22 กรกฎาคม 2555

21. ตกหลุมรัก

     อากาศที่นี่ค่อนข้างเย็นเมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปทำให้รู้สึกสบายตัวขึ้น เรานั่งชิคาร่ากลับไปยังบ้านเรือท่ามกลางบรรยากาศของทะเลสาปที่สงบและเงียบ การจราจรทางน้ำเริ่มเบาบางต่างจากเมื่อตอนบ่าย ผู้คนเร่ิมกลับเข้าบ้านกันหมดแล้ว  
     เรานั่งรอที่โต๊ะอาหารด้วยความรู้สึกหิวนิดๆ เพราะบะหมี่แมกกี้มื้อกลางวันนั้นได้ถูกย่อยไปหมดแล้ว ต่างพากันจินตนาการว่าหน้าตาและรสชาติของอาหารที่นี่จะเป็นอย่างไร นฐกับพี่ลีจะทานได้มั้ย ดีนแปลงโฉมเป็นพนักงานเสริฟและเร่ิมวางจานข้าวที่อุ่นมาร้อนๆ ลงตรงหน้าเรา รู้สึกได้ถึงความสะอาดถูกอนามัย หลังจากนั้นอาหารแต่ละจานก็ถูกนำมาเสริฟ เมนูวันแรกนี้คือ สตูว์ไก่ ผัดกะหล่ำกับแครอท และสตูว์มันฝรั่งกับถั่วฝักยาว พร้อมข้าวสวยร้อนๆ นอกจากอาหารจะหน้าตาดีแล้วรสชาติยังดีเลิศ ดีนบอกว่าที่นี่เน้นเรื่องอาหารการกินของลูกค้ามาก อยากให้ทุกคนทานข้าวอย่างมีความสุข เขาให้พ่อครัวปรับรสชาติอาหารให้ถูกลิ้นคนไทย 
ลดเครื่องเทศลงหน่อยอร่อยกำลังดี แถมยังมีของดีของไทยให้เติมรสได้อีกคือน้ำปลาและซอสถั่วเหลือง เขาบอกว่าคนไทยที่มาเที่ยวทิ้งไว้ให้ ส่วนขนมหวานนั้นก็ไม่หวานเจี๊ยบเหมือนที่อื่นๆ มื้อนั้นเป็นมื้อแรกที่ทุกคนเติมข้าวกันสองถึงสามจาน ไอ้ที่คิดว่ากลับไปหุ่นคงผอมเพรียวเป็นอันว่าฝันสลายเพราะถ้าอาหารอร่อยแบบนี้ทุกมื้อล่ะก็เราคงอดใจไม่กินไม่ได้แน่ๆ 


     ระหว่างที่เราทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อยนั้นมีคุณลุงใส่ชุดพื้นเมืองหนวดเคราขาวเฟิ้ม
มานั่งรออยู่ตรงห้องนั่งเล่น พร้อมกับกระเป๋าใบใหญ่ค่อยๆ หยิบผ้ามาวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ เราเหลือบไปดูและเม้าท์กันว่าคงเป็นคนมาขายของอีกแล้ว รู้สึกเบื่อหน่อยๆ แต่ก็
ไม่อยากจะเสียอารมณ์ กะว่าเมื่อทานเสร็จเราจะแวะไปนั่งดูของแกเล่นๆแล้วค่อยคิดมุกตลก
เอาตัวรอดกันอีกที
     คุณลุงดาร์ (Dar) เป็นพ่อค้าขายผ้า ประเภทผ้าคลุมไหล่ที่ผลิตจากขนสัตว์ชนิดต่างๆ รวมไปถึงแพชมีน่ายอดฮิตและแคชเมียร์ ราคาไม่ได้แพงมากมายมีตั้งแต่ 600 รูปีไปจนถึงหลายพันรูปี ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผ้า ฉันไม่ได้มีความตั้งใจใดๆ ในการซื้อผ้าคลุมไหล่เลย เพราะไม่ค่อยได้ใช้ แล้วในตู้ก็มีเกือบ 20 ผืนแล้ว มันจะเป็นการสิ้นเปลืองมากถ้าซื้อไปอีกผืน สะกดจิต
ตัวเองด้วยคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”



     ระหว่างที่แกหยิบผ้าผืนโน้นผืนนี้มาโชว์ให้เราดูกะว่าคงต้องมีซักผืนที่เข้าตาเราแน่ๆ 
ฉันเหลือบไปเห็นผ้าคลุมไหล่แคชเมียร์ปักลายสวยละเอียดผืนหนึ่ง ดึงดูดสายตามากเพราะลายที่ปักอย่างละเอียด สีด้ายที่สดตัดกับสีพื้นที่ออกทึมๆ ฉันเริ่มลังเลเกิดอยากได้ขึ้นมา จิตที่ถูกสะกดไว้เตลิดหมดแล้ว แต่ตกหลุมรักผ้าผืนนั้นขึ้นมาทันใดเหมือนรักแรกพบ รุนแรงและอยากครอบครองเป็นเจ้าของ
     “ผืนนี้ราคาเท่าไหร่เหรอลุง”
     คุณลุงทำหน้าลังเลนิดหน่อยก่อนตอบคงเห็นว่าฉันไม่ได้อยากจะซื้อของเท่าไหร่ “ผืนนี้แพงครับ 5,000 รูปี”
     “ฮ้า ทำไมแพงจัง” รู้ราคาแล้วหงายหลังตึง
     “ก็ผืนนี้ทำมาจากแคชเมียร์แล้วฝีมือการปักนั้นละเอียดมาก ครอบครัวผมปักกันเอง ไม่มีพ่อค้าเจ้าอื่นมีหรอกนะลายนี้”
     ลุงก็มีวิธีปล่อยมุกมัดใจลูกค้าเหมือนกันนี่
     “จริงเหรอ ลดหน่อยได้มั้ยล่ะ” ฉันเร่ิมเห็นคุณค่าของผ้าทั้งๆ ที่เงินก็แทบจะหมดกระเป๋าแล้ว
     “ผมลดให้เหลือ 4,500 รูปี” ลุงบอก
     “โห น้อยจัง ลดอีกได้มั้ย หนูไม่มีเงินเหลือแล้วลุง แล้วถ้าจ่ายเป็นดอลล่าห์จะราคาเท่าไหร่” ฉันเริ่มออดอ้อน
     “ถ้าเป็นดอลล่าห์ก็ 100 นึง”
     ฉันคิดคำนวณในใจเป็นเงินไทยก็ตก 3,000 บาท ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับคุณภาพและความละเอียดของลายปัก (โชคดีที่ช่วงที่เราไปเที่ยวนั้นเงินบาทแข็งค่ามาก ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ก็ตกราวๆ 4,000 กว่าบาทเหมือนกัน) ฉันเลยติดสินใจว่าจะต้องเป็นผู้ครอบครองผ้าผืนนี้
     “ผ้าพวกนี้ใช้เวลาปักนานมากครับ” ลุงเน้นจุดขายเพ่ิมอีก
     “แล้วใครเป็นคนปักเหรอ” ฉันซักไซ้ต่อ
     “ก็คนแก่น่ะครับ อายุ 45 ขึ้นไปถึง 60 ปี เราใช้เวลาช่วงหน้าหนาวในการทอและปักผ้า” เขาเฉลย
     “บ้าเหรอลุง ใครบอก 45 แก่”
     ลุงหัวเราะชอบใจ
      เมื่อเร่ิมทำตัวสนิทสนมกับลุงดาร์ก็เร่ิมซอกแซกถามนู่นถามนี่
      “บ้านลุงอยู่ไหนเหรอจ๊ะ”
      “อยู่หมู่บ้านไกลออกไป 2 ชั่วโมงครับ”
      “หมายถึงขับรถไป 2 ชั่วโมงน่ะเหรอ”
      “อ๋อเปล่าครับพายเรือไป”
      “พายเรือไป 2 ชั่วโมง ในความมืดเนี่ยนะ”
      ฉันเริ่มรู้สึกสงสาร
      “แล้วนั่นลูกชายลุงเหรอ” หันไปทางอีกมุมของห้องมีหนุ่มน้อยหน้ามลนั่งช่วยลุงรื้อของและเก็บของ
      “ใช่ครับ นี่ลูกชายคนเล็กของผม ผมอยู่กับภรรยาสองคนแล้วก็ลูก”
      “อ้าวงั้นก็ยังเหลือที่อีก 2 สิ”
      แกอมยิ้มไม่พูดอะไร แต่ลูกชายนั้นยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
      “งั้นครั้งหน้ามาเที่ยวไปขออาศัยบ้านลุงอยู่ได้มั้ย” ฉันแกล้งแซวลุงเล่น
      แกได้แต่อมยิ้มขำในความก๋ากั่นของฉัน
      “ได้สิครับ”
     “แต่หนูปักผ้าไม่เป็นนะลุง แต่ถ้าทำอาหารล่ะก็พอได้บ้าง”
     แกพยายามกลั้นหัวเราะใหญ่ ลูกชายได้แต่นั่งฟังอมยิ้มคงนึกในใจว่าจะได้แม่ใหม่


     ระหว่างนั้นพี่ลีกับนฐก็เลือกผ้าไปฝากคนทางบ้านกันอีกหลายผืน ลุงลดราคาให้สุดๆ เพื่อจะขายได้หลายช้ิน บางชิ้นถูกมากซะจนรู้สึกว่าที่เคยซื้อมาจากที่อื่นนั้นถูกหลอกแหงๆ
     เมื่อการซื้อขายจบลงเวลาของการร่ำลาก็มาถึง ลุงดาร์เก็บของใส่กระเป๋าเดินทาง 3 ใบที่อัดแน่นไปด้วยสินค้ามากหลาย เตรียมตัวเดินทางกลับ ฉันขอตามออกไปดูเรือที่ลุงอ้างไว้ว่าต้องพายกลับไปอีก 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรือพายขนาดกลางมีหลังคาแต่ไม่มีไฟ ตอนนั้นอากาศด้านนอกเริ่มหนาวแล้วเพราะเวลาล่วงเลยมาถึง 4 ทุ่มกว่า
     “อ้าวลุงไม่เห็นมีไฟเลย จะมองเห็นทางเหรอ”
     “ไม่มีปัญหาครับ ผมรู้ทางกลับบ้านดี ถ้ามืดมากผมก็ใช้ไฟจากโทรศัพท์มือถือ” นั่นแน่แอบทันสมัยนะลุง
     ลุงดาร์บอกว่าบางทีที่มีลูกค้ามาที่เรือเยอะๆ เลือกซื้อสินค้ากันถึงตี 1 ก็ยังมี ฉันพอจะนึก
สภาพนักช้อปชาวไทยออกเลยว่าจะสนุกสนานกับการเลือกการลองขนาดไหน แล้วย่ิงมาถึงแหล่งผลิตแท้ๆ คงต้องมีของติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง
     นึกคำนวณดูแล้วกว่าลุงจะกลับถึงบ้านก็ปาเข้าไปเที่ยงคืนพอดี ฉันเลยนึกสงสาร ความขุ่นเคืองเรื่องการยัดเยียดขายของได้หมดไปแทนที่ด้วยความเห็นใจ คิดดูสิว่ากว่าจะพายมา 2 ชั่วโมง พายกลับอีก 2 ชั่วโมง กว่าจะขายผ้าได้หนึ่งผืน ถ้าไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวก็ไม่รู้จะขายใคร แล้วแถมถ้าเหตุการณ์ไม่สงบอีก ปีนึงคงขายของได้อยู่ไม่กี่เดือน เงินที่ได้ก็ต้องเก็บไว้ใช้ในยามขัดสน เมียก็เยอะลูกก็แยะ เฮ้อ ชีวิต …

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น