01 กรกฎาคม 2555

1. จุดเล็กๆ ..​.​ บนโลกนี้

     
     “การเดินทางคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะเราจะได้เจอเรื่องราวและผู้คนมากมาย ผมไม่ได้เรียนหนังสือแต่ผมเรียนจากการเดินทาง"
     หนุ่มแคชเมียร์คนขายกระเป๋าหนังแกะบอกกับเราหลังจากที่สร้างความประทับใจแบบไม่ตั้งใจด้วยเทคนิคการขายที่ไม่เร่งเร้า จู่โจม แต่กลับดูโดดเด่นต่างจากพ่อค้าทั่วๆ ไปที่แคชเมียร์เพราะช่างพูดได้โดนใจผู้บริโภคอย่างเราๆ ประหนึ่งว่าได้ผ่านการร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยสาขามาร์เก็ตติ้ง เอกจิตวิทยา โทขายตรง และแม้ว่าเขาไม่ได้ตังค์จากเรามากมายแต่เขาได้ใจเราไปเต็มๆ
     ฉันก็คิดว่าอย่างนั้นเหมือนกันเพราะนอกจากการเดินทางจะให้ความรู้มากมายแล้วยังแถมพกด้วยประสบการณ์ชีวิตรูปแบบใหม่ๆ และถ้าเปิดใจกว้างซักนิดเราก็อาจจะได้ความรู้สึกดีๆ และความประทับใจเป็นผลผลอยได้จากการเดินทางกลับมา (ของช้อปปิ้งนั้นละไว้ในฐานที่เข้าใจ) การได้สัมผัสชีวิตผู้คนเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ทำให้เราได้เบิกตาให้โตขึ้นและเบิกใจให้กว้างขึ้น ได้รู้ว่าคนอีกซีกโลกหนึ่ง ที่ละติจูดที่ต่างจากเรานั้น เขามีความเป็นอยู่และทัศนคติในการใช้ชีวิตอย่างไร และ ณ ดินแดนที่เหนือสุดและหนาวสุดของอินเดียนั้นก็มีเรื่องราวความประทับใจ สนุกสนาน ทรหดอดทนและมิตรไมตรี ซึ่งจะทำให้ฉันและเพื่อนร่วมเดินทางได้จดจำไปอีกนาน 
     ฉันได้เห็นภาพลาดัคห์ชัดเจนขึ้นจากหนังเรื่องหนึ่ง “Valley of Flowers” ฉากธรรมชาติสวยๆ นั้นทำให้รู้สึกตะลึงพรึงเพริด ภูเขาอันยิ่งใหญ่ตระการตาสร้างความรู้สึกลึกลับชวนค้นหา ทุ่งดอกไม้สีสดใสอันกว้างใหญ่ไพศาลที่เหมือนใครตั้งใจแต้มสีเพ่ิมความงามให้กับโลกใบนี้ 
ล่อใจให้อยากไปสัมผัสซักครั้งส่วนแคชเมียร์ดินแดนแห่งขุนเขาและสายน้ำก็เป็นอีกหนึ่งในสถานที่ที่ฉันอยากไปมานานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสอันเนื่องมาจากความอ่อนไหวด้านการเมือง แต่เมื่อเวลาและโอกาสเดินทางมาพบกันแถมพกด้วยความมุ่งมั่นฉันจึงกำหนดวันเดินทางที่แน่นอนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมตัว
     ช่วงวันที่ 25 กันยายน ถึง 5 ตุลาคม 2553 เป็นช่วงที่ฉันจะออกไปผจญภัย ผจญโลก 
ผจญคนอีกครั้ง     
     “ไปแคชเมียร์เนี่ยนะ เมื่อวันก่อนเค้ายังยิงกันอยู่เลยไม่ใช่เหรอ”
     หลายคนรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย
     “ก็ นั่นมันวันก่อน …” ฉันแถ
     “มันอันตรายนะ” ผู้ห่วงใยยังไม่ลดละความพยายาม
     “กรุงเทพก็ยิงกันและมีระเบิดทุกวันเหมือนกัน คนเราถ้าจะตายมันก็ตายได้ทุกที่น่ะแหล่ะ”
     บางครั้งฉันก็อาจจะเป็นคนมุทะลุเกินไปไม่ค่อยจะเกรงกลัวอะไรซึ่งทำให้หลายๆ คนเป็นห่วง หลายหนฉันจึงต้องบอกข้อมูลแบบไม่หมดแต่ไม่ใช่โกหก
     การเดินทางไปอินเดียครั้งที่ 3 นั้นฉันยังวางใจใช้บริการการจัดทัวร์ของโกลบอลฮอลิเดย์เช่นเคยเพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทางเพราะมีคนตระเตรียมให้หมดและประหยัดพลังงานในการดิ้นรนขวนขวายไปยังที่แสนไกลต่างๆ ซึ่งเราชาวกรุงไม่มีเวลามากพอที่จะเสีย หากแต่อยากตักตวงทุกสัมผัสที่จุดหมายปลายทางให้ได้มากที่สุด ฟังดูเหมือนคนเห็นแก่ตัวแต่พวกเราเหมือนคนขาดออกซิเจนในการดำรงชีวิต ด้วยชีวิตในเมืองหลวงนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย การต่อสู้ฝ่าฟัน การเอารัดเอาเปรียบ การใส่ร้ายซึ่งกันและกัน คำพูดที่รุนแรงไม่นึกถึงจิตใจคนอื่น เราจึงต้องไปหาออกซิเจนให้ชีวิตในดินแดนที่มีออกซิเจนในชั้นบรรยากาศน้อยเหลือเกินหากแต่เป็นออกซิเจนที่บริสุทธิ์ท่ามกลางความล้าหลังด้านเทคโนโลยีทั้งปวง
     คราวนี้ฉันมีเพื่อนร่วมเดินทางหน้าใหม่ 2 คน ขอแนะนำคุณผู้อ่านก่อนนะคะ
     นฐ เป็นเพื่อนรุ่นน้องของฉัน จริงๆ เขาเป็นเพื่อนของเพื่อนอีกที แต่เนื่องจากรู้จักกันมาหลายปีจึงเกิดความคุ้นเคยและประทับใจในนิสัยใจคอกันดี เขาเป็นโปรดิวเซอร์ในบริษัทโฆษณาชื่อดังแห่งหนึ่ง จึงมีชีวิตที่วุ่นวาย สับสนอลหม่าน ยุ่งเหยิง และไม่มีเวลาที่แน่นอนแต่เขาก็เจียดเวลาไปดูคอนเสิร์ตนักร้องวงโปรดกับฉันอยู่บ่อยครั้ง เขาพูดเสมอว่าอยากร่วมเดินทางไปเที่ยวไหนๆ กับฉันซักครั้งหลังจากที่ติดตามอ่านหนังสือของฉันมาหลายเล่ม คงคิดว่าการเดินทางของฉันมันช่างระหกระเหินและพบเจอเรื่องราวมากมายไม่เหมือนประสบการณ์การเดินทางของเขา คราวนี้ฉันจึงตอบสนองความต้องการของเขาด้วยการไปเที่ยวอินเดีย มันคงเหมือนการเรียนจบมัธยมปลายแล้วบังคับให้ต่อดอกเตอร์เลย … ​เรามาลองดูกันว่า เขาจะรับมือกับอินเดียยังไง
     พี่มาลีเป็นเพื่อนรุ่นพี่ของนฐอีกที เคยทำงานที่เดียวกันมาหลายปีตั้งแต่นฐเริ่มทำงานใหม่ๆ ทั้งสองมักจะร่วมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกันบ่อยๆ จนคุ้นเคยนิสัยกันดี พี่ลีอยากไปอินเดียมานานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสเพราะใครๆ ก็เบือนหน้าหนีอินเดียกันทั้งนั้นอย่างกับเห็นกิ้งกือไส้เดือน เมื่อพี่ลีรู้ว่านฐจะไปทริปอินเดียกับฉัน เธอไม่รีรอเลยที่จะสมัครเป็นก๊วนร่วม
ทริปด้วย
     จริงๆ แล้วฉันควรจะมีเพื่อนไปอีกหนึ่งคนรวมเป็น 4 ลงตัวพอดี ถ้าใครจำพี่จิ๊กจากทริป
อินเดียครั้งที่แล้วของฉันได้ นั่นแหล่ะบุคคลผู้โชคดีที่ฉันคัดกรองแล้วว่าจะผ่านพ้นทริปนี้ไปด้วยกันได้อย่างดี แต่ในที่สุดด้วยชีวิตที่ยุ่งเหยิง เวลาที่ไม่ลงตัว เธอจึงขอถอนตัวออกไป 
ทริปนี้จึงเป็นสามเกลอหัวแข็งผจญอินเดียว่าด้วยลาดัคห์และแคชเมียร์ในคราวเดียวกัน
     เอาล่ะ ก่อนจะนำเที่ยวกันต่อมารู้จักลาดัคห์ 101 กันซักนิด
     ลาดัคห์อยู่ภายใต้แคว้น จัมมูและแคชเมียร์​ (Jammu & Kashmir) ทางตอนเหนือสุดของอินเดียมีดินแดนติดกับปากีสถานและทิเบต (จีน) ถูกรายล้อมด้วยเทือกเขาหลายหลาก 
อันได้แก่ หิมาลัย (Himalaya ) อันยิ่งใหญ่ คาราโครัม (Karakoram) ที่กั้นอินเดียจากปากีสถาน เทือกเขาลาดัคห์ (Ladakh) และซันสการ์​ (Zansgar) มีแม่น้ำสินธุ ( หรือ Indus 
ในภาษาอังกฤษ) ตัดผ่าน อยู่ในพื้นที่สูงถึงตั้งแต่ 2,700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลและมียอดเขาที่สูงสุดถึง 7,600 กว่าเมตร พื้นที่กว้างใหญ่ครอบคลุมอาณาเขตของแคว้นถึง 2 ใน 3 เลย
ทีเดียวแต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาเลยมีประชากรอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 30,000 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมหายาน มีความใกล้เคียงด้านศาสนา ภูมิประเทศและวัฒนธรรมกับทิเบตจึงมักถูกเรียกว่า “ทิเบตน้อย” ลาดัคห์เป็นดินแดนเกิดใหม่มาไม่กี่ล้านปีนี้เอง (อืมม์​ … ใหม่มาก)​ เกิดจากการเคลื่อนไหวและดันตัวของเปลือกโลกทำให้เกิดเป็นภูเขาและแม่น้ำลำธารน้อยใหญ่มากมาย ลักษณะอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในช่วงหน้าร้อน (มิถุนายนถึงสิงหาคม) ประมาณ​ 25 องศาเซลเซียส (สำหรับชาวเมืองร้อนอย่างเราถือว่ากำลังสบาย)​ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ในช่วงหน้าร้อนจนถึงเข้าฤดูหนาว ประมาณ​ช่วงมิถุนายนถึงตุลาคมเท่านั้น เมื่อเข้าหน้าหนาวจะมีหิมะตกและอากาศหนาวเย็นมากถึงขั้นติดลบมากๆ 
อาจจะดิ่งถึง -25 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว การเดินทางเป็นไปได้อย่างยากลำบากทำให้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกถึง 6 เดือน เขาจึงต้องพึ่งพาทำมาหากินกันในฤดูกาลท่องเที่ยวและเก็บไว้กินไว้ใช้ในช่วงหน้าหนาว
     ฟังดูก็เหมือนจะเป็นดินแดนเร้นลับชวนค้นหาไปมาหาสู่ได้ยาก นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งของการเลือกไปเที่ยวที่นี่ ส่วนสาเหตุอื่นคงเป็นเรื่องความชอบส่วนตัว ชอบความสวยงามและยิ่งใหญ่อลังการของเทือกเขาเพราะมันทำให้เราดูตัวเล็กเหลือเกิน ทำให้เราสำนึกได้ว่าเราไม่ใช่คนสำคัญ ไม่มีความยิ่งใหญ่ใดๆ เราเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ จุดนึงบนพื้นโลกนี้เท่านั้น เมื่อจุดนั้นถูกลบเลือนไป ก็คงไม่มีใครได้ทันสังเกตุ และส่วนที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและผู้คนที่ยังคงยึดเหนี่ยวกับศาสนาและการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม แบบที่พึ่งพาธรรมชาติ เป็นสังคมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์น้อยใหญ่ ดินแดนแถบหิมาลัยนี้จึงถือเป็น
ชัมบาลาในใจฉัน เป็นที่พักผ่อนจากโลกที่ยุ่งเหยิงในยุคปัจจุบัน  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น