราจะเดินทางไปหมู่บ้านลุบุ (Lubu) ซึ่งนั่งรถไปแค่ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้นแต่สภาพของหมู่บ้านและวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นช่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับตัวเมืองใหญ่
     เมื่อเราไปถึงยังด้านหน้าทางเข้าหมู่บ้านก็เห็นมีกลุ่มแขกมุงอยู่ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ถึงได้ร้องอ๋อ เขากำลังเล่นไฮโลกันอย่างสนุกสนาน ดูๆ ไปก็คล้ายกับชีวิตในชนบทบ้านเรา แต่การพนันนั้นจริงๆ แล้วเป็นของต้องห้าม อนุญาตให้เล่นได้เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น
    เดินเลยไปก็พบทางเข้าหมู่บ้าน ที่มีบ้านแบบเนวาร์โบราณเรียงราย มีธงสีห้อยจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง เพราะกำลังจะเข้าช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวบ้านที่อยู่แถวๆ นั้นให้การต้อนรับเราอย่างดี ยิ้มแย้มแจ่มใส แกมทำหน้าประหลาดใจว่านักท่องเที่ยวเดินทางมากันถึงนี่ได้ยังไง
     โชคดีจริงที่หมู่บ้านนี้ก็มีการแห่เทพเจ้าเวลาเดียวกับที่ปาตัน แต่เขาไม่ได้ทำรถลากแห่เหมือนในเมืองแต่แบกเทพเจ้าบนเกี้ยว เด็กๆ ที่นี่ดูจะมีอัธยาศัยดีและชอบต้อนรับนักท่องเที่ยว มีเด็กหลายคนเข้ามาเดินล้อมเราและเป็นนายแบบให้อย่างดี มีคุณลุงคนหนึ่งน่าจะเป็นชาวบ้านแถวนั้นเข้ามาอธิบายให้เราฟังถึงเรื่องราวของหมู่บ้าน สถาปัตยกรรมและพิธีกรรมต่างๆ อันนี้เดาเอานะเพราะแกพูดเป็นภาษาถิ่นปร๋อ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่เข้าใจซักคำ แต่แกก็พูดไปเรื่อย แถมยังพาเดินไปตามตรอกซอกซอยตามหมู่บ้าน โชคดีมีพี่ธันวาแปลให้ฟังเป็นระยะๆ ถึงแม้เราจะไม่สามารถสื่อสารกันได้โดยภาษาพูดแต่เราสื่อถึงแกได้โดยภาษาใจ ดูแกมีความตั้งใจอันดีและมีน้ำใจให้แก่นักท่องเที่ยวแปลกหน้าอย่างเรามากๆ โดยไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทน


     ระหว่างทางก็ได้สังเกตสังกาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนแถบนี้ไปเรื่อยๆ คนที่นี่ไม่อาบน้ำบ่อยๆ เหมือนเราเพราะน้ำขาดแคลนและอากาศเย็น บางแห่งน้ำประปายังไปไม่ถึงก็ต้องไปตักน้ำจากธรรมชาติมาใช้ บางแห่งก็มีบ่อน้ำกลางหมู่บ้านให้ได้ใช้กัน บางทีอาบน้ำกันแค่อาทิตย์ละหนเท่านั้น เสื้อผ้าก็ใส่กันหลายๆ วันถึงจะซัก เราจึงเห็นเด็กๆ แต่งตัวมอมแมมจากฝุ่น วันนี้มีคุณแม่คนหนึ่งอาบน้ำและสระผมให้ลูกสาว โดยมีกะละมังรองน้ำหนึ่งใบ ค่อยๆ ตักน้ำทำความสะอาด เรียกว่าใช้น้ำแบบประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เห็นแล้วนึกโกรธตัวเองที่บางทีละเลยปล่อยน้ำไหลจากก๊อกโดยไม่ปิดระหว่างแปรงฟัน
     คนที่นี่มีอาชีพหลักคือการเพาะปลูก แต่ก็มีบางบ้านที่ทำอาชีพอื่นเช่นการทอผ้าส่งออกส่งไปขายที่ญี่ปุ่นก็มี น่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่ดี
     หมู่บ้านนี้ค่อนข้างเงียบดูเหมือนมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก แต่ตามตรอกซอยเล็กๆ ที่เราเดินไปก็จะเห็นชาวบ้านออกมาจับกลุ่มนั่งคุยกัน กลุ่มผู้ชายแยกกับกลุ่มผู้หญิง สงสัยจะนั่งเม้าท์สามีกันสนุก บ้างก็นั่งถักโครเชย์ ออกมาตักน้ำจากบ่อน้ำ เด็กๆก็เล่นซุกซนตามประสา คนที่นี่ดูใจดียิ้มแย้มทักทายตอบเมื่อเราส่งเสียง “นมัสเต” ไป
     เนื่องจากว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านนอกเมืองแห่งแรกที่ฉันมีโอกาสได้ไปเยือน ก็รู้สึกประทับใจและตื่นเต้นกับทุกอย่างที่เห็น รู้สึกเหมือนเดินทางย้อนยุคไปเมื่อศตวรรษที่แล้ว ด้วยเพราะตึกรามบ้านช่องนั้นคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ ผู้คนแต่งตัวแบบพื้นเมืองดั้งเดิม ดูสวยแปลกตา ยิ่งพี่ตุ๊กด้วยแล้วถ่ายรูปเพลินเลยทีเดียว


     เราเดินทางต่อขึ้นไปยังภูเขาใกล้ๆ เพื่อไปดูอีกหมู่บ้านที่อยู่ตามไหล่เขา บ้านที่อยู่บนนี้ก็ถูกปลูกสร้างแบบโบราณเหมือนกัน เราโชคดีได้เจอเจ้าของบ้านคนหนึ่งเป็นหญิงชราอายุ 71 ปี เธออาศัยอยู่คนเดียวเพราะลูกๆ แยกย้ายกันไปหมดแล้ว บ้านหลังเล็กข้างๆ เป็นที่อาศัยของลูกชายและลูกสะใภ้ซึ่งไม่ค่อยจะถูกกันซักเท่าไหร่ เป็นเรื่องธรรมดาของแม่ผัวลูกสะใภ้ อันนี้ชาติไหนๆ คงเหมือนกันหมด
     ขณะที่เราไปถึงและด้อมๆ มองๆ บ้านของเธอพลางถ่ายรูปนั้น เธอก็ส่งเสียงทักทายและเชื้อเชิญให้เข้าไปในบ้าน เธอกำลังนั่งทำด้ายสำหรับเป็นใส้ในตะเกียงน้ำมัน เอาไว้จุดบูชาเทพเจ้า เธอเชื้อเชิญให้เราเข้าไปชมในบ้าน ซึ่งปลูกสร้างมาหลายสิบปีแล้ว เป็นบ้านดินแบบดั้งเดิม ขนาดเล็กกะจิ้ดริ้ด และค่อนข้างมืดเพราะไม่มีไฟฟ้า ด้านบนเป็นห้องนอนของเธอและถัดไปเป็นห้องเก็บของ มีหิ้งเล็กๆ ที่เธอบูชาเทพเจ้าด้วยผลส้ม เรานั่งอยู่ด้านบนซักครู่ เธอก็หยิบส้มจากหิ้งมาแล้วถามพี่ธันวาว่าเราทานส้มบูชาได้มั้ย เมื่อตอบว่าได้ เธอจึงลงมือแกะผลส้มและแบ่งให้เราทาน ส้มนั้นหวานไปด้วยน้ำใจจากคุณป้าใจดี ก่อนจากกันเราได้มอบเงินเล็กน้อยเป็นสินน้ำใจให้คุณป้า เผื่อว่าเธอต้องใช้ซื้ออะไรที่จำเป็นในชีวิต 



     เราเดินต่อขึ้นไปบนเขาอีกหน่อยก็เจอบ้านดินสวยอีกหลังที่มีเจ้าของบ้านสาวสวยหน้าคมกำลังนำข้าวบาร์เลย์มาตากแดดซึ่งต้องใช้เวลาถึง 3 วันกว่าจะแห้งและเก็บเข้ายุ้งฉาง วันนี้เธออยู่บ้านคนเดียวเพราะลูกไปโรงเรียนและสามีออกไปทำงานนอกบ้าน
     เราลงจากเขามาแล้วเดินเลยไปอีกด้านหนึ่งซึ่งชาวบ้านกำลังฝัดข้าวกันอยู่ เขาใช้วิธีแบบดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยีใกล้ตัวนั่นก็คือนำก้านข้าวบาร์เลย์ที่ตัดมาแล้วโปรยลงไปบนพื้นในขณะที่เปิดพัดลมเพื่อพัดให้เมล็ดข้าวหลุดจากต้น เมื่อหลุดแล้วก็ใช้กระจาดกรองเมล็ดข้าวอีกทีหนึ่ง ดูแล้วก็น่าสนุกดีแต่ถ้าให้ไปทำจริงๆ คงเหนื่อยน่าดู
     ระหว่างทางที่กลับลงมาจากภูเขานั้นเราแวะหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีการล้มแพะเพื่อฉลองสำหรับเทศกาล มัจฉินทรานาถ เลยได้เห็นเขาย่างแพะตัวเกรียมเป็นสีดำและเมื่อเขาเร่ิมที่จะแบ่งชิ้นส่วนของแพะโดยเริ่มจากการหั่นคอ ฉันก็ต้องรีบเดินผ่านไปเพราะไม่งั้นคงอดที่จะคลื่นไส้ไม่ได้ ตรงด้านข้างๆ บ้านนั้นเป็นแปลงปลูกข้าวบาร์เล่ย์ ซึ่งมีหญิงชาวบ้านเกี่ยวข้าวกันอยู่ เราจึงเดินเข้าไปสำรวจโดยระยะประชั้นชิด  



     ที่ๆ จะแวะในลำดับถัดไปนั้นทำให้ใจฉันเต้นระทึก เพราะเราจะไปเที่ยวที่หมู่บ้านทาซิ (Thasi) ที่พี่ธันวาเล่าว่าเป็นหมู่บ้านของการทำไสยศาสตร์ ผู้หญิงที่หมู่บ้านนี้มีความรู้เรื่อง
ไสยศาตร์มนต์ดำ เรียกภาษาชาวบ้านคงต้องบอกว่า “เล่นของ” ทำให้ผู้ชายในหมู่บ้านนี้ตกอยู่ภายใต้อานัติผู้หญิงกันหมด ฉันเดินเข้าไปด้วยใจตุ้มๆ ต่อมๆ ในขณะที่ฝนเริ่มตั้งเค้า ท้องฟ้ามืดครึ้ม ไม่รู้เป็นเพราะใครสั่งรึเปล่า หมู่บ้านดูเงียบเหงาและลึกลับ เมื่อเราเดินเข้าไปด้านในเห็นผู้หญิงไม่กี่คนถักทอฟางจากข้าวบาร์เลย์ให้เป็นเสื่อซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่ และแล้วฝนก็เทลงมาทำให้เราต้องหาที่หลบฝน เพื่อคอยให้ฝนหยุดก่อนที่จะสำรวจหมู่บ้านต่อไป แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าพระพิรุณท่านจะปรานีนักท่องเที่ยวอย่างเรา หรืออาจมีใครบางคนทที่นั่นไม่ชอบให้เราไปเดินจุ้นจ้านก็ไม่รู้  จึงต้องตัดสินใจจากลาหมู่บ้านทาซิไปโดยไม่ได้ดูได้เห็นอะไรมากนัก หวังว่าวันหนึ่งจะได้กลับมาอีกครั้ง



     เราตัดสินใจกลับเข้าเมืองปาตันเพื่อไปดูพิธีลากรถเทพเจ้ากรุณามัย ซึ่งตอนนั้นยังไม่ถึงเวลาเร่ิมพิธี พี่ธันวาจึงพาเราไปล้ิมลองรสชาติอาหารพื้นเมืองแบบโบราณที่ร้านๆ หนึ่ง เป็นห้องแคบๆ หลังคาต่ำ ถ้าให้หาเองก็คงหาไม่เจอ แต่ชาวพื้นเมืองจะรู้จักกันดี และเป็นที่นิยมมาก ร้านจะแน่นไปด้วยผู้คนตลอดเวลาเรียกว่าขายดีมาก ๆ มาเป็นเวลานานแล้ว ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับจูเกชในภายหลัง เขาแอบกระซิบว่าในสมัยก่อนที่คนนิยมไปทานร้านนี้กันเพราะว่าเจ้าของร้านมีลูกสาวสวย แต่ตอนนี้เธอเองก็แต่งงานไปแล้วแต่ร้านก็ยังแน่นอยู่ ร้านนี้ไม่มีเมนูแต่มีอาหารขึ้นชื่ออยู่ไม่กี่อย่าง แกงถั่ว แกงเนื้อ (ควาย) แกงมัน และพิซซ่าเนปาล (อันนี้ฉันเรียกเอง เพราะหน้าตามันดูละม้ายคล้ายพิซซ่ามาก แต่ส่วนประกอบนั้นผิดกันลิบลับ) ซึ่งทำจากแป้งนำมาทอดบนกระทะเหล็กแบน เอาเนื้อบดใส่ลงไปและตอกไข่ลงไปตรงกลาง กลับด้านลงไปเพื่อทอดให้สุก แค่นี้ก็พร้อมทาน ด้วยความที่ฉันไม่ทานเนื้อวัวอยู่แล้ว เนื้อควายไม่ต้องพูดถึง ก็เลยสั่งให้เค้าทำแบบพิเศษโดยใส่แต่ไข่อย่างเดียว รสชาติอร่อยแปลกลิ้นดี ทานแกล้มกับข้าวบาร์เล่ย์ซึ่งมีเนื้อแข็งกว่าข้าวปกติ ทานแล้วกรุบๆ เหมือนทานขนมกรุบกรอบมากกว่า
     หลังจากแซบจากอาหารที่ร้านโบราณเรากลับไปรอขบวนแห่ตรงจุดหมายปลายทางของรถแห่ในวันนี้ ผู้คนหนาตาต่างมาจับจองที่กันด้วยใจเปี่ยมศรัทธา เราไปยืนกันบนแท่นที่ยกพื้นขึ้นสูงกว่าพื้นถนนตรงกลางเพื่อที่จะเห็นรถแห่ได้ชัดเจน รออยู่พักใหญ่ก็ได้ยินเสียงเฮๆ เป็นระยะ ส่งสัญญาณว่าขบวนกำลังเดินทางมาใกล้ถึงแล้ว เราก็พลอยตื่นเต้นไปกับชาวบ้านรอบข้างไปด้วย ไม่รู้ทำไม ทั้งๆ ที่ก็เคยเห็นรถและพิธีลากแล้ว สงสัยนี่ล่ะมังที่เขาเรียกว่าบรรยากาศพาไป เมื่อรถเดินทางมาถึงด้วยความทุลักทุเลแต่ก็ไม่เกินความพยายามและตั้งใจของคนที่ลาก ก็ตรงเข้าประจำที่ที่จัดไว้ ทันใดนั้นทหารโบราณซึ่งยืนประจำการอยู่ใกล้ๆ กับเราก็ยกปืนขึ้นฟ้า
และเร่ิมยิง “แป้ก” นัดแรกกระสุนบอด ทหารยกปืนยิงอีกนัด คราวนี้สำเร็จ ยังเหลืออีกสองนัดที่ต้องยิงเพื่อที่จะปิดพิธีกรรมสำหรับวันนี้ “แป้ก” “แป้ก” ไม่รู้วันนี้ปืนหรือกระสุนเป็นอะไร ทหารคนอื่นมาผลัดยิงอีกแต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุด “ปุ้ง” นัดที่สองก็ยิงออก ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้คนรอบข้าง แต่น่าเสียดายนั่นเป็นกระสุนนัดสุดท้ายของทหารทั้งกอง วันนี้พิธีจึงต้องจบลงด้วยการยิงปืนเพียงแค่สองนัด ทหารโบราณตั้งแถวและเริ่มออกเดินด้วยสีหน้าขัดเขินเล็กน้อย
     เย็นนี้เราไปทานข้าวกันที่ร้านตาเลจู (Taleju) ซึ่งเป็นร้านที่อยู่ใกล้ๆ กับดูร์บาร์สแคว์ร โดยเลือกขึ้นไปนั่งบนชั้นดาดฟ้าเพื่อจะได้เห็นวิวของดูร์บาร์สแควร์ทั้งหมดรวมทั้งวิวเมืองปาตันด้วย น่าเสียดายที่ฤดูนี้ฟ้าไม่เปิดไม่งั้นเราคงได้ชมวิวเมืองที่มีเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่อยู่ด้านหลัง
     เรากลับไปที่รถแห่อีกครั้งเพื่อไปดูผู้คนมาถวายไฟ สังเกตได้ว่าไม่ว่าจะเวลาไหนก็จะมีผู้คนมากราบไหว้บูชาเทพเจ้าอยู่อย่างเนืองแน่นเป็นการตอกย้ำว่าคนในหุบเขากาฐมาณฑุนั้นมีความศรัทธาในศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลายและดูเหมือนว่าพิธีกรรมต่างๆ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาอย่างแนบแน่น
     ฉันเองก็ได้มีโอกาสถวายไฟให้กับเทพเจ้ากรุณามัยองค์พี่ด้วย ขอพรจากท่านให้โชคดี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น