07 พฤษภาคม 2554

16. มรดกจากพบรรพบุรุษ

     เราเข้าเมืองภักตาปูร์จากทางด้านหลัง เมื่อจ่ายตังค์ค่าตั๋วแล้วก็เดินเลาะตามซอยเล็กๆ 
เจอกลุ่มชาวเมืองที่ยิ้มแย้มต้อนรับนักท่องเที่ยวหน้าเหนื่อยอย่างเรา แถมแอบกระแนะกระแหนเล็กๆ ว่า 
     “ประเทศภักตาปูร์ยินดีต้อนรับ ที่นี่คือนครภักตาปูร์ไม่ใช่ประเทศเนปาล” ไม่น่าเชื่อว่าการรวบรวมประเทศเล็กๆ จนกลายเป็นประเทศหนึ่งเดียวคือเนปาลเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นนี้ทำให้ยังมีความคับแค้นใจอยู่บ้าง



     เราไปถึงภักตาปูร์ตอนใกล้เที่ยงแล้ว แดดกำลังสาดแสงแรงกล้าทำให้ร้อนมาก จุดหมายแรกคือจตุรัสที่เค้าปั้นหม้อกันเป็นอาชีพอันนี้พลาดไม่ได้เพราะถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของเมืองนี้ เมื่อปั้นเสร็จเขาก็จะนำมาตากแดดเรียงรายใช้แสงธรรมชาติในการอบแห้งดูมีเอกลักษณ์ดี มีร้านแถวๆ นั้นที่ขายหม้อรวมไปถึงของใช้ในบ้าน ของประดับ อย่างเช่นพวกกระดิ่งที่ไว้แขวนหน้าบ้าน รูปปั้นสัตว์ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีบางคนที่กำลังฝัดข้าวเพื่อที่จะนำไปตากแดดต่อไป ทั้งสองอย่างเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่



     ผ่านยังตรอกที่มีโรงเรียนสอนวาดภาพทังก้า (Thangka) รวมทั้งร้านศิลปะที่ขายรูปวาดแบบต่างๆ  รูปพวกนี้ต้องใช้ความอดทน ความระมัดระวังและมีวิธีการวาดแบบพิเศษเพราะแต่ละรูปนั้นค่อนข้างละเอียดและมีขนาดเล็กเหลือเกิน ต้องมีการเรียนเป็นเรื่องเป็นราวเพราะแต่ละรูปล้วนมีความหมายในเชิงศาสนา ศิลปะการวาดรูปแบบทังก้านี้เป็นศิลปะของแถบหิมาลัย สำหรับฉันคงไม่มีความอดทนวาดได้แน่ๆ เพราะเป็นคนไม่ค่อยละเอียด ทำอะไรก็ตึงตังไม่ค่อยระมัดระวัง
     เราเดินดูวัดต่างๆ ภายในบริเวณเมืองภักตาปูร์แล้วจึงไปพักเหนื่อยให้หายเพลียแดดที่ร้าน “นยาตาโปลา” ( Café Nyatapola ) โดยที่ฝากท้องสำหรับอาหารมื้อเที่ยงที่นี่เลย นอกจากได้พักได้อิ่มท้องหลบแดดแล้วยังได้วิวสวยของจตุรัสด้านล่างอีกด้วย เมื่อหายเหนื่อยแล้วเราจึงออกลุยต่อ ฉันขอเก็บภาพคู่กับวัดนยาตาโปลาไว้เป็นที่ระลึก ในขณะที่คณะนักท่องเที่ยวชาวอินเดียก็มาเที่ยวชมวัดเหมือนกัน พวกเขาคงเห็นฉันหน้าตาประหลาดดีก็เลยขอถ่ายรูปคู่ด้วยเป็นที่ขบขันของเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าเป็นไงคนอินเดียมักชอบถ่ายรูปกับชาวต่างชาติ ไปอินเดียสองครั้งก็เจอเด็กๆ มาขอถ่ายรูปด้วยทั้งสองครั้ง สงสัยเห็นหน้าตาจืดๆ ดูแปลกดี
     ขณะที่เราเดินดูร้านขายของชำริมข้างทางแล้วเหลือบไปเห็นจักรยานขายผลไม้จอดอยู่ มีชายร่างผอมหนวดงามยืนประกบก็เกิดความอยากทานขึ้นมา เพราะตั้งแต่มาเที่ยวที่นี่ไม่ค่อยได้ทานผลไม้ซักเท่าไหร่ ดูแล้วแอ้ปเปิ้ลกับมะม่วงน่าทานดีก็เลยเลือกผลไม้ทั้งสองชนิดอย่างละ 3-4 ลูก ไม่กล้าซื้อเยอะเดี๋ยวเน่าไม่ทันได้ทาน คนขายซึ่งเป็นชาวอินเดียเอาผลไม้ขึ้นชั่งตาชั่ง บอกราคาเราประมาณ 200 รูปี ซึ่งเราทำหน้าตกใจย้อนถามเขาว่าราคาปกติรึเปล่า เอาราคาพื้นเมืองนะไม่เอาราคานักท่องเที่ยว เขาอมยิ้มเหมือนว่าถูกจับได้ก็เลยลดราคาให้ ซึ่งฉันว่าก็ยังซื้อแพงกว่าชาวบ้านเขาอยู่ดี แต่แค่นั้นก็รู้สึกว่าถูกมากแล้วเลยไม่อยากต่อเงินเล็กๆ น้อยๆ แบ่งกันใช้ไม่เห็นเป็นไร ยังไงเขาก็ทำอาชีพสุจริต



     หลังจากนั้นพี่ธันวาบอกว่าจะพาไปดูบ้านเก่าแบบโบราณที่เพื่อนชาวพื้นเมืองแนะนำมาว่าต้องไปดูให้ได้เพราะเจ้าของอนุรักษณ์ไว้อย่างดี สมควรให้ลูกหลานได้เห็นเป็นแบบอย่าง เราเดินเข้าไปยังซอยเล็กๆ ที่ค่อนข้างเงียบสงบเหมือนว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยไม่มีร้านค้ารกรุงรัง 
ดูด้านนอกบ้านนี้ก็เหมือนบ้านคนปกติ (ที่มีฐานะ) มีรั้วรอบขอบชิดแต่พี่ธันวาบอกว่าเขาเปิดเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ให้คนที่สนใจศิลปะและสถาปัตยกรรมโบราณได้เข้าชม เราจึงเข้าไปยังด้านใน มีหญิงสาวหน้าตาดีคนหนึ่งซึ่งเป็นญาติกับเจ้าของบ้านบอกเราว่าเขาจะเรียกน้องชายให้มาต้อนรับเราพร้อมกับอธิบายส่ิงต่างๆ เกี่ยวกันตัวบ้านให้ได้ฟัง



     เราจึงนั่งรอซักครู่ หนุ่มน้อยร่างผอมสูงเดินมาแนะนำตัวกับเราพร้อมกับเชื้อเชิญเข้าบ้าน เขาเล่าให้ฟังว่าเจ้าของบ้านนี้คือคุณลุงของเขา รพินทรา ภูริ* ( Rabindra Puri ) จบปริญญาสาขา ศิลปะ ธุรกิจ กฏหมาย และวิจิตรศิลป์ ซึ่งมีความสนใจที่จะอนุรักษ์ศิลปะพื้นเมืองแบบดั้งเดิมให้คงอยู่ จึงเริ่มโครงการที่จะเก็บสะสมของใช้โบราณต่างๆ ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กเพราะเขาเห็นคุณค่าของส่ิงที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ให้บางครั้งที่เขาเห็นวัดบางแห่งถูกรื้อถอนและเปลี่ยนแปลงไปเป็นการสร้างแบบสมัยใหม่ทำให้เขารู้สึกเสียใจและเสียดายมาก จึงตั้งใจว่าเมื่อโตขึ้นเขาจะต้องพยายามที่จะอนุรักษ์ของโบราณให้คงไว้ สำหรับบ้านหลังที่เราเขาไปชมเป็นหนึ่งในโครงการการอนุรักษ์บ้านโบราณ ซึ่งมีอายุอานามกว่า 150 ปีทีเดียว บ้านนี้ถูกทิ้งให้รกร้างเป็นเวลานาน ตอนที่รพินทราไปซื้อนั้นบ้านมีสภาพเป็นเล้าเลี้ยงไก่ เขาจึงปรับปรุงตัวบ้านโดยการยึดโครงสร้างเดิมไว้ทั้งหมด ส่วนไหนที่ยังคงของเดิมได้เช่น กรอบประตู หน้าต่าง ก็จะเพียงแต่ซ่อมแซม แต่ส่วนไหนที่ต้องรื้อและทำใหม่ก็ยังคงยึดการสร้างโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบโบราณ ภายในบ้านได้ปรับแต่งให้ใช้มีการใช้งานที่เหมาะกับชีวิตยุคใหม่ เช่นห้องอาบน้ำก็เป็นอ่างฝักบัวและห้องส้วมเป็นแบบชักโครก เพราะบ้านนี้ใช้อาศัยอยู่จริงด้วยไม่ใช่มีไว้โชว์อย่างเดียว เขาพาเดินชมทีละห้องซึ่งก็แบ่งตามประโยชน์ใช้สอย ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ห้องอ่านหนังสือ ห้องนอน รวมทั้งโชว์ของโบราณให้ดูหลายอย่าง เช่นรองเท้าแบบโบราณที่ทำจากไม้ท่าทางหนักน่าดู กุญแจห้องซึ่งมีขนาดใหญ่โตมาก จานชามเครื่องใช้ภายในบ้านแบบโบราณแท้ๆ ดูแล้วก็ทึ่งมากว่าเขามีความตั้งใจจริงในการเก็บรักษาสมบัติโบราณไว้ได้อย่างดีเยี่ยมจนได้รับการคัดเลือกจากทางการให้เป็นบ้านต้นแบบตัวอย่างและเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้คนพื้นเมืองได้มาศึกษาหาความรู้ รวมไปถึงคนต่างชาติอย่างเรา เห็นหนุ่มน้อยบอกอีกว่าลุงเขามีบ้านแบบนี้อีกหลายหลัง โชคดีที่มีคนตั้งใจจริงที่จะรักษามรดกโบราณที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้คนรุ่นหลัง แต่ถ้าเรามัวแต่เห่ออะไรที่ตามสมัยนิยมมากเกินไป นับวันวัฒนธรรมที่ดีงามก็จะถูกกลืนหายไป
     เราจบการท่องเที่ยวเมืองภักตาปูร์ด้วยการเก็บตกวัดต่างๆ ที่เหลือ ก่อนที่จะเดิมดุ่มๆ กลับไปที่รถเพื่อที่จะแวะไปแหล่งท่องเที่ยวโบราณสำคัญอีกหนึ่งที่

*http://rabindra.com.np

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น