19 กันยายน 2554

6. ปรัชญาชาเขียว

     เมื่อเดินออกมาด้านหน้าวัดนั้นมีบางสิ่งเตะตาสะดุดใจฉัน นั่นก็คือขนมชูครีมที่ทำกันใหม่ๆ สดๆ มีหลายรสให้เลือก แต่ฉันอยากทานรสชาเขียวเลยสั่งซื้อมาแบ่งกับพี่ตุ๊กคนละครึ่ง เขาจะทำตัวแป้งกลมๆ ไว้ก่อนแล้วพอเราสั่งว่าจะกินรสไหนเขาก็จะฉีดครีมรสนั้นเข้าไป เมื่อกัดคำแรกถึงกับเคลิ้มเพราะรสหวานกลมกล่อมและเข้มข้นมาก ราคาต่อช้ินคือ 300 เยน แพงนะเนี่ย ... 
แต่คุ้ม


     หลังจากสำเร็จโทษเจ้าชูครีมแล้วเราก็เดินลงจากวัด เพื่อเดินต่อไปยังถนนสายปรัชญา (Philosopher’s walk) ซึ่งตั้งชื่อนี้เพราะว่าอาจารย์ที่สอนวิชาปรัชญาที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง 
คีทาโร่ นิชิดะ (Kitaro Nishida) มีบ้านอยู่ในละแวกนี้จึงมักชอบเดินเล่นใช้ความคิดและนัดพบปะกับนักคิดท่านอื่นๆ
     ถนนนี้เป็นถนนเส้นเล็กๆ ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ทอดเลียบไปกับคลองเล็กๆ มีต้นซากุระกับต้นเมเป้ิลปลูกเรียงราย และมีวัดใหญ่เล็กตลอดเส้นทางมากมาย  ยามฤดูใบไม้ร่วงมาถึงจึงเป็นสถานที่ยอดฮิตของทั้งนักท่องเที่ยวและชาวเมืองมาเดินเล่นชมความสวยงามของธรรมชาติกันอย่างคึกคัก แต่ในวันนี้ในบรรยากาศที่ดอกซากุระร่วงโรยไม่มีสีสันประดับถนนจึงเงียบเหงา ไร้เงาผู้คน แต่ฉันว่าก็ยังคงความสวยมีเอกลักษณ์อยู่ดี ฉันนิยมบรรยากาศของธรรมชาติที่ไร้เสียงสังเคราะห์อยู่แล้วเพราะทำให้หัวใจเต้นช้าลงไม่ต้องเต้นแข่งกับจังหวะชีวิตที่รีบเร่ง ต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือด ขวนขวายหาออกซิเจนลงปอด แต่ในวันนี้ฉันสามารถเดินเรื่อยเฉื่อยหยุดพักถ่ายรูปสิ่งละอันพันละน้อยที่น่ารัก แวะดูบ้านช่องในละแวกนั้น ซอกซอนหาซอยเล็กซอยน้อยที่นำไปสู่วัดที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ



     ความเปลี่ยนแปลงคือเรื่องธรรมชาติ ต้นไม้จะผลัดใบใหม่ผลิดอกออกผลในทุกปีและแล้วก็ต้องเหี่ยวเฉาผลัดใบเหลือแต่กิ่งก้านแห้งแล้ง แต่แล้วเมื่อฤดูกาลใหม่มาเยือนมันก็จะผลิใบใหม่ต้อนรับอะไรใหม่ๆ เป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่ามันจะตาย ก็เหมือนมนุษย์เรา คุณเคยสังเกตไหมว่าชีวิตเราก็มีขึ้นมีลงเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คงไม่มีใครมีแต่ความสุขในชีวิตไม่มีเรื่องร้อนใจให้พบเจอ แล้วก็คงไม่มีใครทุกข์เข็ญจนหาเรื่องให้ชุ่มชื่นหัวใจไม่ได้ ถ้าเราลองมีความสุขได้กับเรื่องง่ายๆ เราก็จะรู้สึกว่าชีวิตเราไม่ได้ยากอย่างที่คิด
     วัดแรกที่ตั้งอยู่บนเนินเขาก็คือวัด โฮเนนอิน (Honenin) วัดนี้เป็นวัดพุทธนิกาย โจโด 
ซึ่งก่อตั้งโดยโฮเนน โชนิน (Honen Shonin) เป็นนิกายที่แตกมาจากศาสนาพุทธและนับถือพระพุทธเจ้าอมิดะ (Amida Buddha) คำสอนหลักๆ ก็คือ ความเชื่อที่ว่าศาสนาพุทธนั้นต้องมีความง่ายในการยึดถือและปฏิบัติไม่ว่าจะปฏิบัติที่ไหนและเวลาใด นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการกำจัดอัตตาในตัวเองออกไปเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คนถือดีและทำบาป


     วัดอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก และเงียบเชียบจนฉันเกรงว่าเสียงหายใจจะดังไปรบกวนใครเข้า มีสวนเล็กๆ และสวนหินแบบญี่ปุ่น ที่จะเปลี่ยนลายไปเรื่อยๆ โดยพระประจำวัด ถ้าใครมานั่งสงบจิตสงบใจหรือนั่งสมาธิน่าจะได้ประโยชน์มาก
     เมื่อเดินกลับลงมายังถนนสายปรัชญาก็เริ่มมีอาการหิว แต่ด้วยความที่เป็นช่วงสิ้นปีร้านรวงต่างปิดกันเงียบเชียบ จึงต้องยอมทานอาหารที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นสำหรับมื้อกลางวันวันนี้ ร้านนี้ขายอาหารฝรั่งเแบบง่ายๆ เช่นสปาเก็ตตี้ แซนวิช สลัด เราเลือกทานชุดสปาเก็ตตี้ราคา 1,000 เยน 
มีสลัดแถมให้ด้วยถ้วยเล็กๆ รสชาติพอไปไหว แต่ไม่แนะนำ
     เราเดินเล่นต่อไปยังร้าน โยจิย่า (Yojiya) ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องสำอางค์ผลิตในเกียวโต 
มีมากว่าร้อยปีแล้ว เริ่มต้นกิจการจากรถเข็นแล้วจึงขยายต่อเรื่อยๆ และตอนนี้มีสาขามากมายในเกียวโตรวมทั้งแอร์พอร์ตทั่วประเทศ โลโก้ของร้านนั้นเป็นรูปผู้หญิงที่อยู่บนกระจก เป็นการวาดด้วยลายเส้นสีดำ ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นที่จดจำของผู้คนได้อย่างดี ที่สาขาถนนสายปรัชญานี้เป็นบ้านเก่าและมีบริเวณสวน ที่พิเศษคือสาขานี้มีร้านคาเฟ่ขายขนมและเครื่องดื่มด้วย และด้วยความที่ร้านค่อนข้างมีชื่อเสียงจึงมีคนแวะเวียนมาชิมขนมกันมากมายส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่น เราจึงต้องลงชื่อไว้หน้าร้านเพื่อต่อคิว และเดินเล่นชมสวนดูผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไปเพลินๆ มีของที่ผู้หญิงคงชื่นชอบ เช่น แป้งทาหน้า โลชั่น กระดาษซับมัน กระจก ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นคือกระดาษซับมัน ซึ่งมีวิธีการผลิตเฉพาะเจาะจงคือใช้เครื่องผลิตแบบเดียวกับเครื่องที่ตีทองให้เป็นแผ่นเพราะฉะนั้นกระดาษจึงมีคุณภาพในการดูดซับความมันได้ดีแถมยังมีพื้นผิวที่นุ่มอ่อนละมุนกับหน้า เพียงแค่แผ่นเล็กๆ ก็มีพลังในการดูดซับความมันได้ทั่วหน้า แถมยังมีให้เลือกหลายแบบ
     เมื่อถึงคิวเราก็ได้รับการเชิญให้ไปนั่งยังชั้นสองของร้านที่เป็นห้องและมีกระจกใสสามารถมองวิวด้านล่างที่เป็นสวนได้สบายใจ ในส่วนของชั้นล่างนั้นไม่มีโต๊ะตัวใหญ่หากแต่มีเพียงโต๊ะเตี้ยๆ ขนาดพอดีคน ส่วนใหญ่ก็จะมานั่งทานขนมกันเป็นคู่ได้อารมณ์ไปอีกแบบ



     เราสั่ง “Kyoto style Ice-cream” มาแบ่งกันทาน ซึ่งประกอบไปด้วย ไอสกรีมวานิลลา ขนมโมจิรสชาเขียว ถั่วแดงบด และราดอีกทีด้วยถั่วชนิดต่างๆ เช่น วอลนัท และข้าวคั่ว รสชาติอร่อย กลมกล่อม ไม่หวานเลี่ยนจนเกินไปนัก ฉันสั่ง ชาเขียวคาปุชชีโน่หน้าตาดูดีด้วยการนำผงชาเขียวมาโรยวาดเป็นหน้าตาโลโก้ของร้านบนฟองนมเนื้อนุ่ม รสชาติรึก็เข้มข้นมากๆ ได้อารมณ์ไปอีกแบบ ดูเหมือนว่าในชีวิตประจำวันของเราที่อยู่ที่ญี่ปุ่นนั้นจะพัวพันอยู่กับชาเขียวไปซะทุกมื้อ ดื่มกันเหมือนเป็นน้ำเปล่าทีเดียว แถมยังนำไปผลิตเป็นขนมอีกมากมายหลายหลากรูปแบบ หลังจากที่ฉันเริ่มหน่ายกับการยัดเยียดขายชาเชียวที่เมืองไทยผ่านสื่อต่างๆ ตลอดเวลาหลายปีนั้น ทำให้รู้สึกเบื่อๆ เพราะรู้สึกว่ามันเฝือ เริ่มเอียนและไม่เชื่อว่ามันจะมีสรรพคุณดีจริงตามโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้น แต่พอมาเที่ยวญี่ปุ่นฉันกลับรู้สึกเห็นถึงคุณค่าของชาเขียวอีกครั้ง คนญี่ปุ่นเค้าดื่มกันเป็นเรื่องเป็นราว ดื่มเป็นกิจวัตร เป็นวัฒนธรรม มีความพิถีพิถัน 
ดื่มเพราะเชื่อว่าดีต่อสุขภาพจริงๆ ไม่ใช่ดื่มเพราะเป็นแฟชั่น ไม่กี่นานก็เบื่อ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น