17 กรกฎาคม 2555

17. ผิดที่ ... ผิดทาง

     ถนนไปศรีนาการ์นั้นถือว่าอยู่ในระดับแย่ ทั้งสูงทั้งสะเทือนก้นเพราะรถถูกบดทับลงไปกับลูกรัง ชีวิตนี้มีแต่เขากับเรา เวลาใกล้บ่ายสองเต็มที ฉันเริ่มหิว เพราะมื้อแรกเมื่อตอน 7 โมงเช้านั้นถูกย่อยสลายไปหมดแล้ว ฉันเริ่มงอแงเพราะทั้งหิวทั้งปวดฉี่อีกแล้ว ชาบีร์เลยหยุดรถแวะแถวร้านขายของชำข้างทาง ซึ่งเป็นที่หยุดพักของรถบรรทุกต่างๆ มีแต่ชาวท้องถ่ินแวะทานอาหารกัน ไม่มีนักท่องเที่ยวให้เห็น หลังจากสั่งบะหมี่น้ำกันคนละชาม (Maggie Noodle) มากินกันตาย ฉันก็เริ่มเล็งมองหาห้องน้ำ แต่โชคไม่เข้าข้าง ไม่มีวี่แววของห้องน้ำซักนิด 
แถมดูๆ ไปแล้วถึงมีก็น่าจะสยองกว่าห้อง “Don’t go in” ซะอีก ฉันเดินอ้อมไปด้านหลังร้านซึ่งมีภูเขาลูกใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า โดยมีนฐเดินตามมา
     “นฐ พี่ว่าพี่ไม่ไหวแล้วล่ะ ท่าทางจะต้อง outdoor” ฉันตัดสินใจว่าจะฉี่กลางเขานี่แหล่ะ
     “ช่วยยืนดูต้นทางให้หน่อยนะ อย่าให้ใครผ่านเข้ามาได้” ฉันเดินไปหลบตรงบริเวณมุมตึกและค่อยๆ นั่งลงทำธุระ เมื่อทุกอย่างได้ปลดปล่อยออกมาฉันเข้าใจลึกซึ้งถึงคำว่า “ปลดทุกข์” ก็คราวนี้ แม้ว่าจะเป็นทุกข์เบาก็ตาม แต่ยังไม่ทันปล่อยทุกข์ได้หมดดี มีเด็กชายสองคน
ดันเดินอ้อมมาอีกทางหวังจะมาทำธุระเช่นกัน แต่เมื่อมองมาเห็นฉันในท่าอันแสนอุจาดตา 
เด็กก็หัวเราะกันคิกคักแล้วเดินจากไป คงคิดว่าไปปล่อยเอาดาบหน้าดีกว่าให้ยายป้านี่
เห็นของรักของหวง บอกตามตรงว่าตอนนั้นคำว่า“อาย” ได้หายไปจากพจนานุกรมส่วนตัว
ของฉันชั่วคราวเพราะคำว่า “ปวด” มันมีสาระสำคัญมากกว่า เมื่อเสร็จธุระแล้ว ความรู้สึก
เหมือนได้ลอยอยู่บนปุยเมฆ เบาสบายอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน กลับมานั่งกินบะหมี่ภายในร้านสบายใจเฉิบ




     ยืดเส้นยืดสายซักครู่เพื่อเตรียมนั่งขดตัวในรถต่อไปอีกสองชั่วโมงแล้วเราก็มาถึง “Chamba Statue” ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธรูปศรีอาริยเมตไตรย์ซึ่งถูกสลักบนภูเขาสูงใหญ่ โดยมีวัดสร้างด้านหน้าทำให้บดบังทัศนียภาพของรูปสลักทั้งองค์ ต้องผ่านเข้าไปในวัดถึงจะได้มีบุญเห็นองค์เต็ม แต่เราโชคร้าย ตอนที่ไปวัดถูกปิดไว้ โดยที่ไม่มีใครมีกุญแจเปิด 
น่าเสียดายมากๆ ว่ากันว่ารูปสลักนี้มีมาแต่ครั้งศตวรรษที่ 8 โน่น สมัยก่อนบริเวณตรงนี้เป็นเส้นทางการค้าโบราณ และตามความเชื่อเดิมๆ นั้นจะมีการทำพิธีบูชายัญแพะเพื่อสังเวยให้กับพระศรีอาริยเมตไตรย์ตามความเชื่อแบบเดิมๆ แต่กษัตริย์แห่งลาดัคห์นามว่า “Lde” ซึ่งทำการปกครองในช่วงศตวรรษที่ 14 ได้ทรงประกาศห้ามไม่ให้มีการทำพิธีบูชายัญโดยการฆ่าสัตว์อีก ซึ่งเป็นเรื่องหนักใจสำหรับชาวบ้านในแถบนั้นมากแต่ก็ต้องทำตาม สัตว์น้อยใหญ่จึงพลอยได้ผลบุญไปด้วย



     เราออกเดินทางอีกครั้ง จุดหมายปลายทางของวันนี้คือเมืองตรงบริเวณชายแดนติดกับปากีสถาน “คากิล” (Kargil) ที่ซึ่งเราจะแวะพักค้างคืนถือว่าเป็นครึ่งทางระหว่างเลห์กับ
ศรีนาการ์ คนที่เดินทางโดยรถยนต์ต้องผ่านเส้นทางนี้ทุกคนและต้องแวะพักค้างคืน เพราะทางที่ลัดเลาะไปกับภูเขาอันตรายเกินกว่าที่จะฝ่าฟันไปต่อได้ เส้นทางในช่วงนี้ทิวทัศน์เปลี่ยนไป 
เร่ิมมีต้นไม้ต้นใหญ่น้อยและมีสีเขียวสีส้มให้ความรู้สึกอบอุ่นมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้ ที่เค้าว่ากันว่าเส้นทางเลห์-ศรีนาการ์นั้นสวยงามสมควรที่จะผ่านไปซักครั้งในชีวิต ฉันก็เห็นด้วย เพราะนอกจากความสวยงามแล้วยังเต็มไปด้วยเรื่องราวการผจญภัย ความหวาดเสียว การฝึกความอดทนในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย
     “เมืองคากิลไม่มีอะไรมากหรอกนะคุณ เป็นเมืองชายแดน ไม่มีที่ท่องเที่ยวอะไร” ชาบีร์เกริ่นนำ
     บรรยากาศที่เริ่มโพล้เพล้ประกอบกับความเงียบเหงาทำให้เรารู้สึกแปลกๆ พิกล
     “เห็นทิวเขาตรงนั้นมั้ยครับ ด้านหลังนั่นเป็นปากีสถาน”
     เรามองตามไป รู้สึกเสียวๆ
     “ร้านตรงนั้นเคยมีระเบิดมาลงกลางร้านเลย” ชาบีร์ยิ่งสร้างความรู้สึกหวาดหวั่นให้เราเข้าไปอีก
     เราพลางมองหน้ากันไปมา หวังให้ผ่านคืนนี้ไปด้วยดี ขออย่าได้มีเหตุไม่ดีอะไรให้ระทึกใจเลย


     รถพาเราไปถึงโรงแรม D’zojila ซึ่งเป็นหนึ่งในสามโรงแรมที่ดีที่สุดที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวพักแรมที่เมืองคากิล ก่อนผ่านทางไปยังศรีนาการ์ สภาพโรงแรมคล้ายๆ ต่างจังหวัดบ้านเรา วันนั้นไม่มีแขกพักมีแต่เราเพียง 3 คนเท่านั้น เมื่อเขาส่งเราลง โลตัสก็ใส่เกียร์เตรียมพร้อมที่จะขับออกไป
     “เดี๋ยวๆ แล้วกระเป๋าเราล่ะ”
     “อ้าว พวกคุณจะเอากระเป๋าลงด้วยเหรอ” ชาบีร์ถามพร้อมกับหน้างงๆ
     เราก็งงด้วย เพราะถ้าไม่มีกระเป๋าเราจะอาบน้ำเปลี่ยนชุดยังไง เขาคงนึกว่าจะมาปล่อยให้เรานอนแล้วตื่นมาก็พร้อมออกเดินทางเลย หารู้ไม่ซะแล้วว่าคนไทยรักการอาบน้ำแค่ไหน
     ว่าแล้วโลตัสก็ปีนขึ้นไปขนกระเป๋าจากด้านบนรถลงมาด้วยความทุลักทุเล เพราะกระเป๋าแต่ละคนใช่ว่าจะขนาดจุ๋มจิ๋ม
      เราขึ้นไปด้านบนห้องพักกะว่าจะล้างหน้าล้างตาให้สดชื่นหน่อย เปิดก๊อก น้ำเย็นเจี๊ยบไม่มีวี่แววของน้ำอุ่น
      ฉันเดินลงไปด้านล่างถามไถ่กับหนุ่มพนักงานต้อนรับหน้ามล
      “เอ่อ ไม่ทราบว่าน้ำอุ่นมีตอนไหนบ้าง แล้วไฟปิดตอนกี่โมง”
      “ไม่มีหรอกครับ นี่ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว ไฟมีตลอดจะดับแค่ตอนห้าทุ่ม แต่ดับแค่แป้บเดียวแล้วก็มาเหมือนเดิม” เขาตอบซื่อๆ
      ห๊า ….. ตายล่ะ แล้วเราจะอาบน้ำยังไงนั่งรถตากแดด ตากลม ตากฝุ่นมาทั้งวัน
      “แต่ถ้าจะให้ต้มเป็นถังๆ ให้ก็ได้ครับคุณจะเอากี่ถัง แต่พรุ่งนี้เช้าจะมีน้ำอุ่นตั้งแต่ตี 4 เป็นต้นไป” โอวว์ เสียงสวรรค์แท้ๆ
     ดีเลย เดี๋ยวขอมา 2 ถังนะ แต่ไว้ค่อยเอามาให้ตอนหลังทานข้าวเย็นแล้วกัน” ฉันค่อยโล่งใจหน่อย ฉันสบายใจเรื่องน้ำอุ่นแล้วก็เลยชักชวนนฐออกไปเดินเล่นชมเมืองกัน ส่วนพี่ลีขอพักผ่อนทำตัวให้คุ้นกับโรงแรมชายแดน
     เราออกเดินมุ่งหน้าไปตรงที่เป็นบริเวณสนามฟุตบอลซึ่งอยู่ใกล้ๆ โรงแรม ไปเดินดูเด็กๆ เล่นฟุตบอลกัน สนามมีขนาดค่อนข้างใหญ่ สามารถเล่นได้ทั้งฟุตบอล คริกเก็ต ฯลฯ ประมาณว่าเป็นลานกีฬาต้านยาเสพติด ณ คากิล
     “จู๊เล” เราส่งเสียงทักทายเด็กๆ ที่อยู่บริเวณขอบสนาม
     “โคนิชิวะ” เด็กตอบ เขาคิดว่าเราเป็นชาวญี่ปุ่นล่ะมัง
     “เราไม่ใช่คนญี่ปุ่นหรอกนะ”
     “แล้วคุณเป็นคนชาติอะไร” “จีน” “ไต้หวัน” “สิงคโปร์” เขาเดาไปเรื่อย
     “ผิดทุกข้อ”
     “เลห์” เขาถามพร้อมรอยยิ้ม
     “ใช่แล้ว เราเป็นคนเลห์”
     เขาหัวเราะกันคิกคัก
     “เรามาจากเมืองไทยน่ะ” ฉันเฉลย
     “ไทยแลนด์” เด็กพูดแบบเน้นเสียงพร้อมยิ้มแก้มตุ่ย
     เราเดินเรื่อยเปื่อยไปถึงแม่น้ำ “ซุรุ” (Suru) ที่ตัดผ่านเมือง ชื่นชมทัศนียภาพของบ้านเรือนที่อาศัยกันอยู่ตามไหล่เขาโดยมีภูเขาโอบล้อม นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่าถ้าเรามาอยู่ที่นี่เราจะทำอะไรและมีชีวิตแบบไหน



     เราเดินกลับโรงแรมเมื่อพระอาทิตย์เร่ิมจะโบกมือลาฟากฟ้า ฉันน่าจะเป็นผู้หญฺิงคนเดียวที่มาเดินเล่นฝ่าสนามบอล แถมยังแต่งตัวประหลาด ปล่อยผมโดยไม่มีผ้าคลุมศรีษะ ที่นี่เขาเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดมาก
     นั่งเล่นซักครู่ฆ่าเวลาโดยการเขียนบันทึกการเดินทางในวันนี้เพื่อรอทานอาหารเย็น อาหารที่นี่รสชาติแปลกไปกว่าที่เคยทานมาทุกมื้อ เหมือนว่าเขาใช้เครื่องเทศคนละชนิดกัน มีวิธีการปรุงที่ต่างกัน  ถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารชนิดเดียวกันก็ตาม                 
     หนุ่มพนักงานต้อนรับเดินมาถามเราว่าพอทานได้มั้ย
     เราก็บอกไปว่าทานได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ค่อยถูกปากนัก เขาบอกว่าเขาเองไม่ชอบอาหารไทยเลย เพราะกล่ินที่แปลกๆ เราไม่รู้ว่าเขาไปลองทานอาหารไทยที่ไหนและชนิดไหน เพราะน้อยคนมากที่จะไม่ชอบอาหารไทย แต่ก็ดีตรงที่เขาดูพูดจาตรงๆ จริงใจดี ระหว่างที่ทานอาหารนั้น
นฐเหลือบไปเห็นตึกด้านหลังโรงแรมที่มีไฟประดับประดาสว่างไสวและมีเสียงเพลงเบาๆ คล้ายที่เที่ยว จึงถามเจ้าหนุ่ม
     “ที่นั่นจัดงานอะไรเหรอ”
     “อ๋อ งานแต่งงานของหลานเจ้าของโรงแรมนี้น่ะครับ คุณอยากไปมั้ย”
     “เราไปได้เหรอ” นฐถามต่อ
     “ไปได้สิครับ ถ้าอยากไป เดี๋ยวผมพาไปเอง”
     “ไปสิ” เราดีใจจนออกนอกหน้าที่จะได้ไปร่วมงานแต่งงานแบบท้องถ่ิน
     เมื่อทานอาหารเสร็จฉันเดินไปคว้ากล้องคู่ใจเผื่อได้เก็บภาพบรรยากาศในงาน
     เขาพาเราเดินอ้อมไปด้านหลังโรงแรมเพื่อไปยังบ้านที่จัดงานซึ่งเป็นงานแต่งงานของ 
“มูตาซา” (Murtaza) และ “ซาเยดา”​(Sayeda) เราเดินลอดซุ้มต้อนรับด้านหน้าเข้าไป เมื่อไปถึงด้านในบ้านมีญาติพี่น้องของเจ้าบ่าวยืนกันเต็มไปหมดใส่ชุดสูทเรียบร้อย ส่วนเราแต่งมายังไงตั้งแต่เช้าก็ยังอยู่ในสภาพนั้น เขาพากันหยิบกล้องและวิดีโอขึ้นมาถ่ายภาพเรา แสงแฟลช
วูบวาบ รู้สึกแปลกๆ เหมือนเป็นดารา จริงๆ แล้วเขาอาจจะอยากถ่ายของแปลกมากกว่า
     ทุกคนดูจะตื่นเต้นมากที่มีแขกต่างชาติมา ต่างพากันต้อนรับจนพวกเรางงไปหมดเริ่มทำอะไรไม่ถูก เขาแนะนำเราให้รู้จักกับพ่อของเจ้าบ่าวซึ่งให้การต้อนรับเราอย่างดีมากแถมยังให้เราเอาผ้าขาวพันคอท่านผู้อาวุโสสองท่านที่นั่งอยู่ด้านหน้า เหมือนเป็นธรรมเนียมในการทำความเคารพ เราเก้อๆ กังๆ ทำอะไรไม่ค่อยถูก หลังจากนั้นเขาพาเราไปนั่งที่ห้องรับรองแขกชั้นสอง ซึ่งมีขนมและชาไว้ต้อนรับ ชาแคชเมียร์มี 2 แบบ คือรสหวานและรสเค็ม รสชาตินุ่มลิ้นและมีกล่ินของสมุนไพรอ่อนๆ
     ซักครู่หนึ่งเจ้าบ่าวก็เดินเข้ามาในห้องและทักทายเรา เราจึงอวยพรให้เขามีความสุขในวันแต่งงาน
     “นี่เป็นงานแต่งงานแบบมุสลิมน่ะครับ งานนี้เป็นงานเลี้ยงของฝ่ายเจ้าบ่าว ส่วนเจ้าสาวแยกกันเลี้ยง” หนุ่มน้อยพยายามอธิบาย
     “แล้วพิธีมีอะไรบ้าง มีกี่วัน” ฉันถาม
     “เดี๋ยวจะมีการเต้นรำมั้ย ตอนไหน” นฐถามต่อ
     “เอ่อ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมเป็นฮินดู” เขาตอบหน้าใส
     เขาพาเราลงไปด้านล่างอีกครั้งและไปดูบริเวณรอบๆ งาน ด้านล่างนั้นแบ่งเป็นบริเวณที่เตรียมไว้สำหรับทานอาหาร กางเป็นเต้นท์ขนาดใหญ่ ผู้ชายที่มาร่วมงานจะมานั่งรวมตัวรอทานอาหารอยู่บริเวณนี้ ซึ่งฉันเพ่ิงสังเกตุรอบๆ ตัวว่านอกจากแม่และน้องสาวเจ้าบ่าวแล้วมีเพียงฉันกับพี่ลีที่เป็นผู้หญิง
     “เอ่​อ ตัวอะไรเอ่ยไม่เข้าพวก” ฉันคิดในใจ
     เราไปยืนงงๆ ในขณะที่ชายเกือบทั้งเต้นท์หันมามองเราเป็นตาเดียวกัน ฉันยืนน่ิงไป
ทำอะไรไม่ถูก นฐจึงต้องเตือนสติ
     “ถ่ายรูปสิพี่”
     ฉันหยิบกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ และเริ่มรู้สึกว่าเราอยู่ไม่ถูกที่ถูกทางเท่าไหร่ คิดว่าควรจะปลีกตัวไปดีกว่าไม่อยากทำให้ทุกคนต้องวุ่นวาย ฉันเดินกลับออกมา คุณพ่อเจ้าบ่าวหยุดฉันไว้
      “คุณไปนั่งสบายๆ รอที่ด้านบนก่อนนะ เดี๋ยวพอต้อนรับแขกหมดแล้ว ผมจะไปดูแลพวกคุณเอง”
      “ไม่เป็นไรค่ะ ไม่ต้องเป็นห่วง ขอบคุณมากๆ เลยที่ให้เราได้เข้ามาร่วมงาน”
      บางทีเวลาที่เราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เราอาจจะได้รับของขวัญที่มีค่าบางอย่างแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ของขวัญกล่องนี้เรียกว่า “มิตรภาพ”





      ฉันรู้สึกว่าคนท้องถิ่นแถวนี้ใจดีมาก ต้อนรับขับสู้แขกแปลกหน้าอย่างเราอย่างดี เรากลับออกมาจากงานเพื่อไปพักผ่อนเตรียมตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่ออกเดินทางในเวลา 6 โมงเช้า ตามที่ชาบีรย์กำหนด
     หลังจากอาบน้ำอุ่นจากถังที่เขานำมาส่งแล้วก็รู้สึกสบายตัวขึ้น ไม่นานนักฉันก็บังคับให้
ตัวเองหลับไปในห้องที่แสนอุดอู้ โดยมีเพลงจากงานแต่งงานเล็ดลอดเข้ามาในห้องตามจังหวะการเต้นของหัวใจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น