23 กันยายน 2554

10. ดักเจอเกอิชา

     เช้านี้เราต้องย้ายโรงแรม เพราะว่าห้องที่โรงแรมเฮอันนั้นไม่มีว่าง ฉันได้จองโรงแรม
ล่วงหน้ามาทางอินเตอร์เน็ตแล้ว และโชคดีที่โรงแรมโตว่า (Towa) อยู่ไม่ไกลจากเฮอันมากนักเราจึงสามารถเดินไปได้ แต่ก็ทุลักทุเลพอควรเพราะกระเป๋าอยู่ในสภาพพิการ
     โรงแรมโตว่านั้นเป็นเรียวกังแบบทันสมัย ตัวตึกเป็นสีเหลืองและมีการตกแต่งแบบสมัยใหม่ ห้องนอนมีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม ห้องน้ำมีอุปกรณ์ทันสมัยมาก สามารถปรับระดับความอุ่นของน้ำอุ่นให้พอเหมาะพอเจาะซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับอากาศอันหนาวเหน็บของเกียวโตในเวลานี้ คุณเคยมั้ยล่ะที่ต้องปรับความอุ่นของน้ำอยู่นั่นแล้วเดี๋ยวร้อนไปบ้างเย็นไปบ้างทำให้เสียอารมณ์มาก การอาบน้ำที่อุ่นกำลังสบายๆ บางทีก็ช่วยให้หายเหนื่อยหายเครียดได้เหมือนกัน
     และแล้วก็ได้ฤกษ์ไปเยี่ยมวัดทองกันซึ่งต้องบอกเคล็ดลับว่าให้ขึ้นรถเมล์สาย 101 จะได้
ไม่ต้องเสียเวลาเหมือนเรา เพราะดันไปเลือกขึ้นสาย 205 ที่จอดมันซะทุกป้าย ตอนแรกฉันเกิดความกังวลว่าจะขึ้นผิดคันเพราะ วัดอยู่ไกลเหลือใจ แถมยังมีแต่เราที่หน้าตาดูเป็นนักท่องเที่ยวอยู่แค่สองคน ที่เหลือเป็นชาวญี่ปุ่นล้วนๆ  พอดีมีคุณยายคนหนึ่งที่เราเอื้อเฟื้อที่ให้แกนั่ง แกก็ยิ้มแล้วถามว่าจะไปวัดคิงคะคุจิกันเหรอ (อันนี้เดาเอาเพราะฟังรู้เรื่องแค่ชื่อวัด) ก็เลยพนักหน้าตอบหงึกๆ เรียกความมั่นใจกลับคืนมาตอนเกือบปลายทางแล้ว   


     วัดทองนี้มีชื่อเป็นทางการว่า วัดคิงคะคุจิ (Kinkakuji) เป็นวัดที่ได้รับความนิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวเพราะความสวยงามอร่ามตาของสีทองที่เคลือบฉาบไว้ ประกอบกับวิวด้านหน้าที่เป็นทะเลสาป ด้านหลังเป็นภูเขาที่มีต้นไม้รกครึ้ม ก่อนหน้านั้นเป็นปราสาทที่สร้างไว้เพื่อเป็นที่เกษียณอายุของท่านโชกุนโยชิมิตซึ อาชิกากะ (Yoshimitsu Ashikaga) เมื่ออายุได้ 37 ชันษา ท่านได้ออกบวชในศาสนาเซนและได้มีดำริให้ปราสาทของท่านนั้นกลายเป็นวัดหลังจากท่านเสียชีวิต



     เมื่อเดินเข้าไปภายในบริเวณวัดจะมีที่ที่จัดไว้ให้เป็นบริเวณถ่ายรูปปราสาท เป็นมุมที่วิวดีมากๆ จะสวยยิ่งขึ้นไปอีกถ้ามีแสงอาทิตย์ตกกระทบกับปราสาทสีทองเพราะจะเปล่งประกายสะท้อนลงไปบนทะเลสาปด้านหน้าทำให้เกิดภาพสะท้อนเหมือนมีปราสาทแฝดสองหลัง รอบๆ บริเวณมีทางที่ทำให้เดินดูปราสาทได้โดยรอบซึ่งแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ มีวัดที่สามารถไปไหว้พระขอพรได้ ใครชอบดื่มชาก็ต้องแวะดูบ้านที่สมัยก่อนนั้นสร้างไว้เพื่อทำพิธีชงชา ใกล้ๆ ทางออกนั้นมีร้านขายขนมโมจิรสต่างๆ ซึ่งอร่อยมากจนอดใจไม่ซื้อไม่ได้โดยเฉพาะรสงาดำ
     เราตั้งใจจะไปดูปราสาทนิโจ (Nijo Castle) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อแสดงความร่ำรวยและมีอำนาจของโชกุนในยุคเอโดะ อยากจะรู้เหมือนกันว่าจะสวยงามแค่ไหน เมื่อไปถึงนั้นบรรยากาศกลับเงียบสงบไร้ผู้คน เมื่อเดินไปถึงทางเข้าถึงได้รู้ว่าเขาไม่ต้อนรับ เพราะเป็นช่วงวันหยุดปลายปีระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม ถึง 2 มกราคม ใครจะไปช่วงนี้ก็ต้องข้ามโปรแกรมนี้ไป ปกติปราสาทจะปิดทุกวันอังคาร ก็ต้องลองวางแผนกันดีๆ
     ไม่ได้เสียใจฟูมฟายมากมายเพราะเกียวโตยังมีที่เที่ยวอีกมากมาย ฉันตัดสินใจว่า
จะไปย่านกิออนในช่วงบ่าย หวังว่าจะโชคดีได้เดินเฉี่ยวชนกับเกอิชาที่มักอยู่ในย่านนั้น
     ก่อนอื่นต้องเติมพลังให้ท้องก่อน เมื่อนั่งรถเมล์ไปลงป้ายกิออน (Gion) ซึ่งเป็นย่านตลาดร้านค้า เราเดินเลือกร้านอาหารและตกลงปลงใจทานร้านเล็กๆ ร้านหนึ่ง ทดลองเมนูข้าวหน้าเต้าหู้ อร่อยดีมีสุขภาพเพราะต้องเผื่อท้องไว้ทานขนมชาเขียวหน้าตาเร้าใจที่ร้านฝั่งตรงข้าม แล้วก็สาสมแก่ใจเรามากเพราะเขาโปะหน้าด้วยถั่วแดง โมจิ วุ้นชาเขียว ครีมที่ทำจากชาเขียว สอดไส้ตรงกลางด้วยไอสกรีมชาเขียวแถมด้านล่างยังมีผลไม้หลากหลายชนิดอีก กินกันเสร็จนี่ต้องวัดปริมาณน้ำตาลด่วน ขนาดว่าแบ่งกันคนละครึ่งเรายังรู้สึกว่ามันเยอะเกินไป ไม่รู้คนญี่ปุ่นเขาทานกันทั้งถ้วยได้ยังไง 



     กิออนเป็นย่านเก่าแก่ที่รอดพ้นจากวิบากกรรมอันหลากหลายที่เกิดขึ้นที่เกียวโตมาได้เพราะว่ามีแม่น้ำกาโม่ (Kamo) ขั้นไว้จากตัวเมือง และยังถูกรักษาไว้อย่างดี เป็นย่านที่มีบ้านเก่ามากมาย ร้านอาหารราคาแพง ร้านน้ำชาแบบดั้งเดิม เป็นแหล่งที่ชายญี่ปุ่นมักจะมาเที่ยวดื่มเหล้าและชมการแสดงของเกอิชาซึ่งต้องมีการจองเป็นเรื่องเป็นราวไม่ใช่หาชมกันได้ง่ายๆ นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ อาจจะมีโอกาสได้พบเจอเกอิชาตัวเป็นๆเดินท่ามกลางผู้คนแต่เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นยากมากๆ เพราะต้องเป็นจังหวะเหมาะเจาะที่เกอิชาแต่งตัวออกจากบ้านเพื่อไปยังร้านน้ำชาหรือร้านอาหารที่จัดไว้โดยเฉพาะ



     การจะเป็นเกอิชา (Geisha) ได้ไม่ใช่ง่ายๆ และไม่ใช่อาชีพของผู้หญิงขายบริการ แต่เป็นอาชีพที่สร้างความสุขและความบันเทิงให้กับผู้คน ต้องมีความรู้ในด้านศิลปะ วัฒนธรรม การเต้นรำแบบโบราณ การร้องเพลง หรือแม้แต่เล่นเครื่องดนตรี ที่สำคัญมากๆ อีกอย่างก็คือต้องมีศิลปะในการพูดคุยกับแขกให้เกิดความประทับใจ กว่าจะได้เป็นเกอิชานั้นต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดีมีพี่เลี้ยงคอยให้ความช่วยเหลือ (Geiko) สำหรับเกอิชาฝึกหัดนั้นจะเรียกว่า “ไมโกะ” (Maiko) ซึ่งจะแยกแยะได้จากการแต่งหน้าแต่งตัวซึ่งจะต่างกับเกอิชา
     หลายๆ คนอาจจะเข้าใจผิดว่าเกอิชาคือผู้หญิงขายบริการอาจเป็นเพราะในสมัยก่อน
ก็มีผู้หญิงขายตัวจริงๆ ที่อาจจะแต่งตัวแต่งหน้าคล้ายๆ เกอิชา ทำให้พวกฝรั่งเข้าใจผิด และยึดติดเป็นความเข้าใจแบบนั้น ก็เหมือนที่ชอบคิดกันว่าเมืองไทยมีแต่ผู้หญิงขายตัว ผู้หญิงดีๆ ทำอาชีพอื่นคงจะไม่มี เพราะคนเราชอบยึดติดกับความคิดแคบๆ และประสบการณ์ของตัวเอง ความจริงแล้วการที่คนเหล่านั้นมีความคิดแบบนั้นนั่นก็แสดงให้เห็นถึงความชอบและพฤติกรรมส่วนตัวของคนนั้นๆ ซึ่งน่าจะละอายต่อตัวเองมากกว่าที่จะดูถูกคนอื่นด้วยซ้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น