04 พฤษภาคม 2554

13. ย้อนรอยอดีต

     เราได้นั่งสองแถวเนปาลครั้งแรกก็วันนี้นี่เอง เนื่องจากแท้กซี่ตรงบริเวณใกล้ๆ กับวัดค่อนข้างหายาก เราก็เลยอาศัยรถโดยสารท้องถิ่นซึ่งมีลักษณะเหมือนรถสองแถวบ้านเราแต่ขนาดเล็กกว่ามาก นับว่าได้อารมณ์ชาวท้องถิ่นอย่างแท้จริง




     หลังจากเราแวะไปที่บริษัทของเพื่อนพี่ธันวาเพื่อคุยธุระแล้วก็ไปทานข้าวที่ เวิร์ล เทรด เซนเตอร์ ที่นี่เป็นตึกทันสมัย (ทันสมัยสุดในเนปาลน่ะ) ติดแอร์ด้วย ว่ากันว่าตอนแรกๆที่เปิดก็ฮิตกันดี มีคนมาเดินตากแอร์กันเยอะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มเงียบเหงาเพราะคนเนปาลไม่คุ้นกับการเดินซื้อของที่ห้างฯ ก็เลยมีแต่คนเดินเกร่ไม่มีคนซื้อ
     หลังจากอาหารเที่ยงเราแยกย้ายกัน พี่ธันวาไปทำธุระและจัดการเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ ส่วนฉันพาพี่ตุ๊กไปเที่ยววัดสเวยมนาถต่อด้วยกาฐมาณฑุ ดูบาร์สแควร์ ระหว่างทางที่นั่งรถขึ้นไปบนวัดสเวยมนาถนั้นมีคนแจกใบปลิวเพื่อรณรงค์ขอให้นักท่องเที่ยวช่วยต่อต้านประเทศจีนเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นตอนที่ชาวทิเบตประท้วงรัฐบาลจีน ฉันรับไว้อย่างเต็มใจ เมื่อแท้กซี่ส่งเราลงที่ทางเข้าด้านหลังวัด ฉันก็เดินไปซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปยังด้านใน และเดินเล่นตรงบริเวณ 
"บุดดาพาร์ค" (Buddha Park) ก่อน แล้วจึงค่อยๆ เดินขึ้นบันไดไปยังวัดสเวยมนาถด้านบน สถูปที่เห็นไม่ได้แตกต่างจากเมื่อหลายปีที่ฉันเคยมาเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าต่างเวลากันเท่านั้น ฉันพาพี่ตุ๊กเดินดูรอบๆ ก่อนที่จะขอตัวไปหมุนกงล้อรอบๆ สถูปตามความตั้งใจ เสียดายว่าอากาศร้อนไปหน่อยไม่งั้นคงได้นั่งเล่นเดินเล่นอยู่บนนั้นให้นานหน่อย



     เรากลับลงไปที่ทางด้านหลังเหมือนเดิมเพราะไม่อยากลงบันไดสูงด้านหน้าที่มีมากถึง 
365 ขั้น เพราะตอนนั้นทั้งเมื่อย ทั้งเหนื่อย ทั้งร้อน บริเวณตลอดทางที่เดินลงไป มีร้านรวงเปิดขายของที่ระลึมากมาย ที่น่าสนใจคงเป็นพวกรูปปั้น รูปสลัก และงานทองเหลืองต่างๆ ฉันได้ของมีประโยชน์มาหนึ่งอย่างก็คือหนังสือรายละเอียดเกี่ยวกับเทพเจ้าว่าองค์ไหนชื่ออะไร หน้าตาท่าทางเป็นอย่างไร มีความสำคัญในด้านไหน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศที่มีเทพเจ้ามากมายขนาดนี้
     แท้กซี่พาเราไปส่งตรงหน้าทางเข้าดูบาร์สแควร์ เดินเป๋อเร๋อลืมจ่ายเงินค่าผ่านทาง จนคนเฝ้าป้อมต้องรีบว่ิงตามมาทวง ฉันพาพี่ตุ๊กเดินรอบๆชี้ชวนให้ดูวัดสำคัญต่างๆ ตามที่ฉันพอมีความรู้ ได้ถ่ายรูปกับสาธุที่นั่งรอให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพแลกกับเงินเล็กๆน้อยๆ สาธุที่นี่ไม่ค่อยดุเท่าไหร่เพราะเขาทำเป็นอาชีพถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่งตัวเลียนแบบพระศิวะสีสันสดใส พอกหน้าพอกตา นักท่องเที่ยวเห็นเป็นเรื่องแปลกก็ถ่ายภาพเก็บไว้ให้เงินเป็นของตอบแทน ถือว่าเป็นค่าแต่งตัวให้เขา สาธุที่อยู่บริเวณนี้ (ตนที่ฉันได้เจอ) เมื่อก่อนมีอาชีพเป็นชาวนา และเมื่อผลผลิตไม่ได้เป็นที่พอใจ ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพก็ละทิ้งที่นาเสีย แล้วก็เริ่มทำตัวเป็นสาธุเช่าบ้านอยู่รวมกันหลายๆ คน ตื่นขึ้นมาแต่งตัวแต่งหน้าสวดมนต์ทำสมาธิแล้วจึงออกมายังย่านใจกลางเมืองเพื่อหารายได้ ฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าคนพื้นเมืองรู้สึกยังไงกับสาธุพวกนี้ สำหรับฉันมีความรู้สึกก้ำกึ่ง พวกสาธุจริงๆ ที่นับถือและปฏิบัตตามพระศิวะคือการละทิ้งทุกอย่างและสวดมนต์ทำสมาธิในบั้นปลายชีวิตก็คงพอมีอยู่บ้าง แต่พวกที่ทำเพื่อหารายได้ก็คงมีมากอยู่ ดูๆ ไปก็เหมือนการแสดงชนิดหนึ่ง ถ้าเราพอใจกับการแสดงนั้นเราก็ควรจ่ายค่าชมให้เขาไป
     เราแวะไปดูบ้านกุมารี ( Kumari Bahal ) ซึ่งมีสถาปัตยกรรมตกแต่งอย่างสวยงามและละเอียดมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเสา หน้าต่าง และประตูแต่ละบานถูกสลักลวดลายแบบโบราณไว้อย่างสมบูรณ์แบบมาก ด้านหน้าทางเข้าด้านขวามือมีแคร่ที่เป็นราชรถของกุมารีจอดเก็บไว้ เมื่อกุมารีจะออกไปด้านนอกบ้านก็จะนำมาใช้เป็นพาหนะ เราสามารถถ่ายรูปภายในได้ตามต้องการ ยกเว้นตอนที่กุมารีออกมาทักทายผู้คนซึ่งวันนี้ท่านจะออกมาประมาณสี่โมงเย็น เราจึงแวะไปทานขนมเค้กกันก่อนที่ร้านแถวๆ ทางเข้าสแควร์ แล้วจึงกลับมารอดูกุมารีตอนใกล้ๆ เวลา เรากลับไปนั่งรอด้านในของบ้านกุมารีซึ่งในตอนนั้นมีนักท่องเที่ยวมากมายมารอพบท่าน มีคนพื้นเมืองที่น่าจะเป็นคล้ายๆ ไกด์ของดูบาร์สแควร์อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับกุมารีให้กับนักท่องเที่ยวได้ฟังพร้อมกับกำชับหนักแน่นว่าห้ามถ่ายรูปท่านอย่างเด็ดขาด ซักพักหนึ่งเมื่อได้เวลากุมารีก็ยื่นหน้าออกมาทางหน้าต่าง ฉันจ้องท่านเขม็งเหมือนว่าเป็นโอกาสที่พิเศษมากๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต ท่านเผยยิ้มออกมาให้กับนักท่องเที่ยวซึ่งต่างก็ทำความเคารพตามแบบของตน ฉันมองและส่งยิ้มให้ท่าน ครั้งนี้ฉันรู้สึกดี ไม่เกร็งเหมือนตอนไปเจอกุมารีแห่งปาตัน ดูๆ ไปแล้วท่านก็เหมือนเด็กหญิงน่ารักคนหนึ่ง ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าเป็นเทพเจ้า ในใจฉันก็นึกสงสารท่านอยู่เหมือนกันเพราะท่านคงไม่ได้ใช้ชีวิตและเล่นซุกซนตามภาษาเด็กทั่วไป แต่กลับต้องทำหน้าที่ประหนึ่งผู้ใหญ่คนหนึ่ง ท่านออกมาประมาณห้านาทีแล้วจึงกลับเข้าไปในบ้าน นักท่องเที่ยวจึงแยกย้ายสลายตัว นับว่าการมาเนปาลในครั้งที่สามนี้คุ้มมากเพราะฉันได้พบกุมารีหลายครั้งทีเดียว



     พี่ธันวามารอเราที่ด้านหน้าซึ่งเป็นที่นัดพบแล้ว วันนี้เราจะแยกย้ายกันไปพบเพื่อนใครเพื่อนมัน พี่ธันวามีนัดคุยกับคนที่จะมาถ่ายหนังที่เนปาลส่วนฉันนัดไปทานข้าวกับจูเกช แต่ก่อนจะถึงเวลาเรายังพอมีเวลาเหลืออีกนิดหน่อยซึ่งฉันขอเป็นเวลาของการช้อปปิ้งแถวๆ ตลาดเก่าที่อยู่เขตเมืองเก่า (Asan Tole) ตลาดนี้เป็นตลาดพื้นเมืองที่คนส่วนใหญ่มักมาจับจ่ายซื้อของกันเพราะมีของสารพัดอย่างขาย ไม่ว่าจะเป็นของใช้ เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องเทศ ผัก ผลไม้ ร้านรวงอยู่กันอย่างหนาแน่นเรียงติดๆ กันไปแทบไม่มีช่องให้หายใจ แต่มีพื้นที่พอสำหรับวัดที่แทรกตัวไปกับร้านขายของอย่างไม่ขัดเขิน



     “พี่…เราคุ้นแถวๆ นี้มากเลย บ้านจูเกชน่าจะอยู่แถวๆ นี้ล่ะ แต่จำไม่ได้ว่าซอยไหน” ฉันบอกกับพี่ตุ๊กรู้สึกตื่นเต้นเหมือนได้กลับมายังที่ที่คุ้นเคย
     นึกย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนที่ฉันมาเที่ยวบ้านจูเกชอยู่หลายครั้ง แถมน้องสาวเขายังพาฉันมาช้อปปิ้งซื้อของอีกด้วย นึกแล้วก็คิดถึงความหลังอะไรหลายๆ อย่าง
     พี่ธันวาจะพาฉันไปตลาดลูกปัดตามคำขอ ของฝากที่ดีจากเนปาลอย่างหนึ่งก็คือสร้อยคอลูกปัดเพราะว่าสวยแถมมีสีสันหลากสีให้เลือกมากมายเข้ากับเสื้อผ้าได้ทุกสีและราคาก็ถูกมากๆ แต่ก่อนจะไปที่ตลาดพี่ธันวาบอกว่ามีวัดทีเด็ดอีกหนึ่งวัด นั่นก็คือวัดตะปู หรือชื่อภาษาถิ่นคือ “วาสยา เดโอ” (Wasya Deo) เป็นวัดที่คนพื้นเมืองจะนำตะปูมาตอกเหรียญไว้ตามวัดเมื่อเวลาปวดฟัน เพราะเชื่อว่าเทพเจ้าที่วัดนี้จะช่วยให้อาการปวดฟันทุเลาลงโดยไม่ต้องไปหาหมอ ละแวกนั้นจึงเต็มไปด้วยร้านหมอฟัน นี่ถ้าฉันปวดฟันอยู่ละก็คงต้องขอพรจากเทพเจ้าอย่างแน่นอน คนเนปาลนับถือเทพเจ้ามากมายเชื่อว่าเทพเจ้าจะช่วยเขาได้ในเรื่องที่ทุกข์ใจหรือทุกกาย นอกจากเทพเจ้าที่ช่วยเรื่องปวดฟันแล้วยังมีเทพเจ้าอื่นที่ช่วยเรื่องปวดสารพัดปวด เช่นเทพเจ้าช่วยปวดหัว เทพเจ้าช่วยปวดท้อง เป็นต้น




     ฉันใช้เวลาอยู่ในตลาดลูกปัดค่อนข้างนานเพราะละลานตาไปกับสีสันสวยงามของสร้อยหลากสี หยิบเส้นไหนก็สวยไปหมด ได้ของฝากถูกใจหลายเส้นและยังมีให้ตัวเองอีกกองโต 
คนขายต้องคิดว่าฉันเป็นเจ้าแม่แห่งลูกปัดเป็นแน่ถึงได้ซื้อซะมากมายขนาดนั้น
     หลังจากนั้นเราเดินต่อไปยังร้านอาหารร้านหนึ่งซึ่งพี่ธันวานัดผู้กำกับจากเมืองไทยไว้ 
และฉันนัดให้จูเกชมาเจอที่หน้าร้าน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น