13 กรกฎาคม 2555

13. เจาะลึก ...​​ คุณประจักษ์

     ระหว่างรอทานอาหารค่ำนั้นยังพอมีเวลาให้ได้เดินเถลไถลเพราะยังไม่มืดและอดรินาลีน
ในตัวยังทำงานไม่หมด เราจึงเดินไปสำรวจตรวจหมู่บ้านดิสกิตกันให้ครบทุกซอกซอย ถนนหนทางไร้เงาผู้คน มีแต่เพียงวัวและลาที่พากันเดินกลับบ้าน เราเดินเรื่อยเปื่อยไปถึงตลาดที่เวลานี้มีเพียงชาวบ้านไม่กี่คน นักท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง ย่านดิสกิตคอมเพล็กซ์มีร้านรวงอยู่หลายร้านแต่ปิดประตูมิดชิดเหลือเพียงแค่ร้านที่ขายผ้าเท่านั้น เราจึงแวะอุดหนุนผ้าพันคอกันคนละผืนสองผืน  



                
     ด้วยบรรยากาศที่เงียบเชียบ อากาศที่ค่อนข้างเย็น ประกอบกับการถูกตัดขาดจากการสื่อสารทั้งปวง ทำให้เรารู้สึกสงบอย่างบอกไม่ถูก บางทีการที่ไม่ต้องรับรู้ข่าวสารอะไรมากมายที่ไม่จำเป็นก็ทำให้สมองได้พักผ่อนไม่ต้องคิดอะไรฟุ้งซ่าน 




     ฉันเดินไปนั่งในห้องอาหารของโรงแรมตามเวลานัด พร้อมกับโปสการ์ดสองสามใบเผื่อไว้เขียนหาใครๆ ตอนรออาหาร ซักครู่นัมเกลก็เดินเข้ามานั่งที่โต๊ะด้วย พี่ลีเดินตามมาสมทบทีหลัง ฉันได้กลิ่นแอลกอฮอล์จากตัวเขา รู้สึกแปลกใจนิดหน่อยแต่ก็ไม่ได้ถามอะไร คิดว่าคงเป็นเรื่องปกติของผู้ชายที่นี่เพราะด้านหน้าโรงแรมก็มีกลุ่มชายอินเดียตั้งวงกันดื่มเหล้าตั้งแต่หัวค่ำแล้ว มื้อนี้เป็นมื้อพิเศษเพราะเป็นมื้อแรกที่นัมเกลมาทานอาหารค่ำร่วมกันเรา
     ระหว่างรออาหารเลยชวนนัมเกลคุยเรื่อยเปื่อย 
     “ผมโทรหาเอเยนซี่ที่เลห์แล้วนะครับ ตกลงว่าเค้าหากระเป๋าตังค์ที่ทะเลสาปไม่เจอ” นัมเกล
บอก
     “ว้า แย่จัง อย่างนี้นฐคงไม่มีกะใจจะเที่ยวต่อ” ฉันหันไปพูดกับพี่ลี 
     ระหว่างนั้นฉันเห็น เซตัง คนขับรถของเราเดินเข้าเดินออกครัวช่วยหยิบอาหารมาตั้ง
ด้านในห้องอาหาร
     “เซตัง มาช่วยทำงานด้วยนี่”
     “ใช่ครับ ช่วงนี้ใกล้หมดฤดูท่องเที่ยว พนักงานจะเหลือน้อยมาก อีกไม่นานโรงแรมนี้ก็จะปิดแล้ว” นัมเกลอธิบาย
     “อืมม์ แล้วคุณจะทำอะไรในช่วงหน้าหนาวล่ะ มีแผนรึยัง” ฉันถามต่อ
     “ยังไม่แน่ครับ อาจจะไปเดินทางแถวๆ นี้ หรือไปไต่เขาแถวๆ เนปาล หรือไม่ก็อาจจะไป winter trekking”
      “หืมม์​ …​ ไต่เขาหน้าหนาวเนี่ยนะที่ไหนเหรอ”
      “ก็ที่ลาดัคห์นี่แหล่ะครับ”
      “โห แล้วนักท่องเที่ยวที่ไหนจะมาล่ะ แค่นี้ก็หนาวจะแย่แล้ว”
      “ก็มีนะครับ ลูกค้ามาจากแถวๆ แคนาดา”
      “ไม่อยากคิดเลยว่าจะหนาวขนาดไหน แล้วส่วนใหญ่คนที่นี่ทำอะไรกันเหรอช่วงหน้าหนาว”
      “ก็ไม่ได้ทำอะไรมากหรอกครับ บางทีก็ไปร่วมเทศกาลตามวัดน่ะครับ มีเทศกาลช่วงหน้าหนาวหลายที่เลย”                  
      “อ๋อเหรอ น่าสนใจเนอะ”
      “เออ นัมเกล คนที่นี่ดื่มเหล้าเยอะมั้ย”
      “ก็แล้วแต่ครับ ไม่เยอะเท่าไหร่ แก้วสองแก้ว”
      “แล้วที่บ้านคนพื้นเมืองต้มเหล้าดื่มเองรึเปล่า ฉันเคยดื่มที่ภูฏานมันจะเป็นน้ำใสๆ แต่แรงมากเลย ช่วยให้ความอบอุ่่นร่างกายได้เยอะเลยแหล่ะ”
      “ก็มีเหมือนกันครับ ทำจากข้าวก็มี ส่วนใหญ่เพื่อนๆ ผมเค้าจะมาดื่มกันที่บ้านผม เพราะว่าพวกนี้ส่วนใหญ่เรียนกันเยอะก็เลยเพิ่งเรียนจบ เริ่มทำงาน พ่อแม่ของพวกเขาก็ยังมองว่าเขาเป็นเด็กอยู่ เลยชอบดุว่าอยู่เรื่อยๆ เขาเลยต้องหนีมาสนุกกันที่บ้านผม ส่วนผมทำงานมาแต่เด็กๆ มีภาระรับผิดชอบเยอะ แม่ก็เลยไม่ค่อยว่า”                 
       นึกๆ ดูก็สงสารที่เค้าไม่ได้เรียนสูงๆ แต่นึกๆ ไปก็รู้สึกว่าการเรียนหนังสือนั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต แต่การที่จะเป็นคนดี มีจิตสำนึกดีนั้นอยู่ที่การเรียนรู้คุณค่าการเป็นคน 
เราอยู่ในสังคมที่ยึดเอาค่านิยมของการที่ต้องเรียนสูงๆ มาวัดค่าความเก่ง ความฉลาด ความมีสถานภาพที่ดีทางสังคมก็เท่านั้น ทุกวันนี้การวัดค่าความดีของคนนั้นมีมาตรฐานที่ลดลงไปเรื่อยๆ บางทีสังคมก็เชิดชูคนไม่ดีเพียงเพราะเขามีตัวย่อด้านหน้าชื่อ มีตำแหน่่งทางการเมืองทำให้ค่านิยมของสังคมเรามองว่าการทำไม่ดีบ้างคงไม่เป็นไรเพราะยังไงก็ยังได้รับการยอมรับและยกย่องอยู่ดี
     “เออ นัมเกล แม่คุณอายุเท่าไหร่แล้วเหรอ"
     “ประมาณ 50 ครับ”
     “แล้วพ่อคุณล่ะ”
     “พ่อผมเสียไปนานแล้วครับ”
     “อ้าวเหรอ เสียใจด้วยนะ”
     อาจเป็นเพราะแบบนี้เขาเลยต้องทำงานตั้งแต่ยังเด็ก
     “แล้วแม่คุณทำอะไร ทำงานรึเปล่า”
     “ก็ดูแลบ้านครับ แล้วก็ปลูกผัก ปลูกดอกไม้ตรงแปลงหลังบ้าน”
     “งั้นคุณก็มีที่เยอะแยะเลยสิ”
     “ก็ไม่เยอะมากหรอกครับ แต่ผักบ้านผมส่งไปขายที่ตลาดด้วยนะ”
     “โห จริงเหรอ งั้นผักที่เรากินกันก็อาจจะมาจากสวนหลังบ้านคุณก็ได้นะ แล้วปลูกดอกไม้อะไรบ้าง”
     “กุหลาบครับ”
     “กุหลาบ ?”
     “ครับ กุหลาบ”
     “คุณหมายถึง rose อ่ะนะ”
     “ใช่ครับ เราเรียกว่ากุหลาบ”
     “จริงเหรอ ภาษาไทยก็เรียกกุหลาบเหมือนกัน แปลกจัง”
     “คุณทำอาหารเป็นมั้ย”
     “ก็พอทำได้บ้างครับ พวกอาหารพื้นเมืองง่ายๆ”
     “แล้วแม่คุณอยากให้คุณแต่งงานรึยัง”
     “ก็คงอยากน่ะครับ แต่ผมยังไม่พร้อม”
     “แล้วคุณเจอคนที่ใช่รึยังล่ะ”
     “ยังเลยครับ”
     “ไม่เป็นไรหรอก คุณยังเด็กอยู่เดี๋ยวก็เจอ มีเวลาอีกตั้งเยอะ”
     “แล้วเวลาแต่งงาน ลูกสะใภ้ย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านสามีรึเปล่า”
     “ก็มีทั้งสองอย่างครับ ย้ายเข้าก็มีแยกไปอยู่กันเองก็เยอะ เวลาแต่งงานเราจะใส่ชุดพื้นเมืองแบบนี้คล้ายๆ ของภูฏานน่ะครับ แล้วผู้หญิงก็จะใส่เครื่องประดับเยอะมากๆ” เขาชี้ให้ดูรูปชายพื้นเมืองคนหนึ่งซึ่งติดอยู่ภายในห้องอาหาร
      คนแถบนี้ยังยึดติดกับประเพณีโบราณอยู่มาก เหมือนกับว่าเป็นจิตวิญญาณของเขาเลย
ทีเดียว แม้ว่าภายนอกเขาจะดูเป็นคนทันสมัย แต่งตัวสไตล์ตะวันตกตามสมัยนิยม แต่เท่าที่สัมผัสมาหลายวันฉันรู้สึกได้ว่าเขาค่อนข้างเป็นคนอนุรักษ์นิยมด้วยซ้ำ
     “คุณไปวัดบ่อยมั้ย”
     “ไม่บ่อยเท่าไหร่หรอกครับ”
     “แล้วพี่น้องคนอื่นๆ ของคุณล่ะ”
     “ผมมีพี่น้อง 4 คน สองคนแรกใส่ใจเรื่องศาสนา ส่วนอีกสองคนไม่สนใจเอาซะเลย”
     “เค้าอาจจะยังเด็กอยู่ก็ได้มั้ง”​
     “เออ … คุณจะอยู่กับเราแค่ที่ลาดัคห์ใช่มั้ย” ฉันถามเขาเพราะพรุ่งนี้ก็เป็นวันสุดท้ายที่เราจะอยู่ในเขตลาดัคห์แล้ว
     “ใช่ครับ” เขาหยิบแผนการเดินทางที่แคชเมียร์ของเราไปดู และให้คำแนะนำเรื่องแหล่งซื้อของถูก               
     “ที่นั่นไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงแล้วเนอะช่วงนี้” ฉันถามหยั่งเชิงดูว่าคนละแวกนี้เค้าจะคิดอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมือง
     “ก็น่าจะโอเคนะครับ”
     “คุณว่าตกลงคนที่นั่นอยากอยู่กับอินเดียหรือปากีสถานมากกว่ากัน”
     “ผมว่าก็น่าจะมีทั้งสองแบบ แต่สำหรับชาวลาดัคห์เราไม่อยากไปอยู่กับปากีสถานหรอก”
     “อ้าว แล้วมันจะเกี่ยวกันด้วยเหรอ”
     “เกี่ยวสิครับ เพราะลาดัคห์อยู่ภายใต้แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ เรื่องนี้ทำให้เราลำบากมากเลยเวลาเดินทาง เพราะพาสปอร์ตของเราออกโดยแคชเมียร์ บางทีคนอาจจะนึกว่าเราเป็นผู้ก่อการร้าย”
     “ว้า แย่จัง” ฉันรู้สึกเซ็งแทนเขาเหมือนกัน
     “ถ้าแคชเมียร์ไปอยู่กับปากีสถาน เราก็ยังอยากอยู่กับอินเดียอยู่ดีหรือไม่ก็อยู่แบบไม่ขึ้นกับใคร”
     “ความจริงสถานการณ์ที่เมืองไทยก็คล้ายๆ กันอยู่เหมือนกันนะ”
     ก็นั่นสินะ ใครๆ ก็อยากอยู่แบบมีอิสระ ได้คิด ได้ทำ ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ไปไหนมาไหนได้อย่างใจ ไม่ต้องมาคอยกังวลว่าเหตุการด้านการเมืองจะทำให้ต้องใช้ชีวิตลำบากขึ้่น ฉันคงไม่เข้าใจเขาเท่าไหร่ถ้าเหตุการณ์ที่กรุงเทพเมื่อช่วงต้นปีไม่ได้ร้ายแรงแบบที่ไม่มีใครคาดถึง
     นัมเกลเป็นคนเงียบๆ ขรึมๆ ไม่ล่อกแล่ก ไม่มีมุกตลกอะไร แต่เขาก็ตั้งใจตอบทุกคำถามที่ฉันถาม อาจเป็นเพราะเขาเป็นลูกชายคนโต เขาเคยเป็นทหาร และเขาก็คงไม่อยากทำตัวสนิทสนมกับลูกค้ามากเกินไป
     เราทานอาหารมื้อนั้นด้วยความเอร็ดอร่อย อาหารที่นี่เป็นแบบบุพเฟ่ท์ สามารถเลือกตักได้ตามชอบใจ จะว่าไปอาหารค่อนข้างมีคุณภาพดีและมีความหลากหลาย อร่อยกว่าโรงแรมที่เลย์ซะอีก อันได้แก่ ชีสผัดถั่วลันเตา ดอกกะหล่ำผัดมัน ปลาทอด (คิดว่าเป็นปลาอินทรีย์) แกงแพะ และดัล (ซุปถั่วเหลือง) มีผักสลัดสดๆ เป็นเครื่องเคียง มีข้าวขาว Chapati และ Papad มาให้ทานด้วยกัน พี่ลีถึงกับออกปากชมว่าอาหารอร่อย เธอทานได้มากกว่าทุกมื้อที่ผ่านมา ส่วนฉันไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเก็บครบทุกเมนู
     “นัมเกล ดูสิฉันทานเยอะกว่าคุณอีกนะ แล้วยังงี้ท่านลามะมาบอกได้ไงว่าฉันทานน้อยเกินไป” เขาหัวเราะ
     เราแยกย้ายกันเข้าห้องนอนเพื่อพักผ่อน ที่นี่เขามีที่นอนพักให้กับไกด์และคนขับรถเป็นตึกแยกไปต่างหาก ฉันเปิดทีวีดูมิวสิควีดีโอเมดอินอินเดีย พลางเขียนบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเดินทางจนถึงดึก รู้สึกใจหายเมื่อนึกถึงว่าเรามีเวลาเหลือที่ลาดัคห์อีกแค่วันเดียวเท่านั้น ฉันยังรู้สึกว่าไม่เต็มอิ่มกับลาดัคห์เท่าไหร่ คงจะหลงเสน่ห์ที่นี่เข้าให้แล้ว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น