04 กรกฎาคม 2555

4. หุบเขา วัด วัง

     “นัมเกล … ฉันเคยดูหนังเกี่ยวกับลาดัคห์เรื่องหนึ่งชื่อว่า “Valley of Flowers” วิวทิวทัศน์สวยมากเลยเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้ฉันอยากมาเที่ยวที่นี่ คุณเคยดูมั้ย เค้าบอกว่ามาถ่ายทำที่นี่ ไม่รู้ว่าเป็นหนังของชาติไหนเหมือนกัน จำไม่ได้”
     “อ๋อ รู้จักครับ รู้สึกว่าฝรั่งเศสหรือเยอรมันนี่แหล่ะครับ”
     นฐกับพี่ลีต่างเงี่ยหูฟัง
     “ฉันดูนานหลายปีแล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงสวยมากคนหนึ่งที่ไม่มีสะดือ ถูกโจรตามล่าและพระเอกก็มาช่วยไว้ เธอตายแล้วก็เกิดใหม่แล้วก็เจอชายคนรักอีก 2 ชาติ แต่รู้สึกว่าพระเอกจะเป็นอมตะหรือยังไงเนี่ยแหล่ะ ฉากที่เค้าถ่ายหุบเขามันสวยงามมากเลย ยังติดอยู่ในความทรงจำของฉันอยู่เลย”
     ภาพของลาดัคห์ในมุมมองจากหนังกระตุ้นให้ฉันต้องมาตามหาภาพๆ นั้น ไม่แน่ใจว่าจะได้เจอในทริปนี้รึเปล่า            
     นั่งรถไปไม่ไกลนักก็ถึง “เจดีย์แห่งสันติภาพ” (Shanti Stupa) ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาในย่านจังสปา (Changspa) เจดีย์นี้ถูกสร้างโดยกลุ่มนับถือศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่น (The Japanese for world peace) เพื่อสนับสนุนสันติภาพในโลก เจดีย์มีอายุอานามไม่มากนักซึ่งองค์ดาไลลามะได้เสด็จมาเป็นประธานทำพิธีเปิดเมื่อปี  ค.ศ. 1985 รอบๆ เจดีย์มีรูปปั้นพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ และรายรอบเจดีย์ก็มีรูปพระพุทธเจ้าสลักนูนอีกมากมาย เราเดินวนรอบเจดีย์ตามเข็มนาฬิกาในใจน่ิงทำสมาธิ ณ เวลานั้นมีเพียงเราและหนุ่มสาวนักท่องเที่ยวชาวอินเดียอีกกลุ่มหนึ่งที่โพสต์ท่าถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน ส่งเสียงหัวเราะกิ๊กกั๊ก
     ฉันสังเกตุเห็นภาษาฮินดีตรงบริเวณใกล้ๆ พระพุทธรูป จึงถามนัมเกลว่าแปลว่าอะไร เขาอมยิ้มฝืนๆ เหมือนไม่อยากตอบ
     “ห้ามปีนขึ้นไปยืนโพสต์ท่าถ่ายรูปกับพระพุทธรูป”
     อันนี้คงทำไว้สำหรับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียโดยเฉพาะ
     วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อและพิธีกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นนั้น จริงๆ แล้วไม่น่าจะทำให้คนชาติเดียวกันมีข้อขัดแย้งกันได้หากแต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่เคารพซึ่งกันและกันมากกว่า เพราะเรื่องบางเรื่องก็เปราะบางเข้าใจได้ยาก บางครั้งบางหนเลยก่อให้เกิดอาการขัดตาขัดใจได้ ถ้ารักที่จะอยู่ร่วมกันก็ต้องให้เกียรติกัน
     อินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีวัฒนธรรมและการนับถือศาสนาที่หลากหลาย แค่แคว้นจัมมูและแคชเมียร์แคว้นเดียวก็มีการนับถือศาสนาในแต่ละท้องถ่ินต่างกันไป จัมมูคือฮินดู แคชเมียร์คืออิสลามและลาดัคห์คือพุทธ สำหรับคนไทยโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นคนเปิดกว้างและมีกริยานอบน้อมจึงไม่มีปัญหาเท่าไหร่นัก ไปที่ไหนวัดใดก็ไหว้ได้หมด บางทีบางคนอาจจะไม่ได้ทำไปเพราะอยากจะเปลี่ยนความเชื่อหากแต่เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้คน ต่อสถานที่ 
ต่อความเชื่อของคนท้องถิ่นมากกว่า
     ตอนเด็กๆ ฉันมักจะถูกแม่ว่าอยู่เสมอๆ ถ้าไม่ยกมือตั้งตรงอกพร้อมก้มหัวงามๆ ประหนึ่งกดปุ๊บติดปั้บเวลาที่เจอผู้ใหญ่ แค่สายตาพิฆาตที่ปรายตามองมาฉันก็แทบจะตัวแข็งเหมือนโดน
เมดูซ่าจ้อง แล้วย่ิงโตเป็นผู้ใหญ่เรื่องพวกนี้ยิ่งสำคัญเสมือนการสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบไม่ว่าจะวัฒนธรรมไหนการแสดงความนอบน้อมก็ซื้อใจผู้คนได้มากกว่าอยู่แล้วเพราะมันเป็นการแสดงถึงการยอมรับอีกบุคคลหนึ่งที่อยู่ตรงหน้า
     บริเวณโดยรอบเจดีย์นั้นค่อนข้างใหญ่และเป็นจุดชมวิวที่ดีมากของเมืองเลห์แถมยัง
ค่อนข้างสงบเงียบเหมาะกับการมานั่งเล่นชมพระอาทิตย์ตกดิน ถ้าใครมีฝีมือด้านการวาดรูป
ก็น่าจะเป็นที่ที่ให้สมาธิในการผลิตงานศิลปะได้ค่อนข้างดี




     หลังจากนั้นเรานั่งรถไปที่ Namgyal Tsemo Gompa วัดซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษ
ที่ 15 ตั้งอยู่บนเนินเขา มีพระพุทธรูป “เมไตรยา” (Maitreya) (พระศรีอาริยเมตไตรย์) หรือพระพุทธเจ้าแห่งอนาคตประทับตระหง่านสูงพอๆ กับบ้าน 3 ชั้น อยู่ด้านในห้องแรกที่เราเข้าไปทำการสักการะ อีกห้องหนึ่งนั้นเป็นที่อยู่ของเทพเจ้าที่เป็นผู้ปกป้องพระพุทธเจ้า “ธรรมปาลา” (Dharmapalas) (Wrathful Deities) ซึ่งสังเกตุง่ายๆ ก็คือจะมีลักษณะร่างกายที่ดูน่ากลัว เช่นมีแขนหลายแขน มีหน้าหลายหน้า รูปปั้นมีสีดำบ้างหรือสีฟ้าทึมๆ บ้าง มีทั้งเพศชาย
และเพศหญฺิง เพศชายจะเรียกรวมๆว่า “มหากาลา” (Mahakala) และเพศหญิงคือ “มหากาลี” (Mahakali) ที่เป็นที่รู้จักดีและมีอยู่ในหลายๆ วัดได้แก่ “มหากาลา” “วัชรภาณี” (Vajrapani)  “ยามันตากะ” (Yamantaka) และ “ศรีเทวี” (Sri Devi) ​เป็นตัวแทนของความโลภ โกรธ หลง ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ท่านเหล่านี้เป็นผู้ปกป้องธรรมะและปกป้องผู้ปฏิบัติธรรมะ เวลาที่
ผู้ปฎิบัติธรรมไขว้เขวหรือถูกล่อล่วงโดยกิเลสทั้งหลาย ท่านเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ปราบอธรรมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเอาชนะมารร้ายทั้งหลายได้เพราะฉะนั้นจึงต้องมีลักษณะภายนอกที่ดูดุร้าย พระที่บวชเรียนใหม่แต่ละรูปนั้นจะมีธรรมปาลาประจำตัวเหมือนเป็นครูอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกโดยลามะที่เป็นเหมือนพระพี่เลี้ยงในเวลาที่เหมาะสม ที่ห้องนี้ผู้ปกป้องนั้นถูกผ้าปิดหน้าไว้แต่บางวัดก็ไม่ปิดคงจะขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของแต่ละที่
     ตอนที่เราไปนั้นไม่ได้เข้าไปด้านในเพราะว่าห้องปิดอยู่และลามะที่ดูแลที่เป็นผู้ถือกุญแจนั้นไม่อยู่ ส่วนใหญ่ห้องสำคัญจะถูกล๊อคประตูไว้เสมอ จะเปิดก็ต่อเมื่อมีชาวบ้านมาสักการะพระพุทธรูปหรือนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมเยือน แต่นัมเกลสัญญาว่าจะพากลับมาใหม่ในวันอื่น
     เพียงแค่เราเดินก้าวข้ามบันไดขึ้นไปด้านบนไม่กี่ขั้นหัวใจก็เต้นตูมตามรัวเหมือนตีกลอง 
ทุกก้าวที่เดินขึ้นความเหนื่อยก็เพ่ิมขึ้นและลมหายใจก็ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ต้องหยุดพักเอาอากาศเข้าปอดเป็นระยะๆ พี่ลีดูเหมือนจะแย่กว่าใครอาการคล้ายหน้ามืดจะเป็นลม เราเร่ิมรู้ถึงผลของการอยู่ที่สูงแล้ว แต่เคล็ดลับก็คืออย่าฝืนและอย่าตกใจ ให้หยุดพักและค่อยๆ หายใจเอาออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงหัวใจจะได้เต้นช้าลง ถ้ามีน้ำดื่มติดตัวก็ค่อยๆ จิบทีละนิดเพราะในน้ำก็มีออกซิเจนเหมือนกัน
     “เออ นัมเกล เวลาที่คุณไปเมืองที่มันอยู่ที่ต่ำๆ เนี่ย หายใจติดขัดมั่งมั้ย” ฉันถามเขาไปหอบไปกว่าจะจบประโยค
     “อ๋อ ไม่หรอกครับ แต่ผมจะรู้สึกอึดอัด อย่างไปเดลลีฝุ่นจะเยอะ แล้วเหงื่อก็จะออกมาก ผมแค่ทนที่ที่อากาศชื้นมากๆ ไม่ได้น่ะครับ” เขาตอบ
     “ถ้าคุณไปกรุงเทพคงแย่เลย เหงื่อต้องออกตลอดเวลา" 
     อืมม์ นั่นแปลว่าความกดอากาศต่ำไม่มีผลกับคนภูเขา … ไม่ยุติธรรมเลย ว่าแล้วก็หอบแฮ่กๆ ต่อไป
     “เดี๋ยวเราจะไป Leh Palace ต่อ คุณอยากเดินไปหรืออยากนั่งรถไป”
     นัมเกลคงคิดว่าเราแกล้งหอบ
     “อยู่ตรงไหนล่ะ ไกลมั้ย” ฉันถาม
     เขาชี้ลงไปด้านล่างซึ่งมีระยะห่างจากที่วัดนัมเกล เซโม พอสมควร สำหรับวันแรกเราควรถนอมร่างกายไว้ก่อน เพราะไม่รู้จะเจออะไรในวันถัดไป
     “อืมม์ นั่งรถไปละกันนะ” ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน
                 


ใช้เวลาไม่นานนักรถก็พาเราไปถึงพระราชวังเลห์ซึ่งตอนนี้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างทรุดโทรมและกำลังอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมแต่เปิดให้เดินเข้าไปชมได้ ต้องค่อยๆ คลำทางเพราะด้านในไม่มีไฟ ที่นี่ถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบทิเบตรูปแบบคล้ายพระราชวังโปตาลา มีความสูงถึง 9 ชั้น สมัยก่อนเป็นที่ประทับของกษัตริย์แห่งลาดัคห์จนกระทั่งถูกรุกรานโดยแคชเมียร์ จึงต้องย้ายไปอยู่ที่ Stok Palace ในสมัยก่อนห้องของสมาชิกราชวงศ์นั้นอยู่ชั้นบนส่วนชั้นล่างเป็นห้องเก็บของและโรงเลี้ยงสัตว์ พระราชวังถูกทิ้งไว้ไม่ได้รับการดูแลอย่างดีเท่าที่ควรจนกระทั่งถูกขายให้กับหน่วยงานด้านโบราณคดีภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมของอินเดีย ซึ่งรัฐบาลอินเดียให้การสนับสนุนที่จะซ่อมแซมและรักษาไว้เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง หากกษัตริย์แห่งลาดัคห์มองย้อนกลับมาคงนึกเสียดายภาพสวยงามและยิ่งใหญ่   
ในอดีต แต่ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและบทบาทอำนาจของผู้ถือครอง การรุกรานแผ่นดินมีมาแต่ครั้งโบราณและยังคงมีอยู่ ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ความโลภของคนไม่เคยเปลี่ยน การทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ยึดครองในทรัพย์สินแผ่นดินและสมบัติของผู้อื่นถึือเป็นคุณสมบัติพิเศษของมนุษย์ ทุกคนมีข้ออ้างเสมอ … ข้ออ้างที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น