06 กรกฎาคม 2555

6. ความสวยไม่ต้องปอกเปลือก

     เช้าวันที่ 2 เราตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกสดชื่นเพราะได้นอนเต็มอิ่ม เวลานัดออกเดินทางของวันนี้คือ 9:30 น. ทางโรงแรมจัดเตรียมอาหารกล่องไว้ให้เราติดมือไปด้วยสำหรับมื้อกลางวัน ปกติการเที่ยวที่นี่จะออกเดินทางแต่เช้าและกลับไปโรงแรมอีกทีตอนเย็น และเนื่องจากลาดัคห์ยังไม่ใช่เมืองที่เจริญนัก ระหว่างทางจึงไม่มีร้านค้าร้านอาหารร้านสะดวกซื้ออะไรที่เราคุ้นเคยไว้รองรับความรักสบายจึงต้องเตรียมตัวไปให้พร้อมเตรียมใจไปให้ดี
     ที่แรกที่เราไปแวะคือ พระราชวังเช (Shey Palace) เป็นพระราชวังฤดูร้อนที่เก่าแก่ที่สุดในลาดัคห์ ภายในมีพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน “พระศรีศากยะมุนี” หล่อด้วยทองแดงและเคลือบด้วยทองอีกที ถูกปั้นโดยช่างชาวเนปาลและมีผู้ช่วยชาวลาดัคห์ ช่างเนปาลมีชื่อเสียงด้านการปั้นหล่อพระพุทธรูป ส่วนใหญ่ที่เห็นในต่างประเทศนั้นสั่งทำหรือเช่าไปจากที่เมืองปาทาน ช่างเก่งๆ ได้รับค่าจ้างสูงมากทีเดียวโดยเฉพาะสำหรับองค์ที่มีขนาดเล็กเพราะต้องใช้ความละเอียดละออและใช้เวลาในการทำอย่างมาก สำหรับพระศรีศากยะมุนีพระองค์นี้ช่วงที่ยากที่สุดคือช่วงที่วาดดวงเนตรเพราะช่างต้องหันหลังและใช้มือผ่านไหล่ไปวาดเนื่องจาก ไม่มีใครที่จะกล้าเพ่งตากับพระพุทธเจ้า ด้านข้างกำแพงห้องมีรูปวาดของพระอรหันต์ (Arhats) ด้านละ 8 องค์ นอกจากนี้ยังมีห้องที่ใช้เก็บคำภีร์โบราณอีกด้วย




     ที่นี่เราเจอครอบครัวชาวพื้นเมืองมาไหว้พระขอพร พ่อ แม่ ลูกเล็ก ดูน่ารักน่าเอ็นดู เขายังอนุญาตให้เราอุ้มลูกเขาด้วย ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่มีศรัทธาแรงกล้าในพุทธศาสนามักจะไปวัดไหว้พระสวดมนต์กันอยู่เป็นนิจ แต่เท่าที่สัมผัสวันกว่าๆ นี้ ดูเหมือนว่าผู้คนและความเป็นอยู่ของที่นี่จะค่อนข้างดิบๆ ไม่ปรุงแต่งมาก ไม่ได้เน้นเรื่องความสวยงามอะไรมากเพียงแค่รักษาวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ อาจเป็นเพราะเรื่องภูมิประเทศและอากาศที่มีส่วนทำให้ทุกอย่างขะมุกขมัวแต่ฉันกลับรู้สึกได้ถึงความจริงใจไม่ประดิษฐ์ ไม่ได้ตั้งใจอวดเฉพาะแต่ของสวยๆ งามๆ เขาเป็นยังไงก็เป็นยังงั้น คนที่มาเที่ยวคงต้องรู้สึกชื่นชมคุณค่าที่แท้จริงของของแต่ละสิ่งเอาเอง 


     หลังจากนั้นเราแวะไปที่ Thiksey Monastery ซึ่งตั้งสวยเด่นตระหง่านอยู่บนเนินเขา เป็นวัดของนิกายเกลุกปะ (Gelukpa) หรือนิกายหมวกเหลืองที่มีท่านดาไลลามะเป็นประมุข เป็นนิกายหนึ่งของศาสนาพุทธมหายานที่ลาดัคห์ได้รับอิทธิพลมาจากทิเบต รถแวะให้เราถ่ายรูปจากด้านล่างของเนินเขาก่อนซึ่งเป็นภาพประทับใจมาก ตัวตึกซึ่งมีลักษณะเหมือนพระราชวัง
โปตาลาที่ประทับเดิมของท่านดาไลลามะตั้งตระหง่านตัดกับฟ้าสีสดแสดงให้เห็นถึงพลังความศรัทธาของผู้คนที่สร้างวัดนี้ขึ้นมา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 หลังจากนั้นเรานั่งรถต่อขึ้นไปบนเนินที่วัดตั้งอยู่ เมื่อผ่านประตูด้านหน้าเข้ามาก็จะเจอกับลานกว้างที่ไว้จัดพิธีกรรมต่างๆ อดไม่ได้ที่จะนึกวาดภาพเวลาที่เป็นช่วงเทศกาล ผู้คนคงแห่แหนมามากมายบรรยากาศคงคึกคัก
ไม่เงียบเหงาเหมือนวันที่เราไป รอบๆ ลานนั้นมีรูปวาดของพระพุทธเจ้าในปางต่างๆ มากมายปรากฏอยู่บนกำแพง สีสันสดใส รวมทั้งภาพคุ้นตาคือ “The Four Friends” ที่เป็นการอยู่ร่วมและช่วยเหลือกันของสัตว์สี่ชนิด ด้านในเป็นที่ประทับของพระศรีอาริยเมตไตรย์ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในลาดัคห์คือสูงถึง 15 เมตร ประทับอยู่ในท่านั่งรูปดอกบัวอีกห้องหนึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนีมีพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ด้านข้างถึงสองพระองค์และห้องเล็กอีกห้องนั้นเป็นที่ประทับของ “ตารา” (Tara) พระพุทธเจ้าภาคผู้หญิงซึ่งเป็นตัวแทนของความเมตตา เชื่อกันว่าตาราเกิดจากน้ำตาแห่งความเมตตาของพระโพธิสัตว์ (Bodhisattva Avalokiteshvara) ตารามีถึง 21 ปาง ที่เป็นที่รู้จักและนับถืออย่างแพร่หลายคือ ตาราขาวและตาราเขียว ในห้องนี้มีรูปปั้นตารามากมายหลายสิบองค์ถูกเก็บไว้ในตู้อย่างดี                  




     ทุกคนต่างแปลกใจว่าทำไมฉันถึงรู้จักพระพุทธรูปมากมายทั้งๆ ที่ฉันไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ 
     “ทำไมรู้หมดเลยว่าพระพุทธรูปองค์ไหนชื่ออะไร ขนาดพี่นับถือพุทธแท้ๆ ยังไม่รู้เลย” พี่ลีถามฉัน
     “สนใจน่ะพี่ ก็เลยลองศึกษาดู รู้เยอะขึ้นก็ตอนไปภูฏานน่ะ แล้วเราต้องเขียนหนังสือด้วยไง
ก็ต้องมีความรู้จริง แต่ก็ไม่ได้รู้เยอะหรือละเอียดหรอกนะอาศัยถามๆ เอา ส่วนพระแม่ตารานั้นรู้จักตอนที่ไปช่วยงานที่มูลนิธิพันดาราเล็กๆ น้อยๆ น่ะ”
     จริงๆ ก็เหมือนเป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกัน คนที่มีลักษณะนิสัยอย่างฉันไม่น่าที่จะอินกับเรื่องของศาสนามากมายนัก แต่กลับกลายเป็นเรื่องหนึ่งที่ฉันให้ความสนใจตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ตัว ถ้าจะให้เรียกว่าเป็นคนปฏิบัติเหมือนอย่างคนอื่นๆ ก็คงจะไม่ใช่ เพียงแค่ฉันสนใจเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อปรัชญาและธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละศาสนามากกว่า คิดว่ามันน่าแปลกดีที่คนเราจะยึดติดและปฏิบัติตามกับคำสอนของคนๆ หนึ่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ ฉันมักมีคำถาม ความสงสัยและข้อแย้งในเรื่องต่างๆ เสมอไม่เว้นแม้แต่เรื่องศาสนา ถ้าพูดตรงๆ แล้วฉันก็ไม่ได้เชื่อทั้งหมดฉันเลือกที่จะเชื่อในบางเรื่องมากกว่าและเลือกนำเอาเฉพาะข้อที่ฉันคิดว่าดีและเหมาะกับตัวเองมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจที่ยังหยาบกร้านอยู่มาก




     ที่วัดนี้มีพระอาศัยอยู่ประมาณ 80 รูป หนึ่งในรูปที่เราได้สัมผัสคือลามะรักษาโรค เราลองให้ท่านได้ตรวจร่างกายโดยการจับชีพจรเพื่อเช็คดูว่ามีอาการไม่สบายอะไรภายในร่างกายบ้าง สำหรับนฐค่อนข้างแข็งแรงดีแต่มีปัญหาเรื่องปวดท้องบ้าง ซึ่งเขาก็แปลกใจเพราะปกติไม่ได้บอกใคร ส่วนฉันท่านลามะต้องพลิกมือดูไปมาคว่ำและหงาย ท่านหันไปพูดอะไรบางอย่างกับนัมเกล
     “ท่านบอกว่าไงเหรอ” ฉันถามคำแปลจากเขา
     “ท่านบอกว่าร่างกายคุณก็ดูแข็งแรงดีไม่มีปัญหาอะไรนะ เพียงแต่ว่าทานอาหารน้อยไปหน่อยทำให้ไม่มีแรง” เขาบอก
     “อืมม์ งั้นช่วยถามหน่อยว่าท้องฉันโอเคมั้ย” ฉันมักมีปัญหาเรื่องปวดท้องบ้างบางครั้งเพราะกระเพาะไม่แข็งแรงเท่าไหร่บางทีก็เป็นแผล แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีอาการบ่อยนัก
     ท่านลามะจับชีพจรฉันเพื่อตรวจเช็คอีกที
     “ท่านบอกว่าท้องคุณโอเคนะ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแต่ถ้าอยากได้สมุนไพรไปเผื่อเวลาปวดท้องท่านก็จะจัดให้” เขาอธิบายต่อ
     ฉันกับนฐให้ท่านจ่ายยาสมุนไพรสำหรับเรื่องการปวดท้องและปวดหลัง ซึ่งราคายานั้นไม่แพงเลย เพียงแค่คนละ 50 รูปีเท่านั้น
     “ยานี้มีอายุนานแค่ไหนเหรอ” ฉันถามนัมเกล
     เขาหันไปถามท่านลามะแล้วตอบ “ยานี้อยู่ได้ประมาณ 2-3 ปี และยาที่คุณได้ไปเพ่ิงทำเสร็จมาหมาดๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวนะทานได้ ยาทำจากสมุนไพร ไม่มีอันตรายอะไร ทุกคนทานได้”
     ท่านลามะยิ้มแย้มให้เราและจากลากันไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น