20 กรกฎาคม 2555

20. นักแสดงจากเมืองไทย

การใช้ชีวิตที่ศรีนาการ์ดูจะไม่มีอิสระเท่าที่เราต้องการเพราะจะไปไหนมาไหนก็ต้องอาศัยเรือชิคาร่าพาไปขึ้นฝั่งก่อนถึงจะสามารถต่อรถไปที่อื่นๆ ได้
สำหรับเวลาที่เหลืออยู่อย่างน้อยนิดก่อนจะมืดค่ำ โปรแกรมการท่องเที่ยววันแรกจึงเป็นไปอย่างเบาะๆ
ที่แรกที่เราไปเยี่ยมชมคือมัสยิดสีขาว (White Masjid) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “ฮาสรัทบัล” (Hazratbal) ทำจากหินอ่อนสีขาวทั้งหลังตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาปดัล และมีภูเขาตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง ทำให้ภาพที่ทอดตัวลงไปในทะเลสาปนั้นดูสวยงาม ที่นี่เป็นมัสยิดเพียงแห่งเดียวของแคชเมียร์ที่มีลักษณะเป็นโดม นอกนั้นส่วนใหญ่หลังคามีลักษณะ
แหลมคล้ายๆ เจดีย์ จุดเด่นที่สำคัญของมัสยิดนี้ที่ดึงดูดผู้คนที่มีศรัทธาให้มาเข้าร่วมพิธีกรรม
ก็คือเป็นที่เก็บรักษาปอยผมของพระมูฮัมมัด (Mohammad) ศาสดาของศาสนามุสลิม แต่ไม่ใช่จะได้ชื่นชมกันง่ายๆ เพราะเขาจะนำออกมาให้สักการะเพียงปีละไม่กี่หน เฉพาะช่วงที่มีพิธีกรรมที่สำคัญๆ เท่านั้น ก่อนที่เราจะได้เข้าไปเดินรอบๆ มัสยิดนั้นฉันกับพี่ลีต้องหยิบผ้า
โพกหัวมาปกปิดผมอันสวยงามของเราไว้ก่อน โดยมี รปภ ด้านหน้าจ้องดูอย่างขมักเขม้น พร้อมกักตัวหากผมเราเกิดสยายเกินงามในบริเวณที่ไม่ควร 




บริเวณโดยรอบมัสยิดนั้นเงียบสงบแทบไม่มีผู้คนให้เห็นอาจเพราะเป็นวันเสาร์และไม่ใช่เวลาที่เขาสวดมนต์กัน ดินพาเราไปเดินรอบๆ ด้านนอกซึ่งมีสวนที่มีีความร่มรื่นร่มเย็น 
มีต้นไม้น้อยใหญ่ที่ชาวบ้านต่างใช้เป็นร่มเงานั่งเล่นพักผ่อนกันเป็นครอบครัว เมื่ออ้อมกลับไปด้านหน้าฉันถามดีนว่าจะขอเข้าไปด้านในได้มั้ยเพราะอยากเห็นสถาปัตยกรรมภายใน แต่ผู้ดูแลมัสยิดไม่อนุญาต เขาบอกว่าเข้าได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ฉันอดเคืองและแอบค้อนหน้าคว่ำไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้หญิงถึงต้องถูกกีดกันว่าแล้วก็เดินออกไปโดยปลดผ้าโพกผมออก คิดในใจว่า “ห้ามฉันไม่ให้เข้าก็ได้นะ แต่จะมาบังคับให้ฉันโพกผมไม่ได้อีกแล้ว” ฉันค่อนข้างจะเป็นคนที่ทนไม่ได้กับการที่ผู้หญิงจะถูกริดรอนสิทธิ์หรือถูกปฏิบัติแบบไม่ยุติธรรม แต่ฉันก็เคารพในวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้อื่น พยายามทำความเข้าใจ แต่ด้วยความที่ฉันมีความรู้เกี่ยวกับศาสนานี้ค่อนข้างน้อยก็เลยไม่สามารถโต้ตอบถกเถียงได้มากนัก ไม่อยากสร้างเรื่องใน
ต่างแดน
          ดินพาเราไปแวะที่สวนดอกไม้ชาลีมา (Shalimar) และสวนโมกุล (Moghal) เป็นที่
ถัดไป สวนสาธารณะทั้ง 2 นั้น มีดอกไม้มากมายหลายพันธุ์แข่งกันชู่ช่ออวดสีสันสดใส ทั้งยังมีพื้นที่กว้างขวางเหมาะแก่การมาพักผ่อนในวันหยุดให้สบายใจ เราไม่ได้ใช้เวลาที่นั่นนานนักเพราะเริ่มมืดแล้วและใกล้เวลาปิดของสวนเต็มที





         ระหว่างที่เราเดินสูดอากาศบริสุทธิ์นั้นก็มีชายแปลกหน้าหนวดเคราเฟิ้มเดินเข้ามาประกบเราในระยะประชั้นชิด พลางหยิบของบางอย่างออกมาจากกระเป๋าที่สะพายไว้กับตัว 
         “ผมมีของพื้นเมืองหลายอย่างเลย นี่หมวกขนสัตว์ ใส่แล้วอุ่นมาก ราคาก็งามมาก”
         “ไม่ล่ะจ๊ะ ขอบคุณ ประเทศเราร้อนมากใส่ไม่ได้หรอก” ฉันตอบอย่างสุภาพ
         “แบบนี้ก็มีนะครับ แบบนี้ก็สวย” เขางัดวิชาการขายขึ้นมาใช้ พยายามยัดเยียดให้เราซื้อของจากเขา
         ฉันเริ่มใช้วิชาเขย่งก้าวกระโดดเพื่อให้เขาตามไม่ทันจะได้ปล่อยเราไว้กับความสงบ
         แต่เขาก็ฝีเท้าไม่เบาทีเดียว ตามมาประกบต่อแต่คราวนี้เปลี่ยนจุดหมายใหม่เป็นนฐ
         “คุณล่ะครับ สนใจหมวกนี้มั้ย”
         “ฮัทชิ่ว ๆๆๆ แค่กๆๆๆ” นฐประดิษฐ์เสียงจามและไอ
         “ผมแพ้ขนสัตว์น่ะ แค่กๆๆๆ”
         เขาคิดมุกได้ไวไม่เบาเลยทีเดียว ทำเอาฉันกับพี่ลีอึ้งไปคิดในใจว่า “มันแพ้ตั้งแต่เมื่อไหร่กันวะ”
         พวกเราต่างพากันกลั้นหัวเราะไม่ให้เขาจับได้ ในที่สุดเราก็รอดพ้นเงื้อมมือนักขาย
ชาวพื้นเมืองมาได้
         ฉันกับนฐอยากจะแวะอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ก่อนที่จะกลับไปที่บ้านเรือเพราะไม่ได้เช็คเมล์
มา 2 วันแล้ว เห็นว่าตรงถนนหน้าท่าเรือมีอยู่สองสามร้าน
         “ดีน เราอยากแวะร้านอินเตอร์เน็ตก่อนกลับไปที่บ้านเรือได้มั้ย” นฐถาม
         “อืมม์ … เดี๋ยวต้องดูก่อนนะครับว่าร้านจะปิดรึยังตอนเราไปถึง” เขาทำท่าอึกอัก 
ไม่ค่อยอยากตอบ
         ตอนนั้นเวลาเพียงแค่ 6 โมงเศษๆ เราคิดว่าร้านไม่น่าจะปิดเร็วขนาดนั้น แต่ก็เดาว่าสถานการณ์บ้านเมืองที่นี่ไม่ค่อยปกติ เพราะฉะนั้นชีวิตโดยทั่วไปก็อาจจะไม่ปกติตามไปด้วย
         “ไม่รู้ว่าทัวร์ที่นี่เค้าจะพาเราไปแวะตามร้านขายของเหมือนที่อื่นๆ รึเปล่านะ เห็นเพื่อนพี่เล่าให้ฟังว่าพวกนี้ชอบยัดเยียดให้ไปซื้อของตามร้านที่เขาได้ค่าคอมมิชชั่น” พี่ลีตั้งข้อสังเกตุ
         “ไม่รู้สิ ไม่น่านะ ที่ผ่านมาตลอดทริปก็ไม่เห็นมีการแวะนี่”​ ฉันคิดว่าทัวร์ที่จัดมาจากเมืองไทยไม่น่าจะมีโปรแกรมยัดเยียดขายของเหมือนทัวร์อินเดียทั่วๆ ไป
         รถแล่นเข้าตรอกซอกซอยที่ค่อนข้างแคบ ทางไม่คุ้นตาเหมือนขาไป เราเริ่มสงสัยว่าเขาจะพาเราไปไหนกันแน่นะ ซักครู่รถก็จอดด้านหน้าตึกแห่งหนึ่งที่ค่อนข้างมืด
         “ที่นี่ที่ไหนเหรอ” เราถามด้วยนึกว่ายังมีโปรแกรมที่ท่องเที่ยวที่เราไม่รู้
         “อ๋อ ร้านขายของประเภทหัตถกรรมน่ะครับ เผื่อคุณอยากเลือกซื้ออะไร” ดีนตอบ
         นั่นไง ว่าแล้วเชียว นึกว่าจะไม่เจอมุกแบบนี้แล้วนะ
         เรามองหน้ากันรู้สึกเซ็งๆ ไม่พอใจนิดหน่อย แต่ด้วยความเป็นคนไทยแม้จะอยากกรี้ดเอาแต่ใจเหมือน “หวาน หวาน” แต่ก็สงวนท่าทีในวันแรกของทัวร์ เก็บมุกไปปล่อยวันหลัง
ยังทัน ตกลงกันว่าจะลองเดินเข้าไปในร้าน เดินดูรอบๆ พอเป็นพิธีแล้วก็ขอตัวกลับแบบงามๆ
         ร้านนี้เป็นร้านค่อนข้างใหญ่มีของขายหลายประเภท พรม ผ้าพันคอชนิดต่างๆ ปลอกหมอน ผ้าคลุมเตียง ฯลฯ ประมาณว่าพวกของทำด้วยมือ พนักงานพยายามพูดสรรพคุณต่างๆ และชี้ชวนให้เราดูนั่นดูนี่ ทุกคนทำหน้าเซ็งๆ และเริ่มนั่งนิ่งๆ เพราะไม่อยู่ในอารมณ์
ช้อปปิ้ง
          “กระเป๋าตังค์ผมหาย ผมไม่มีเงินซื้อของหรอก” นฐหาข้ออ้างได้เป็นคนแรก
         ฉันเดินดูรอบๆ แล้วก็ลองถามถึงเสื้อคาดิแกนแคชเมียร์ที่น้องสาวอยากได้ เขาหยิบมาให้ดูพร้อมบอกราคา ซึ่งฉันคิดว่ามันค่อนข้างแพงไปหน่อยแล้วอีกอย่างฉันก็ไม่เชี่ยวชาญพอ
ที่จะฟังธงได้ว่าเป็นของแท้รึเปล่า ก็เลยแกล้งบอกไปว่าต้องติดต่อน้องสาวที่เมืองไทยให้ได้ก่อนว่าเค้ายังอยากได้อยู่รึเปล่า สรุปว่าบทบาทนักช้อปของฉันจบลง
         เหลือพี่ลีอีกคนที่ยังไม่ได้สวมบทบาทการแสดง
         ฉันเดินมานั่งข้างๆ ทั้งสองคนที่หน้าดูตูมๆ อยู่
         “ผ้าคลุมเตียงผืนนี้เท่าไหร่เหรอ” พี่ลีถามคนขาย
         เขาบอกราคาซึ่งค่อนข้างสูง เราจึงบอกเขาไปว่าตอนนี้ยังไม่มีอารมณ์อยากซื้ออะไร แต่เดี๋ยวถ้าตัดสินใจแล้วจะกลับมาใหม่
         “แต่ร้านเรากำลังจะปิดในอีกไม่นานแล้วนะครับ เพราะใกล้จะหมดฤดูท่องเที่ยวแล้ว”
         “โอ้ย ยังทัน เราอยู่อีกตั้งหลายวัน” ฉันบอก คิดในใจว่าเราคงไม่ตายหรอกถ้าไม่ได้ซื้อของ
         เขาทำหน้าไม่พอใจแต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้
         เรากลับออกจากร้าน โล่งใจที่เงินไม่กระเด็นออกจากกระเป๋าตังค์ ยังติดอารมณ์เคืองๆ 
ดีนอยู่ที่พามาร้านขายของให้กับนักท่องเที่ยว ขัดใจเพราะเราไม่ได้บอกว่าอยากซื้อของ
ซักหน่อย มันเหมือนการบังคับกันชัดๆ คิดในใจว่ากลับไปเมืองไทยต้องไปบ่นกับทัวร์ซะหน่อย
         เมื่อมาถึงที่ท่าเรือดีนคงเดาออกว่าเราเซ็งกับเรื่องร้านขายของแค่ไหนเขาจึงไม่กล้าขัดใจเราเรื่องร้านอินเตอร์เน็ต ฉันกับนฐจึงได้เช็คเมล์และอัพเดทเรื่องราวผ่านเฟสบุ๊คกันอย่างสมใจ คนที่เมืองไทยจะได้รู้ว่าเรายังสุขสบายดีไม่ได้หลบระเบิดและลูกปืนอยู่ที่ไหน
        สปีดของอินเตอร์เน็ตที่นี่ค่อนข้างเร็วกว่าที่เลห์มาก แต่ฉันก็ยังอดคิดถึงความดิบและความใสซื่อของเลห์ไม่ได้ ความทันสมัยและเทคโนโลยีมักต้องแลกกับความเป็นธรรมชาติและความจริงใจ ที่แคชเมียร์เรารู้สึกได้ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องการค้าภายใต้บรรยากาศที่ตึงเครียด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น