21 กรกฎาคม 2554

5. แต่งงาน 3 ที ดีจริงหนอ ...

           วันรุ่งขึ้นเป็นงานพิธีแต่งงานวันแรกของไอช่า ทุกคนตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อมาเตรียมตัวให้กับเจ้าสาว ผู้หญิงเนปาลที่เป็นชาวเนวาร์แท้ๆ นั้นจะแต่งงานทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกแต่งกับ
ลูกพลับตอนอายุประมาณ 6-8 ขวบ ภาษาเนวารีเรียกว่า “Ihi” และภาษาเนปาลีเรียกว่า “Bel sanga bibaha” ครั้งที่สองแต่งกับพระอาทิตย์ตอนก่อนมีประจำเดือน (ในช่วงก่อนพิธีเด็กๆ จะต้องอยู่แต่ในห้องไม่สามารถออกมาเห็นแสงพระอาทิตย์ได้ รวมทั้งต้องถูกกันออกจากผู้ชายทุกคนแม้แต่ญาติของตัวเอง) ภาษาเนวารีเรียกว่า “Bara Tayegu” หรือ “Gufa Rakhne” ในภาษาเนปาลี ส่วนครั้งที่สามนั้นเป็นการแต่งงานกับมนุษย์ผู้ชาย
ชาวเนปาลแท้ๆ นั้นคือชาวเนวาร์​ซึ่งอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งนี้มาช้านานจนกระทั่ง ราชวงศ์ชาห์ (Shah) เข้ามารุกราน จึงมีชนเชื้อสายอื่นเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบกันเป็นประเทศเนปาลในปัจจุบัน ชาวเนวาร์นั้นมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นและมีประเพณีในการทำพิธีทางศาสนามากมาย นอกจากนี้ยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะคล้ายๆ กับทางอินเดีย ซึ่งจะแบ่งอาชีพของคนในแต่ละวรรณะด้วย เช่น พระ ที่ปรึกษาของกษัตริย์ ผู้ที่ทำงานในรัฐบาล ศิลปิน พ่อค้า ชาวนา และมีวรรณะที่เรียกว่า untouchable ซึ่งจะมีอาชีพเป็นคนทำความสะอาดหรือคนฆ่าสัตว์ เช่นนี้แปลว่าเกิดมาในนามสกุลอะไรมีผลต่ออาชีพในอนาคต ไม่เกี่ยวว่าคุณชอบอะไรหรือเก่งทางไหน เฮ้อ … ชีวิตมักลิขิตเองไม่ได้ซะทั้งหมด …
            พิธีแต่งงานของเด็กหญิงหรือ Ihi นั้นจะประกอบไปด้วยการทำพิธีทางศาสนาถึง 2 วัน วันแรกนั้นเป็นการชำระล้างจิตวิญญาณให้สะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งผู้ที่จะประกอบพิธีก็คือพระ สำหรับคนฮินดูนั้นเรียกว่า “Deobhaju” (พระที่ประกอบพิธีให้กับชาวเนวาร์ที่เป็นพุทธเรียกว่า “Gubhaju”) ถือเป็นการที่เด็กหญิงได้แต่งงานกับเทพเจ้าซึ่งเป็นอมตะ (เทพเจ้า Survana Kumar)



            เรานั่งรถไปที่เมืองปาทานเพื่อไปยังวัดเล็กๆ ของเขตแห่งหนึ่ง วันนี้มีเด็กหญิงมาเข้าร่วมพิธีทั้งหมด 7 คน ไอช่า และลูกพี่ลูกน้องอีก 4 คน ซึ่ง 3 คนเป็นลูกของญาติริซ่า อีกหนึ่งเป็นลูกสาวของ “เซาเกช” (น้องชายจูเกช) เด็กหญิงอีก 2 คน นั้นไม่ได้เป็นญาติกันแต่ขอเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย การจัดงานแต่งงานนั้นใช้เวลา ข้าวของ พิธีรีตรอง และเงินในการจัด
ค่อนข้างมาก ซึ่งปกติแล้วมักจะจัดร่วมกันหลายๆ คน คราวนี้ริซ่าเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดงาน ทำให้ความสำคัญนั้นตกอยู่กับไอช่า ก่อนจะจัดพิธีได้นั้นต้องนำดวงของไอช่าไปดูก่อนว่ามีฤกษ์งามยามดีวันไหน โชคดีที่น้องเขยของจูเกชเป็นนักโหราศาสตร์ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง จึงมีคนช่วยหาฤกษ์ยามให้อย่างสะดวกรวดเร็วไม่ต้องรอคิวนาน
            เด็กๆ ทะยอยกันมาถึงจนครบ 7 คน แต่ละคนแต่งตัวสีแดงสดน่ารักน่าชัง มีหนูน้อยคนหนึ่งเกิดไม่สบายเป็นไข้สูง เธอจึงดูมีหน้าตาอมทุกข์กว่าทุกคน คุณแม่คนเก่งจึงต้องมานั่งอยู่ข้างๆ คอยเอาผ้าชุบน้ำประคบบนหน้าผากให้อุณหภูมิลดลงบ้าง
พระที่ทำพิธีนั้นมองหาทิศให้เด็กนั่งให้ถูกต้อง ฉันจึงควัก iphone ออกมาหาทิศตะวันออกที่เด็กต้องหันหน้าไป (app compass มีประโยชน์จริงจังก็คราวนี้แหล่ะ) พิธีวันแรกนี้เรียกว่า “Dusala Kriya” ซึ่งถือว่าเป็นวันชำระล้างให้บริสุทธิ์  เด็กๆ ต้องอาบน้ำให้สะอาด แต่งตัวด้วยชุดใหม่เอี่ยมประดับประดาด้วยเครื่องประดับอย่างสวยงามและที่สำคัญห้ามรับประทาน
อะไรเลยก่อนที่จะเข้าพิธี เรียกว่าสะอาดทั้งนอกทั้งในเลยทีเดียว คนที่มีความสำคัญมากในพิธีนั้นคือแม่ของเจ้าสาวและน้องสาวของพ่อ




ถ้าจะให้ฉันเล่าลำดับพิธีแต่ละขั้นตอนนั้นคงจะยาวยืดและไม่ถี่ถ้วน จึงขอเล่าแบบคร่าวๆ เท่าที่ตาเห็นแล้วกัน
ก่อนที่จะทำพิธีสำคัญใดๆ ได้ ต้องบูชาเทพเจ้าก่อน คุณพ่อของจูเกชเป็นผู้ที่เข้าร่วมทำพิธีกับพระ เมื่อทำพิธีเสกดอกไม้ และข้าวปลาอาหารแล้วก็ให้ริซ่ากับน้องสะใภ้นำไปบูชาพระพิฆเนศที่วัดข้างๆ แล้วจึงกลับมาเร่ิมทำพิธีสำคัญอื่นๆ ต่อไป (เพื่อนชาวเนปาลบอกว่าพระพิฆเนศเป็นเทพเจ้าที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเร่ิมการใดต้องบูชาท่านก่อน) มีการเจิมหน้าผากของเด็กๆ โดยริซ่าและคุณแม่ของจูเกช เด็กแต่ละคนมีถาดของบูชาเทพเจ้าเป็นของตัวเอง หลังจากนั้น ได้มีการนำเส้นด้ายสีเหลือง (เดาว่าเป็นสายสิญ) มาพันกับไม้ซึ่งวางไว้บนหัวเด็กหญิงกับด้านล่างใต้เท้าทั้งหมด 22 รอบ ทีละคน แล้วจึงพันเก็บไว้เพื่อใช้ในพิธีของวันถัดไป หลังจากผ่านพิธีกรรมมาหลายขั้นตอนเด็กๆ เร่ิมเกิดอาการเบื่อ เหนื่อย และหิว ไอช่าเร่ิมอาละวาดร้องไห้งอแง ไม่ยอมเข้าพิธีในขั้นต่อไป ทุกคนพยายามทั้งปลอบทั้งดุ เธอก็ไม่หยุดแผลงฤทธิ์ เล่นเอาปวดหัวทีเดียว เพราะถ้าเธอไม่ยอมทำพิธีต่อคนอื่นก็ทำพิธีไม่ได้ เพราะเธอเป็นเด็กหญิงคนแรกที่ต้องเป็นผู้เร่ิม ในที่สุดเธอก็ยอมมาประกอบพิธีต่อ หลังจากนั้นจึงถึงช่วงเวลาที่เด็กๆ รอคอยคือช่วงทานอาหาร ช่วงนั้นฉันต้องกลืนนำ้ลายอยู่หลายรอบทีเดียวเพราะเวลาใกล้บ่ายโมงเต็มที อาหารมื้อเช้าเมื่อตอนเจ็ดโมงกว่าพากันสลายตัวไปหมดแล้ว ท้องเร่ิมร้องจ้อกๆ สนั่นหวั่นไหว หัวก็มึนตึ้บเพราะไม่ได้ดื่มกาเฟอีนเข้าไปตอนเช้า




เด็กแต่ละคนจะได้รับการจัดอาหารใส่ในถาดมาวางตรงหน้าซึ่งจัดเตรียมโดยภรรยาของพระ (เออ ..​​.​พระที่นี่มีเมียได้ด้วย) แต่กว่าจะได้กินนี่ก็ต้องมีพิธีรีตรองอีกนะ คือต้องนำอาหารบูชาเทพเจ้าก่อนโดยการวางอาหารจำนวนหนึ่งลงไปบนพื้น แต่ละขั้นตอนนั้นจะถูกกำกับโดยพระผู้ทำพิธี จากนั้นจึงเร่ิมกินได้ แต่ไม่ใช่สวาปามเข้าไปหรอกนะ ต้องเริ่มกินโดยใช้นิ้วทีละนิ้ว เร่ิมจากนิ้วโป้งกัับนิ้วก้อยหยิบข้าวขึ้นมาใส่ปาก และไล่เป็นนิ้วนางจนถึงนิ้วชี้ หลังจากนั้นก็ตัวใครตัวมัน เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ดูมีความสุขที่สุด


            ฉันว่าเกิดเป็นหญิงเนปาลนี่ต้องมีความอดทนมากๆ คิดดูว่าเด็กอายุเพียงแค่ 6 ขวบก็ต้องผ่านพิธีกรรมที่ใช้เวลามากมายหลายชั่วโมงขนาดนี้แล้ว มองไปรอบๆ ตัว ริซ่าและบรรดาแม่ๆ ของเด็กๆ ที่แต่งงานในวันนี้ดูจะยุ่งเอาซะมากๆ ตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อตทีเดียว ต้องหยิบจับทำนู่นนี่ตลอดเวลา ส่วนบรรดาพ่อๆ น่ะเหรอ ได้แต่ยืนดูและเม้าท์กันสบายใจเฉิบ บางคนก็มีหน้าที่ถ่ายรูปให้กับลูกสาวตัวน้อย สังคมเนปาลนั้นหัวโบราณกว่าไทยมากมายทีเดียว
            เมื่อใกล้เสร็จพิธีฉันออกไปด้านนอกเพื่อหาอากาศบริสุทธิ์หายใจ เลยไปนั่งพักตรงร้านขายของชำ ดื่มน้ำดับกระหายและลูบท้องให้หายหิวไปพลางๆ ซักครู่นูนู่เดินถือห่อหนังสือพิมพ์เอามายื่นให้ทุกคน ในนั้นเป็นอาหารสไตล์พื้นเมืองเนวาร์ ฉันส่ายหน้าปฏิเสธเพราะเห็นว่ามันถูกห่ออยู่ในหนังสือพิมพ์ซึ่งแปลว่าไม่ถูกสุขอนามัย หมึกพิมพ์อาจปนเปื้อนกับอาหารได้ แต่ทุกคนคะยั้นคะยอให้ฉันกิน พร่ำบอกว่ามันเป็นอาหารพื้นเมืองแท้ๆ นะจ๊ะเธอ ไม่ได้หากินได้ง่ายๆ คิดติ้กต่อกในใจอยู่ซักครู่ เอาก็เอาวะ คงไม่ถึงตาย เดี๋ยวจะไม่เข้าถึงการเป็นเนวารีของแท้ หิวจะแย่แล้วด้วย ว่าแล้วก็ใช้มือจ้วงอาหารเข้าปาก จะว่าไปรสชาติก็อร่อยดีถ้าไม่คิดถึงบรรจุภัณฑ์ อาหารว่างมื้อนี้ประกอบไปด้วย ข้าวบาร์เล่ย์ ถั่ว มัน แครอท ซุกินี ผัดเครื่องเทศขลุกขลิก 
            เรากลับไปที่บ้าน กว่าจะได้ทานข้าวกลางวันปาเข้าไปบ่ายสามครึ่ง … เวลาของร่างกายฉันต้องปรับตัวอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น